คุณป้า: รอบนี้ป้าลืม (เพิ่งเดินเข้ามานั่งก็รีบสารภาพก่อนเลย)

    ผม: (เปิดสมุดประจำตัวคนไข้ดูผลเลือดที่เจาะไปเมื่อเช้า) 300! น้ำตาลขึ้นเยอะมากเลยนะป้า

    คุณป้า: เมื่อวานเผลอกินข้าวเหนียวมะม่วง… ลืมไปว่าจะมาหาหมอ

    ผม: (เปิดดูผลเลือดครั้งก่อน) รอบที่แล้ว 200 ก็ยังไม่ค่อยดี ป้าน่าจะลืมว่าป้าเป็นเบาหวานมากกว่า… แล้วป้ารู้รึเปล่าว่าน้ำตาลควรอยู่ที่เท่าไหร่

    คุณป้า: 130 ใช่มั้ย (เหมือนไม่มั่นใจ แต่ก็ตอบถูก)

    ผม: แล้วจะทำยังไงดี… (ถามความเห็นคนไข้ จะได้มีส่วนร่วมในการรักษา พลางเปิดดูประวัติยาเดิมในคอมพิวเตอร์) ตอนนี้ป้ากินยาเบาหวานอยู่ 3 ตัวแล้วนะ

    คุณป้า: รอบนี้ป้าลืมจริงๆ ขอป้าคุมอาหารอีกสักเดือนเถอะหมอ

    ผม: แต่ถ้าครั้งหน้ายังไม่ดีต้องฉีดยาแล้วนะครับ (ได้แต่ส่ายหัวในใจ เพราะหมอคนก่อนก็จดไว้ในสมุดว่า “ถ้ารอบหน้าน้ำตาลสูง จะยอมฉีดยา”)

    คุณป้า: ขอบคุณนะหมอ ป้ายังไม่อยากฉีดยา

       

ถ้าเป็นเมื่อปีก่อน ผมอาจชวนคุณป้าคุยต่อถึง “แล้วจะทำยังไงดี…” ให้คนไข้คิดและช่วยคนไข้วางแผนอย่างที่ตั้งใจเพราะคุณป้าต้องเคยได้รับคำแนะนำไปแล้วหลายครั้ง เนื่องจากในแต่ละครั้งที่คนไข้มาตรวจตามนัดจะได้รับการเน้นย้ำวิธีปฏิบัติตัวอย่างน้อย 2-3 จุด คือ การให้ความรู้ในห้องใหญ่ตอนเช้า, การชี้แนะจากหมอในห้องตรวจ, และถ้าหากคนไข้ไม่สามารถคุมค่าตัวเลขได้ถึงเป้าหมายก็จะต้องเข้าห้องให้คำปรึกษากับพยาบาลตัวต่อตัวเพิ่มเติมอีก

    แต่เมื่อทำงานมาถึงครึ่งหลังของปีที่ 3 คือกำลังจะใช้ทุนครบแล้ว ผมก็รู้สึกได้ถึงความเหนื่อยหน่ายของตัวเองที่จะต้องพูดคุยซ้ำเดิมทุกวันให้คนไข้ยอมร่วมมือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่พอคุณลุงคุณป้าอ้าปากก็แทบจะเห็นลิ้นไก่แล้วว่าจะต่อรองอย่างไรไม่ให้หมอปรับยาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการสัญญาว่าจะปรับปรุงตัวใหม่ แต่หลายคนก็แทบจะไม่เคยทำได้อย่างที่ตกลงไว้ ยกตัวอย่างที่พบบ่อยตั้งแต่ปีใหม่ที่ผ่านมาคือ

    เดือนมกราคม อ้างว่าน้ำตาลขึ้นจากงานเลี้ยงเทศกาลปีใหม่ เดี๋ยวเดือนหน้าจะปรับปรุงตัวใหม่

    แต่พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ น้ำตาลยังสูงอยู่ก็อ้างว่าขึ้นจากกินของไหว้ช่วงตรุษจีน

    ต่อมาเดือนมีนาคม เป็นฤดูมะม่วงก็อดใจไว้ไม่อยู่ ขออีก 1 เดือน มาเจอเทศกาลสงกรานต์ กลางเดือนเมษายน ลูกหลานกลับมาบ้านซื้อของมาให้กิน ส่วนเดือนหน้าพฤษภาคม เป็นฤดูเงาะ-มังคุด ก็คงคาดเดาระดับน้ำตาลในเลือดได้ตั้งแต่ยังไม่เจาะเลือด ดังนั้นจากที่ผมเคยมีความคาดหวังว่าจะสามารถจูงใจให้คนไข้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้สำเร็จ กลับลดลงเหลือแค่การรักษาไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากโรคที่คนไข้ป่วยเท่านั้น

      ผม: ระดับน้ำตาลยังสูงอยู่นะครับ

    คุณป้า: ช่วงนี้อากาศร้อน กินน้ำหวานแล้วชื่นใจ

    ผม: (ครับ) นัดอีกที 1 เดือนนะครับ (#ไม่พูดเยอะเจ็บคอ เพราะถึงคุยต่อป้าก็จะยังไม่เลิกกินน้ำหวานแน่นอน และพอออกจากห้องตรวจแล้ว คุณป้าจะต้องไปพบพยาบาลตัวต่อตัวอีก คงไม่อยากฟังเรื่องเดิมซ้ำๆ)

       

นอกจากความเหนื่อยหน่ายแล้ว ผมก็รู้สึกได้ถึงความ ‘หัวร้อน’ หงุดหงิดกับความไม่กระตือรือร้น และข้ออ้างที่ไม่สมเหตุผลสารพัด ผมจึงต้องหันมาเปลี่ยนที่ตัวเองแทน ซึ่งง่ายที่สุดก็คือการปล่อยวาง—ไม่ยึดติดกับพฤติกรรมของคนไข้โรคเรื้อรัง ทั้งที่ได้พยายามให้คำแนะนำอย่างเต็มที่แล้ว เพราะในท้ายที่สุดเขาก็ต้องเป็นคนรับผลของการกระทำของเขาเองตามกฎแห่งกรรม เช่น คนไข้โรคเบาหวานต้องถูกตัดขาเพราะแผลติดเชื้อ (บางคนขู่ขนาดนี้แล้วก็ยังเหมือนเดิม!)

แต่ในเมื่อยังต้องนั่งตรวจที่โต๊ะตัวเดิม

    ผม: (เปิดสมุดประจำตัวคนไข้ดูตัวเลขที่พยาบาลคัดกรองจดไว้ให้) น้ำหนักไม่เคยขึ้นเลย

    คุณป้า: ป้าปั่นจักรยานทุกวัน

    ผม: โห… (ตกใจ) ปั่นไปไหนบ้างครับ

    คุณป้า: ไม่ได้ไปไหนหรอก (ยิ้ม) ถีบจักรยานอากาศบนเตียงที่บ้าน

ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ผมได้ทำตามที่ตั้งปณิธานปีใหม่ (New Year Resolution) ของตัวเองอย่างหนึ่งคือ การมองคนไข้โรคเรื้อรังในแง่ดี เพราะปีก่อนๆ ผมมักจะเพ่งเล็งอยู่แต่กับค่าตัวเลขที่เกินเป้าหมาย เช่น ความดันโลหิตเกิน “140/90 มล.ปรอท”, ระดับน้ำตาลขณะอดอาหารเกิน “130 มก./ดล.” จากนั้นก็ต้องพูดคุยกับคนไข้เพิ่มเติมอีกนานสองนานตั้งแต่ความสม่ำเสมอของการกินยา การกินอาหาร การออกกำลังกาย เรื่อยมาจนถึงกิจวัตรประจำวัน และการทำงาน

ในขณะที่คนไข้กลุ่มที่มีค่าตัวเลขอยู่ในเกณฑ์เป้าหมาย ผมแทบจะไม่ได้ให้เวลากับพวกเขาเลย เพราะถือว่าค่าตัวเลขที่ได้เป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนการปฏิบัติตัวของคนไข้และการปรับยาของหมอเหมาะสมแล้ว และยังใช้เป็นช่วง ‘ทำเวลา’ คือตรวจให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อที่จะเอาเวลามาให้กับคนไข้กลุ่มแรกด้วย ซึ่งรวดเร็วขนาดที่ว่าเคยมีหมอรุ่นพี่เปรียบเทียบให้ฟังตลกๆ ว่าคนไข้ยังไม่ทันนั่งเลย แต่หมอสั่งยาเดิมให้คนไข้กลับบ้านเสร็จแล้ว (ห๊ะ!)

    ผม: น้ำหนักดี ความดันดี น้ำตาลดี รับยา 2 เดือนนะครับ (ยื่นสมุดและใบคิวคืนให้คนไข้)

    คนไข้: (ไม่ได้พูด)

ผมเลยตั้งใจใหม่ในปีนี้ว่าอยากจะคุยกับคนไข้กลุ่มที่ว่าให้มากขึ้น เป็นต้นว่าพวกเขามีแรงบันดาลใจ หรือมีวิธีการอย่างไรถึงสามารถควบคุมค่าตัวเลขได้ตามเป้าหมาย “ผมจะได้เอาไปแนะนำคนไข้คนอื่นด้วย” รวมถึงคนไข้ที่มีค่าตัวเลขลดลงจากการมาตรวจตามนัดในครั้งก่อน เพราะแสดงว่าเขาน่าจะกำลังปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมของตัวเองอยู่ โดยเฉพาะตัวเลขน้ำหนักที่พอจะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ในระยะ 1-2 เดือนตามเวลานัดพอดี

    ผม: น้ำหนักลดลงตั้ง 2 กิโลฯ (พูดเชิงถาม)

    คุณป้า: ป้าออกกำลังกายทุกวัน

    ผม: ออกแบบไหนหรอครับ

    คุณป้า: กายบริหาร ทำตามยูทูบ ลูกเขาเปิดให้ดู

    ผม: ดีเลย… อ้อ น้ำตาลก็ดีขึ้นเยอะเลย ได้คุมอาหารด้วยรึเปล่า

    คุณป้า: (พยักหน้า)

    ผม: แล้วคุมยังไงบ้างเหรอครับ เผื่อผมจะได้แนะนำคนไข้คนอื่นได้

    คุณป้า: ลูกสาวเปิดดูจากยูทูบ แล้วก็เขียนตารางไว้ให้ว่ามื้อนี้ต้องกินอะไร

    ผม: (ลูกสาวอายุเท่าไหร่เหรอครับ #เดี๋ยวนะ)

ผมจึงได้เจอกับคุณลุงที่กินน้ำพริกผักต้มเป็นอาหารทุกเย็น, คุณป้าที่กินทุกอย่าง แต่กินอย่างละนิดละหน่อย, คุณน้าที่เปลี่ยนไปกินเนื้อสัตว์ประเภทปลาแทน, คุณอาที่เปลี่ยนกาแฟซองสำเร็จรูป (3 in 1) เป็นกาแฟดำชงเอง, คุณพี่ที่พาลูกสาวเดินตามคลิปที่มีคนแชร์ในเฟซบุ๊ก ทุกเช้าและเย็นอย่างละ 13 นาที จนสามารถลดน้ำหนักและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น พอถามว่าเป็นคลิปไหน เขาก็หยิบมือถือขึ้นมาเปิดให้ดูได้แทบจะทันที (ใครสนใจลองค้นดูนะครับ)

“ที่ทำมาดีมาก” ผมอดชื่นชมคนไข้เหล่านี้ไม่ได้ “เลยอยากให้ทำต่อเนื่องสม่ำเสมอ” เพราะภาวะแทรกซ้อนจากโรคเรื้อรังส่วนใหญ่ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก โรคไตเรื้อรังเกิดขึ้นในระยะยาวเป็น 10 ปีถึงจะมีอาการ แต่ปัญหาที่หลายคนน่าจะเคยเป็นเหมือนกันคือนานๆ เข้านิสัยเดิมก็กลับมา ในขณะที่การควบคุมค่าตัวเลขให้ดีเพียงไม่กี่ครั้งก็จะหนีไม่พ้นโรคแทรกซ้อนอยู่ดี

แต่ที่สำคัญที่สุดคือประสบการณ์ความสำเร็จที่คนไข้เล่าให้ฟังนี้ได้กลายเป็นกำลังใจอย่างดีให้กับผมในการออกตรวจที่คลินิกโรคเรื้อรัง เพราะประทับใจที่คนไข้มีความตั้งใจนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันของตัวเอง ทำให้รู้สึกว่าอย่างน้อยความพยายามในการพูดคุยแนะนำคนไข้ที่ทำมาก็ไม่สูญเปล่า ซึ่งการจะรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ได้ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงที่ตัวผมก่อนเช่นกัน

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปีใหม่

    ผม: (รับสมุดประจำตัวจากคนไข้มาเปิด สิ่งแรกที่สะดุดตาคือช่องระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงจนถูกพยาบาลคัดกรองไฮไลท์สีชมพูแปร๊นติดต่อกันหลายครั้ง ก็คงไม่คุมอาหารเหมือนเดิมนั่นแหละ) น้ำตาลสูงนะครับ

    คุณป้า: … (ไม่พูด)

    ผม: ครั้งที่แล้ว หมอคนก่อนปรับเพิ่มยาฉีดให้ แต่น้ำตาลยังสูงกว่าเดิมอีก (ไม่วายหงุดหงิดเพราะผลการรักษาไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง)

    คุณป้า: … (เงียบ)

    ผม: (ปล่อยวางดีกว่า) นัดอีก 1 เดือน ค่อยมาดูอีกรอบ (ยื่นสมุดและใบคิวคืนให้คนไข้ แต่ทันใดนั้นเองก็เกิดฉุกคิดขึ้นมาว่า “น่าจะลองถามป้าดูสักหน่อยดีกว่า” เพราะถ้าครั้งนี้ผมละเลยปัญหาของคุณป้าไป ครั้งหน้าไปเจอหมอท่านอื่นก็คงปล่อยวางเหมือนกันอีก โรคเบาหวานของคุณป้าอาจแย่ลงไปเรื่อยๆ ว่าแล้วก็ดึงสมุดจากมือคนไข้กลับมา

    ผม: ว่าแต่… คุณป้าฉีดยายังไงนะ

    คุณป้า: ป้าฉีดตอนเย็น 20 ยูนิต ส่วนตอนเช้า 10 ยูนิต ใช่มั้ย

    ผม: (พยักหน้า) ฉีดเองเหรอครับ

    คุณป้า: ใช่

    ผม: ไหนลองเล่ากิจวัตรแต่ละวันของป้าให้ฟังหน่อยได้มั้ยครับ ว่าทำอะไรตอนไหนบ้าง (เจาะลึกยิ่งกว่ารายการถามตรงๆ กับจอมขวัญ)

    คุณป้า: ยังไงนะหมอ

    ผม: ก็… อ่ะ ป้าตื่นกี่โมง กินข้าวตอนไหน ฉีดยาทุกวันรึเปล่า

    คุณป้า: ป้าก็ตื่นตี 5 เตรียมไปขายของ ฉีดยาตอน 6 โมง ขายของเสร็จ 9 โมงถึงค่อยกินข้าว

    ผม: (เฮ้ย!—ในใจครับในใจ) ป้ากินข้าวตั้งสาย แต่ทำไมฉีดยาแต่เช้าเลยล่ะ

    คุณป้า: เภสัชเขาบอกให้ป้าฉีดยาตรงเวลาทุกวัน ป้าก็เลยฉีดก่อนออกจากบ้าน

    ผม: แล้วไม่มีอาการน้ำตาลต่ำบ้างเหรอ (เพราะยาฉีดจะออกฤทธิ์ภายใน 30 นาที จึงมักให้คนไข้ฉีดก่อนอาหาร พอกินอิ่ม ยาก็ออกฤทธิ์พอดี)

    คุณป้า: มีเหมือนกัน แต่ป้าก็มีน้ำหวานเตรียมไว้

    ผม: รู้แล้ว (น้ำเสียงดีใจ) ว่าทำไมน้ำตาลของป้าถึงไม่ยอมลงสักที เอาใหม่นะ… (ปรับแก้เวลาฉีดยาของคนไข้ใหม่)

   

การปล่อยวางเป็นวิธีการแก้หรือหนีปัญหากันแน่? ผมกลับมานั่งทบทวนวิธีการตรวจคลินิกโรคเรื้อรังของตัวเอง สำหรับกรณีนี้ถ้าผมเลิกสนใจระดับน้ำตาลที่สูงขึ้น เหมารวมคุณป้าเป็นแบบเดียวกับคนไข้รายอื่นๆ ที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งที่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ผมก็จะไม่ใช้เวลาในการตรวจมาก อาจฝากพี่พยาบาลคุยตัวต่อตัวอีกสักหน่อย และถ้าคุณป้าเป็นแบบที่คิดไว้จริงๆ ก็คงเกิดความเหนื่อยหน่ายอย่างที่ผ่านมา

แต่ทว่าผมก็จะไม่มีทางได้รู้เลยว่าความจริงแล้วคนไข้ฉีดยาไม่ถูกต้องต่างหาก ถึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้น (ยิ่งปรับยาขึ้น คนไข้ก็จะโหย แล้วกินน้ำหวาน พอมาตรวจ ระดับน้ำตาลในเลือดก็ขึ้นแล้วขึ้นอีก) และอาจมีสาเหตุอื่นๆ อีกที่ยังซักถามไปไม่ถึง ซึ่งถ้าต้องรีบ ‘ทำเวลา’ ก็คงต้องแบ่งไว้คุยรอบหน้า และจดบันทึกแผนการรักษาไว้ในสมุดหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฝากไว้ให้หมอคนถัดไปต่ออีกทีหนึ่ง ในกรณีนี้การปล่อยวางจึงไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก

ส่วนพละกำลังที่จะเอามาต่อสู้กับความเหนื่อยหน่าย และไม่ยอมปล่อยวางจนกว่าจะพยายามอย่างเต็มที่แล้วก็น่าจะมาจากการฝึกมองคนไข้ในแง่ดี อย่างที่ผมได้ทดลองทำมาเกือบ 4 เดือน ทำให้ในระหว่างที่ตรวจคนไข้วันละ 80-100 คนก็ได้ฟังเรื่องราวประทับใจสลับกับปัญหาทดท้อใจบ้าง แทนที่จะมีแต่เรื่องทำให้หัวร้อนไปตลอดทั้งวัน ซึ่งแน่นอนว่าผมไม่มีทางคุยได้กับคนไข้ที่อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกคน จึงเลือก ‘มอง’ ในรายที่มีค่าตัวเลขเปลี่ยนแปลงไปจนสะดุดตาก่อน

อย่างที่ผมได้เล่าไปตอนกลางบทความครับ

Tags: ,