“กูคือตัวแทนจากเด็กในสลัม ที่พวกมึงดูถูกว่ากูเลวระยำ”
เสียงก่นด่า ประชดประชัน ดังผ่านบทเพลงแร็ปในดินแดน ‘สลัมคลองเตย’ สถานที่ที่ใครก็มองว่าเต็มไปด้วยปัญหา ทั้งแก๊งอันธพาล อาชญากรรม ยาเสพติด ความแออัดยัดเยียด และคุณภาพชีวิตอันเหลื่อมล้ำ แต่ภายใต้ความมืดหม่น ยังมีเด็กหนุ่มที่พยายามตะเกียกตะกายขึ้นมาด้วยความหวังและความฝันว่า ชีวิตจะต้องประสบความสำเร็จในฐานะ ‘แร็ปเปอร์’
เรื่องราวข้างต้นที่เกริ่นมานี้ คือเนื้อหาส่วนหนึ่งของ ‘School Town King : แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ ภาพยนตร์สารคดี สไตล์ Coming of Age ของผู้กำกับหนุ่ม ‘เบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณ’ ที่เล่าเรื่องผ่านมุมมองสองตัวละครหลักอย่าง ‘บุ๊ค’ (ธนายุทธ ณ อยุธยา) และ ‘นนท์’ (นนทวัฒน์ โตมา) เด็กหนุ่มสองคนผู้ใช้ชีวิตอยู่ในสลัมคลองเตย สลัมขนาดใหญ่สุดอันดับหนึ่งบนแผ่นดินไทย ทั้งคู่ฝันอยากเป็นศิลปินเพลงแร็ป แม้สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่จะไม่เอื้ออำนวยก็ตาม
สิ่งที่ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง School Town King พยายามพรีเซนต์ให้เราเห็นเป็นอันดับแรก คือฉากหน้าความฝันอันสวยงามของเด็กนักเรียนธรรมดาสองคนกับการไต่เต้าเป็นศิลปินเพลงแร็ป หลอกล่อให้เห็นความไม่ธรรมดาเมื่อนำมาเทียบกับเด็กรุ่นเดียวกัน การได้เจอความฝันก่อนถือเป็นก้าวแรกสู่อนาคตอันสดใส แต่อย่างที่ทราบดีว่านี่คือหนังสารคดี สเต็ปต่อมาทั้งคู่ต่างต้องเจอโลกแห่งความเป็นจริงรุมกระหน่ำไปทีละเรื่องแบบไม่หยุดหย่อน เริ่มจากโรงเรียน สถานที่ที่เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองแต่กลับไม่สามารถตอบแทนความต้องการถึงสิ่งที่อยากจะเป็นได้แม้แต่น้อย คะแนนติดศูนย์ เรียนไม่เก่ง ที่พร้อมจะถูกแม่พิมพ์ของชาติตราหน้าทันทีว่านี่คือเด็กเลว เด็กเกเร และความภาคภูมิใจเพียงอย่างเดียวอย่างการร้องเพลงแร็ป ก็ถูกสังคมเด็กรุ่นเดียวกันบูลลี่
โรงเรียนว่าแย่แล้ว ความกดดันจากคนในบ้านดูจะหนักอึ้งทวีคูณยิ่งกว่า ชีวิตของ ‘บุ๊ค’ แม้เกิดมาในครอบครัวฐานะไม่ลำบากนัก แต่ความคาดหวังของผู้เป็นพ่อที่อยากให้บุ๊คเรียนจบสูงๆ ด้วยความเชื่อว่าใบปริญญาจะสามารถยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น กว่าการร้องเพลงเป็นอาชีพ และพ่อเคยผ่านมาหมดแล้ว คือชนักขนาดใหญ่เหนี่ยวรั้งเด็กหนุ่มเอาไว้ แต่ถึงพ่อจะสรรหาเหตุผลมาอธิบายขนาดไหน บุ๊คก็ยังคงเชื่อปณิธานของตัวเอง หวังเอาความสำเร็จมาพิสูจน์ให้พ่อดู แม้จะต้องเผชิญกับความลำบากก็ตาม
ขณะที่ชีวิตของ ‘นนท์’ กลับเลวร้ายยิ่งกว่า ฐานะอันยากจนคือสารตั้งต้นชั้นดีที่บีบบังคับให้ล้มเลิกความฝันเร็วกว่าบุ๊ค หากมัวแต่ร้องเพลงแร็ปอนาคตคงเลี้ยงครอบครัวไม่ได้แน่ๆ เอาเวลาไปตั้งใจเรียนดูจะมีอนาคตสดใสกว่า เมื่อสองความคิดสวนทางกันไม่เหมือนในตอนแรก เรื่องราวถัดมาจึงค่อยๆ เผยให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมว่าส่งผลต่อความคิดเด็กทั้งสองอย่างไร
ถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงจะเกิดความสงสัยว่า เพราะอะไรเด็กสองคนนี้ถึงไม่วิ่งไล่ตามความฝันแล้วตั้งใจเรียนไปด้วยพร้อมกันล่ะ ยุ่งยากตรงไหน? เหลวแหลกเองหรือเปล่า? … คงไม่แปลก เพราะสิ่งนี้คือประเด็นหลักที่ทางผู้กำกับเองต้องการจะสื่อถึงชุดความคิดเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งสะท้อนความจริงและเสียดสีการศึกษาในสังคมไทย เด็กทุกคนไม่ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เอื้ออำนวยต่อความฝันพวกเขา ยิ่งเป็นเด็กที่เกิดในครอบครัวระดับรากหญ้า ต้นทุนชีวิตก็ติดลบทันที บ้านเกิดสลัมหล่อหลอมให้รู้จักอย่างเดียวคือการมีชีวิตเพื่อความอยู่รอด โรงเรียนซึ่งควรจะเป็นสถานที่ให้คำตอบได้ว่าอนาคตควรไปทิศทางไหน กลับกลายเป็นกรอบสี่เหลี่ยมปิดกั้นความฝันไว้ เด็กมีหน้าที่อย่างเดียวคือ เรียน เรียน และเรียน ทำทุกอย่างตามคำสั่งของครู และความคาดหวังของผู้ปกครอง ไม่มีการย้อนถามถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการ
นอกจากปัญหาเส้นเรื่องหลัก ยังแทรกปัญหาสังคมไว้มากมาย ปัญหาสลัมคลองเตยบอกอะไรกับผู้ชม ทำไมพวกเขาถึงมีตรรกะการใช้ชีวิตกันแบบนั้น ทำไมสังคมตราหน้าว่าเป็นตัวปัญหา รัฐลงมือจัดการแก้ปัญหาของพวกเขาแบบไหน วิถีแร็ปเปอร์เปลี่ยนให้เด็กกลายเป็นคนมีความคิดเป็นขบถตามความเข้าใจของผู้ใหญ่จริงๆ หรือเปล่า ทุกอย่างไม่มีผิดหรือถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้ชมมีหน้าที่ตัดสินใจและตีความออกมา
School Town King มีรอบฉายที่น้อยเหลือเกิน หากเทียบกับหนังกระแสหลักแนวอื่นๆ ที่ตรงกับตลาดผู้ชมบ้านเรา แต่เชื่อเหลือเกินว่าภาพยนตร์สารคดีที่มีดีกรีเข้าฉายในเทศกาล BUSAN International Film Festival ครั้งที่ 25 จะสร้างอิมแพ็คต่อคนดูจนส่งเสียงไปถึงอุตสาหกรรมธุรกิจภาพยนตร์บ้านเรา ให้หนังแนวมีพื้นที่ฉายเพิ่มมากขึ้น สุดท้ายถ้าเป็นไปได้ไม่อยากให้ผู้อ่านพลาดชมภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยประการทั้งปวง
.
.
.
“เพราะภาพยนตร์น้ำดีเสียดสีสังคมบ้านเรา น้อยครั้งจะผ่านด่านกองเซนเซอร์มาให้เราได้ชม”
เครดิตภาพ: เพจเฟซบุ๊ก – ภาพยนตร์ School Town King
Fact Box
- School Town King เป็นภาพยนตร์สารคดีลำดับที่ 2 ของผู้กำกับหนุ่ม เบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณ ที่สามารถก้าวขึ้นมาฉายในโรงภาพยนตร์ได้ หลังจากแจ้งเกิดจากเรื่องแรกคือ ‘นิรันดร์ ราตรี’ ที่เล่าถึงเรื่องราวของโรงหนังเก่าแห่งหนึ่ง ซึ่งผ่านช่วงเวลารุ่งโรจน์ จนถึงวันต้องปิดตัวไปและกลายเป็นอดีต
- ภาพยนตร์เรื่องSchool Town King เข้าฉายเฉพาะในเครือ SF Cinema แบบจำกัดโรง สามารถเช็คโรงภาพยนตร์และรอบที่เข้าฉายได้ที่เว็บไซต์ https://www.sfcinemacity.com/