Motor Show ชิดซ้าย! งาน Otop ชิดขวา! วันนี้เราจะขอพาไปเที่ยวงานมหกรรมสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ Museum+ Heritage Fair ที่ประเทศอังกฤษกัน! บอกเลยว่า ในงานนี้นอกจากจะได้ช็อปของมาใช้ในมิวเซียมกันแล้ว เรายังจะได้เห็นเทรนด์นวัตกรรมใหม่ๆ ในการจัดแสดง อีกทั้งภาพรวมของ “อุตสาหกรรมพิพิธภัณฑ์” ว่าวงการนี้เขาไปถึงไหนยังไงกันบ้าง

งานนี้เขามีอะไร ใครจัด

งาน Museums+ Heritage Fair เป็นงานประจำปีที่จัดโดย M and H Media  ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับงานอีเวนท์ และการประชาสัมพันธ์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์และโบราณสถานและ ซึ่งจะแบ่งเป็นสามส่วนใหญ่ๆ คือ  Museums+ Heritage Award ที่เป็นงานมอบรางวัลประจำปีให้พิพิธภัณฑ์ที่มีการจัดการดีเด่นทางด้านต่างๆ Museum + Heritage Advisor ซึ่งเป็นส่วนงานประชาสัมพันธ์อัพเดตเทรนด์ความรู้เรื่องการจัดการงานพิพิธภัณฑ์ และงาน Museum+ Heritage ที่เราจะพูดถึงในตอนนี้

งานนี้จัดขึ้นเพื่อให้คนทำงานหรือผู้ที่ศึกษาและสนใจในงานด้านพิพิธภัณฑ์และงานอนุรักษ์โบราณสถาน บริษัทที่จำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑ์และงานอนุรักษ์โบราณสถาน บริษัทที่ปรึกษาด้านงานพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งนักออกแบบอิสระได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้กัน เหมือนเป็นการได้อัพเดตเทรนด์ต่างๆ ของงานการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ งานนี้มีทั้งหมดสองวันคือวันพุธและพฤหัสบดีในสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคม ซึ่งมักจะเป็นช่วงเดียวกับวันพิพิธภัณฑ์สากลเสมอ นั่นคือวันที่ 18 พฤษภาคมของทุกปี สถานที่จัดงานคือศูนย์ประชุมโอลิมเปีย (Olympia London) แม้ว่าส่วนใหญ่คนที่มาร่วมงานจะเป็นคนทำงานพิพิธภัณฑ์ทั้งตำแหน่งน้อยใหญ่ รวมทั้งนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้าใครมาเที่ยวอังกฤษช่วงนี้พอดีอยากจะมาเดินชมงานก็มาได้ เพราะงานนี้เข้าฟรี!

ไฮไลท์ของงาน

ก่อนที่จะพาเดินดูบูธจัดแสดงสินค้าและบริการ ต้องขอแนะนำอีกไฮไลท์ของงานด้วย นั่นคือการเสวนาในหัวข้อต่างๆ โดยจะแบ่งเป็น 4 ธีมหลัก ใน 4 เธียเตอร์ ธีมละ 7 หัวข้อย่อย แตกต่างกันไปในแต่ละวัน เช่น ในวันพุธจะเป็นเรื่องการศึกษา การดึงดูดผู้เข้าชม การสร้างความเข้าใจผู้เข้าชม ส่วนวันพฤหัสบดีจะเป็นเรื่องการจัดการคอลเล็คชั่น เทคโนโลยีใหม่ๆ ในพิพิธภัณฑ์ การระดมทุน

ส่วนธีมหลักร่วมของทั้งสองวันคือการออกแบบนิทรรศการการสื่อความหมาย ซึ่งคนที่ลงทะเบียนก่อนล่วงหน้าจะได้รับอีเมลแจ้งว่าหัวข้อย่อยๆ แต่ละวันในแต่ละธีมมีอะไรบ้าง ณ จุดนี้บางคนทำการบ้านวางแผนกันมาอย่างดีก่อนเลยว่าจะวิ่งรอกฟังหัวข้อไหนบ้าง  ยิ่งถ้าหัวข้อไหนเกี่ยวกับเทรนด์ที่กำลังมาแรงมากๆ เหล่าฝรั่งคนฟังจะยอมนั่งพื้นยืนล้นเธียเตอร์กันออกมาเลยทีเดียว

เมื่อเข้าไปในงานแล้วก็จะเห็นบูธมากมายจากซัพพลายเออร์สินค้าที่ใช้ในงานการจัดการพิพิธภัณฑ์ด้านต่างๆ เช่น สินค้าสำหรับงานเก็บรักษาและจัดแสดงวัตถุอย่าง ตู้จัดแสดง ตู้ลิ้นชักเก็บวัตถุจัดแสดงที่จะช่วยรักษาอุณหภูมิให้พอเหมาะ เครื่องสแกนเอกสารจดหมายเหตุที่มาพร้อมโปรแกรมจัดเก็บไฟล์ให้ใช้งานง่าย กระดาษและซองพลาสติกแบบ Acid Free ที่ไว้จัดเก็บวัตถุที่เป็นกระดาษ และที่อะเมซิ่งที่สุดสำหรับเราจนต้องร้องอู้วดังๆ ในฐานะที่เป็นคนชอบถ่ายรูปสิ่งของสวยๆ เวลาไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์คือกระจกตู้โชว์แบบไร้เงาสะท้อน! เมื่อเทียบกับกระจกธรรมดาแล้วจะรู้เลยว่า มันดีงามพระรามแปดมากจริง ๆ นี่สิคือการคำนึงถึงความต้องการของคนมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์โดยแท้ นอกจากนี้ยังมีบูธของบริษัทที่ทำอุปกรณ์ดิจิตัลที่ใช้ในการจัดแสดงและฟรีแลนซ์ที่รับออกแบบตั้งแต่โปรแกรมเพื่อการใช้ในการสื่อความหมาย (Interpretation) อย่าง Virtual Reality และ Augmented Reality ไปจนถึงศิลปินอิสระที่รับวาดภาพประกอบสื่อการสอนในพิพิธภัณฑ์ แล้วก็ยังมีบริษัทที่รับจัดทำของเล่น หรือของที่ระลึกให้พิพิธภัณฑ์อีกด้วย

ส่วนบริการที่เกี่ยวกับงานพิพิธภัณฑ์ที่ก็คือบริษัทรับออกแบบนิทรรศการที่เน้นว่าเป็นนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะซึ่งจะไม่เหมือนนิทรรศการตามงานอีเวนท์  บริษัทที่รับปรึกษาและออกแบบการสื่อความหมายในพิพิธภัณฑ์ บริษัทที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์วัตถุจัดแสดง อย่างเช่นบริษัท Plowden and Smith ที่เป็นบริษัทที่รับทำด้าน Conservation ให้พิพิธภัณฑ์ในอังกฤษมาตั้งแต่ปี 1966 จนขยายมาทำเรื่องการจัดวางวัตถุจัดแสดง หรือ Mounting ให้เหมาะสมกับวัตถุและเรื่องราว เพื่อให้สื่อความหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น นอกจากบูธของบริษัททั้งหลายยังมีบูธจากองค์กรอิสระหรือที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นการสร้างความแข็งแรงในการจัดการพิพิธภัณฑ์มาให้คำปรึกษา เช่น Association of Independent Museums (AIM) ที่เน้นเฉพาะพิพิธภัณฑ์อิสระที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ Arts Council ที่ดูแลเรื่องศิลปะและโปรเจ็คที่เกี่ยวศิลปะ Collection Trust ที่เน้นเรื่องการเก็บรักษาอนุรักษ์วัตถุ Kids in Museums ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลอิสระที่เน้นเรื่องการจัดการพิพิธภัณฑ์ให้เป็นพื้นที่ของเด็กๆ และครอบครัว เป็นต้น ถือได้ว่าเป็นงานที่อยู่ได้ทั้งวันจริงๆ

หรือ Museum Fair ที่แท้คือเคล็ดลับหนึ่งของการพัฒนาพิพิธภัณฑ์?

จากงานนี้จะเห็นได้ถึงความเข้มแข็งของวงการพิพิธภัณฑ์ในประเทศอังกฤษ ทั้งในเรื่องการจัดการและการพัฒนาองค์กร ทำให้ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมวัฒนธรรมพิพิธภัณฑ์ที่นี่ถึงเติบโตและมั่นคง นั่นเพราะมีความร่วมมือทำงานกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

หลายๆ คนอาจจะคิดว่างานพิพิธภัณฑ์มีแต่งานที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ขุด ขัด ปัด วาง แต่จากการที่ได้เห็นบริษัทต่างๆ มาออกบูธทำให้เห็นชัดว่างานทางด้านพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เรื่องแคบ พิพิธภัณฑ์สามารถเป็นแหล่งการสร้างงานที่ให้คนทำงานหลายๆ สาขามารวมตัวกัน และนำความสามารถแต่ละตัวบุคคลมาเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับงานในวงการพิพิธภัณฑ์และพัฒนาพิพิธภัณฑ์ไปด้วยกันได้  

สินค้าที่อาจจะเห็นว่าเป็นของธรรมดาทั่วไปแต่เมื่อนำมาเชื่อมโยงกับงานการจัดการพิพิธภัณฑ์ ก็สามารถสร้างตลาดและช่องทางการขายเพิ่มให้กับสินค้านั้นๆ ได้อีก ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าจริงๆ แล้วพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่เก็บรักษาวัตถุโบราณอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจเลย แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างการขับเคลื่อนการเติบโตทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้เป็นอย่างดีถ้าได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง…ว่าแล้วก็อยากให้มีงานแบบนี้ในประเทศไทยบ้างจัง!

อ้างอิง: http://show.museumsandheritage.com/

ภาพประกอบบทความโดย: Simon Callahan จาก www.simoncallaghanphotography.com 

Tags: , , ,