ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับวงการพิพิธภัณฑ์ในบ้านเราเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงการศูนย์การค้าใหม่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตั้งใจว่าจะจับมือกับกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เพื่อจะนำวัตถุโบราณต่างๆ  ที่อยู่ในคลังวัตถุมาจัดแสดงเพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงได้มากขึ้น แต่สุดท้ายก็โดนวิพากษ์วิจารณ์จนต้องพับเงียบไปเสีย

หรือแม้กระทั่งล่าสุดกับกรณีความต้องการจะเปลี่ยนแปลงระบบการบริหาร หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC) เพราะเกิดคำถามจากคนให้งบว่าทำไมไม่ได้กำไรเหมือนห้างสรรพสินค้าฝั่งตรงข้าม ซึ่งจริงๆ แล้ว กำไรที่ว่านี้จำเป็นต้องอยู่ในรูปตัวเงินหรือไม่? สรุปว่าการเปลี่ยนแปลงของพิพิธภัณฑ์ที่นำตัวเองออกมาในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ด้วยตั้งใจว่าจะได้เข้าหาประชาชนมากขึ้นนั้น มันดีหรือไม่ดีกันแน่?

Transformative Museum Concept

ในวงการพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศมีกรอบความคิดขึ้นมาใหม่ในคำว่า Transformative Museum ซึ่งคือ พิพิธภัณฑ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบที่ตัวเองมีอยู่ โดยคำนึงถึงความยืดหยุ่นที่จะปรับตัวเองให้เหมาะสมกับคนทุกเพศทุกวัยและทันสมัย คำนึงถึงการปฏิรูปอย่างสร้างสรรค์ และรู้จักใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมและพอเหมาะ พร้อมกับมีการวางแผนกลยุทธ์และวิธีการในการบริหารองค์กรเพื่อให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น และสร้างผลประโยชน์ทั้งสำหรับผู้ที่มาชมและตัวพิพิธภัณฑ์เอง  ดังนั้นสิ่งสำคัญที่พิพิธภัณฑ์จะต้องคำนึงถึงถ้าจะเปลี่ยนแปลงตัวเองคือ ยืดหยุ่นทางความคิด ไม่ยึดติดต่อกรอบความคิดเดิมๆ กล้าเสี่ยง และกล้ารับคำวิจารณ์เพื่อนำไปปรับปรุงจริงๆ

This is not a new issue

อันที่จริง ใช่ว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหม่ ครั้งหนึ่งพิพิธภัณฑ์ระดับโลกอย่าง ลูฟร์ ที่ฝรั่งเศส ก็เคยมีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงคล้ายๆ กับเหตุการณ์นี้ของบ้านเรามาก่อนเหมือนกัน แต่สลับกันกับของไทย คือการเอาห้างสรรพสินค้ามาเชื่อมกับตัวพิพิธภัณฑ์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 1993 เมื่อ พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ได้ปันพื้นที่ส่วน Richelieu Wing ซึ่งมีขนาด 8,300 ตารางเมตร เพื่อสร้างเป็นศูนย์การค้า Carrousel du Louvre โดยพื้นที่นี้เชื่อมกับตัวพิพิธภัณฑ์โดยตรง งบประมาณที่ใช้สร้างนี้มากถึง 1.3 พันล้านดอลล่าร์

ประเด็นที่ทำให้เกิดการถกเถียงกัน เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในฐานะ Minister’s Wing และเคยเป็นของกระทรวงพาณิชย์มาก่อน แต่ที่มากลายเป็น Richelieu Wing เพราะรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมในสมัยนั้นได้มีมติว่า ‘ขออนุญาตสละ’ พื้นที่นี้เพื่อให้พิพิธภัณฑ์ได้ใช้เป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรมอย่างเต็มที่

แต่พอมันกลายเป็นห้างสรรพสินค้าซึ่งมีร้านรวงแบรนด์แมสจากอเมริกาหรืออังกฤษนั้น จึงทำให้ความขลังของการเป็นสถานที่ที่เก็บรักษางานศิลปะและแสดงถึงความเป็นวัฒนธรรมฝรั่งเศสชั้นสูงของลูฟร์ด้อยค่าไป จึงมีชาวฝรั่งเศสบางส่วนมองว่า การทำแบบนี้นั้น เหมือนเป็นการ ‘ลดระดับ’ คุณค่าของความเป็นสถาบันที่จัดแสดงศิลปะชั้นสูงด้วยวัฒนธรรมป๊อป และการถกเถียงนี้เริ่มต้นประเด็นตั้งแต่การสร้างโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ ว่าเหมาะสมแล้วหรือที่เอาภาพโมนา ลิซา อันโด่งดังและคลาสสิคมาดัดแปลงทำเป็นโฆษณาเชิญชวนให้มาเที่ยวห้าง ติดตามสถานีรถไฟใต้ดิน         

คุณพระ! แต่ ปิแอร์ โบร์ดิเยอร์ (Pierre Bourdieu) นักสังคมวิทยา ได้ออกมากล่าวโต้ว่า การมองรูปแบบวัฒนธรรมป๊อปในแง่ร้าย และการให้คุณค่าศิลปะชั้นสูงขนาดนั้น มันก็คือการบ่งชี้ให้เห็นถึงการกำหนดความแตกต่างของคุณค่าของสองสิ่งนี้ โดยกลุ่มชนชั้นทางสังคมที่มีอำนาจมากกว่า

จากประเด็นนี้ มันจริงอยู่ว่าการเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ในช่วงแรก ๆ คือเพื่อตอบสนองความต้องการของชนชั้นสูงทีมีการศึกษา (Elite) แต่ในยุคนี้แล้วเราควรคำนึงว่าพิพิธภัณฑ์เป็นเรื่องของคนทุกคน ไม่ใช่ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง ทั้งนี้ยังมีการวิเคราะห์ว่าจริงๆ แล้วการนำโมนา ลิซามาใช้โฆษณานี้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอภาพลักษณ์ลูฟร์ให้เป็นคอนเซปต์ Perfect Louvre และการมีห้างสรรพสินค้าก็คือการเปลี่ยนกรอบความคิดทางอัตลักษณ์ของตนเสียใหม่เพื่อให้เห็นว่าลูฟร์ไม่ได้เป็นทำตัวเป็นพิพิธภัณฑ์คร่ำครึ แต่พยายามจะเชื่อมตัวเองกับประชาชนเพื่อให้เป็นที่สนใจมากขึ้น

นอกจากประเด็นหลักๆ เรื่องการเสียความเป็นตัวตนของลูฟร์แล้ว ยังมีประเด็นย่อยๆ ให้ถกเถียงกันอีกว่าแล้วห้างจะทำให้คนมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์มากขึ้นจริงหรือ  จะมั่นใจได้อย่างไรว่าคนจะไม่เดินเลี้ยวไปห้างมากกว่า แต่ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ในยุคนั้นได้ให้เหตุผลว่าที่ให้สร้าง Carrousel du Louvre เพราะเชื่อว่าจะเป็นการกระตุ้นให้คนมาเดินพิพิธภัณฑ์ต่อและเป็นการสร้างประสบการณ์ในการมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ และจริงๆ ก็มีหลายๆ พิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะในอเมริกาเหนือ ที่สร้างห้างไว้ในพิพิธภัณฑ์เลยด้วยซ้ำ เพื่อความสะดวกและทำให้คนเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น

ดังนั้นนี่คือสาเหตุว่าทำไมถึงมีห้างสรรพสินค้าใหม่อยู่คู่กับพิพิธภัณฑ์เก่าแก่อย่างลูฟร์มานานกว่า 20 ปีแล้ว จากเหตุการณ์นี้อาจจะเห็นว่าที่หลายๆ คนกลัวการเปลี่ยนแปลงกับสิ่งที่ลูฟร์ทำ เป็นเพราะว่ามันขึ้นอยู่กับว่าคนเหล่านั้นได้ให้สถานะกับพิพิธภัณฑ์ลูฟร์อย่างไร แม้จะมีการสรุปว่า Carrousel du Louvre ก็ยังเป็นตัวที่ทำให้เกิดความแตกต่างทางอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างชัดเจน ระหว่างวัฒนธรรมชั้นสูงและวัฒนธรรมป๊อป แต่ที่แน่ๆ เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์เก่าแก่อย่างลูฟร์ มีความคิดยืดหยุ่น ไม่ได้ยึดติดกับกรอบความคิดเดิมว่าเพราะเป็นสถาบันที่อนุรักษ์ศิลปะและแสดงวัฒนธรรมชั้นสูงของประเทศ เลยจะไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึง แต่เพราะรู้ขอบเขตว่าตัวเองทำอะไร เพื่ออะไรและคงอัตลักษณ์ในขอบเขตที่ตัวเองทำต่างหาก ทำให้พิพิธภัณฑ์ลูฟร์เปลี่ยนแปลงตัวเองได้โดยไม่เสียความเป็น ‘พิพิธภัณฑ์ลูฟร์’ ที่อลังการไป

Are we really ready for the transformation?

ดังนั้นเมื่อย้อนกลับมาดูเคสพิพิธภัณฑ์ของบ้านเราที่ยกมาข้างต้น อาจจะถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ออกจะฉับพลันไปเสียหน่อย ชาวบ้านชาวช่องจึงตกใจ (ในขณะที่ลูฟร์มีการแบ่งช่วงของการเปลี่ยนแปลงตัวเอง)

ในความเป็นจริง ถ้าหากพิพิธภัณฑ์รวมไปถึงองค์กรทางศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ ของไทย อยากจะเป็น Transformative museum และออกมาหาประชาชนมากขึ้น อาจจะเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ด้วยตัวเองก่อนก็ได้ เช่น เวลาเปิดปิดที่ให้ผู้ชมเข้าชมได้สะดวกที่ไม่ใช่ปิดไปตั้งสองวัน หรือเปิดตามเวลาราชการเท่านั้น หรือใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีประสิทธิภาพ ให้คนทั่วไปได้รู้ความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เหมือนที่หลาย ๆ พิพิธภัณฑ์ใหญ่ ๆ ในต่างประเทศมีการใช้ Live VDO  ใน Facebook มานำชมนิทรรศการแบบเอ็กซคลูซีฟก่อนใครๆ เป็นต้น

ในขณะเดียวกันคนไทยเอง พร้อมหรือยังที่จะเปลี่ยนความคิดของตัวเองด้วยว่าพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่ห้องเก็บของ ไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่อนุรักษ์ศิลปวัตถุเฉยๆ อีกต่อไปแล้ว และต้องถามตัวเองด้วยว่า พร้อมจะช่วยสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ในทางไหนได้บ้าง

 

อ้างอิง

Lianne McTavish (1998) SHOPPING IN THE MUSEUM? CONSUMER SPACES AND THE REDEFINITION OF THE LOUVRE, Cultural Studies, 12:2, 168-192, DOI: 10.1080/095023898335528

DANISH RESEARCH CENTRE ON EDUCATION AND ADVANCE MEDIA MATERIALS, 2012. The Transformative Museum, E. KRISTIANSEN, ed. In: Proceedings of the DREAM conference The Transformative Museum, 23-25 May 2012 2012, DREAM – Danish Research Center on Education and Advanced Media Materials Institute for Literature, Culture and Media Studies University of Southern Denmark.

NEILSEN, J.K., 2014. Museum Communication: Learning, Interaction and Experience, University of St Andrews.

 

ที่มาภาพ

Daniel H. Tong via Unsplash

Tags: , , ,