ตลอดปี 2019 ที่ผ่านมา ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่แสดงพลัง สะท้อนความรู้สึก ระบายอารมณ์ และแซะแซวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวและรอบโลกของชาวเน็ต บ้างก็น่ารักน่าขัน บ้างขบกัดจนน่าหยิก และบ้างน่าตลกแต่ขำไม่ออก ก่อนปีนี้จะสิ้นสุดลง The Momentum ได้รวมแฮชแท็กทั้งในและนอกประเทศที่เราคิดว่า ‘ทรงพลังที่สุด’ ในปี 2019 นี้
#ประชุมสภา
หลังจากที่ห่างหายไปนานกว่า 5 ปี การประชุมสภากลายเป็นแฮชแท็กที่ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากสำนักข่าวและประชาชนที่ติดตาม แม้จะเป็นปีที่แวดวงการเมืองไทยเต็มไปด้วยเรื่องราวพิลึกกึกกือ แต่บรรยากาศของรัฐสภาก็ยังคงเต็มไปด้วยสีสัน และทำให้แฮชแท็กประชุมสภาขึ้นมาติดลมบนทวิตภพอยู่บ่อยๆ
โดยปกติ เราอาจคุ้นเคยกับชุมชนทวิตเตอร์ที่ทวีตถึงเหตุการณ์จากละครดังแบบฉากต่อฉาก แต่ตลอดปีที่ผ่านมา ชาวทวิตเตอร์ดูจะให้ความสนใจกับการประชุมสภาเป็นพิเศษ เพราะทุกๆ ครั้งที่มีการประชุมสภา แฮชแท็กประชุมสภาจะโดดขึ้นมาติดลมบนคู่กับความคิดเห็นเล็กน้อยแบบฉากต่อฉากเช่นกัน
ปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจมองได้ว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์ส่วนใหญ่มีความตื่นตัวทางการเมือง กระตือรือร้นที่จะแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมือง หรือเรียกได้ว่าเป็น Active Citizen อยู่มาก ในอีกทางหนึ่งก็น่าสนใจว่า ความเป็น Active Citizen ดังกล่าว จะแสดงอยู่แค่ในโลกออนไลน์ที่มีพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้น้อยหรือไม่ และจะคงอยู่ไปตลอดหรือแค่ในช่วงที่การเมืองถูกทำให้ดูดราม่าเช่นนี้
#ขบวนเสด็จ
การเกิดขึ้นของแฮชแท็กขบวนเสด็จในโลกทวิตเตอร์ในปี 2019 นี้ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่ขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งบนทวิตเตอร์ถึงสองครั้งด้วยกันนั้น สร้างความประหลาดใจในโลกสังคมและการเมืองเป็นอย่างมาก ทั้งในประเด็นที่ว่าเรื่องบางเรื่องนั้นไม่อาจกล่าวถึงอย่างตรงไปตรงมาในพื้นที่สาธารณะได้ หรือแม้กระทั่งเหตุใดประเด็นอันล่อแหลมหลายประเด็นถึงถูกจุดติดในโลกทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ว่ากันว่าเป็นชุมชนของคนรุ่นใหม่
แต่ในขณะเดียวกันเราก็ยังคงเห็นการพูดถึงเรื่องที่อ่อนไหวและล่อแหลมในโลกทวิตเตอร์ ที่ใช้รูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย ทั้งการใช้คำ มีม รูปสัญลักษณ์ตัวแทน การล้อเลียนเสียดสี ไปจนถึงการทำให้เป็นเรื่องตลกขบขัน ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นนั้นโดยตรง อันเป็นวิธีการสื่อสารและแสดงออกทางความคิดที่เห็นได้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะประเด็นการเมือง เช่นเดียวกันกับแฮชแท็กขบวนเสด็จที่ขึ้นอันดับหนึ่งถึงสองครั้งในปี 2019 นี้
#ฟ้ารักพ่อ
กระแสความนิยมในตัวของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้จุดกระแสให้ฟิวเจอริสต้าเปรียบตัวเองว่าเป็น ‘ฟ้า’ และธนาธรเป็น ‘พ่อ’ ล้อมาจากละครดังเรื่อง ‘ดอกส้มสีทอง’ เกิดขึ้นในช่วงการลงหาเสียงในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ที่ผ่าานมา โดยก่อรูปก่อร่างขึ้นมาจากการที่มีการแชร์รูป ‘เซ็กซี่’ ของธนาธรก่อนหน้านั้นบวกกับความที่เขาเป็นพ่อในชีวิตจริง เขาจึงยังเป็นคุณพ่อยังหนุ่มที่สมาร์ทชวนให้ฟ้าหลายคนหลงใหล
แรกเริ่ม แฮชแท็กฟ้ารักพ่อ ถูกตั้งคำถามจากสังคมบางส่วนว่า เป็นแค่อาการคลั่งตัวบุคคล คล้ายกับที่แฟนคลับคลั่งดาราเท่านั้น ไม่มีอิทธิพลจริงจังต่อการเมือง แต่ดูเหมือนว่าคำปรามาสดังกล่าวจะไม่เป็นความจริง เมื่อการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคอนาคตใหม่กวาดได้ถึง 80 ที่นั่งในสภา กลายเป็นพรรคที่ได้รับเสียงมากที่สุดเป็นลำดับสาม หักปากกาเซียนไปหลายด้าม
นอกจากนี้ พรรคอนาคตใหม่ยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ชาวทวิตเตอร์ประดิษฐ์แฮชแท็กขบกัดสังคมและการเมืองไทยอีกหลายครั้งตลอดปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น #อยู่ไม่เป็น #กลัวที่ไหน หรือ #ไม่ถอยไม่ทน
#hongkongprotests
แฮชแท็ก Hongkongprotests ไม่เพียงถูกใช้สำหรับผู้ชุมนุมในฮ่องกงเท่านั้น แต่ถูกใช้จากชาวเน็ตทั่วโลกเพื่อแทนเสียงสนับสนุนการชุมนุมดังกล่าว ในแง่มุมการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย รวมถึงในไทยเองก็เป็นที่พูดถึงมากเช่นกัน นอกจากนี้ รูปแบบการชุมนุมในฮ่องกงยังสร้างความน่าตื่นตาในหลายแง่มุม เพราะนอกจากเป็นการชุมนุมที่ไร้หัวขบวนแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อนัดหมาย รวมถึงเป็นการชุมนุมที่แสดงให้เห็นถึงพลังของคนรุ่นใหม่กลุ่มยุคมิลเลนเนียล
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมที่ยืดเยื้อและลงเอยด้วยความรุนแรง ทำให้หลายคนเริ่มลังเลในการสนับสนุนและตั้งคำถามต่อว่า เป็นไปได้ไหมที่การชุมนุมจะเกิดขึ้นโดยปราศจากความรุนแรง การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองต้องมาคู่กับความรุนแรงเสมอไปหรือไม่ ต้องลงถนนเสมอไปไหม ความขัดแย้งทางการเมืองในฮ่องกงรอบนี้จะลงเอยเช่นไร ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่าง จีน-ฮ่องกง จะเป็นอย่างไรต่อไป
#howdareyou
บางส่วนจากคำปราศรัยซึ่งเต็มไปด้วยอินเนอร์ของ เกรตา ธันเบิร์ก ในงาน Climate Action Summit 2019 ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ ที่สร้างความร้อนระอุไปทั่ว วาทะ How Dare You ไม่เพียงปลุกให้คนทั้งโลกหันมาใส่ใจภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังมากขึ้นเท่านั้น แต่มันยังเป็นการส่งสัญญาณไปยังผู้ใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่กำหนดนโยบายในแต่ละประเทศว่า คนรุ่นใหม่ควรมีสิทธิและเสียงในการกำหนดอนาคตของโลก เพราะพวกเขาคือผู้ที่จะต้องเผชิญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการกระทำของผู้ใหญ่ทั้งหลายในปัจจุบันนี้
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าความตั้งใจแรกเริ่มของเกรตาจะถูกเบี่ยงให้กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างวัยเสียแล้ว เมื่อคนบางกลุ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์เธอรวมถึงคนรุ่นใหม่ว่ามีความก้าวร้าว ไม่เคารพผู้ใหญ่ แต่งตัวประหลาด ลามไปจนถึงเรื่องการเป็นโรคสมาธิสั้น และอาการของแอสเพอร์เกอร์ของเธอ รวมไปถึงข้อกล่าวหาที่ว่าทำไมเธอไม่ลงมือทำอะไรเลย ไปเก็บขยะก็ยังดี แทนที่จะก่นด่าผู้นำประเทศอยู่อย่างนี้ ทำให้โลกออนไลน์ประดิษฐ์แฮชแท็ก ‘OK Boomer’ ขึ้นมา เพื่อเสียดสีและตอบโต้แนวคิดของคนยุคเบบี้บูมเมอร์ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรนอกจากเกรตาจะได้จุดพลังของเยาวชนทั่วโลกขึ้นมาได้แล้ว ยังสามารถจุดประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เป็นวาระการถกเถียงของโลกได้อีกด้วย
#คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา
‘คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน’ คือ บางส่วนจากแถลงการณ์ของผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ ภายหลังที่ยกฟ้องจำเลยชาวมุสลิม 5 คน ในข้อหาความผิดต่อชีวิต อังยี่ซ่องโจร เพราะมองว่าหลักฐานไม่เพียงพอ ก่อนที่จะตัดสินใจประทับปืนที่หน้าอก และลั่นไกหวังปลิดชีวิตตัวเองหน้าบัลลังก์ศาล โดยกล่าวอ้างว่า ระบบยุติธรรมถูกแทรกแซง ผู้พิพากษาไม่มีอิสระอย่างแท้จริง ในการตัดสินคดีนี้
แม้ข้อเท็จจริงยังคงคลุมเครือ และยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนออกมา แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้คนในสังคมพร้อมใจกันติดแฮชแท็ก และวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมไทยว่าเกิดความผิดปกติขึ้นจริงหรือไม่ รวมไปถึงความศักดิ์สิทธิ์ขององค์กรตุลาการ โดยเฉพาะคำวินิจฉัยของศาล ที่เรารับรู้กันดีกว่ามิอาจก้าวล่วงหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ ประกอบกับเหตุการณ์ทางการเมือง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการตัดสินพิพากษาประเด็นต่างๆ ทางการเมือง รวมไปถึงการที่มีผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษา หรือการทำงานของศาลแล้วถูกเรียกตัวเข้าพบ หรือการที่ศาลออกข้อกำหนดเรื่องโทษในการวิจารณ์โดยไม่สุจริตและหยาบคาย ยิ่งทำให้กระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถามและถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น
#ripsulli
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซอลลี่ อดีตสมาชิกวง f(X) ของเกาหลีใต้ ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในวัย 25 ปี ด้วยการฆ่าตัวตาย เนื่องจากโรคซึมเศร้าเรื้อรัง ต่อมาหลังจากที่ซอลลี่เสียชีวิตไม่นาน คู ฮารา ศิลปินวง KARA เพื่อนสนิทของซอลลี่ก็ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองอีกเป็นครั้งที่ 2 และทำสำเร็จ โดยฮารานับเป็นศิลปินเกาหลีใต้คนที่สามในรอบสองปีที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง
แฮชแท็ก ripsulli ถูกใช้เพื่อไว้อาลัยให้กับการจากไปของซอลลี่ รวมถึงตั้งคำถามกับการกลั่นแกล้งกันทางออนไลน์ (cyber bullying) ซึ่งกำลังเป็นเรื่องที่น่าห่วงขึ้นเรื่อย เพราะการที่คนในสังคมใช้เวลากับโลกออนไลน์มากขึ้น ทำให้ผู้คนขาดปฏิสัมพันธ์ต่อกัน มีความเห็นอกเห็นใจกันน้อยลงและสามารถทำร้ายจิตใจกันได้ง่ายขึ้น ดั่งที่เราจะเห็นจากการแสดงความคิดเห็นที่มีลักษณะสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งกรณีของซอลลี่นั้นนำมาสู่การตั้งคำถามว่าผู้คนในโลกโซเชียลมีเดียจะรอให้คนที่ถูกบุลลี่นั้นฆ่าตัวตายก่อนหรือไรจึงจะรู้สึกได้ถึงความร้ายแรงในการใช้คำพูดกลั่นแกล้งหรือสร้างความเกลียดชังต่อกันในโลกออนไลน์ในทุกวันนี้
#ควายแดง
แฮชแท็กนี้กลับมาอีกครั้งพร้อมกับความหมายที่เปลี่ยนไป จากเหตุการณ์การชุมนุมปี 2553 เป็นต้นมา คำว่า ‘ควายแดง’ เป็นหนึ่งในวาทกรรมที่กลุ่มเสื้อเหลือง ใช้เรียกกลุ่มประชาชนเสื้อแดงหรือผู้ที่ศรัทธาใน ทักษิณ ชินวัตร ว่าโง่ไม่ต่างจากควาย จึงได้หลงเชื่อการปลุกปั่นจากทักษิณจนออกมาชุมนุมประท้วง ซึ่งฝ่ายตรงข้ามมองว่าเป็นการทำลายประเทศชาติ
แต่เมื่อมาถึงปีนี้ คำด่านี้กลับมีเป้าหมายเปลี่ยนไป เมื่อ บิ๊กแดง- พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ออกมาแสดงความคิดเห็นติติงพวกหนักแผ่นดิน หรือซ้ายดัดจริต ในความโผงผาง วิธีพูดของเขารวมถึงประเด็นที่สื่อออกมา ซึ่งคลาดเคลื่อนกับข้อเท็จจริงไปหลายประเด็น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงมีกลุ่มคนที่เชื่อถือในประเด็นที่บิ๊กแดงพูด โดยไม่ตรวจสอบว่าจริงไม่จริงอย่างไร ทำให้ชาวทวิตเตอร์นำคำด่านี้กลับมาใช้อีกครั้ง แต่เป็นการกล่าวโจมตีกลุ่มคนที่เคยใช้วาทกรรมควายแดงต่ออีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งที่จริงแล้วพฤติกรรมการรับรู้ข้อเท็จจริงก็ไม่แตกต่างจากความหมายที่คนกลุ่มนั้นเคยใช้ด่าผู้อื่นแต่อย่างใด
#saveubon
หลังจากภาคอีสานหมดแล้งได้ไม่นาน สายฝนก็โหมกระหน่ำรุนแรงจนหลายจังหวัดในภาคอีสานจมอยู่ใต้สายน้ำ โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีที่พบกับน้ำท่วมใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี ส่งผลให้ 23 อำเภอจากทั้งหมด 25 อำเภอกลายเป็นเมืองบาดาลร่วมหลายเดือน
แฮชแท็ก saveubon กลายเป็นดั่งสะพานที่เชื่อมระหว่างผู้ประสบอุทกภัยกับความช่วยเหลือภายนอก เพราะชาวเน็ตและองค์กรต่างๆ ใช้แฮชแท็กดังกล่าว ในการแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร สร้างเครือข่ายรวบรวมความช่วยเหลือ รวมถึงให้กำลังใจผู้ประสบภัย กล่าวได้ว่า saveubon สะท้อนพลังของโซเชียลมีเดียที่ทำให้ความช่วยเหลือหลั่งไหลถึงผู้ประสบอุทกภัยรวดเร็วและเพิ่มมากขึ้น
ในสถานการณ์ที่ภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือช้า ไม่ทันการ ซ้ำเป็นความช่วยเหลือที่ขาดตกบกพร่อง แฮชแท็ก saveubon จึงไม่ใช่แค่เพียงแฮชแท็กเพื่อเรียกร้องความเห็นใจหรือความช่วยเหลือ แต่มันยังสะท้อนให้เห็นการดิ้นรนของประชาชน และการช่วยเหลือประชาชนด้วยประชาชนด้วยกันเอง เมื่อภาครัฐนั้นไร้ประสิทธิภาพ
#โตแล้วเลือกเองได้
ในช่วงเวลา 23.00 น. ในคืนวันที่ 23 มีนาคม ก่อนการเลือกตั้ง ในโลกโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่เรื่องการเมืองนั้นคึกคักมาโดยตลอด ปรากฏแฮชแท็ก โตแล้วเลือกเองได้ ที่ทวีความฮอตตั้งแต่ช่วงก่อน 23.00 น. และร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่งในช่วงเวลาประมาณ 23.30 น. ในค่ำคืนวันที่ 23 มีนาคม ก่อนที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันรุ่งขึ้น
แฮชแท็กโตแล้วเลือกเองได้ ถือเป็นการโต้กลับของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ทวิตเตอร์ ซึ่งในช่วงระยะเวลาการเลือกตั้งที่การเมืองร้อนแรงนั้น กลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มคนที่มีความเคลื่อนไหวในประเด็นทางการเมืองอย่างมากในโลกโซเชียลและมีเดีย และได้รับคำครหาว่า แนวทาง ความคิดทางการเมือง หรือตัวเลือกทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่นั้น เกิดจากการถูกปั่นหัว ล้างสมอง รวมไปถึงความเป็นเด็กที่ยังอ่อนด้อยในทางประสบการณ์ความคิดความอ่าน ที่ถูกชักจูงได้ง่าย แฮชแท็กโตแล้วเลือกเองได้ จึงเป็นเสมือนการตอบโต้อีกแนวความคิดหนึ่ง และแสดงจุดยืนทางความคิด อุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นอิสระและมีเสรีภาพ และที่สำคัญเป็นการเลือก ที่เลือกแล้วโดยปราศจากการครอบงำใดๆ
Tags: 2019, แฮชแท็ก, แฮชแท็กแห่งปี 2019