“ตอนนั้นเด็กมากประมาณ 5 ขวบ เล่นอยู่บ้านเพื่อนที่เมืองน้ำส่าน แล้วทหารพม่ากับทหารปะหล่องก็เริ่มยิงกัน เราอยู่ตรงกลางที่เขายิงกัน ทุกคนวิ่งแตกตื่น เราจะรอดไหม? จะตายหรือเปล่า? คิดว่ายืนอยู่อย่างนี้ยังไงก็ไม่รอด เลยวิ่งไปพร้อมทหารเพื่อหาทางกลับไปบ้านป้า จากนั้นเราก็ไม่กล้าที่จะอยู่ที่นี่แล้ว
ตอนมาอยู่จ๊อกแม ก็ยังมียิงกัน แต่ไม่ใช่หน้าบ้านเราเหมือนตอนเด็ก แล้วเวลาสู้รบทหารจะข่มขืนผู้หญิงแล้วฆ่า ตอนเช้ามีศพเกลื่อนกลาด แต่ไม่มีใครช่วยเหลือ พอบ่อยเข้าเลยรู้สึกว่าทำไมประเทศเราเป็นแบบนี้? เราจะอยู่ที่นี่ได้ถึงไหน? เมื่อไหร่จะมีคนมาฆ่าเรา? เราไม่รู้เลยนะ ก็เลยย้ายไปอยู่ที่อื่นที่ไม่มีสงคราม เราอยากเห็นประเทศเปลี่ยนไป อยากเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตย ตอนนี้พรรคการเมืองเขาพูดกันว่าสู้เพื่อประชาธิปไตย แล้วทำไมเราถึงยังไม่ได้สักที…”
คำบอกเล่าเหตุการณ์สะเทือนใจในวัยเด็กที่ไม่เคยจางหายไปจากความทรงจำของ ‘ขิ่น โพงน์’ แรงงานข้ามชาติจากเมืองจ๊อกแม รัฐฉานตอนเหนือ ประเทศเมียนมาร์ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้านอกอาณาจักรที่เลือกใช้สิทธิ์ในหน่วยเลือกตั้งจังหวัดเชียงใหม่
แม้กระบวนการสร้างสันติภาพและการปรองดองแห่งชาติจะเป็นภารกิจหลักของรัฐบาลอองซาน ซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ใช้หาเสียงพร้อมชนะอย่างถล่มทลายเมื่อการเลือกตั้งครั้งก่อน แต่วี่แววของสันติภาพที่ทุกคนใฝ่ฝันยังคงริบหรี่ เสียงปืนเสียงระเบิดเคล้าเสียงระงมร้องของผู้คนยังดังไม่เว้นแต่ละวัน ขณะเดียวกัน ภายใต้ชื่อ ‘การปกครองระบอบประชาธิปไตย’ อำนาจอธิปไตยก็ยังไม่ได้เป็นของประชาชนทุกคน
การเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิต และหน่วยเลือกตั้งครั้งแรกในเชียงใหม่
เวลาเวียนวนมาจนครบวาระ 5 ปี ตอนนี้ถึงคราวต้องเลือกผู้แทนใหม่เข้าสภา โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมาร์ (UEC) จัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในประเทศไทย 2 แห่งด้วยกัน คือ สถานทูตเมียนมาร์ประจำประเทศไทยที่กรุงเทพ และ กงสุลใหญ่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ในจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ นับเป็นครั้งแรกที่มีการเพิ่มหน่วยเลือกตั้งจากเดิมที่มีกรุงเทพเพียงแห่งเดียว แต่หน่วยเลือกตั้งทั้ง 2 แห่ง ก็ยังไม่สะดวกต่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจากประเทศเมียนมาร์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทยนับล้านคนอยู่ดี
สถิติกงกุลใหญ่ฯ ระบุว่า มีผู้มาลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้านอกอาณาจักรในจังหวัดเชียงใหม่เป็นจำนวน 1,027 คน ที่คาดการณ์ว่าทำงานอยู่ใน 9 จังหวัดทางภาคเหนือ โดยส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่จากรัฐฉาน และมีเพียง 995 รายชื่อ ที่ผ่านการตรวจสอบเอกสารจากคณะกรรมการเลือกตั้งและมีสิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า ทว่าผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งจริง ๆ ที่กงสุลใหญ่ฯ มีเพียง 641 คน หรือคิดเป็น 0.9% เท่านั้น ถือว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก
เหตุผลที่มีผู้มาใช้สิทธิ์น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรชาวเมียนมาร์ที่อยู่ในประเทศไทย เกิดจากปัญหาเอกสารยืนยันสิทธิพลเมืองซึ่งเป็นปัญหาจากประเทศต้นทาง แรงงานชาวเมียนมาร์ในภาคเหนือส่วนมากเป็นแรงงานอพยพจากรัฐฉานที่หนีสงคราม เมื่อบ้านถูกเผาก็ไม่มีหลักฐานใดหลงเหลือเพื่อใช้แสดงสิทธิความเป็นพลเมือง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของอุปสรรคเรื่องหน่วยเลือกตั้งอยู่ไกลที่พักอาศัยในไทย การลางานไม่ได้ การไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารว่าตนสามารถเลือกตั้งล่วงหน้าในประเทศไทยได้หรือไม่ แถมบางคนไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าตนคือผู้มีสิทธิ์ในกลไกประชาธิปไตยนี้
“ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกเลย ครั้งที่แล้วเราก็อยู่ไทยแต่เราไม่ได้ข้อมูล ไม่รู้เลยว่าให้เลือกตั้งล่วงหน้าได้ การประชาสัมพันธ์ยังน้อยมาก ครั้งนี้ก็น้อยนะ ถ้าคนไหนไม่ได้กดไลก์หรือกดติดตามเพจกงสุลฯ ก็ไม่รู้ อย่างครั้งที่แล้วก็อยากเลือกเพราะคะแนนเสียงทุกคะแนนมีความหมายมาก เราก็เป็นคนในประเทศคนหนึ่ง ถึงแม้จะมาอยู่เมืองนอกแต่เราก็ได้ใช้สิทธิ์ของเรา รู้สึกเสียดายที่มีคนออกมาเลือกตั้งน้อย”
หลังออกมาจากหน่วยเลือกตั้งพร้อมปลายนิ้วก้อยเปื้อนหมึกสีน้ำเงิน ขิ่น โพงน์ เล่าถึงประสบการณ์เลือกตั้งครั้งแรกในชีวิต
เธอไม่ใช่พลเมืองจากประเทศเมียนมาร์เพียงคนเดียวที่ไม่เคยเลือกตั้งมาก่อนในชีวิต มีอีกหลายคนที่เพิ่งมีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรกเช่นกัน ป้า ‘ดอกเอื้อง’ ชาวไทใหญ่วัย 50 ปี แต่งกายด้วยชุดไทใหญ่สีเขียวเข้มสวยงาม เธอเดินทางจากลำพูนคนเดียวเพื่อมาเลือกตั้งเช่นกัน เธอบอกว่า “ดีใจมาก ได้เลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตเลย” นอกจากนี้ยังมีชาวคะฉิ่นจากเมืองปูตาโอเกือบสิบคน นั่งรถมาไกลจากดอยสะเก็ดก็ตื่นเต้นดีใจที่ได้ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียง ทั้งหมดต่างมาด้วยความหวังเดียวกันว่าอยากให้ประเทศดีขึ้น “ถ้าประเทศเราดีขึ้น เราก็จะได้กลับไปทำงานที่บ้าน”
กระบวนการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการทหารสู่ประชาธิปไตยแบบไฮบริด
หลังเมียนมาร์ลงนามในข้อตกลงปางโหลงกับอังกฤษ ว่าด้วยเรื่องการคืนอิสรภาพแก่เมียนมาร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1947 เมียนมาร์ได้จัดการเลือกตั้งครั้งแรกในวันที่ 9 เมษายน 1947 เพื่อหาสมาชิกนิติบัญญัติจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้หลังจากเมียนมาร์ได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 มกราคม 1948
เมียนมาร์ระยะแรกมีการปกครองลักษณะ ‘ประชาธิปไตยรัฐสภา’ โดยมีพรรคสันนิบาตอิสรภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ (AFPFL) เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สาระสำคัญหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับแรก คือ สิทธิและเงื่อนไขการถอนตัวของรัฐชาติพันธุ์ออกจากร่มอธิปไตยเมียนมาร์ หลังบังคับใช้รัฐธรรมนูญไปแล้ว 10 ปี
ปี 1962 กองทัพพม่านำโดยนายพลเน วิน ก่อรัฐประหารยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง เขาสั่งยุบพรรคการเมืองต่าง ๆ เปลี่ยนการปกครองเป็น ‘ระบอบเผด็จการสังคมนิยมแบบพรรคการเมืองเดียว’ โดยพรรคดังกล่าวคือ พรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (BSPP) จากนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 1974 ขึ้นมาใหม่ ยกเลิกมาตราให้สิทธิถอนตัวออกจากสหภาพแยกเป็นเอกราชของรัฐชาติพันธุ์ เน้นการรวมศูนย์อำนาจสู่รัฐบาลกลางเพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ
อำนาจเผด็จการทหารกดขี่ประชาชนมายาวนานกว่า 26 ปี จนเกิดเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ของประชาชนในวันที่ 8 สิงหาคม 1988 (เหตุการณ์ 8888) ทหารใช้กำลังปราบปรามประชาชนอย่างหนัก และกุมอำนาจปกครองต่อมากว่า 20 ปี
อาจารย์ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้เชี่ยวชาญการเมืองเมียนมาร์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองเมียนมาร์ว่า “แม้ช่วงนี้รัฐบาลทหารจะปกครองรัฐด้วยกฎอัยการศึก และถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมโลกอย่างหนักหน่วงเกี่ยวกับการปิดกั้นประชาธิปไตย ละเมิดสิทธิมนุษยชน กักขังนางออง ซาน ซูจี และการเคลื่อนกำลังเข้าปราบปรามกลุ่มชาติพันธุ์ตามแนวชายแดน ทว่ารัฐบาลทหารได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางการเมืองการปกครองหลายอย่าง เตรียมกำหนดทิศทางการเมืองใหม่เพื่อให้กองทัพมีบทบาททางการเมืองภายใต้บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น กองทัพมองว่า ‘แนวทางประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัย’ เท่านั้นที่เหมาะสมกับสภาพพื้นฐาน แนวคิดของกองทัพกระทบต่อการบ่มเพาะระบอบการเมืองใหม่ รัฐบาลทหารจึงตัดสินใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อออกแบบให้รัฐมีรูปแบบการเมืองที่หันเหจากระบอบเผด็จการทหารเต็มรูป เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบพหุพรรคที่ตกอยู่ใต้การกำกับดูแลของกองทัพเพื่อให้ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมั่นคง”
ผู้นำทหารตัดสินใจปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอดของกองทัพต่อโลกการเมืองสมัยใหม่ ในปี 1993 รัฐบาลของนายพลตาน ฉ่วย ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น ผ่อนปรนไปทางฝั่งประชาธิปไตยมากกว่าเดิม แต่ก็เป็นการผ่อนปรนแบบที่กองทัพยังคงมีพื้นที่และบทบาททางการเมืองอยู่ อาทิ แม้โครงสร้างการจัดตั้งรัฐสภาจะต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้ที่นั่งในสภา 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นโควตาทหารที่ถูกเสนอชื่อจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองทัพสามารถเข้ามามีอำนาจบริหารแทนรัฐบาลหากมีการประกาศสภาวะฉุกเฉินหรือประเทศสุ่มเสี่ยงต่อการแตกสลาย และยากที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพราะต้องอาศัยเสียงสนับสนุนในสภามากถึง 75 เปอร์เซ็นต์
รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวใช้เวลาร่างนานถึง 15 ปี กว่าจะได้รัฐธรรมฉบับปี 2008 ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็เป็น 15 ปี ที่กองทัพกระทำอย่างระมัดระวังเพื่อรักษาอำนาจต่อไป
เสรีที่เป็นธรรมไม่ได้ไว้มีสำหรับทุกคน
แม้ในปี 2010 มีการประกาศการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อจัดตั้งรัฐสภาและรัฐบาลใหม่ แต่รัฐบาลฝั่งพลเรือน หรือพรรค NLD ประกาศคว่ำบาตรไม่เข้าแข่งขัน หลังจากที่เคยชนะเลือกตั้งเมื่อปี 1990 แต่ถูกฝั่งทหารเทกระดานเลือกตั้งทิ้งพร้อมกักบริเวณอองซาน ซูจี ต่อมาในปี 2015 เกิดการจัดเลือกตั้งใหม่ที่ได้ชื่อว่าเป็นครั้งที่เสรีและยุติธรรมมากที่สุดในรอบ 25 ปี พรรค NLD จึงกวาดคะแนนเสียงจากประชาชนไปอย่างถล่มทลายอีกครั้ง
หลังเมียนมาร์ปิดประเทศ ปกครองแบบเผด็จการทหารพรรคเดียวนานกว่า 5 ทศวรรษ การเลือกตั้งในปี 2020 นับเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ที่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองอื่น ๆ เข้าสู่สนามแข่งขันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม Human Rights Watch มองว่า แม้การเลือกตั้ง 2020 จะมีการจัดเลือกตั้งที่ดูเหมือนจะพาเมียนมาร์เข้าสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ยังเป็นเพียงเปลือกห่อหุ้มระบบทหารที่กุมอำนาจอยู่
การเลือกตั้งยังมีการกีดกันประชาชนบางส่วน กฎหมายบางข้อยังกีดกันสิทธิชาวโรฮิงญาในการลงสมัครและเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เก้าอี้ในสภา 25% ยังถูกกองทัพจับจอง ความไม่เท่าเทียมของแต่ละพรรคการเมืองในการเข้าถึงสื่อของรัฐ การวิจารณ์รัฐบาลและกองทัพยังเป็นเรื่องต้องห้ามหรือยังถูกจับ รวมทั้งยังขาดคณะกรรมการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและกลไกทางกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม
โดยเฉพาะในช่วงนี้เมียนมาร์มีปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสอง บางเขตเลือกตั้งถูกยกเลิกด้วยข้อกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัส แม้พรรคเล็กจำนวนมากขอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพราะไม่สามารถออกไปหาเสียงได้ตามข้อกำหนดเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยจากคณะกรรมการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล และเมื่อต้องหันมาหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย เนื้อหาต่างๆ ก็ยังต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐ ข้อความไหนวิพากษ์วิจารณ์รัฐก็ถูกเซนเซอร์ไม่อนุมัติให้เผยแพร่ แถมการจะหาเสียงในสื่อหลักของรัฐก็ต้องใช้ทุนมหาศาล พรรคการเมืองเล็กจึงมองว่าเสียเปรียบพรรคใหญ่อย่าง NLD และพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ตัวแทนพรรคฝ่ายทหารที่มีเม็ดเงินทุ่มไปกับการโฆษณาในสื่อของรัฐและเอกชน
ด้านการเลือกตั้งล่วงหน้านอกอาณาจักร หนึ่งในผู้ออกไปใช้สิทธิ์ที่หน่วยเลือกตั้งเชียงใหม่อย่าง ‘จ่า อู’ ที่มาจากเมืองลางเคิง รัฐฉานทางใต้ติดกับแม่ฮ่องสอน ก็มีความกังวลในเรื่องของความโปร่งใส่ต่อการเลือกตั้งในครั้งนี้
“มีใบลงคะแนนทั้งหมด 3 ใบ แต่สำหรับคนชาติพันธุ์อื่นที่ไปอยู่ในเขตของเมียนมาร์จะมี 4 ใบ วิดีโอสาธิตการลงคะแนนจากคณะกรรมการการเลือกตั้งจะมีแม่พิมพ์ให้ปั๊ม มีการแบ่งกล่องตามใบลงคะแนนทั้ง 3 ใบ แต่พอเลือกจริง เขาให้เอาใบลงคะแนน 3 ใบ ใส่ซองเดียวกันและใส่ในกล่องเดียวกันหมด แล้วก็ไม่มีตราปั๊มมาให้ เราต้องใช้ปากกาขีดเลือกเอง แล้วด้านล่างใบลงคะแนนเขาให้เราดูว่าต้องมีลายเซ็นของคณะกรรมการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่มีลายเซ็นสักใบ เขาเลยบอกว่ามีตรากงสุลข้างหลังแล้วไม่เป็นไร
พอเป็นแบบนี้มันก็มีช่องว่าง แล้วถ้าระหว่างขนย้ายเกิดผิดพลาดขึ้นมาล่ะ ถ้าไปถึงที่นู่นแล้วเขาปั๊มทับล่ะ หรือมีคนมาขีดช่องอื่นล่ะ มันก็จะเป็นบัตรเสีย แล้วไม่มีคนเซ็นด้วย และการให้ใส่ในกล่องเดียวกัน มันต้องมีการเปิดอยู่แล้ว มันทำให้สามารถทำอะไรก็ได้จากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ จากกรุงเทพฯ ไปเมียนมาร์ เราจะมั่นใจได้ยังไงว่าบัตรที่เราลงคะแนนไปจะไม่ใช่บัตรเสีย”
หากกลไกเหล่านี้ไม่ได้โปร่งใส การเลือกตั้งไม่ได้เป็นเครื่องการันตีถึงความเป็นประชาธิปไตย กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยก็เป็นเพียงแค่เปลือก ดังที่อาจารย์ดุลยภาคมองว่าประชาธิปไตยเมียนมาร์ขณะนี้เป็นแบบไฮบริด แม้จะมีเส้นทางมุ่งสู่ประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้ง หากแต่ฐานรากก็ยังยึดโยงอยู่กับคุณลักษณะของเผด็จการทหารอยู่
“อยากให้เมียนมาร์เปลี่ยนไปทุกๆ ด้านเลย ทั้งการศึกษา เศรษฐกิจ ความเป็นธรรม อยากให้ประชาชนมีงาน คนมีความสามารถได้ทำงานตามที่ถนัด คนมีเงินสามารถตั้งโรงงานหรือเป็นเจ้าของกิจการได้เอง ถ้าทุกคนเท่าเทียมกันในเรื่องรายได้การทำมาหากิน ชีวิตทุกคนก็จะดีขึ้น อีกอย่างที่คาดหวังคือถ้าเข้าไปติดต่อกับหน่วยงานไหน ก็อยากให้ทำตามหน้าที่ ไม่เกี่ยวว่าเรามีเงินหรือไม่มีเงิน ทุกวันนี้จะทำอะไรเราต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะเพิ่ม ถ้าเราไม่ให้เขาก็ไม่ทำ หรือทำช้ามากกว่าจะได้เอกสารสักใบ ที่สำคัญอยากให้ที่บ้านสงบอยู่ได้แบบปลอดภัย เราไม่รู้เลยว่าวันไหนทหารจะเข้ามายิงกัน กฎหมายบ้านเมืองเราก็มีอยู่แล้ว แต่ทำไมกฎหมายถึงคุ้มครองเราไม่ได้ คนมีอำนาจมีเงินอยู่เหนือกฎหมาย กฎหมายจะถูกใช้ได้แค่กับคนที่ไม่มีเงิน เราหวังว่าประชาธิปไตยจะมาช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้” ขิ่น โพงน์ พูดทิ้งท้าย
และไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลต่อไป นี่คือความคาดหวังของประชาชน
ที่มา
ดุลยภาค ปรีชารัชช. 2563. เมียนมา การเมืองการปกครองระยะเปลี่ยนผ่าน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
https://www.tcijthai.com/news/2015/13/scoop/5733
https://www.facebook.com/search/top?q=myanmar%20consulate-general%20chiang%20mai
https://www.hrw.org/news/2020/10/05/myanmar-election-fundamentally-flawed
https://www.matichon.co.th/article/news_2341170
Tags: The Momentum, พม่า, Myanmar, เมียนมาร์, ชนกลุ่มน้อย, เลือกตั้งพม่า, เลือกตั้งเมียนมาร์, ประชาธืปไตย