หลังจากที่ The Momentum ได้ร่วมพูดคุยกับ 4 ผู้กำกับไทยถึงเรื่องราวของหนังผีจนสังเคราะห์ออกมาได้ทั้ง ‘สารสกัดความสยองจากผู้สร้างความเฮี้ยนบนแผ่นฟิลม์’ และ ‘หนังผีไฮบริด – ความตลกปนความสยอง ส่วนผสมที่แตกต่างอย่างลงตัว’ เราจึงเกิดความสงสัยว่าเหตุใดหนังผีถึงยังขายได้ แม้โลกจะพัฒนาก้าวหน้าไปแค่ไหนก็ตาม
The Momentum จึงทำการถอดรหัสจากผู้กำกับทั้ง 4 ท่าน จนได้ 5 เหตุผลที่ทำให้หนังผีไม่มีวันตาย
1. เรื่องเล่าที่ไม่รู้จบ
หากยึดตามหลักฐานที่ปรากฏ ความเชื่อเรื่องดวงวิญญาณ ชีวิตหลังความตายได้ก่อตัวมานานกว่า 3,100 ปี ก่อนคริสต์ศักราชในยุคอียิปต์โบราณ โดยมีการจารึกเรื่องราวความเชื่อเหล่านี้ลงในกระดาษปาปิรุส และการวาดลวดลายบนหลุมศพ และถึงแม้จะเข้าสู่ช่วงคริสต์ศักราชที่ 1 แล้ว แต่ Pliny the Younger นักเขียน และรัฐบุรุษชาวโรมันก็ได้บันทึกเรื่องราวการเห็นดวงวิญญาณชายสูงอายุหนวดเครารุงรังเขย่าโซ่ตรวนในบ้านของเขาที่กรุงเอเธนส์
หลักฐานเหล่านี้อาจไม่สามารถยืนยันได้ถึงการมีอยู่จริงของเหล่าดวงวิญญาณ แต่ข้อมูลทั้งหมดก็น่าจะเพียงพอต่อการบ่งชี้ว่า มนุษย์คุ้นเคยกับเรื่องผีมาเป็นระยะเวลานานแล้ว และเรื่องผีเป็นเรื่องที่แทรกซึมอยู่ในดีเอ็นเอของทุกคน ซึ่งน่าจะเป็นคำตอบว่าเหตุใดถึงมีผู้ผลิตหนังผีออกมาอยู่เรื่อยๆ และทำไมเราถึงต้องยอมเสียเงินเข้าไปเผชิญอาการผวาตกใจในโรงอยู่เสมอๆ
ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล: เรื่องผีเป็นเรื่องเล่าไม่รู้จบ มีมานมนานตั้งแต่สมัยคนเริ่มก่อกองไฟแล้ว มนุษย์เดินทางผ่านประวัติศาสตร์โลกมาด้วยความกลัว เรื่องผีจึงอยู่ในดีเอ็นเอของเรา เราชอบความตื่นเต้น ความน่าสะพรึงกลัว เพื่อทำให้เรารู้สึกต้องทำหรือไม่ทำอะไรบางอย่าง นี่เป็นเหตุผลที่ตอบคำถามว่า ทำไมถึงยังมีคนสร้างหนังผี และทำไมเราถึงยอมเสียเงินเพื่อเข้าไปดูหนังผีในโรงหนัง
“เรื่องผีจึงอยู่ในดีเอ็นเอของเรา
เราชอบความตื่นเต้น ความน่าสะพรึงกลัว
เพื่อทำให้เรารู้สึกต้องทำหรือไม่ทำอะไรบางอย่าง”
ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล
2. ‘ผี’ สิงในวัฒนธรรมไทย
เรื่องผีมีอิทธิพลในสังคมไทยมานาน สังเกตได้ง่ายที่สุดจากการที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายมักใช้ผีเป็นเครื่องมือในการดึงเอาความหวาดกลัวของมนุษย์ออกมาแปลงเป็นคำสอนให้เด็กทำสิ่งนี้ ไม่ทำสิ่งนั้น หรือเพื่อป้องกันไม่ให้เผชิญอันตราย เราจึงมักจะเห็นกุศโลบายคำสอนต่างๆ เป็นจำนวนมากที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผี
นอกจากนี้อาจเป็นไปได้ว่า วัฒนธรรมของชาวเอเชียที่มีความเชื่ออย่างสุดลิ่มทิ่มประตูกับเรื่องภูติผีปีศาจ เราเคารพธรรมชาติ และหวาดกลัวเรื่องลึกลับ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนเอเชียอย่างเรานิยมเสพหนังสยองขวัญ และมีจินตนาการกับเรื่องราวเหนือธรรมชาติที่หาคำตอบไม่ได้
ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ: ด้วยความที่เราเป็นคนเอเชีย เราเลยมีเรื่องเล่า ความเชื่อเป็นจำนวนมาก เพราะเราหวาดกลัวธรรมชาติ เคารพธรรมชาติ เลยรู้สึกถึงวิญญาณและมีจินตนาการด้านนี้เยอะ คนเอเชียเลยมักนิยมเสพหนังสยองขวัญ จินตนาการด้านนี้ของพวกเราก็จะค่อนข้างบรรเจิด
“คนเอเชียเลยมักนิยมเสพหนังสยองขวัญ
จินตนาการด้านนี้ของพวกเราก็จะค่อนข้างบรรเจิด”
ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ
3. เพราะเรากลัวผี!
เป็นระยะเวลากว่า 137 ปีมาแล้วที่โลกได้รู้จักกับหลอดไฟจากผลงานการประดิษฐ์ของ โทมัส อัลวา เอดิสัน (ประดิษฐ์ในปี 1879) แต่จนแล้วจนรอดเราก็ยังคงกลัวผีอยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งยามที่แสงสว่างถูกดับลง หรือความเชื่อที่ว่า ‘มนุษย์เป็นสัตว์สังคม’ คำคำนี้ก็สามารถเป็นสมมติฐานได้ว่า เหตุใดเราถึงเหงายามที่ต้องอยู่คนเดียว เหตุใดเราจึงกลัวการถูกทอดทิ้ง กลัวการถูกคุกคามโดยจินตนาการของตัวเอง
นอกจากนี้ความเชื่อเรื่องผีก็ถูกเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทต่างๆ ในอดีต ผีไทยมักถูกตีความตามสภาพแวดล้อมบ้านเมือง หรือเอกลักษณ์ท้องถิ่น เช่น ผีปอบ ผีกระสือ ผีกระหัง ผีพราย หรือแม้แต่ผีแม่นากแขนยาวก้มเก็บมะนาว ซึ่งนอกจากเราจะกลัวผีแล้ว มนุษย์ก็ยังมีความเชื่อเรื่องผีที่หลากหลาย ผันตามยุคตามสมัย ที่เราเองก็พร้อมจะเชื่อตามอีกด้วย
ก้องเกียรติ โขมศิริ: ยิ่งก้าวหน้าคนก็ยิ่งกลัว ส่วนที่พัฒนาไปข้างหน้าก็พัฒนาไป แต่อย่าลืมว่าการที่เราก้าวหน้าไม่ได้แปลว่าเราเข้มแข็งขึ้นนะ คนยังคงว้าเหว่ เปลี่ยวเหงา กลัวการถูกทอดทิ้ง การอยู่คนเดียว พูดง่ายๆ ก็คือ แม้จะมีการประดิษฐ์หลอดไฟขึ้นมาแล้วก็ตาม มนุษย์ก็ยังกลัวความมืดอยู่ดี ยิ่งโลกพัฒนาไปข้างหน้า หนังผีก็ยิ่งมีที่ยืน แค่อาจจะเปลี่ยนบริบทไปตามความก้าวหน้า เช่น หนังผีบนยานอวกาศ
“แม้จะมีการประดิษฐ์หลอดไฟขึ้นมาแล้วก็ตาม
มนุษย์ก็ยังกลัวความมืดอยู่ดี
ยิ่งโลกพัฒนาไปข้างหน้า หนังผีก็ยิ่งมีที่ยืน”
ก้องเกียรติ โขมศิริ
4. ผีไม่ย่ำอยู่กับที่
ว่ากันว่าหนังผีเรื่องแรกของโลกอย่างเป็นทางการคือ The Haunted Castle (1896) โดยเป็นภาพยนตร์เงียบ กำกับโดย Georges Méliès นับแต่นั้นเป็นต้นมาหนังผีก็ถูกผลิตต่อๆ กันออกมาเป็นจำนวนมาก เกิดเป็นภาพยนตร์ผีหลากรูปแบบ ผีตลก ผีหักมุม ผีชุด หรือแม้แต่วิวัฒนาการของผีแปลกๆ ที่ตามหลอกหลอนคนกันจ้าละหวั่น ทั้งผีตามฆ่าคนในฝัน ผีในที่มืด ผีตุ๊กตา หรือแม้แต่ผีช้อน
ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการหลอก การปรากฏตัวของผี หรือชนิดของผี หากหนังผีถูกผลิตซ้ำจนกลายเป็นภาพชินตา คนดูก็จะไม่รู้สึกกลัว หรือตระหนกตกใจ ดังนั้นในช่วงกว่า 120 ปีที่ผ่านมาของหนังผี เราจึงได้เห็นวิวัฒนาการใหม่ๆ ของมันอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ความกลัวกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยก็ตาม
ก้องเกียรติ โขมศิริ: ผมมองไปที่เรื่องของเทคนิคมากกว่า อะไรก็ตามที่เกิดการทำซ้ำ มันไม่ใหม่ พอไม่เกิดสิ่งใหม่ คนดูก็จะไม่กลัว เหมือนคุณรู้ว่าในห้องนี้มีผี เจอครั้งแรกอาจจะน่ากลัว แต่ถ้าต้องเจอทุกวัน รู้ว่ามันจะมามุกไหน มันก็ไม่น่ากลัวแล้ว เพราะฉะนั้น เทคนิคการเล่าเรื่อง และการหลอกของผีจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกปรับให้แตกต่าง
5. ผีก็เหมือนความรักที่ไม่มีวันตาย
ความรักเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ทุกคนย่อมมีความรักในแบบฉบับเฉพาะตัว ขณะเดียวกันความเชื่อเรื่องผีก็เป็นเรื่องพื้นฐานที่เกือบทุกประเทศต่างก็เชื่อในวิถีทางของตัวเอง โดยรูปแบบของผีก็จะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบแวดล้อม และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผีจึงกลายเป็นเครื่องหมายของความกลัว คล้ายกับอารมณ์ใคร่ของความรัก
ยุทธเลิศ สิปปภาค: เพลงรักเมื่อก่อนมี 7-8 คอร์ด ทุกวันนี้ก็ยังเล่นกันอยู่แค่นั้น แต่มันก็ยังฮิตได้เลย เพราะฉะนั้นผีมันมีเรื่องให้เล่น และมีทางออกที่เยอะกว่าเพลงด้วยซ้ำ! ผมว่าผีก็เหมือนความรัก ทั่วโลกมีเหมือนกันหมด เป็นอะไรที่พื้นฐานมากๆ
ท้ายที่สุดแล้วผมก็ยังเชื่อว่า ผีและความกลัวมันไม่มีวันตายอยู่แล้ว มันจะตายก็ต่อเมื่อเราตาย
“ความกลัวมันไม่มีวันตายอยู่แล้ว มันจะตายก็ต่อเมื่อเราตาย”
ยุทธเลิศ สิปปภาค
Source:
– https://th.wikipedia.org
– www.imdb.com
– www.history.com/topics/halloween/historical-ghost-stories
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai
Tags: ยุทธเลิศ สิปปภาค, a horror film, immortal, หนังผีไฮบริด, เรื่องเล่า, ความเชื่อ, วัฒนธรรม, ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ, ก้องเกียรติ โขมศิริ