เมื่อถามถึงอาชีพในฝันของเด็กๆ รายชื่อที่จะถูกพูดถึงเป็นส่วนใหญ่ก็คงจะไม่พ้นชื่อที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดี เช่น หมอ ครู ตำรวจ หรือวิศวกร ซึ่งทั้งหมดจะถูกมองว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง แต่อาจจะมีอีกหนึ่งอาชีพที่คนบางส่วนยังมองว่าไม่มั่นคงและไม่สามารถสร้างรายได้ที่แน่นอนได้-หลุดออกมาเป็นคำตอบของเด็กๆ นั่นก็คืออาชีพนักกีฬา

แต่เดิมกีฬาเป็นกิจกรรมเพื่อสร้างความสนุกสนานและความบันเทิงเท่านั้น จนต่อมาก็มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ หลายประเทศทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับวงการกีฬาเป็นอย่างมาก แต่เรื่องราวบนสนามการแข่งขันก็มีอะไรที่มากไปกว่าการงาน การเงิน และความสำเร็จ หยาดเหงื่อแรงกายที่พวกเขาทุ่มเทมีทั้งสุข เศร้า มิตรภาพ ศัตรู ความผิดหวัง และรสชาติของชัยชนะ เส้นทางชีวิตของนักกีฬาแต่ละประเภทแต่ละคนนั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง มาชมภาพยนตร์กีฬา Based on a True Story กันดีกว่า

The Greatest Game Ever Played (2005)

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนต์เรื่องสุดท้ายของบิล แพกซ์ตัน ในฐานะผู้กำกับ ซึ่งหลายคนอาจรู้จักเขาในมุมนักแสดงมากกว่า เนื่องจากบิลปรากฎตัวอยู่ในภาพยนตร์หลายเรื่องที่มีชื่อเสียง อาทิ Titanic (1997) , Apollo 13 (1995) และ Twister (1996) แล้วเมื่อผันตัวมาทำงานเบื้องหลัง เขาก็ไม่ละทิ้งงานเบื้องหน้าแต่อย่างใด

ภาพยนตร์นี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานชีวิตของนักกอล์ฟดาวรุ่งอย่างฟรานซิส อุยเม็ต (Francis Ouimet) เด็กชายผู้เติบโตมาในชนชั้นล่าง แต่ผลักดันตัวเองจนสามารถคว้าแชมป์ U.S. Open มาได้ ซึ่งในยุคสมัยที่เขาเติบโตมากอล์ฟยังเป็นกีฬาสำหรับคนรวยเท่านั้น

อุยเม็ตมาจากครอบครัวผู้อพยพ ลำพังแค่การหาเลี้ยงชีพยังลำบาก แล้วนับประสาอะไรกับการได้จับไม้กอล์ฟ แต่เด็กชายคนนี้ก็ไม่สามารถหนีไปจากมนต์เสน่ห์ของกีฬาชนิดนี้ได้จริงๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบ้านของเขานั้นอยู่ตรงข้ามกับสนามกอล์ฟสุดหรู อุยเม็ตจึงศึกษากอล์ฟแบบครูพักลักจำ และเริ่มเป็นแคดดี้ที่ The Country Club ตั้งแต่เด็ก เขาฝึกซ้อมกอล์ฟในห้องของตัวเองเสมอ เพราะพ่อยังไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ลูกชายชอบ

การเอาตัวเข้าไปคลุกคลีกับสิ่งที่ตัวเองรักเป็นช่องทางหนึ่งในการเปิดโอกาสให้ได้แสดงความสามารถ อุยเม็ตยังไปทำงานที่สนามกอล์ฟทุกวัน เขาเริ่มเติบโตไปตามช่วงวัย จนวันหนึ่งสมาชิกคลับก็ขอให้อุยเม็ตเล่นกอล์ฟด้วย ความสามารถและความมีมารยาทของอุยเม็ตทำให้เขาได้รับความสนใจ และในที่สุดโอกาสที่จะลงแข่งในสนามจริงก็เปิดออก ไม่เพียงเท่านั้นนี่ยังจะเป็นการพิสูจน์ให้พ่อได้เห็นความรัก รวมถึงพรสวรรค์ของเขาที่มีต่อกอล์ฟด้วย

อุยเม็ตเลือกแคดดี้คู่กายเป็นเด็กชายที่คลั่งไคล้กอล์ฟไม่แพ้กัน นั่นคือ เอ็ดดี้ โลเวอรี เจ้าหนูที่มีสายตาเฉียบแหลม เมื่อทั้งสองลงสนามคู่กันมันกลายเป็นภาพชวนขบขันมากกว่าจะจริงจังได้ เด็กหนุ่มมือสมัครเล่นวัย 20 ปี กับแคดดี้วัย 10 ขวบ ทั้งสองลักษณะท่าทางต่างจากนักกอล์ฟมืออาชีพคนอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อได้กวัดแกว่งไม้ที่อยู่ในมือ สายตาทุกคู่ที่มองพวกเขาจะต้องเปลี่ยนไป นับแต่หลุมแรกไปจนถึงหลุมสุดท้าย อนาคตอยู่ในมือทั้งคู่แล้ว…

Rush (2013)

Rush ผลงานการกำกับของรอน ฮาวเวิร์ด ผู้กำกับที่หยิบยกอัตชีวประวัติบุคคลต่างๆ มาเล่าได้อย่างน่าสนใจเสมอๆ ไม่ว่าจะเป็น Apollo 13 (1995), A Beautiful Mind (2001) และ Frost/Nixon (2008) 

นี่จึงเป็นอีกครั้งที่รอนหยิบเหตุการณ์ในหน้าประวิตัศาสตร์มาถ่ายทอด โดยครั้งนี้เป็นการแข่งขันรถฟอร์มูล่า วัน สองคู่แข่งคนสำคัญในยุค 70s ที่แย่งชิงกันเป็นที่หนึ่งในสนามแห่งความเร็ว

เจมส์ ฮันท์ นักขับชาวอังกฤษเปี่ยมความมั่นใจ หัวแข็ง แต่ก็มีเสน่ห์ล้นเหลือ กับอีกคน นิกิ เลาดา อัจฉริยะทางเทคนิค ยอดเยี่ยมในเรื่องความแม่นยำ และหมั่นฝึกฝนฝีมืออยู่เสมอ เรียกได้ว่าเป็นคู่แข่งที่มีลักษณะนิสัยตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง พวกเขาผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ เพราะเป้าหมายของพวกเขาคือสิ่งเดียวกัน และคนที่จะยืนอยู่บนจุดสูงสุดได้ก็มีเพียงหนึ่งเดียว ฤดูกาลแข่งขันในปี 1976 เลาดาเป็นฝ่ายที่ได้คะแนนนำ ในขณะที่ฮันต์นั้นล้มลุกคลุกคลาน และเกือบจะเสียคะแนนไปการแข่งขัน

ภาพยนตร์ไม่ได้นำเสนอชีวิตของทั้งสองบนสนามแข่งขันเพียงอย่างเดียว แต่บนสนามของชีวิตจริงนั้นก็มีเรื่องให้พวกเขาต้องต่อสู้ในแบบของตัวเอง ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องทางจิตใจ แรงผลักดันหรือแม้แต่แรงกดดัน การลงสนามแต่ละครั้ง การลืมตาตื่นในแต่ละวัน เหมือนการวางเดิมพันชีวิตลงไป ผลลัพธ์ที่ได้อาจออกมาเป็นที่พอใจ หรือทำให้เสียใจไปตลอดกาลก็ได้เช่นกัน

เมื่อการแข่งขันครั้งที่ 10 ที่ประเทศเยอรมนีมาถึง ขณะนั้นฮันต์ทำคะแนนตีตื้นขึ้นมาได้แล้ว แต่เลาดากลับมีความคิดเห็นว่าควรยกเลิกการแข่งขัน เพราะเหตุผลเรื่องความปลอดภัย นูร์เบอร์กริงเป็นสนามที่ขึ้นชื่อว่าอันตรายมากที่สุดสนามหนึ่ง แต่การคัดค้านก็ไม่มีความหมายเมื่อการแข่งขันยังต้องดำเนินต่อไป

เช้าวันแข่งขันสภาพอากาศยิ่งแย่ลงไปอีก แล้วมันก็เป็นไปตามคาด เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น รถที่เลาดาขับประสบอุบัติเหตุจนไฟลุกท่วม ผิวหนังของเขาถูกไฟไหม้ระดับสาม เลาดาต้องออกจากการแข่งขันไป จากเหตุการณ์นี้หลายคนอาจนึกไปว่าเส้นทางของเลาดาอาจจบลง แต่เปล่าเลย เขากลับคืนสนามในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา แม้ฮันต์จะทำคะแนนนำขึ้นมาได้ แต่การแข่งขันของทั้งคู่ก็ยังไม่จบลงจนกว่าสนามสุดท้ายจะมาถึง! เส้นชัยนั้นอยู่อีกไม่ไกล แต่อยู่ที่ว่าเราจะฝ่าฟันมันไปได้หรือเปล่า

Eddie the Eagle (2015)

กีฬาประเภทสกีอาจไม่ได้อยู่ในความสนใจคนไทยเท่าไรนัก เพราะมันไม่ใช่กีฬาประเภทที่เราจะได้เล่นกันเป็นเรื่องปกติ แต่เชื่อว่าในตอนเด็กๆ หลายคนอาจใฝ่ฝันถึงการได้ไปนอนกลางหิมะ ปั้นสโนว์บอล หรือเล่นกีฬาเท่ๆ อย่างสกี ดังนั้น เมื่อพูดถึงสกีแล้ว ชีวิตนักกีฬาอย่าง เอ็ดดี้ เอ็ดเวิร์ดส์ นั้นน่าสนใจทีเดียว

Eddie the Eagle สร้างขึ้นจากชีวประวัติของ เอ็ดดี้ เอ็ดเวิร์ดส นักสกีโอลิมปิกชื่อดังชาวอังกฤษ นำแสดงโดยทารอน อีเกอร์ตัน และฮิวจ์ แจ็คแมน มาในบทโค้ชผู้เชี่ยวชาญกีฬาสกี

ตั้งแต่ยังเด็ก เอ็ดเวิร์ดส์ใฝ่ฝันถึงการเป็นนักกีฬาโอลิมปิกมาโดยตลอด เขาฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็พบกับความผิดหวังอยู่เสมอ แม่ของเขาสนับสนุนเต็มที่กับความมุ่นมั่นของลูกชาย ในขณะที่พ่อมักจะทักท้วงอยู่บ้าง จนบางทีมันก็ทำให้เอ็ดเวิร์ดส์เกือบจะถอดใจ แต่ในวินาทีที่เขากำลังจะละทิ้งความฝัน เอ็ดเวิร์ดส์กลับพุ่งตรงไปที่สำนักงานใหญ่สมาคมโอลิมปิกแห่งอังกฤษ เพื่อสมัครเป็นนักสกีกระโดดโอลิมปิก แล้วเขาก็พบว่าอังกฤษไม่มีนักสกีกระโดดมาตั้งแต่ปี 1929 ซึ่งนั่นเองเป็นแรงกระตุ้นให้เขาทำตามความฝันอีกครั้ง และเพื่อเข้าใกล้ความสำเร็จเอ็ดเวิร์ดส จึงไปขอให้บรอนสัน แพร์รี่ มาช่วยเป็นโค้ชให้

เอ็ดเวิร์ดส ฝึกฝนอย่างหนัก ร่างกายเต็มไปด้วยบาดแผล แต่จิตใจกลับไม่ยอมพ่ายแพ้ เขากระโดดได้ไกลขึ้นทีละน้อย ความพยายามทั้งหมดของเขาไม่สูญเปล่า อุปสรรคที่เป็นดั่งขวากหนามนั้นค่อยๆ คลี่คลายไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จนถึงที่สุด เอ็ดเวิร์ดส์ก็ได้เข้าสู่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว โฉมหน้าทางประวัติศาสตร์ของปี 1988 จะต้องจารึกชื่อเขาเอาไว้ ไม่มีใครคาดคิดว่าคนอย่างเอ็ดเวิร์ดสจะกลายมาเป็นม้ามืด ทุกการพ่ายแพ้ ทุกเสียงก่นด่า ทุกการดูแคลน หลอมรวมให้เขากลายเป็นคนที่อยู่บนจุดสูงสุด จากคนที่เคยอยู่เพียงจุดต่ำสุดตลอดมา ด้วยหัวใจที่น่านับถือนั่นก็เหมาะสมแล้วที่เขาจะคว้าเหรียญทองไปไว้ในอ้อมกอดได้

Dangal (2016)

ภาพยนตร์บอลลีวูดที่กลายเป็นหนึ่งในเรื่องที่ทำรายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อินเดีย นำแสดงโดยอาเมียร์ ข่าน ชายที่หลายคนจดจำเขาได้จากเรื่อง PK (2014) ซึ่งในเรื่องนี้อาเมียร์ทั้งเพิ่มและลดน้ำหนักตัวเองไปเกือบ 30 กิโลกรัม เพื่อรับบทนักมวยปล้ำและพ่อผู้เคี่ยวเข็ญ

Dangal เป็นชื่อการแข่งขันมวยปล้ำพื้นเมืองของอินเดีย ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของเรื่องนี้ บทภาพยนตร์ถูกพัฒนาขึ้นในปี 2014 โดยเรื่องราวได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริงของมหาวีร์ ซิงห์ โพกัต อดีตนักมวยปล้ำที่สอนให้ลูกสาวให้เดินตามเส้นทางของตัวเอง

มหาวีร์ ซิงห์ โพกัต เป็นนักกีฬามวยปล้ำทีมชาติที่ฝันใหญ่ เขาต้องการคว้าเหรียญทองมาให้ประเทศของตน แต่ก็ไม่เคยไปถึงฝั่งฝันได้สำเร็จสักที ในที่สุดเขาก็ต้องละทิ้งความฝัน แต่มันยังคุกรุ่นอยู่ในอกไม่จางหาย มหาวีร์ยังหวังว่าถ้ามีลูกชาย เขาจะฝากความฝันนั้นไว้ที่ลูก แต่ไม่ว่าพยายามเท่าไร ลูกตัวน้อยที่ออกมากลับเป็นผู้หญิงทั้งหมด เขาเกือบจะเลิกหวังแล้ว หากไม่ฉุกเห็นบางอย่างในตัวลูก นั่นทำให้เขาตัดสินใจฝึกลูกสาวเป็นนักมวยปล้ำ ท่ามกลางสายตาคัดค้านมากมาย

ชีวิตวัยเด็กของกีตาและบาบิตาจึงต่างจากเด็กผู้หญิงทั่วๆ ไป พวกเธอต้องตื่นมาฝึกซ้อมทุกเช้า กินอาหารที่พ่อให้กิน และต้องเลิกสนใจสิ่งต่างๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการฝึก มหาวีร์ทำถึงขนาดที่ว่าตัดผมลูกตัวเองจนสั้นเหมือนเด็กผู้ชาย แต่ไม่ว่าใครก็ไม่อาจขัดคำสั่งนี้ได้ หลายครั้งหลายคราที่พวกเธอท้อจนถอดใจ แต่เป้าหมายของพ่อยิ่งใหญ่กว่าเสมอ กีตาและบาบิตาเติบโตมาโดยมีความฝันของพ่อเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว สิ่งที่พวกเธอเผชิญอยู่ไม่ใช่แค่การคว้าเหรียญ แต่เป็นการทวงถามถึงความเท่าเทียมของผู้หญิงในสังคมอินเดียด้วย เพราะผู้หญิงถูกให้ค่าก็เพียงการเกิดมาทำงานบ้าน แต่งงานและเป็นภรรยาที่ดี นี่จึงเป็นจุดเล็กๆ ที่สามารถส่งแรงกระเพื่อมไปสู่สิ่งต่างๆ ได้ สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเหรียญทองที่มี

Dangal เต็มไปด้วยประเด็นมากมายที่สอดแทรกอยู่อย่างแนบเนียน ทั้งขนบธรรมเนียม ค่านิยมของสังคม วัฒนธรรมของบ้านเมือง ตลอดจนสิทธิสตรี เป็นปากเป็นเสียงให้แก่วงการกีฬาและผู้หญิง แม้ว่าบางครั้งมันจะมีการขัดแย้งกันเล็กๆ ในสิ่งที่พูดถึง อาทิ พ่อที่ใช้ความเป็นใหญ่เพื่อผลักดันให้ลูกก้าวขึ้นมาเปลี่ยนแปลง แม้จะตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความรัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านัยหนึ่งมันเป็นการยัดเยียดความฝันของตัวเองให้กับลูก ซึ่งโชคดีที่มันออกมาประสบความสำเร็จ และทำให้เด็กผู้หญิงกล้าที่จะลุกขึ้นมาแสดงความสามารถบ้าง ในสังคมที่ยังเป็นแบบปิตาธิปไตยอยู่

I, Tonya (2017)

ภาพยนตร์ชีวประวัติที่จะพาเราไปรู้จักกับทอนย่า ฮาร์ดิ้ง นักสเก็ตน้ำแข็งที่มีชื่อเสียงฉาวโฉ่จากความสามารถและเรื่องส่วนตัว เธอเป็นคนที่สามารถทำท่าทริปเปิล แอ็กเซิล (Triple Axel) บนลานสเกตได้ ซึ่งมีคนทำสำเร็จอยู่ไม่ถึงสิบคนในการแข่งขันระดับนานาชาติ และคนที่มารับบททอนย่าก็ได้แก่ มาร์โกต์ ร็อบบี้

ชีวิตวัยเด็กของทอนย่าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเท่าไรนัก เธอได้รับการเคี่ยวเข็ญอย่างหนักจาก ลาโวน่า โกลเด้น ผู้เป็นแม่ เธอกดดันทอนย่าทั้งจากคำพูดและการกระทำ ราวกับว่าการแสดงความรักหนึ่งเดียวของเธอคือการไม่แสดงความรัก ครอบครัวของทอนย่ามีความขัดสนทางการเงินเสมอ ชุดที่เธอสวมใส่ในการแข่งขันจึงไม่สวยเหมือนเด็กคนอื่น ลำพังแค่ค่าจ้างโค้ชก็แทบจะหมดแล้ว ทุกครั้งที่แสดงบนลานสเก็ต เธอจึงไม่เป็นที่ถูกใจของคณะกรรมการในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะนิสัยใจคอ เพลงที่เลือก หรือชุดที่ใส่ ในด้านชีวิตรักของทอนย่า มันเหมือนจะดีในทีแรก แต่ต่อมาเลวร้ายเหมือนกับลงเหว เธอแต่งงานตอนอายุ 18 ปีกับเจฟฟ์ ซึ่งความรักนั้นเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ

สิ่งเดียวที่ทอนย่าทำได้ดีคือการฝึกซ้อมสเก็ตน้ำแข็งต่อไป และเธอก็ประสบความสำเร็จในการแข่งขันอย่างที่คู่แข่งคนไหนก็ไม่มีทางเทียบได้ แต่ชัยชนะนั้นไม่คงอยู่ตลอดกาล เมื่อคู่แข่งคนสำคัญอย่างแนนซี เคอร์ริแกน กำลังจะก้าวเข้ามาแทนที่เธอ เหตุการณ์ในปี 1994 นั้นจึงเปลี่ยนทุกอย่าง กีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวกำลังเวียนมาอีกครั้ง ศึกใหญ่แรกของพวกเธอคือการฟาดฟันในศึกชิงแชมป์สหรัฐฯ แต่แนนซีกลับถูกลอบทำร้าย และทอนย่ากลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในแผนการทั้งหมด อนาคตของเธอดับวูบ สิ่งที่พยายามมาทั้งชีวิตจมหายไปในพริบตาเดียว บทลงโทษนี้ได้กลืนกินชีวิตนักกีฬาสเก็ตของเธอไปจนสิ้น ความภาคภูมิใจก็หายไปหลังม่านควันของคดี

ความรุนแรงนั้นไม่ว่าจะทางคำพูดหรือการกระทำก็สร้างบาดแผลต่อคนๆ หนึ่งได้พอกัน และเมื่อถูกทุบตีซ้ำๆ มันก็เป็นไปได้ว่าเราจะส่งต่อสิ่งนั้นให้คนอื่นไปอีกเรื่อยๆ จนกลายเป็นห่วงโซ่ที่ไม่จบสิ้น ความรุนแรงไม่เคยก่อประโยชน์ใดๆ มีแต่จะสร้างความเสียหายไม่ว่าจะในระยะสั้นหรือระยะยาว ดังนั้น หากต้องการให้ความรุนแรงหมดไปก็ต้องเริ่มที่ตัวเรา สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับครอบครัวและคนรอบข้าง แล้วทุกอย่างก็จะถูกจัดการด้วยเหตุและผลเอง

Tags: , , , , , ,