ในชีวิตหนึ่งเราจะเจอสักกี่ความรักที่ไร้เงื่อนไข ความรักที่ต่อให้เราไม่เรียกร้องก็ได้รับ ความรักนั้นคงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากความรักของพ่อและแม่ แม้ในแต่ละครอบครัวจะมีรายละเอียดต่างกัน แต่หากว่ากันโดยรวมแล้ว รักของพ่อแม่ก็น่าจะเป็นรักที่อบอุ่นและยืนยงกว่ารักประเภทอื่น

และสำหรับวันแม่ปีนี้ ไม่ว่าใครจะได้อยู่ใกล้แม่หรือไม่ การหยิบภาพยนตร์เกี่ยวกับแม่มานั่งชมกับแม่ก็น่าจะมีความสุขไปอีกแบบได้เหมือนกัน

 

X+Y (2014)

แม่ที่ไม่อยู่ในสมการของลูกชาย

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสารคดี Beautiful Young Minds ที่เล่าถึงกระบวนการคัดเลือกตัวแทนเข้าแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ โดยสารคดีเผยให้เห็นถึงความสามารถของเด็กที่มีอาการออทิสติก ซึ่งเชื่อมโยงกับความสามารถทางคณิตศาสตร์ ในภาพยนตร์ X+Y ตัวละครจะมีพื้นฐานมาจากนักคณิตศาสตร์ที่มีอาการออทิสติกจริงๆ นั่นก็คือ เดเนียล ไลท์วิง

นาธาน เด็กชายที่เกิดมาพร้อมกับอาการออทิสติก เขามีความสามารถทางคณิตศาสตร์สูงมาก แต่ความสามารถในการเข้าสังคมนั่นไม่เก่งเอาเสียเลย การที่นาธานเป็นเด็กพิเศษทำให้พ่อแม่ของเขาทุ่มเทในการดูแลเป็นอย่างมาก ถึงอย่างนั้นนาธานก็สนิทสนมกับพ่อมากกว่าแม่ เมื่อพ่อจากไปด้วยอุบัติเหตุ จูลี่ ผู้เป็นแม่จึงต้องดูแลเขาเพียงลำพัง แต่ทั้งสองก็แทบจะไม่ปฏิสัมพันธ์ต่อกันเท่าไร

จูลี่พยายามทุกอย่างเท่าที่ทำได้ เธอสนับสนุนในสิ่งที่นาธานชอบ โดยให้เขาไปเรียนพิเศษกับอาจารย์ฮัมฟรีส์ อัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ที่ความฝันต้องดับลงเพราะปัญหาสุขภาพ นาธานเข้ากับฮัมฟรีส์ได้ดี ความสัมพันธ์เป็นไปได้สวย แต่ระหว่างเขากับแม่ก็ยังมีบางอย่างกั้นกลางอยู่ ไม่ว่าจูลี่จะเข้าหานาธานเท่าไร เธอก็เหมือนถูกลูกผลักออกมาอยู่ตลอดเวลา จนบ่อยครั้งเธอรู้สึกว่าตัวเองยังทำได้ไม่ดีพอ

แล้วบางสิ่งในตัวนาธานก็เปลี่ยนไป เมื่อเขาได้รู้จักกับจางเม่ย เด็กสาวชาวจีนที่พบกันในค่ายคณิตศาสตร์โอลิมปิก เธอช่วยให้เขาปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่แปลกไปได้ ความวิตกกังวลต่างๆ ที่ต้องอยู่ห่างจากสิ่งที่คุ้นเคยก็ค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อนาธานพบแม่อีกครั้ง จูลี่ก็สัมผัสได้ทันทีว่ามีบางอย่าง เธอเริ่มตระหนักว่าเขาอาจมีความรักให้จาง เพียงแต่เขาไม่แน่ใจว่าต้องแสดงออกอย่างไร ความรักที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้จากสมการไหนๆ กำลังคืบคลานเข้ามาในหัวใจเขาแล้ว

การดูแลเด็กออทิสติกนั้นมีความละเอียดอ่อน พ่อแม่บางรายที่ไม่อยู่ในสถานะที่พร้อมจะต้องแบกรับความเครียดไว้มากมาย ทั้งจากการที่ลูกสื่อสารไม่ได้ตามวัย พัฒนาการล่าช้า ไม่มีทักษะทางสังคม และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงตลอด หากดูอย่างจูลี่ แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องดูแลนาธานด้วยตัวคนเดียว เราจะเห็นว่าเธอพยายามแค่ไหน เติมเต็มทุกอย่างให้ลูก แต่ลูกก็อาจจะยังไม่เข้าใจสิ่งๆ นั้น กว่าความรักที่หยิบยื่นให้จะไปถึงหัวใจ มันจึงต้องใช้เวลาอยู่นานทีเดียว

Three Billboards Outside Ebbing, Missouri (2017)

แม่ที่มีความแค้นคุกรุ่นอยู่ในอก

ภาพยนตร์ดาร์กคอมเมดี้ที่ผู้กำกับ มาร์ติน แม็กดอนนา ได้แรงบันดาลใจในการเขียนบทมาจากตอนที่เห็นป้ายโฆษณาเกี่ยวกับอาชญากรรมแห่งหนึ่ง ซึ่งจากรายงานมีการอ้างอิงว่าป้ายนั้นเป็นของครอบครัวหนึ่งในเท็กซัส เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับ เคที เพจ แม่ม่ายลูกสอง ซึ่งป้ายนั้นเช่าไว้ตลอด 25 ปี

ในขั้นตอนการเขียนบท มาร์ตินตั้งใจเขียนตัวละคร มิลเดรด เฮย์ส ขึ้นมาเพื่อฟรานเซส แม็กดอร์มานด์ โดยเฉพาะ แต่เธอกลับลังเลและปฏิเสธที่จะรับบทบาทนี้ในทีแรก จนเมื่อโจเอล โคเอ็น สามีโปรดิวเซอร์ชื่อดังทำให้เธอเปลี่ยนใจ

คุณป้ามิลเดรด เฮย์ส เป็นบุคคลที่สูญเสียลูกสาวไปในเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เธอถูกทารุณกรรมทางเพศและฆาตกรรมอย่างโหดร้าย เมื่อเวลาผ่านไปกว่าครึ่งปีคดีก็ยังไม่คืบหน้าไปทางไหน ไม่มีคำตอบ ไม่มีเบาะแส ไม่มีการจับตัวคนร้าย ความเสียใจกลายเป็นความคับแค้น ความอยุติธรรมจึงผลักดันเธอให้ทำเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิด เธอตัดสินใจเช่าป้ายโฆษณาเพื่อทวงถามและประชดประชันการทำงานของตำรวจ 

แต่ในเมืองเอ็บบี้นี้ใครๆ ต่างก็รักสารวัตรวิลเลอร์บี เขาไม่ใช่ตำรวจที่เลวร้าย และผู้คนต่างเห็นใจที่เขากำลังป่วยหนักจากโรคมะเร็ง การประกาศศึกของมิลเดรดจึงเปรียบเสมือนการตีตัวออกห่างจากทุกคน นอกจากนี้ เธอยังต้องมารับมือกับดิกซอน นายตำรวจที่เต็มไปด้วยอคติ มุทะลุ และโง่อย่างบริสุทธิ์ ซึ่งการปะทะของทั้งสองคนนี้ต่างก็บ้าบิ่นกันทั้งคู่ เรื่องทั้งหมดจึงนำไปสู่ความวินาศสันตะโร มันไม่ได้ช่วยให้ความเสียศูนย์ของคนเป็นแม่ดีขึ้น ซ้ำยังแย่ลงที่การกระทำของตัวเองไม่สามารถคัดง้างอะไรได้เลย ป้ายโฆษณานั้นยังเด่นหรา และตอกย้ำว่ามีหนึ่งที่ชีวิตที่ทำอย่างไรก็ไม่อาจหวนกลับมา

ภาพยนตร์ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การไขคดี แต่แสดงให้เห็นถึงภาวะอารมณ์ของตัวละคร การกระทำที่ฟาดฟันกันด้วยความโกรธแค้น แต่ก็ยังสอดแทรกประเด็นที่มีอยู่ในสังคมไว้อย่างหนักแน่น เช่น ความล่าช้าของหน่วยงานรัฐ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว อคติเรื่องเพศและสีผิว และการใช้สื่อในทางที่ตัวเองต้องการ สิ่งที่มิลเดรด เฮย์ส ทำอาจไม่ช่วยให้รูปคดีเปลี่ยนไป แต่นั่นก็เป็นการส่งเสียงจากคนตัวเล็กๆ จากแม่ที่ลูกสาวถูกพรากออกจากอก

Wonder (2017)

แม่ที่ยืนเคียงข้างและพร้อมต่อสู้เคียงลูก

อาร์. เจ. ปาลาซิโอ เริ่มต้นเขียนเรื่องราวนี้หลังจากเจอเหตุการณ์หนึ่งในชีวิต วันนั้นเธอกับลูกชายวัยสามขวบกำลังต่อแถวซื้อไอศกรีม เขาเห็นเด็กคนหนึ่งซึ่งมีใบหน้าผิดปกติแล้วเริ่มร้องไห้ เธอรีบพาลูกออกมาจาก เพราะเกรงจะทำให้เด็กคนนั้นรู้สึกแย่ แต่มันกลับทำให้เธอรู้สึกละอายใจเสียเอง

Wonder เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2012 หนังสือได้รับการตอบรับที่ดี และติดอันดับขายดีอย่างรวดเร็ว จนในปี 2017 เรื่องราวนี้ก็ถูกนำมาถ่ายทอดในฉบับภาพยนตร์

ออกัสต์ ‘อ็อกกี้’ พูลแมน เด็กชายวัย 10 ขวบ ที่เกิดมาพร้อมกับโรคกลุ่มอาการเทรชเชอร์ คอลลินส์ ทำให้มีการเจริญเติบโตผิดปกติของใบหน้า อ็อกกี้ต้องเข้ารับการผ่าตัดอยู่หลายครั้ง แต่ใบหน้าเขาก็แตกต่างจากเด็กทั่วๆ ไป อ็อกกี้โตมาท่ามกลางการเลี้ยงดูของเบต พ่อผู้อารมณ์ดี และ อิซาเบล แม่ผู้ทุ่มเทเวลาให้กับลูก และเวีย พี่สาวที่รักและเป็นห่วงน้องชาย จนเมื่อถึงการเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ห้า พ่อแม่ก็ตัดสินใจส่งเขาเข้าเรียนในโรงเรียนตามปกติ

พวกเขารู้ดีว่าลูกชายต้องเผชิญกับโลกภายนอกในวันใดวันหนึ่ง แต่มันก็ไม่ง่ายเมื่อเวลานั้นมาถึง อ็อกกี้ประสบปัญหาที่โรงเรียนบ่อยๆ ทั้งโดนล้อเลียนและกลั่นแกล้ง พ่อแม่จึงเดือดเนื้อร้อนใจไปด้วย นั่นเองเป็นจุดที่ทำให้พวกเขาละเลยลูกสาวคนโตไป เวียรู้ดีว่าพ่อแม่มีเรื่องให้ต้องคิดมากมาย แต่บางครั้งเธอก็ต้องการความเอาใจใส่เหมือนกัน นี่จึงไม่ได้เป็นการฝ่าฟันปัญหาของอ็อกกี้เพียงคนเดียว หากแต่เป็นการเดินไปข้างหน้าของครอบครัวๆ หนึ่งที่ไม่ละทิ้งใครไว้เบื้องหลัง และโอบกอดกันไว้ในวันที่โลกอาจจะใจร้ายไปบ้าง

Wonder เป็นภาพยนตร์ฟีลกู๊ดที่ละมุนกับหัวใจ เราทุกคนต้องรู้จักการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนในสังคม รู้จักเห็นใจและยอมรับความแตกต่างของแต่ละคน ไม่ตัดสินใครจากภายนอก เปิดใจให้กว้างกว่าที่ตาเห็น นั่นก็คงจะพอช่วยให้โลกรอบตัวเราสดใสขึ้น และมีมิตรภาพดีๆ ให้แก่กัน

A Quiet Place (2018)

แม่ที่ไม่อาจพูดคำว่ารัก

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์หลายเรื่อง อาทิ Alien, No Country for Old Men และ In the Bedroom แม้ว่าพล็อตเรื่องในการหนีเอาตัวรอดจะไม่ได้แปลกใหม่ แต่วิธีการเล่านั้นกลับทำให้หลายคนต้องระทึกไปพร้อมกับตัวละคร

นี่เป็นผลงานของผู้กำกับ จอห์น คราซินสกี้ ซึ่งเขาทั้งกำกับและรับบทพ่อในเรื่อง ส่วนผู้ที่ได้รับบทแม่ก็ไม่ใช่คนอื่นไกล แต่เป็นภรรยาผู้มากความสามารถของเขา เอมิลี บลันต์ และผู้รับบทเป็นลูกสาวคนโต มิลลิเซนต์ ซิมมอนด์ ในชีวิตจริงสาวน้อยคนนี้สูญเสียการได้ยินตั้งแต่อายุ 1 ขวบ เนื่องจากได้รับยาเกินขนาด แม่ของเธอจึงจ้างครูสอนการใช้ภาษามือมาที่บ้าน เพื่อให้ทุกคนเรียนรู้ในการสื่อสารกับมิลลิเซนต์ เธอเป็นเด็กที่มองโลกในแง่ดี และเริ่มตกหลุมรักการแสดงเมื่ออายุ 3 ขวบ

โลกในปี 2020 มนุษย์และสัตว์ส่วนใหญ่ของโลกถูกกำจัดโดยนักล่าจากนอกโลกที่มองไม่เห็น พวกมันโจมตีทุกอย่างที่ส่งเสียงรบกวน และทำให้โลกเข้าสู่ภาวะเงียบสงบ ครอบครัวแอบบอตต์ประกอบไปด้วยพ่อ แม่ ลูกสาวและลูกชาย ทั้งหมดอาศัยอยู่ในฟาร์มข้าวโพด นานๆ ทีก็จะเข้าเมืองไปเพื่อหาเสบียง การดำเนินชีวิตของพวกเขานั้นรายล้อมไปด้วยเสียงธรรมชาติ แต่ปราศจากเสียงใดๆ ที่มาจากการกระทำ และหากจะนับว่าเป็นโชคดีได้ก็คือเรแกน ลูกสาวคนโตของพวกเขาพิการทางการได้ยิน นั่นจึงทำให้ลีและเอเวอลีนใช้ภาษามือเป็น

แต่ไม่ว่าจะวางแผนรับมือมาดีเท่าไร เหตุร้ายก็มักจะเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะสิ่งมีชีวิตลึกลับนั้นพร้อมเข้ามาโจมตีตลอด 24 ชั่วโมง สถานที่ที่คิดว่าปลอดภัยที่สุดก็ไม่อาจปลอดภัยได้ตลอดกาล และต่อให้เราจงเกลียดจงชังความสูญเสียมากเท่าไร มันก็ยังจะก้าวเท้าเข้ามาในชีวิตอย่างไม่รู้สึกรู้สามากเท่านั้น ในตอนที่เอเวอลีนต้องให้กำเนิดลูกอีกคนจึงนับเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง เพราะความเงียบจะถูกทำลายลงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

นอกจากความระทึกขวัญที่มีให้ลุ้นกันตลอดเรื่อง สิ่งที่เป็นแกนหลักอีกอย่างก็คือความรักภายในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพี่-น้อง พ่อแม่-ลูก หรือสามี-ภรรยา การสื่อสารที่ไม่สามารถทำได้อย่างราบรื่นอาจทำให้ความเข้าใจกันคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ความรักที่มีอยู่ก็ไม่เปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่ต้องหาวิธีการแสดงออกที่เหมาะสมให้เจอ

Bird Box (2018)

แม่สุดแกร่งที่ต้องใช้ผัสสะและความรู้สึก

ภาพยนตร์ระทึกขวัญที่สร้างมาจากนวนิยายในชื่อเดียวกันของจอร์จ มาเลอร์แมน นับเป็นภาพยนตร์บนเน็ตฟลิกซ์ที่มียอดผู้เข้าชมมากที่สุดใน 7 วันแรก โดยมียอดบัญชีผู้ชมกว่า 45 ล้านคน

ภาพยนตร์เรื่องนี้ประกอบไปด้วยวิดีโอจากภัยพิบัติจริง ซึ่งเป็นเหตุการณ์รถไฟบรรทุกน้ำมันตกราง จนทำให้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ในเมืองลาค-เมกองติก ประเทศแคนาดา ส่งผลให้ชาวเมืองไม่พอใจและมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ด้านเน็ตฟลิกซ์จึงออกมาขอโทษ แต่ก็ปฏิเสธที่จะถอดคลิปเหตุการณ์จริงออก

เหตุการณ์เลวร้ายทั้งหมดเริ่มขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน โทรทัศน์รายงานข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายจำนวนมากที่หาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งเกิดขึ้นในรัสเซียและกำลังแพร่กระจายไปทั่วยุโรปอย่างรวดเร็ว แล้วมันก็เดินทางมาสู่เมืองที่มาร์ลอรี่อยู่ เธอท้องแก่และเพิ่งกลับจากโรงพยาบาล ระหว่างทางก็พบกับผู้คนคุล้มคลั่งที่พยายามฆ่าตัวตายกันเกลื่อนถนน โชคดีที่เธอได้รับการช่วยเหลือจากคนกลุ่มหนึ่งทำให้เธอและลูกในครรภ์รอดมาได้

เมื่อทุกคนเห็นกับตาตัวเองแล้วว่าสถานการณ์ย่ำแย่แค่ไหน พวกเขาจึงต้องคิดหาทางออก แม้จะมีความคิดเห็นไม่ลงรอยกันอยู่บ้าง ใจความสำคัญหลักที่สรุปได้คืออย่ามองในสิ่งที่ตาเห็น บ้านต้องปิดมิดชิด หากออกไปข้างนอกก็ต้องปิดตา การใช้ชีวิตแต่ละวันจึงผ่านไปอย่างยากลำบาก ไหนจะอาหาร ไหนจะยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมาร์ลอรี่คลอดลูก ปัญหาประดามีวนเวียนเข้ามาไม่หยุดหย่อน จนท้ายที่สุดมาร์ลอรี่ต้องพาลูกน้อยสองคนเดินทางไกล ฝ่าความมืดไปหาแสงสว่าง ล่องเรือในแม่น้ำเชี่ยวกรากที่ต้องใช้สัญชาตญาณเท่านั้น ทุกทิศทางล้วนมีอันตราย แต่การรอความตายต้องไม่ใช้จุดจบ ความหวังยังมีแม้จะริบหรี่ก็ตาม…

หลายครั้งที่ภาพยนตร์พยายามจะทดสอบศีลธรรมในตัวมนุษย์ การหยิบยื่นความช่วยเหลืออาจเป็นการดีต่อชีวิตอื่น แต่บางครั้งมันก็หมายถึงการเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยงด้วย ในยามคับขันไม่ว่าใครก็ต้องเอาตนเป็นที่ตั้ง ถึงแม้บ่อยครั้งมันจะผิดต่อผู้อื่น ซึ่งเราก็ได้แต่มองข้ามไป

Tags: ,