เวลาคิดที่จะซื้อของสักชิ้น มีปัจจัยอะไรที่ใช้ตัดสินใจบ้าง สิ่งแรกที่คิดคงเป็นเรื่องที่ว่า สินค้านั้นๆ ตอบโจทย์การใช้งานไหม คุณภาพสินค้าเป็นอย่างไร รวมไปถึงความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่มาชุบชูจิตใจเมื่อได้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์
แต่ยังมีอีกแนวคิดทันสมัยเพิ่มขึ้นมาในกลุ่มคนที่แคร์โลก ก็คือก่อนซื้อต้องจินตนาการไปถึงวาระสุดท้ายที่ของชิ้นนั้นๆ ใช้งานไม่ได้แล้ว ว่ามันจะมีบั้นปลายชีวิตอย่างไร
ด้วยปัญหาโลกร้อนและขยะพิษที่จ่อตัวเราเข้าไปใกล้ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ลำพังเพียงแค่ทิ้งของที่ไม่ต้องการลงถุงขยะไปก็เป็นเรื่องรบกวนโลกมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ แนวคิดเรื่อง Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่หมายถึงการทำให้วัสดุต่างๆ สามารถนำมา สร้าง – ใช้ – ทิ้ง แล้ววนกลับเข้าสู่โรงงานการผลิตได้เรื่อยๆ เป็นไอเดียสำคัญที่เราเริ่มได้ยินมากขึ้น และเป็นหนึ่งในคีย์เวิร์ดของงาน Movin’On Summit 2018 ที่จัดขึ้นโดย Michelin เมื่อ 30 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา ที่มอนทรีอัล ประเทศแคนาดา งานนี้รวมนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการสัญจรให้มาพบปะกัน
และโจทย์ท้าทายที่ผู้เข้าร่วมงานมีร่วมกัน คือ เป็นไปได้ไหมที่อุตสาหกรรมการสัญจรจะสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน
จะดีไหมถ้าสินค้าต่างๆ มี ‘อายุการใช้งาน’ ยาวๆ
ในมุมของผู้ผลิต บริษัทที่ผลิตยางรถยนต์อย่างมิชลินย่อมมีโจทย์ในใจว่า จะทำอย่างไรให้สามารถผลิตยางที่ดีที่สุด
ในมุมของผู้บริโภค ขอบเขตของคำว่าดีที่สุดนี้ไม่ได้นับแค่ตัว ‘วัตถุ’ ที่เป็นสินค้า ว่าพอยางเกาะถนนแล้วทำงานได้อย่างไร แต่ยังรวมไปถึงงานบริการ และอีกส่วนสำคัญคือ ความผูกพันที่ภาคธุรกิจและผู้บริโภคมีต่อโลก ว่าจะรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้แค่ไหน
หากจับเข้าคอนเซ็ปต์ เรื่องนี้มักถูกเรียกนิยามว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่ง เทอร์รี่ เก็ตตีส์ กรรมการบริหารกลุ่มของมิชลิน (Group Executive Committee member, Michelin) ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลงานวิจัยและพัฒนาของมิชลินเล่าว่า เป้าหมายของมิชลินก็คือการพัฒนาให้เกิดการสัญจรที่ยั่งยืน (sustainable mobility) คิดหาทางออกเรื่องจะพัฒนาเรื่องการสัญจร ให้สร้างความปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคเข้าถึงได้
เก็ตตี้เล่าว่า สิ่งหนึ่งที่เข้ามาช่วยตอบโจทย์เหล่านี้ได้ก็คือการคิดเทคโนโลยีใหม่ๆ คิดค้นหาวัสดุไฮเทคที่จะช่วยยืดอายุการใช้งานของยางรถยนต์ ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้คอนเซปป์ของ Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน
เพื่อตอบโจทย์นี้ ทำให้มิชลินตั้งเป้าจะผลิตยางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นั่นคือ แม้ในกระบวนการผลิตยางปัจจุบันจะยังต้องอาศัยสารเคมีในการผลิต แต่เป้าหมายข้างหน้า ภายในปี 2048 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า จะมุ่งผลิตยางที่มาจากวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้ได้ถึง 80 เปอร์เซนต์ โดยเน้นที่การใช้วัตถุดิบชีวภาพ เช่น ยางธรรมชาติ น้ำมันดอกทานตะวัน ฯลฯ (ปัจจุบันอยู่ที่ 28 เปอร์เซนต์) และยางทุกเส้น เมื่อหมดอายุขัยแล้ว จะสามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซนต์ (ปัจจุบันอยู่ที่ 50 เปอร์เซนต์)
นอกเหนือไปจากการพัฒนายางที่มีอยู่ ก็ยังมีการทดลอง โดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมาใช้ และมันทำให้เราเหวอไปเล็กน้อย เพราะมิชลินลองจินตนาการถึงยางรถยนต์แห่งอนาคต ว่าต่อไปอาจจะเป็น ‘ยางไร้ลม’ ซึ่งผลิตจากวัตถุดิบชีวภาพ และยังมีระบบเช็คสภาพยางที่เชื่อมโยงข้อมูลสื่อสารไปถึงคนขับได้ ทำนองว่าเมื่อดอกยางเสื่อมก็มีการแจ้งเตือน และสามารถปลูกใหม่ได้เองด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ
แต่ก็มีคำถามว่า หากมิชลินสนใจเรื่องความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แล้วจะกล้ายอมยืดอายุการใช้งานของสินค้าได้นานขึ้นไหม เพราะเมื่อคนใช้สินค้าหนึ่งๆ ได้นานขึ้น คนก็ซื้อของใหม่ลดลง แล้วนั่นจะดีต่อธุรกิจของบริษัทได้อย่างไร เก็ตตีส์หัวเราะเมื่อได้ยินคำถามนี้แล้วตอบว่า เขามั่นใจว่าความยั่งยืนไปด้วยกันได้ดีกับการเติบโตของธุรกิจ สองเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ขัดแย้งกัน เพราะถึงอย่างไร ความต้องการด้านการสัญจรก็จะเพิ่มขึ้น เพียงแต่มาในรูปแบบที่แตกต่างออกไป
และในเมื่อความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องหนีไม่พ้น ในด้านการสัญจร ก็ยังมีโมเดลธุรกิจอื่น เช่น การให้ ‘เช่า’ ยาง อย่างยางสำหรับเครื่องบิน หรือยางสำหรับรถบรรทุก ในแง่นี้ ความท้าทายของการคิดค้นและพัฒนาสินค้า คือจะทำอย่างไรที่จะยืดอายุการใช้งานของยาง ซึ่งภาคธุรกิจก็มีแรงจูงใจที่จะพัฒนาสินค้าให้ใช้งานได้นานๆ แทนที่จะผลิตของที่เสื่อมสภาพเร็ว
ขับเคลื่อนโจทย์ใหญ่ เดินเดี่ยวไม่ได้
แม้ยุทธศาสตร์หลักของบริษัท คือ การพัฒนายางรถยนต์ที่ดีที่สุดของโลก แต่สำหรับอุตสาหกรรมใหญ่ขนาดนี้แล้ว การคิดค้น พัฒนา และเติบโต เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่เรื่องที่จะเดินเดี่ยว นั่นหมายความว่า ทั้งอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็นคู่แข่ง และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสัญจร ต้องโตไปเคียงข้างกันด้วย
“เราจัดงานอย่าง Movin’On เพื่อแสวงหาความร่วมมือจากผู้เล่นที่หลากหลาย ที่จะช่วยกันหาทางออกร่วมกันที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าร่วมกันในแวดวงยานยนต์ในโลกนี้
“แม้เราจะเป็นบริษัทใหญ่ แต่ในการขับเคลื่อนเรื่องการสัญจรที่ยั่งยืนนี้ เราทำเองโดยลำพังไม่ได้ ต้องประสานกับอุตสาหกรรมอื่นๆ” เขากล่าวถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่กำลังคิดค้นและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไร้คนขับ รวมถึงโจทย์ที่มีร่วมกันว่า จะทำอย่างไรให้สามารถไปถึงเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือศูนย์ (zero carbon emissions) ได้
“มี Message มากมายที่ต้องสื่อสารออกมา และไม่มีทางที่ลำพังแค่บริษัทเดียวจะทำได้สำเร็จ เราต้องการความร่วมมืออย่างมาก และความท้าทายก็คือจะทำอย่างไรให้เพื่อนร่วมอุตสาหกรรมยอมรับว่า ความเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว” เก็ตตี้ส์กล่าว
ในฐานะคนจากประเทศที่มีตลาดยางส่งออกขนาดใหญ่ของโลก เราถามเขาว่า เขาคิดเรื่องการหาวัตถุดิบอื่นๆ ที่มาทดแทนการใช้ยางหรือไม่ คำตอบคือ เรื่องนี้ก็เป็นโจทย์ในการศึกษาทดลอง เพราะก็มีความกังวลว่าจะหาวัตถุดิบมาได้ไม่พอกับความต้องการใช้งาน แต่ในการศึกษาวิจัยก็ยังหาทางเลือกอื่นที่ดีพอไม่ได้ เป้าหมายเวลานี้ จึงเป็นเรื่องการหาวิธีเพิ่มสัดส่วนของวัตถุดิบชีวภาพ และทำให้สัดส่วนของวัตถุดิบที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ต้องมีมากกว่าเดิม
ธุรกิจพร้อม ผู้บริโภคพร้อม แล้วภาคนโยบายพร้อมไหม
ขณะที่ทั่วโลกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับปัญหาเรื่องโลกร้อน ตัวอย่างหนึ่งทีเป็นต้นแบบที่ดี คือที่ประเทศคอสตาริกา ซึ่งเมื่อปี 2017 ประกาศเป็นประเทศแรกในโลกที่จะสามารถยกเลิกพลังงานจากฟอสซิล และกลายเป็นประเทศที่สามารถลดการใช้คาร์บอนได้ 100% ตามนโยบายที่ประธานาธิบดีคนใหม่ประกาศเอาไว้
อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่นที่ฝรั่งเศส ที่รัฐบาลพยายามทำข้อเสนอเพื่อสร้างแรงจูงใจทางภาษี โดยเสนอให้มีการเก็บภาษีรถยนต์ที่ใช้พลังงานฟอสซิลและสร้างมลภาวะสูงกว่าปกติ และมีการคำนึงถึงครัวเรือนที่รายได้น้อย ด้วยข้อเสนอให้เงินชดเชยเพื่อจูงใจให้คนหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทน
สองตัวอย่างนี้พอจะทำให้เห็นเป็นแนวทางว่า ขณะที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีให้เติบโต แต่การจะดำเนินธุรกิจไปอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือกระทั่งการทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เห็นผล ก็ต้องหวังการกำกับดูแลจากรัฐบาลทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นด้วย
ด้าน ดร.สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เขาเห็นด้วยว่า ในธุรกิจยานยนต์ ไม่ใช่แค่เรื่องของเครื่องยนต์ แต่ยังต้องคำนึงเรื่อง LCA (Life Cycle Analysis) และเรื่อง Planned Obsolescent คือ ของบางอย่างที่ยังไม่หมดอายุแต่เราต้องทิ้ง ก็จะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรมากเกินไป และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“ถ้าของอย่างเช่นมือถือยังไม่หมดอายุแล้วต้องเปลี่ยน ถ้าเราเป็นภาคธุรกิจ เราอยากจะทำของชิ้นเดียวใช้ไปสิบปีไม่ต้องเปลี่ยนไหม… บริษัททั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ มือถือ ทีวี ทุกสิ่งทุกอย่างจะออกมาใหม่เพื่อฆ่าตัวเก่าของตัวเอง ไม่งั้นคนอื่นจะฆ่าแทนเรา คู่แข่งจะเกิดขึ้นมาทันที ถามว่าของเก่าใช้ได้ไหม ยังใช้ได้นะ แต่มันมีการสร้างเงื่อนไขใหม่ เช่น อะไหล่ไม่มีแล้ว แบตเตอรี่เสื่อม หมดไว และอีกเรื่องคือการสร้างต้นทุนด้านจิตใจให้ผู้บริโภค คือทำเป็นแฟชัน ทุกครั้งที่ของเก่า เราหยิบขึ้นมา ต้นทุนจะอยู่ที่หน้าตานะ เพื่อนจะทักว่ายังใช้รุ่นนี้อยู่อีกเหรอ
“คำถามก็คือ แล้วจะทำให้อายุการใช้งานยาวขึ้นหน่อยได้ไหม ผมเชื่อได้เลยว่า ล้านละล้านของบริษัทเอกชน อยากให้รัฐบาลกำหนดการกำกับดูแลให้ทุกคนต้องมีมาตรฐานเหมือนกันหมด เพื่อไม่ให้ตัดหน้ากัน”
ในด้านของภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล ดร.สมชายกล่าวว่า “มาตรฐานที่รัฐมีหน้าที่ออกมา คือมาตรฐานเพื่อช่วยผู้บริโภค เป็น Truth Teller เพราะผู้บริโภคไม่รู้ว่าของนั้นปลอดภัยหรือไม่ ใช้ได้นานแค่ไหน แต่รัฐจะมีหน้าที่บอก สิ่งที่รัฐทำคือการันตี เช่นมีระบบ มอก.”
สำหรับเรื่อง Planned Obsolescense นั้น ดร.สมชายกล่าวว่า แม้สินค้าหนึ่งๆ จะยังพอใช้ประโยชน์ได้ ทำไมบริษัทถึงออกตัวใหม่มา แน่นอนว่า ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคไม่สามารถหลีกเรื่องแฟชันและเทคโนโลยีใหม่ได้ ดังนั้น วิธีการหนึ่งที่หลายประเทศกำลังทำ คืออาจวางแนวทาง กำหนดองค์ประกอบว่า component ที่ใช้ผลิต ต้องมีส่วนที่ให้รีไซเคิลได้เป็นสัดส่วนเท่าไร เพียงแต่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานนี้
อย่างไรก็ดี ดร.สมชายโยนโจทย์สำคัญมาที่ผู้บริโภคด้วยว่า จะยอมรับการใช้สินค้าที่อาจจะมีราคาแพงขึ้นไหม เช่น แม้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม แล้วสินค้าที่ผลิตออกมามาจากวัสดุรีไซเคิล 100% แต่ต้องแลกกับสินค้าที่อาจราคาแพงขึ้น แล้วผู้บริโภคจะยังซื้อไหม?
“ผมคิดว่า รถสมัยใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่มันทำเรื่อง sustainable ได้อยู่แล้ว… คำถามคือเราพร้อมจ่ายให้กับความยั่งยืนไหม คนไทยพร้อมไหม”
เขาเล่าว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน กระทรวงอุตสาหกรรมเคยเสนอว่าให้รถเก่าต้องจ่ายภาษีแพงกว่าเพราะปล่อยค่าคาร์บอนไดออกไซด์สูง แต่ปฏิกิริยาจากคนไม่ตอบรับ แถมยังมองว่าออกกฎหมายเอื้อบริษัทรถยนต์
“มันเป็นเรื่องการรับรู้ของผู้บริโภคด้วย” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว
Fact Box
Movin'On Summit by Michelin เป็นงานประจำปีระดับโลกว่าด้วยยานยนต์ที่ยั่งยืน ซึ่งจะรวบรวมนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 5,000 คนจาก 60 ประเทศ ทั้งที่อยู่ในภาคธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และสตาร์ตอัป นักวิชาการ นักการเมือง ผู้กำหนดนโยบาย และสื่อมวลชน