หลายคนอาจยังไม่คุ้นภาพผู้หญิงผมดำยาว ตากลมโตผิดปกติ และปากที่ฉีกจนถึงใบหูบนโลกออนไลน์ แต่เด็กวัยรุ่นตอนต้นอายุ 12-16 ปีหลายคนในเม็กซิโก โคลอมเบีย อาร์เจนตินา และอินเดีย ได้เห็นหน้าของเธอบนโพรไฟล์แอคเคานท์ Whatsapp ที่ชื่อว่า Momo และทำตามชาเลนจ์ของเธอจนครบทุกข้อ โดยข้อสุดท้ายคือการฆ่าตัวตาย คล้ายคลึงกับ Blue Whale Challenge ในรัสเซียที่มีชาเลนจ์ให้ทำ 50 วันต่อเนื่อง โดยวันสุดท้ายคือการฆ่าตัวตายเช่นกัน

ยังไม่มีข้อมูลว่า Momo เป็นใคร แต่ที่ทราบกันคือมีเด็กวัยรุ่นที่มีประวัติการติดต่อกับ ‘เธอ’ ทาง Whatsapp ฆ่าตัวตายไปแล้ว 4 คน นั่นคือที่อาร์เจนตินา 1 คน, โคลอมเบีย 2 คน และอินเดีย 1 คน และยังมีข่าวว่าแอคเคานท์นี้เป็นที่รู้จักในบางพื้นที่ของสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และเยอรมนีด้วย โดยหลังจากมีข่าวการเสียชีวิต หลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนก็ออกมาแสดงความเคลื่อนไหว ทั้งให้สัมภาษณ์ ให้ข้อมูล และรณรงค์ให้เด็กวัยรุ่นดูแลตัวเอง รวมทั้งให้ผู้ปกครองดูแลลูกหลานไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของแอคเคานท์เหล่านี้

ประเด็นที่เป็นที่พูดถึงกันก็คือ แอคเคานท์นี้ที่ใช้ภาพผลงานของศิลปินชาวญี่ปุ่นมาตั้งเป็นภาพโพรไฟล์ (โดยที่ศิลปินผู้นั้นไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรด้วย) อาจใช้หรือขโมยข้อมูลส่วนตัวของเด็กๆ ที่ได้จากการแชทมาใช้ประโยชน์โดยมิชอบ หรือแบล็คเมลเด็กๆ เหล่านั้น แต่ก็ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่

อีกประเด็นหนึ่งคือการเกิดขึ้นของ Momo Challenge รวมถึงเกมไวรัลอื่นๆ ทำให้หลายฝ่ายออกมาเสนอผ่านสื่อต่างๆ ทั้งแผ่นพับและคลิปวิดิโอว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตควรระมัดระวังการติดต่อสื่อสารทางโซเชียลมีเดียกับคนแปลกหน้า โดยนอกจากการออกคำเตือน ก็มีการออกกฎหมายแบนเกมประเภทนี้โดยรัฐบาลปากีสถานด้วย

นอกจากนั้นยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า ชาเลนจ์ประเภทนี้อาจไม่ได้มีไว้เพื่อล่อลวงเด็กวัยรุ่นตอนต้นมากเท่ากับการสร้างความหวาดกลัวขึ้นในสังคม ซึ่งหากความหวาดกลัวนั้นถูกปลุกขึ้นมาสำเร็จ แน่นอนว่าจำเลยแรกคือตัวชาเลนจ์เอง ส่วนจำเลยที่สองนั้นคงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากโซเชียลมีเดีย และการติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต

หลายหน่วยงานออกคำเตือนให้พ่อแม่ผู้ปกครองสอดส่องพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของวัยรุ่นให้มากกว่านี้ แต่น่าสนใจว่า หากสังคมพุ่งเป้าไปเพียงที่โซเชียลมีเดียก็อาจไม่ต่างอะไรกับการที่เกมออนไลน์ เกมคอมพิวเตอร์ หรือกระทั่งอินเทอร์เน็ต เคยตกเป็นจำเลยมาก่อนหน้านี้

ฉะนั้นอาจเป็นประโยชน์หากสังคมจะมองเหตุการณ์นี้ให้ลึกกว่า ‘การสอดส่องพฤติกรรม’ แล้วหันมาวิเคราะห์ ‘แรงขับที่ซ่อนอยู่หลังพฤติกรรม’—แน่นอนว่าการสอดส่องพฤติกรรมนั้นอาจช่วยยับยั้งเหตุการณ์รุนแรงได้ แต่การทำความเข้าใจและสื่อสารกับลูกหลานเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในชีวิตพวกเขาอย่างใกล้ชิด (ไม่ใช่เพียงเรื่องการใช้โซเชียลมีเดีย) อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่า

เพราะใช่หรือไม่ว่าชาเลนจ์ประเภทนี้เป็นพิษต่อเด็กวัยรุ่นตอนต้นที่มีความอ่อนไหวทางอารมณ์และเป็นเหยื่อของแรงกดดันจากเพื่อน (peer pressure) การกลั่นแกล้ง (bullying) และการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต (cyber bullying) ได้ง่ายกว่าวัยอื่นๆ หากผู้ปกครองมองไปที่ ‘แรงขับที่ซ่อนอยู่หลังพฤติกรรม’ ของพวกเขา เช่น ปัญหาเรื่องความเคารพตัวเอง ความไม่มั่นใจในรูปร่างหน้าตา หรือกระทั่งอาการซึมเศร้าที่มีในเด็กวัย 12-16 ปีมากไม่ต่างจากคนที่โตกว่า แต่มักจะถูกละเลย

เราจึงได้แต่สงสัยว่าการเกิดขึ้นของ Momo Challenge จะช่วยสร้างการรับรู้เรื่องการดูแลจิตใจลูกหลานอย่างถึงแก่น หรือสุดท้ายจะเป็นเพียงอีกเทรนด์ที่จะถูกลืมเหมือนกรณีอื่นที่ผ่านมา

อ้างอิง

https://www.washingtonpost.com/news/morning-mix/wp/2018/09/05/the-momo-challenge-a-sinister-threat-to-young-people-or-an-urban-myth/

https://www.thesun.co.uk/news/7101697/teen-death-momo-whatsapp-suicide-game/