นักอนุรักษ์คงจะรู้สึกคันหัวใจหากมีใครมาตั้งคำถามว่าผืนป่าที่แสนอุดมสมบูรณ์อย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หรือทุ่งใหญ่นเรศวรราคาเท่าไร

“ถามแบบนี้ จะซื้อหรือไง” เขาหรือเธออาจคิดในใจ

เปล่าครับ เปล่า! แต่ที่ถามแบบนี้ ก็เพราะเป็นนิสัยที่ติดแน่นฝังลึกของเหล่านักเศรษฐศาสตร์ที่จะพยายามประเมินสิ่งที่อยู่ตรงหน้าแล้วตีค่าเป็นตัวเงิน โดยมีจุดประสงค์เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม

ลองสมมติง่ายๆ ว่าในแต่ละปี กรมป่าไม้ไทยได้รับงบประมาณมากหนึ่งก้อน ย่อมนำไปสู่โจทย์ใหญ่ว่าจะแบ่งสันปันส่วนอย่างไรจึงจะ ‘มีประสิทธิภาพสูงสุด’ หรือหากจะมีโครงการที่ก่อสร้างในป่าอย่างเขื่อนแม่วงก์ การตีมูลค่าทรัพยากรธรรมชาตินี่แหละครับ ที่ทำให้เราพอบอกได้ว่าสิ่งที่เราจะได้นั้นคุ้มค่ากับสิ่งที่เราจะเสียไปหรือไม่ และเราควรจะต้องชดเชยอย่างไร

อย่างที่ปีเตอร์ ดรักเกอร์ (Peter Drucker) ปรมาจารย์ด้านการบริหารกล่าวไว้ว่า “ถ้าคุณวัดมันไม่ได้ คุณก็บริหารจัดการมันไม่ได้เช่นกัน”

กระแสการวัดมูลค่าสิ่งแวดล้อมเริ่มต้นจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ซึ่งเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว รัฐและทุนจับมือเพื่อขุดทำลายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมมาใช้หล่อเลี้ยงธุรกิจให้เดินหน้าเร็วที่สุด ทิ้งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไว้รายทาง การผลิตสมัยใหม่ตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เพราะเราเหล่าคนเมืองมองเห็นแต่สินค้าสำเร็จรูปโดยไม่รู้เลยว่าผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดมีที่มาอย่างไร กว่าจะรู้ตัวอีกทีว่าเกิดผลกระทบอะไรขึ้นบ้างที่ต้นทางการผลิต ธรรมชาติก็ถูกทำลายล้างอย่างย่อยยับไปแล้ว

ในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ ความล้มเหลวดังกล่าวเกิดจากที่ทุนทางสิ่งแวดล้อม (Natural Capital) ไม่ได้ถูกวัดและจัดเก็บอย่างเป็นระบบ ในทางกลับกัน ตัวเลขผลกำไรในงบการเงินของบริษัท และการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Products: GDP) กลับถูกวัด จัดเก็บ และป่าวประกาศอย่างยิ่งใหญ่ จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ทุนธรรมชาติในอดีตถูกมองว่าเป็น ‘ของฟรี’ ที่ต้องคว้าฉวยมาใช้ให้เร็วที่สุด

โรเบิร์ต คอสแทนซา (Robert Costanza) นักเศรษฐศาสตร์ระบบนิเวศ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (The Australian National University) ได้ทำการประเมินมูลค่าระบบนิเวศของทั้งโลกเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2540 และทำการประเมินอีกครั้งในปี พ.ศ. 2554 เพื่อทำการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยพบว่า พ.ศ. 2540 สินค้าและบริการที่ระบบนิเวศโลกสามารถผลิตให้กับมนุษย์มีมูลค่าถึง 145 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ส่วนในปี พ.ศ. 2554 มูลค่าดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 124.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งมูลค่าดังกล่าวมากกว่ามูลค่าของระบบเศรษฐกิจโลกเกือบสองเท่า

การลดลงอย่างน่าใจหายของมูลค่าสินค้าและบริการจากระบบนิเวศ มีสาเหตุจากการสูญเสียพื้นที่ปะการังไปกว่าครึ่งในรอบ 14 ปีที่ผ่านมา โดยงานวิจัยระบุว่าแนวปะการังจะสามารถสร้างมูลค่าได้เทียบเท่ากับ 352,249 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 10,000 ตารางเมตรต่อปี

หลายคนอาจสงสัยว่าเหล่านักวิจัยประเมิน ‘มูลค่าทางเศรษฐกิจ’ ของระบบนิเวศ เช่น แนวปะการังอย่างไร ใช่ไปเดินสำรวจที่ตลาดนัดจตุจักรเพื่อหาราคาตลาดหรือเปล่า ?

แน่นอนครับว่าไม่ใช่! แนวคิดพื้นฐานที่นักเศรษฐศาสตร์นำมาใช้คือ ‘นิเวศบริการ (ecosystem services)’ ที่มองระบบนิเวศเปรียบเสมือนเครื่องจักรสลับซับซ้อนซึ่งสามารถผลิตสินค้าและบริการให้กับมนุษย์ คำว่านิเวศบริการนั้นกว้างมาก แต่ก็มีความพยายามในการจัดประเภทเพื่อความชัดเจน เช่น นิยามจากการประเมินระบบนิเวศแห่งสหัสวรรษ (Millennium Ecosystem Assessment) ซึ่งจะแบ่งนิเวศบริการออกเป็น 4 หมวดหมู่หลัก คือ

  • บริการด้านการเป็นแหล่งผลิต (provisioning services) คือการที่ระบบนิเวศผลิตวัตถุดิบหรือบริการต่างๆ เพื่อให้มนุษย์สามารถนำมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น อาหาร เส้นใย เชื้อเพลิงชีวมวล น้ำสะอาด รวมถึงแหล่งพันธุกรรม
  • บริการด้านการควบคุม (regulating services) หมายถึง การควบคุมปรากฏการณ์และกระบวนการทางธรรมชาติของระบบนิเวศ เช่น การควบคุมสภาพภูมิอากาศ การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง การป้องกันน้ำท่วม รวมถึงบริการผสมเกสรของเหล่าแมลง
  • บริการด้านวัฒนธรรม (cultural services) คือประโยชน์ในเชิงสังคมและวัฒนธรรมจากระบบนิเวศดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นขนบธรรมเนียประเพณี รวมถึงการใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวและนันทนาการ
  • บริการด้านการสนับสนุน (supporting services) หมายถึง กระบวนการทางธรรมชาติที่สนับสนุนบริการอื่นๆ เช่น เป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหาร หรือแหล่งอนุบาลของสัตว์วัยอ่อน

แผนภาพแสดงตัวอย่างนิเวศบริการ 3 ประเภทคือ บริการด้านการเป็นแหล่งผลิต บริการด้านการควบคุม และบริการด้านวัฒนธรรม ภาพจาก EHU

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างระบบนิเวศแนวปะการัง ซึ่งผลิตบริการทั้ง 4 ประเภท ตั้งแต่การผลิตอาหาร คือเหล่าสารพัดกุ้ง หอย ปู ปลาในทะเล (บริการด้านเป็นแหล่งผลิต) ช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องจากแนวปะการังจะช่วยลดความแรงของคลื่น (บริการด้านการควบคุม) เป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ (บริการด้านวัฒนธรรม) รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารและแหล่งอนุบาลของเหล่าสัตว์น้ำวัยอ่อน (บริการด้านการสนับสนุน)

แนวคิดดังกล่าวถูกประยุกต์ใช้ในระดับมหภาค เช่น ความพยายามรวมการเปลี่ยนแปลงของทุนธรรมชาติเข้าไปในดัชนีชี้วัดดั้งเดิมอย่างจีดีพี เช่น ดัชนีความก้าวหน้าที่แท้จริง (Genuine Progress Indicator: GPI) หรือดัชนีสวัสดิการทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Index of Sustainable Economic Welfare) โดยมีหลายประเทศในโลกที่หนึ่งจัดทำตัวชี้วัดดังกล่าว และสะท้อนให้เห็นภาพว่าเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นโดยวัดจากจีดีพี  แต่การเติบโตดังกล่าวอาจมีต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมูลค่ามหาศาลที่จีดีพีไม่รวมไว้ในการคำนวณ

กราฟแสดงการเปรียบเทียบระหว่างดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจอย่างจีดีพี และดัชนีชี้วัดที่รวมเอาผลกระทบด้านลบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปคำนวณด้วยอย่างดัชนีความก้าวหน้าที่แท้จริง หรือดัชนีสวัสดิการทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ของประเทศอิตาลี สวีเดน ออสเตรีย ออสเตรเลีย ชิลี  และสหรัฐอเมริกา ภาพจาก Ecodynamics

หลายประเทศเองก็พยายามประเมินและบันทึกทุนธรรมชาติอย่างเป็นระบบ เช่น สหราชอาณาจักรที่จัดตั้งคณะกรรมการทุนธรรมชาติ (Natural Capital Committee) เพื่อทำบัญชีทุนธรรมชาติแห่งชาติและให้คำปรึกษาแผนยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม 25 ปี โดยระบุว่าพื้นที่ใดที่มีความจำเป็นในการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน รวมถึงระบบนิเวศใดที่เปรียบเสมือนหัวใจสำคัญในการผลิตนิเวศบริการให้กับมนุษย์

ส่วนภาคธุรกิจปัจจุบัน หลายบริษัทที่ให้ความสนใจในแนวคิดการจัดงบกำไรขาดทุนโดยรวมเอาผลกระทบทางสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย โดยแปลงผลกระทบดังกล่าวเป็นตัวเงินซึ่งมีพื้นฐานมาจากแนวคิดไตรกำไรสุทธิ (Triple Bottom Line) เช่น งบกำไรขาดทุนด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทรองเท้าแบรนด์ Puma ที่แบ่งผลกระทบออกเป็น 5 ระดับ เริ่มจากการดำเนินการของบริษัทเอง ไปจนถึงคู่ค้าต้นทางที่ทำหน้าที่ผลิตวัตถุดิบอย่างหนังสัตว์ ฝ้าย และเคมีภัณฑ์ โดยประเมินจากต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ของการใช้น้ำ มลภาวะในน้ำ ขยะ มลภาวะทางอากาศ การปล่อยแก๊สเรือนกระจก และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยในปี พ.ศ. 2559 Puma มีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น 457 ล้านปอนด์

ตารางแสดงการแจกแจงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมของ Puma ปี 2016 ตามประเภทของต้นทุน และระดับของคู่ค้า ภาพจาก Puma Annual Report 2017

สำหรับประเทศไทย ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของ 3 โครงการในส่วนของการประเมินความคุ้มค่าทางการเงินและเศรษฐศาสตร์อย่างละเอียด ได้แก่ โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล โครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จ.เลย และโครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งในมุมมองขององค์กรภาคประชาสังคมนั้น ทั้งสามโครงการจะสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพแวดล้อมดั้งเดิม

แต่น่าเสียดาย ที่มีเพียงโครงการเขื่อนแม่วงก์เท่านั้นที่นำผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเข้าไปเป็นต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการ ทั้งนี้ ต้นทุนดังกล่าวก็ยังคำนวณจากปัจจัยคือมูลค่าไม้สะสม ความอุดมสมบูรณ์ในดิน การกักเก็บแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และมูลค่าการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น ซึ่งอาจยังไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง

แน่นอนครับ มีนักอนุรักษ์หลายคนที่ต่อต้านความคิด ‘แปะป้ายราคา’ ทรัพยากรธรรมชาติ โดยผู้ที่ส่งเสียงดังที่สุด และค้านอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูก็เช่น จอร์จ มอนบีโอ (George Monbiot) นักหนังสือพิมพ์และนักนิยมธรรมชาติชาวอังกฤษ ที่มองว่าลูกผสมระหว่าง ‘ธรรมชาติ’ และ ‘ทุน’ นั้นรังแต่จะสร้างความเข้าใจผิด และการประเมินมูลค่าสิ่งแวดล้อมออกมาเป็นตัวเงินนั้นยิ่งเป็นสิ่งที่ผิดฝาผิดตัว ซึ่งเขามองว่าเป็นการ ‘แปะราคาเพื่อขาย’ และจะนำไปสู่การทำลายล้างแทนที่จะเป็นการอนุรักษ์ และเป็นการสะบั้นความสัมพันธ์เส้นสุดท้ายระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแบบดั้งเดิมให้หลงเหลือเพียงความสัมพันธ์ตามแนวคิดระบบเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่

วิวาทะดังกล่าวดูท่าจะไม่มีวันจบ ระหว่างนักสิ่งแวดล้อมสายเขียวเข้มที่มองว่ามูลค่าที่แท้จริง (intrinsic value) ของธรรมชาตินั้นประเมินค่าไม่ได้และไม่ควรวัดเป็นตัวเงิน กับเหล่านักเศรษฐศาสตร์ที่ฟังแล้วยักไหล่ พลางสวนกลับไปว่าก็วิธีดั้งเดิมที่โปรโมตสายสัมพันธ์มนุษย์-ธรรมชาติ และความงามที่ซาบซึ้งจนอยากน้ำตาไหลได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า ‘ไม่เวิร์ก’ เพราะตลอดศตวรรษที่ผ่านมาก็ยังเห็นธรรมชาติถูกย่ำยีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแบบไม่มีใครเห็นหัว

ส่วนผู้เขียนขอลอยตัวเป็นฝ่ายเขียวจ้า ที่อยากจะประเมินมูลค่าทางสิ่งแวดล้อมก็ได้นะจ๊ะ แต่ช่วยดอกจันตัวโตๆ ด้วยว่าที่ประเมินกันทั้งหมดทั้งหมดน่ะ สะท้อนแค่มูลค่า ‘ส่วนหนึ่ง’ ของทรัพยากรธรรมชาตินั้นๆ ส่วนคำถามเช่นว่ามูลค่าที่แท้จริง (intrinsic value) ของผืนป่าห้วยขาแข้งหรือทุ่งใหญ่นเรศวรมีราคาเท่าไร ก็ขอละไว้ในฐานที่ไม่มีใครอาจเข้าใจ เพราะธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ใครจะอาจหาญมาแปะป้ายราคา

 

เอกสารประกอบการเขียน

Tags: , , , , , , , ,