เหตุการณ์ ‘8888’ เป็นเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหารและเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1988 ซึ่งถือว่าเป็นการลุกฮือของประชาชนชาวเมียนมาครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองเมียนมาที่ต้องการให้นายพลเนวินและรัฐบาลเผด็จการทหารออกจากอำนาจหลังจากที่ปกครองประเทศตั้งแต่ ค.ศ. 1962

ตลอดระยะเวลา 26 ปีที่รัฐบาลของนายพลเนวินยึดอำนาจและปกครองประเทศในนามพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (The Burma Socialist Program Party-BSPP) หรือที่เรียกกันว่า ‘ระบอบเนวิน’ นำพาประเทศไปสู่ความตกต่ำถึงขีดสุดทั้งเศรษฐกิจและการเมือง จนประชาชนมิอาจทนได้อีกต่อไปและเป็นชนวนที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านรัฐบาล แต่ผู้ประท้วงถูกตอบโต้ ปราบปรามอย่างหนัก รัฐบาลสั่งยิงกลุ่มนักศึกษาที่ชุมนุม และระเบิดตึกกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้ง และสั่งปิดมหาวิทยาลัย เหตุการณ์ดังกล่าวปิดฉากลงอย่างไม่สวยงามนัก มีเหยื่อการปราบปรามในฐานะนักโทษการเมืองจำนวนมากถูกนำตัวไปจองจำในคุกเป็นเวลาหลายปี พร้อมเรื่องราวของการถูกทรมาน

ตลอดช่วงสัปดาห์รำลึกเหตุการณ์ ‘8888’ ในเดือนสิงหาคมของทุกปี ในหน้าฟีดข่าวของสำนักข่าวต่างๆ และหน้าเฟชบุ๊กส่วนตัวในเมียนมา ต่างโพสต์ แชร์ และกด Like ภาพบรรยากาศการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ตามเมืองต่างๆ รวมถึงภาพการต่อสู้ของประชาชนและการใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างหนักของรัฐบาลทหารเมียนมาในเหตุการณ์วันนั้นกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งการนำเสนอเป็นไปอย่างอิสระ สะดวกและง่ายดายมาก ผิดกับเมื่อ 20 ปีก่อน

ย้อนกลับไปเมื่อสัก 20 กว่าปีก่อน ก่อนจะถึงยุคโซเชียลมีเดียที่ย่อให้โลกเราแคบเล็กลงเช่นทุกวันนี้ ในยุคที่การเผยแพร่ข่าวสารยังอยู่บนพื้นที่สื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลัก หลายคนอาจคิดว่าเรื่องราวเหตุการณ์ ‘8888’ คงมิถูกเผยแพร่หรือบอกเล่าในสังคมเมียนมาได้อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมาและกว้างขวาง เหตุการณ์ดังกล่าวต้องถูกปกปิด ลบลืม ภายใต้ข้อจำกัดและอำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลทหารที่เข้ามายึดอำนาจหลังเหตุการณ์ ‘8888’ อีกครั้งหนึ่ง หรือไม่ เพราะหลังจากเหตุการณ์รุนแรงในครั้งนั้นแล้ว บทบาททางด้านการปกครองก็ยังคงตกอยู่ในมือของกลุ่มทหาร มีการแต่งตั้งผู้นำพลเรือนขึ้นเป็นหุ่นเชิด

นับตั้งแต่ช่วงประมาณ ค.ศ. 1964 สื่อมวลชนในเมียนมาประสบกับการเปลี่ยนแปลงในโลกสื่อสิ่งพิมพ์ อันเนื่องมาจากระบอบการปกครองที่รัฐบาลเผด็จการทหารได้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองสื่อ ทำหน้าที่ควบคุมและกลั่นกรองสื่อทุกชนิดอย่างเข้มงวด

นั่นหมายความว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สื่อในเมียนมาไม่ได้มีอิสระในการนำเสนอเหมือนกับสื่อที่อยู่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ช่วงเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมาพบว่า นักเขียน กวี ศิลปิน ต่างทำงานด้วยความหวาดกลัวว่าผลงานของตนจะไม่ผ่านกองเซ็นเซอร์ ผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์อย่างอิสระอาจสุ่มเสี่ยง ต้องตกเป็นเหยื่อของกองเซ็นเซอร์ นักสร้างสรรค์งานศิลปะบางคนถึงกับท้อแท้และไม่อยากท้าทายก็มี

ภายใต้บรรยากาศที่จำกัดอิสระการแสดงออกทางความคิดดังกล่าวกลับมิได้ทำให้การบอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ ‘8888’ แห้งเหือดไปจากสังคมเมียนมาเลย ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้เกิดศิลปะการเล่าเรื่องเหตุการณ์ ‘8888’ ในแนวทางใหม่ขึ้น

สื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่นอย่าง Thadin Hlwar หรือในชื่อภาษาอังกฤษคือ News Bulletin และ Thadin Magazine หรือ The News Magazine เป็นหนังสือพิมพ์ที่มีกลุ่มคนทำงานกลุ่มเดียวกันโดยมีบรรณาธิการใหญ่ 4 คน ใช้นามปากกาว่า ฮละ อ่อง, ติ่น หม่อง มยิ่ง, เมี๊ยต เญง, วิน หม่อง จี ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาในช่วง ค.ศ.1987-88 เพื่อหวังเล่นประเด็นข่าวการเมืองในช่วงนั้นโดยเฉพาะและเป็นหนังสือพิมพ์ที่มียอดขายดีมากในเวลานั้น ราคาขายอยู่ที่ฉบับละ 5.50 จั๊ต เนื่องจากว่าในระยะนั้นไม่ค่อยมีหนังสือพิมพ์สำนักไหนเล่นข่าววิพากษ์วิจารณ์การเมืองมากนัก

แต่ในขณะที่ผู้อ่านต้องการเสพข่าวการเมือง นักข่าวของสำนักดังกล่าวรายงานเหตุการณ์การเมืองโดยใช้ฉากเหตุการณ์และสถานที่ตลอดจนบุคคลหรือตัวละครในเหตุการณ์ที่เข้าใจว่า ‘ไม่ใช่เหตุการณ์ในเมียนมา’ แต่ที่จริงแล้วก็แอบขยิบตาอยู่ตลอดเวลาว่านี่แหละ ‘เหตุการณ์ในเมียนมา’ แน่นอนว่ามันทำให้คนอ่านแอบสะใจอยู่ลึกๆ หรืออาจขุ่นข้องใจอย่างลับๆ ต่ออำนาจแห่งการควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จของรัฐบาลเผด็จการทหาร

News Bulletin ฉบับวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1987 ฉบับหนึ่งมีรูปหน้าปกเป็นฉากและตัวละครในฟิลิปปินส์ ซึ่งกำลังเล่าเรื่องระบอบเนวิน โดยการเล่าผ่านเหตุการณ์ในฟิลิปปินส์คือ การปฏิวัติพลังประชาชนหรือการปฏิวัติเอ็ดซาและการปฏิวัติฟิลิปปินส์ ค.ศ. 1986 เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1983-1986 เป็นการรณรงค์การต่อต้านของพลเมืองอย่างต่อเนื่องต่อการใช้ความรุนแรงโดยรัฐและการโกงการเลือกตั้ง กรณีการปฏิวัติอันปราศจากความรุนแรงนี้ได้นำไปสู่การลงจากตำแหน่งของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส และการฟื้นฟูประชาธิปไตยของประเทศ การปฏิวัตินี้ยังมีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า ‘การปฏิวัติสีเหลือง’ เพราะมีริบบิ้นสีเหลืองปรากฏระหว่างการเดินขบวนประท้วงและการมาถึงของเบนีโญ อากีโน จูเนียร์ การปฏิวัติครั้งนี้ถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นชัยชนะของประชาชนต่อระบอบอำนาจนิยมที่กินเวลานาน 20 ปีของประธานาธิบดีมาร์กอสและก่อให้เกิดพาดหัวข่าวอย่าง “การปฏิวัติที่ทำให้โลกประหลาดใจ” นอกจากนี้ยังมีการพาดหัวข้อข่าวเหตุการณ์อื่นแต่ก็รู้กันกับคนอ่านว่ามีนัยอย่างไร เช่น พาดหัวข้อข่าวเป็นตัวอักษรภาษาเมียนมาว่า “ประธานาธิบดีปากีสถานตกเครื่องบินเสียชีวิตแล้ว” โดยเน้นขนาดของตัวอักษรคำว่า ประธานาธิบดีเสียชีวิต อย่างใหญ่โต ดูโดดเด่นกว่าคำอื่น

ในขณะที่ The News Magazine มุ่งรายงานข่าวเหตุการณ์ ‘8888’ และเหตุการณ์หลังจากรัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ประท้วง โดยพยายามนำเสนอความทุกข์ทรมานของนักโทษการเมืองที่ถูกนำไปจองจำในคุกอินเส่ง คุกที่ขึ้นชื่อในเรื่องความโหดร้ายในเมียนมา ซึ่งโลกภายนอกไม่ได้รับรู้เรื่องราวของพวกเขา นักข่าวใช้วิธีการเล่าเรื่องผ่านชีวิตของนักโทษในคิวบาซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าคุกในคิวบาเป็นสถานที่คุมขังที่มีสภาพโหดร้ายและมีการกระทำทารุณกรรมต่อนักโทษด้วย   มีผู้ต้องขังจำนวนมากถูกคุมขังเป็นเวลานานโดยไม่มีการตั้งข้อหาและต้องติดคุกแบบไม่มีกำหนด ผู้อ่านชาวเมียนมาย่อมเข้าใจตรงกันว่าชีวิตนักโทษในคิวบานั้น อันที่จริงแล้วคือชีวิตนักโทษเมียนมาในคุกอินเส่งในเมืองย่างกุ้งนี่แหละ นอกจากการใช้เหตุการณ์ที่อื่นแล้ว ยังพบว่ามีการวาดภาพการ์ตูนล้อเลียนที่สามารถทำให้สื่อรอดพ้นจากการถูกเชือดเฉือนข้อความจากกองเซ็นเซอร์ได้

News Bulletin และ The News Magazine หนังสือพิมพ์ที่มีเจ้าของเป็นสำนักเดียวกัน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์เจ้าแรกที่ก่อตั้งและเติบโตขึ้นมาในบรรยากาศเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมา มีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานข่าวและเล่าเรื่องเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญของเมียนมาภายใต้เงื้อมเงาของกองเซ็นเซอร์

การเล่าเรื่องเหตุการณ์ ‘8888’ บนพื้นที่สื่อสิ่งพิมพ์รัฐบาลเมียนมา เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ทำให้นักข่าวสร้างสรรค์ศิลปะการเล่าเรื่องที่เฉียบแหลม ตีแสกหน้ากองเซ็นเซอร์ได้อย่างน่าสะใจ แบบว่าเขาไม่รู้หรอกแต่พวกเรารู้กัน ใครว่าเหตุการณ์ ‘8888’ ไม่ถูกนำเสนอในสื่อสิ่งพิมพ์ยุคเผด็จการทหารเมียนมาเล่า

Tags: , , ,