คำพูดทำนองว่าให้เก็บเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ เป็นคำพูดที่เริ่มมาพูดกันเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง และเชื่อว่าหากย้อนอดีตกลับไปหลายสิบปีก่อน การพูดถึงเรื่องนี้คงมีไม่มากนัก เพราะสังคมไทยแบบเดิม ผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลโดยลูกหลานในครอบครัว แต่เมื่อเวลาผ่านไป สภาพสังคมที่เปลี่ยนเป็นสังคมเมืองและครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ทำให้ผู้คนต้องกลับมาพึ่งตนเองในยามแก่ชรา

ในวันที่เราเกษียณอายุจากการทำงาน ไม่ว่าจะที่อายุเท่าไรก็ตาม เชื่อได้ว่าทุกคนย่อมอยากมีชีวิตบั้นปลายที่สุขสบาย ซึ่งความหมายเบื้องต้นคือ มีเงินให้ใช้จ่ายโดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น และแน่นอนว่า การมีชีวิตเช่นนั้นได้ ต้องเกิดจากการวางแผนที่ดีตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มสาว

มีงานศึกษาและการประชาสัมพันธ์โดยหน่วยงานต่างๆ ที่ให้คำตอบว่า ควรมีเงินเท่าใดถึงเพียงพอต่อการใช้จ่ายเมื่อเกษียณ และมีตัวเลขหนึ่งที่เริ่มเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง คือ หลังเกษียณต้องมีเงินอย่างน้อย 4 ล้านบาท

(เงิน 4 ล้านบาท ถือเป็นจำนวนเงินที่มากสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ ที่อาจไม่คิดจะฝันถึงเงินก้อนใหญ่ขนาดนี้ ทั้งนี้ ร้อยละ 98 ของบัญชีเงินฝากธนาคาร เป็นบัญชีที่มีเงินฝากน้อยกว่า 1 ล้านบาท ดังนั้นต้องบอกว่า)

แต่รู้หรือไม่ว่า เงิน 4 ล้านบาทนี้อาจไม่ใช่เงินก้อนใหญ่ที่จะทำให้เราอยู่อย่างสุขสบาย หากแต่เป็นเงินก้อนที่เราพออยู่ได้อย่างไม่ลำบากมากนักเท่านั้นเอง

เงินก้อน 4 ล้านบาทมีที่มาเบื้องต้นจากหลักเบื้องต้นที่ว่า ถ้าหลังเกษียณจากการทำงานแล้ว เราต้องการใช้เงินใช้วันละ 500 บาท (เดือนละ 15,000 บาท) เป็นเวลาอีก 20 ปี (240 เดือน) นั่นคือเราต้องมีเงินก้อนเท่ากับ 15,000×240 = 3,600,000 บาทเพื่อรองรับการใช้จ่าย

เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดในการใช้ชีวิตประจำวันหลังเกษียณ พบว่าค่าใช่จ่ายหลักๆที่ต้องใช้จะสามารถแบ่งคร่าวๆ ได้เป็น 4 หมวด ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตประจำวัน ค่าใช้จ่ายพาหนะและที่อยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูและและรักษาสุขภาพ และค่าใช้จ่ายด้านสันทนาการและท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มความสุขให้ชีวิต

ซึ่งเมื่อลองประมาณการค่าใช้จ่ายในรายการหลักๆ จะพบว่า การใช้ชีวิตหลังเกษียณไปอีก 15 ปี หากกินอยู่อย่างประหยัด เน้นรับประทานอาหารในบ้าน ใช้รถโดยสารสาธารณะ ใช้สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของรัฐ และไม่เดินทางท่องเที่ยวเลยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ควรจะต้องเตรียมเงินไว้ประมาณ 1.4 ล้านบาท

แต่หากต้องการใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างสุขสบาย แต่ไม่ถึงกับฟุ่มเฟือย มีงบประมาณกินข้าวนอกบ้านและพบปะเพื่อนฝูงได้บ่อยครั้ง มีรถยนต์ส่วนตัวขับและเปลี่ยนรถใหม่ทุกๆ 5 ปี มีเงินพอที่จะเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน ได้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งต่างประเทศระยะทางไกลปีละ 2 ครั้ง ทุกๆ ปีจะต้องเตรียมเงินไว้ประมาณ 22 ล้านบาท แต่หากเป็นการใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบปานกลาง ก็ควรจะต้องมีเงินประมาณ 5.5 ล้านบาทเตรียมพร้อมไว้

หมายเหตุ: ตัวเลขค่าใช้จ่ายประมาณการโดยผู้เขียน

ตัวเลข 22 ล้านบาท สำหรับการใช้จ่ายอย่างสุขสบายหลังเกษียณ (ไปอีก 15 ปี) นั้นเป็นตัวเลขที่สูงมาก แต่ยังไม่ใช่ตัวเลขที่สูงที่สุดที่ต้องเตรียมเอาไว้ เนื่องจากราคาสินค้าและบริการต่างๆ ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ หากแต่ปรับขึ้นทุกๆ ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากเราใช้ราคาปัจจุบันเป็นฐาน และปรับด้วยเงินเฟ้อแบบทบต้นที่อัตรา 3% ไปอีก 20 ปีข้างหน้า ได้ตัวเลข 39.8 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่า หากต้องการใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างสุขสบายในอีก 20 ปีข้างหน้าและใช้ชีวิตหลังเกษียณไปอีก 15 ปี จะต้องเตรียมเงินไว้ทั้งสิ้น 39.8 ล้านบาท แต่ถ้าเน้นกินอยู่อย่างประหยัด รักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลของรัฐและไม่ไปเที่ยวไหน ก็ยังต้องเตรียมเงินไว้ 2.6 ล้านบาท

แน่นอนว่า เป้าหมายและความสุขในชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะต้องการใช้ชีวิตอย่างสงบหลังเกษียณ อาจไม่ต้องการใช้เงินมากนัก แต่บางคนอาจต้องการใช้ชีวิตอย่างสุขสบายหลังจากทำงานหนักมาทั้งชีวิต ก็อาจต้องเตรียมเงินไว้มากสักหน่อย แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องเผชิญคือความเสื่อมถอยของสภาพร่างกาย และความจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์ ซึ่งหากเลือกได้ คนส่วนใหญ่คงอยากได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพ และไม่ต้องรอคิวนานมากนัก ซึ่งคงต้องแลกมากับการเตรียมเงินไว้ให้เพียงพอ

การเก็บเงินเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไม่ว่าจะเป็นที่ระดับตัวเลขขั้นต่ำที่ 1.4 หรือ 2.6 ล้านบาทก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันประชากรในประเทศไทยนั้น มีรายได้เฉลี่ยที่ 9,350 บาทต่อคน (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ) จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนในประเทศไทยส่วนใหญ่มีเงินเก็บหลักล้านบาทได้

แต่ถ้าเราตระหนักรู้ความสำคัญของการเก็บออมเงินเพื่อในหลังเกษียณ โดยทยอยเก็บเงินตั้งแต่เริ่มทำงาน ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยน้อยลง นำเงินออมไปลงทุนที่ได้ผลตอบแทนเหมาะสม ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิน และทำให้เราสามารถเลี้ยงดูตัวเองยามแก่ชราได้

Tags: , , , ,