ทันทีที่พรรค National League for Democracy (NLD) ของออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2015 เธอในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา (State Counsellor) และผู้เป็นความหวังของชาวเมียนมาทั้งประเทศได้ประกาศว่า เธอจะนำชาติไปสู่ ‘สันติภาพและความปรองดอง’ (Peace and National Reconciliation) หลังจากเธอพาเมียนมาหลุดพ้นจากระบอบเผด็จการทหารเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี

แต่การนำประเทศมาสู่การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหนทางที่เปิดให้เธอมีชัยชนะเหนือทหารนั้นยังไม่ใช่บทลงเอยที่สวยงาม แต่เป็นเพียงแค่บทแรกของประชาธิปไตยในเมียนมาเท่านั้น แม้ว่าเธอจะฝ่าฟันความยากลำบากมานักต่อนัก

มาวันนี้เธอเจอบททดสอบที่รุนแรงยิ่งกว่า โดยเฉพาะการสร้างสันติภาพระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมในเมียนมา ตามอุดมการณ์ที่เธอเคยประกาศไว้

เดือนตุลาคม 2016 ที่ผ่านมา ทหารของเมียนมาเริ่มการปราบกลุ่มก่อการความไม่สงบ หลังจากตำรวจตระเวนชายแดน 9 นายถูกสังหารในต้นเดือนตุลาคม โดยทหารของเมียนมาสงสัยว่า ชาวโรฮิงญาอยู่เบื้องหลัง แต่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ชาวมุสลิมโรฮิงญาทุกคนกลายเป็นเป้าหมายของการโจมตีของทหารเมียนมาด้วย ซึ่งภาพจากจานดาวเทียมเปิดเผยให้เห็นบ้านเรือนของชาวโรฮิงญาถูกเผา

สัปดาห์ที่แล้วสำนักข่าวต่างประเทศรายงานถึงความรุนแรงและการข่มขืนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับชาวโรฮิงญา จนล่าสุดองค์การสหประชาชาติได้ออกมาแสดงความกังวลว่า เหตุการณ์จะรุนแรงและนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เนื่องจากมีชาวมุสลิมโรฮิงญากว่า 21,000 คน ต้องอพยพหนีออกจากรัฐยะไข่ของเมียนมาอีกครั้ง และเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2016 นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นำขบวนชาวโรฮิงญานับหมื่นคนประท้วงรัฐบาลเมียนมา ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ สร้างกระแสให้ประเทศอาเซียนที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ไม่พอใจรัฐบาลเมียนมา และออง ซาน ซูจี อย่างรุนแรง

ความรุนแรงครั้งนี้ที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญานั้น ซ้ำรอยกับเหตุการณ์เมื่อปี 2012 ที่ชาวโรฮิงญามากกว่า 100 คนถูกทหารเมียนมาสังหาร และกว่า 140,000 คนต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย ตอกย้ำว่าอคติของชาวพุทธในเมียนมาต่อชาวมุสลิมยังไม่หายไป ทำให้วันนี้ทั่วโลกตั้งคำถามว่า…

ออง ซาน ซูจี ผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพอยู่ที่ไหน?

เธออาจจะเหมาะกับการเป็นนักรณรงค์ประชาธิปไตย มากกว่านักการเมืองก็ได้

 

Photo: Soe Zeya Tun, Reuters/profile

 

ออง ซาน ซูจี เพิกเฉยต่อปัญหานี้จริงๆ หรือไม่?                                   

ออง ซาน ซูจี ในหมวกของนักการเมืองย่อมเป็นคนละบทบาทกับสมัยที่เธอเคยเคลื่อนไหวอยู่ในการเมืองนอกสนาม

ชาวมุสลิมโรฮิงญาประมาณ 1,000,000 คน ถือว่าเป็นประชากรส่วนน้อยของชาวเมียนมา เมื่อเทียบกับชาวพุทธประมาณ 50 ล้านคน ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ การที่รัฐบาลเมียนมาปฏิเสธที่จะพูดถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่า เธอหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา เพราะต้องการรักษาเสียงส่วนใหญ่ของประเทศหรือไม่?

Khin Maung Myint นักการเมืองพรรค National Democratic Party for Development (NDPD) ของเมียนมา ได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้กับ The Momentum ว่า ออง ซาน ซูจี กลายเป็นนักการเมืองที่หลอกลวงประชาชน และละเลยต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของชนกลุ่มน้อยในประเทศ ด้วยการปล่อยให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงต่อชาวโรฮิงญา และหลีกเลี่ยงที่จะประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“เหตุผลหลักคือเธอไม่ต้องการสูญเสียเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่จากชาวพุทธ เธอเลือกที่จะเงียบต่อเรื่องนี้ และเลือกที่จะฟังคำแนะนำจากคนที่มีอคติต่อชาวโรฮิงญา เธออาจจะเหมาะกับการเป็นนักรณรงค์ประชาธิปไตย มากกว่านักการเมืองก็ได้”

ขณะที่ Michael Buehler ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำโซแอส มหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน ให้ความเห็นใกล้เคียงกับ The Momentum ว่า “มาวันนี้ ออง ซาน ซูจี อยู่ในฐานะที่ลำบาก เพราะหากเธอออกมาปกป้องชาวโรฮิงญาอย่างเต็มตัว เธอจะถูกกลุ่มชาวพุทธชาตินิยมมองว่าเป็น ‘ผู้ทรยศ’ แต่ถ้าหากเธอไม่ออกมาปกป้องชาวโรฮิงญา เธอจะถูกชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มในเมียนมาเริ่มไม่อยากสนับสนุนรัฐบาลของเธอ เพราะรัฐบาลไม่สามารถการันตีว่าจะปกป้องสิทธิความเป็นพลเมืองของพวกเขาได้”

อย่างไรก็ตาม หากจะบอกว่า ออง ซาน ซูจี ไม่ได้ทำอะไรเลยก็ไม่เป็นความจริงนัก เพราะล่าสุดเธอได้ให้คนนอกอย่าง โคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ เป็นหัวหน้าการประชุมการหารือเพื่อหาทางออกต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ และเรียกร้องให้ต่างชาติเข้าใจว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่สามารถแก้ไขได้เพียงชั่วข้ามคืน และการให้สิทธิการเป็นพลเมืองกับชาวโรฮิงญานั้นต้องเป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย เพียงแต่ทั่วโลกตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำของเธอนั้นอาจจะไม่ทันการณ์ และไม่ได้แสดงถึงความจริงใจต่อการแก้ปัญหานี้มากพอ

Photo: Soe Zeya Tun, Reuters/profile

 

ชาวโรฮิงญาที่ไร้มิตร… แล้วอาเซียนจะเข้ามาช่วยเหลือได้อย่างไร?

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ครั้งล่าสุด จุดกระแสให้ประเทศอาเซียนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม อย่าง อินโดนีเซีย และมาเลเซีย รวมถึงชาวมุสลิมในไทยเองออกมาประท้วงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหน้าสถานทูตเมียนมา ด้านนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียเองได้ออกมาบอกว่า “โลกไม่ควรจะนิ่งเฉยกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้น โลกไม่สามารถมาบอกว่านี่ไม่ใช่ปัญหาของเราได้ เพราะมันคือปัญหาของเราทุกคน”

หากประเทศต้นทางอย่างเมียนมายังไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมและชาวเมียนมาได้ สิ่งที่ประเทศเพื่อนบ้านทำได้ตอนนี้คือรับมือกับชาวโรฮิงญาที่จะลี้ภัยเข้าประเทศตัวเอง อังคณา นีละไพจิตร กรรมาธิการประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย (National Human Rights Commission of Thailand) ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ว่า “ขณะนี้กรรมการสิทธิประจำประเทศไทยพยายามจะช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ด้วยการเจรจากับรัฐบาลไทยให้เอาชาวโรฮิงญาที่เป็นผู้หญิงและเด็กออกมาจากสถานที่กักก่อน เพราะเด็กเกิดมาจะต้องไม่มีความผิด และรัฐบาลควรพิจารณาสถานะของชาวโรฮิงญาให้ดีระหว่างการเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ กับการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพราะผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จะได้รับการดูแลในฐานะพยานการค้ามนุษย์ แต่ถ้าเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย พวกเขาจะไม่สามารถกลับเข้าเมียนมาได้ เพราะเมียนมามีกฎหมายห้ามคนออกนอกประเทศโดยผิดกฎหมายกลับเข้าประเทศ”

อย่างไรก็ตามการรับชาวโรฮิงญายังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หากเมียนมายังหลีกเลี่ยงที่จะแก้ปัญหานี้ “ลองสังเกตดูสิว่าแม้กระทั่งนักรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงในเมียนมา ก็หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ แล้วประเทศอื่นต้องไปรับภาระแทน ซึ่งตรงกับความต้องการของเขาที่อยากขจัดกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญาให้หมดจากประเทศ”

ขณะที่บรรดาประเทศอาเซียนต่างออกมาแสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศต่างๆ ไม่สามารถรับภาระแทนได้ 100% ซึ่งอังคณาเสนอทางแก้ไขไว้ว่า ประชาคมอาเซียนควรจะกลับไปทบทวนกฎระเบียบห้ามแทรกแซงกิจการภายในของแต่ละประเทศ

“อาเซียนควรทบทวนกฎระเบียบที่ห้ามประเทศสมาชิกแทรกแซงกิจการภายในของแต่ละประเทศ (Non-Inteference) ถ้าไปใช้กฎระเบียบแบบฉันทามติ (Consensus) ก็จะสามารถกดดันให้เมียนมาแก้ไขปัญหารุนแรงต่อชาวโรฮิงญาได้ นอกจากนี้ประชาคมอาเซียนให้ความสำคัญแต่เรื่องเศรษฐกิจ แต่ลืมให้ความสำคัญกับคุณค่าความเป็นมนุษย์ของประชากรในภูมิภาค เพราะในเวลานี้ชาติตะวันตกกำลังเห่อที่เมียนมาเป็นประชาธิปไตย แต่ลืมไปว่าปัญหาเหล่านี้ยังมีอยู่”

ความเห็นของอังคณาสอดคล้องกับ Khairy Jamaluddin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเยาวชนและกีฬาของมาเลเซีย ประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ที่เห็นว่าประชาคมอาเซียนควรทบทวนสถานะสมาชิกของเมียนมา เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อชาวโรฮิงญาครั้งนี้เป็นเรื่องที่รับไม่ได้

Photo: Edgar Su, Reuters/profile

ประชาธิปไตยของเมียนมาจะเดินไปทางไหน?       

ความท้าทายในการนำเมียนมาสู่ประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงแค่การให้ประเทศรอดพ้นจากอำนาจของทหาร แต่ยังต้องทำให้เกิดสันติภาพในประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ด้วย Michael Buehler เห็นว่า หาก ออง ซาน ซูจี ไม่สามารถแก้ไขความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาได้ สิ่งนี้จะกระทบกับพัฒนาการของประชาธิปไตยที่เพิ่งจะเริ่ม “ความขัดแย้งอาจลุกลามบานปลาย จนนำไปสู่ความไม่สงบภายในประเทศ ซึ่งอาจจะเปิดทางให้ทหารเมียนมากลับมาทำรัฐประหารอีกครั้ง และอาจจะรุนแรงถึงขั้นทำให้เมียนมาไม่สามารถทำข้อตกลงสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในประเทศได้อีก”

เช่นเดียวกับ Khin Maung Myint ที่เห็นว่า รัฐบาลเมียนมาควรเปิดโอกาสให้ชนกลุ่มน้อยต่างๆ มีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น เพื่อความมั่นคงทางการเมืองของประเทศ “เมียนมาจะมีตัวเลือกในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น หากทุกเชื้อชาติในประเทศที่มีความเชื่อทางศาสนาแตกต่างกันได้รับโอกาสทางการเมืองที่เท่าเทียม”

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ แต่จะมีผลต่อพัฒนาการประชาธิปไตยของเมียนมาอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะรัฐธรรมนูญของเมียนมากำหนดให้ทหารสามารถยึดอำนาจคืนจากพลเรือนได้ ในกรณีที่ความไม่สงบและความรุนแรงเกิดขึ้นภายในประเทศ “แม้ผมจะยังสนับสนุน ออง ซาน ซูจี และคิดว่าเราควรให้เวลากับการสร้างประชาธิปไตยในเมียนมา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะปล่อยให้กลุ่มที่มีความคิดหัวรุนแรง และความเกลียดชังจะดำเนินความรุนแรง โดยไม่มีใครมาห้าม ซึ่งผมกลัวเหลือเกินว่าประเทศจะเดินหน้าสู่ความโกลาหล”

จริงอยู่ว่าประชาธิปไตยคือ ‘กระบวนการ’ ที่ต้องใช้เวลาในการงอกเงย และไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เพียงแค่ชั่วข้ามคืน ยิ่งโดยเฉพาะกับเมียนมาที่ปัญหาเรื่องความหลากหลายทางชาติพันธุ์นั้น สั่งสมมาตั้งแต่เริ่มสร้างชาติ แต่ถ้าหาก ออง ซาน ซูจี และพรรค NLD ของเธอปล่อยให้เหตุการณ์ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาดำเนินต่อไป ก็จะทำให้ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในประเทศพากันไม่ไว้ใจเธอไปด้วย และรู้สึกว่าเสียงของพวกเขาที่เคยโหวตให้เธอถูกทรยศ

ความไร้เอกภาพในประเทศจะกระทบต่อประชาธิปไตยที่เธอต่อสู้มาหลายสิบปีอย่างแน่นอน

อ้างอิง:
 – http://www.independent.co.uk/news/world/asia/burma-rohingya-muslims-whats-behind-persecution-aung-san-suu-kyi-a7449126.html
– http://www.independent.co.uk/news/world/asia/aung-san-suu-kyi-burma-rohingya-muslims-crimes-against-humanity-a7447706.html
– http://www.bbc.com/news/world-asia-38168917

 – http://www.bbc.com/news/world-asia-38091816

 

Tags: , ,