เอ็มมา วัตสัน คือนักแสดงหญิงอีกคนที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนทั่วไปมากที่สุดในโลก จากภาพลักษณ์สวย เก่ง มีสมอง และเป็นตัวของตัวเอง ทำให้เธอมีแฟนคลับมหาศาลที่มองเธอเป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิต ทั้งเรื่องการศึกษา และมุมมองต่อสังคม จนเธอได้รับเลือกให้เป็นทูตสันถวไมตรีขององค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ตอกย้ำภาพลักษณ์นักสตรีนิยมในตัวเธอมากขึ้นไปกว่าเดิม
แต่มาวันนี้เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เธอทำลายภาพลักษณ์ความเป็น ‘นักสตรีนิยม’ ในตัวเอง ด้วยการถ่ายภาพโนบราลงนิตยสาร Vanity Fair ภาพลักษณ์ผู้หญิงเรียนดีมีสมอง ที่นำมาสู่ความคาดหวังของสังคม จึงกลายเป็นความผิดหวังได้ เมื่อเธอทำอะไรที่บิดเบี้ยวไปจากสิ่งที่บางคนคิดว่าเธอควรจะเป็น
เอ็มมา วัตสันอธิบายกลับว่า “ใจความสำคัญของสิทธิสตรีคือ การให้สิทธิผู้หญิงในการเลือก และไม่เห็นว่าหน้าอกของฉันจะไปทำลายสิทธิสตรีตรงไหน ซึ่งหลายคนกำลังเข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมายของ Feminism อย่างมาก”
The Momentum ได้หยิบยกประเด็นเรื่อง Feminism ผ่านกรณีของ เอ็มมา วัตสัน มาพูดคุยกับ ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ว่าแท้จริงแล้วการเป็นเฟมินิสต์คืออะไร? และการถ่ายภาพโนบราของเอ็มมา วัตสันนั้นเป็นการสนับสนุนให้ผู้หญิงเป็นวัตถุนิยมทางเพศจริงหรือ?
ฉันรู้สึกได้ว่าถ้าฉันไม่ตัดสินใจเรียนเดี๋ยวนั้น คือมันจะไม่มีโอกาสแล้ว
ฉันคิดว่าหากฉันหลงไปกับชื่อเสียง มันจะเป็นจุดที่ฉันไม่สามารถวกกลับมาได้อีก
ภาพเอ็มมา วัตสันโนบรา ในนิตยสาร Vanity Fair
ภาพถ่ายของเธอในนิตยสาร Vanity Fair ของเอ็มมา วัตสันที่เกิดเป็นกระแสถกเถียงเกี่ยวกับสิทธิสตรี เป็นภาพเธอในชุดสีขาวที่ท่อนบนเป็นเสื้อแจ็กเก็ตโครเชต์ซึ่งเปลือยท่อนบนให้เห็นบางส่วน ภาพนี้ถูกถ่ายโดย ทิม วอลเกอร์ (Tim Walker) ช่างภาพแฟชั่น
เอมม่า วัตสัน เปิดเผยว่า “เราทำสิ่งบ้าๆ ด้วยกันเยอะมาก แต่ฉันรู้สึกว่ามันเป็นงานศิลปะที่น่าเหลือเชื่อ ฉันรู้สึกมีส่วนร่วมในการทำงานกับช่างภาพ ฉันตื่นเต้นมากที่จะได้เห็นว่ารูปนี้จะออกมาสวยและน่าสนใจเพียงใด”
ผู้หญิงไม่ควรรู้สึกกลัวที่จะฉลาด
ภาพลักษณ์สวย มีสมอง และนักสิทธิสตรีของเอ็มมา วัตสัน ที่มาพร้อมกับความคาดหวังของสังคม
เอ็มมา วัตสัน คือหนึ่งในนักแสดงหญิงที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลต่อเยาวชนและสตรีมากที่สุดในโลก ทั้งทางด้านการศึกษา ความคิด และการแสดง เยาวชนหลายคนได้รับอิทธิพลจากทั้งบทบาทเฮอร์ไมโอนี่ของเธอ ที่เป็นแม่มดสุดขยัน เรียนเก่ง กล้าหาญ มีความเป็นผู้นำ ไปจนถึงบทบาทของเธอในชีวิตจริง ที่มีภาพลักษณ์เป็นนักแสดงที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา เธอมุ่งมั่นกับการเรียนจนสามารถจบปริญญาตรีด้านวรรณกรรมอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยบราวน์ ซึ่งเธอต้องหันหลังให้กับชื่อเสียงและเงินทองในช่วงนั้น โดยเธอให้สัมภาษณ์กับนิตยสารVanity Fair ว่า “ฉันรู้สึกได้ว่าถ้าฉันไม่ตัดสินใจเรียนเดี๋ยวนั้น คือมันจะไม่มีโอกาสแล้ว ฉันคิดว่าหากฉันหลงไปกับชื่อเสียง มันจะเป็นจุดที่ฉันไม่สามารถวกกลับมาได้อีก”
นอกจากนี้เธอยังบอกว่า เธอเป็นคนจริงจังเกินไปกับการโลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิง “ฉันคิดตั้งแต่ฉันอายุ 10-11 ขวบว่า ฉันอาจจะไม่เหมาะกับอาชีพนี้ เพราะฉันเป็นคนจริงจังเกินไป ฉันจะก่อปัญหา คนอาจจะเข้าใจฉันยาก ฉันรู้สึกว่าฉันไม่เข้ากับคนอื่นๆ” แต่เอ็มมา วัตสันเปิดเผยว่า ความคิดเธอเปลี่ยนไปเมื่อเธอโตขึ้น “พอฉันโตขึ้น ฉันเข้าใจว่าทั้งหมดคือสมรภูมิรบในชีวิตของฉัน ไม่ว่าจะในสนามเล็ก หรือสนามใหญ่ มันคือตัวฉัน”
การอ่านหนังสือยังมีความสำคัญต่อชีวิตของเธอที่เกิดมาในครอบครัวที่พ่อกับแม่แยกทางกัน การเป็นนักแสดงฮอลลีวูดที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง โดยต้องการแยกชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวให้ชัดเจน เธอปฏิเสธการเซลฟีกับแฟนๆ แต่เลือกที่จะตอบทุกคำถามของแฟนคลับที่พุ่งเข้ามาหาเธอ เพื่อไม่ให้ชีวิตส่วนตัวของเธอ ทั้งสถานที่ที่เธอไป และเสื้อผ้าที่เธอใส่ไปปรากฏอยู่บนสื่อโซเชียลมีเดีย รวมถึงปฏิเสธที่จะเปิดเผยชีวิตด้านความรักกับสื่อต่างๆ
ใจความสำคัญของ Feminism คือการให้ทางเลือกกับผู้หญิงอย่างที่เอ็มมา วัตสันบอก
“ฉันต้องการย้ำให้ชัดเจนว่า ฉันไม่สามารถให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแฟนของฉันได้ และคาดหวังว่าปาปารัซซีจะไม่ถ่ายรูปฉันเดินอยู่รอบๆ บ้าน หากคุณอยู่ในวงการฮอลลีวูด คนที่คุณเดตด้วยจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการโปรโมตหนังด้วยการถ่ายภาพปาปารัซซี ซึ่งฉันจะเกลียดมากถ้าฉันทำให้เขารู้สึกว่า เขาต้องมาเป็นส่วนหนึ่งของการโปรโมตงานแสดงของฉัน”
ตลอดช่วงชีวิตการแสดง เธอเคยปฏิเสธโอกาสดีๆ หลายครั้ง และเลือกที่จะแสดงให้กับภาพยนตร์ฟอร์มเล็กมากกว่า อย่างเช่นเรื่อง The Perks of Being a Wallflower (2012) เธอจะปฏิเสธว่า “เฮ้ พวกคุณ แต่ฉันต้องกลับไปเรียนหนังสือจริงๆ ซึ่งโปรดิวเซอร์ส่วนใหญ่จะตอบกลับฉันว่า ฉันบ้าไปแล้วหรือเปล่า หรือฉันกำลังตัดสินใจพลาดครั้งใหญ่หลวง”
ภาพลักษณ์สวยและเก่งของเธอทำให้ในเวลาต่อมาเธอได้รับเลือกจากสหประชาชาติให้เป็นทูตสันถวไมตรีขององค์กรเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ และร่วมรณรงค์ในโครงการ HeForShe ของสหประชาชาติ ที่ต้องการรณรงค์ให้ผู้ชายเห็นว่าเพศหญิงมีความเท่าเทียมกับเพศชาย โดย พุมซิเล เอ็มแลมโบ-งะคูกา (Phumzile Mlambo-Ngcuka) ประธานองค์การสตรีแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า “ไม่ใช่วิถีของเราที่จะให้คนมีชื่อเสียงหรือนักแสดงมาเป็นตัวแทนพูดสุนทรพจน์ให้กับสหประชาชาติ แต่เราต้องการคนส่งต่อข้อความที่จะสร้างแรงกระเพื่อมใหม่ๆ ให้กับเรา”
หลายครั้งที่คำพูดของเอ็มมา วัตสันสะท้อนความคิดของผู้หญิงสมัยใหม่ ทั้งความเป็นตัวของตัวเอง หรืออาวุธที่สำคัญของผู้หญิงอย่างสติปัญญา
“Young girls are told you have to be the delicate princess. Hermione taught them that you can be a warrior.”
“เด็กผู้หญิงถูกสอนให้เป็นเจ้าหญิงที่นุ่มนวล แต่เฮอร์ไมโอนี่สอนให้พวกเธอรู้ว่า พวกเธอสามารถเป็นนักรบได้เช่นกัน”
“Girls should never be afraid to be smart.”
“ผู้หญิงไม่ควรรู้สึกกลัวที่จะฉลาด”
หรือครั้งหนึ่งเธอเคยพูดเกี่ยวกับความเซ็กซี่ของผู้หญิงไว้ว่า
“My idea of sexy is that less is more. The less you reveal the more people can wonder.”
“ความคิดของฉันเกี่ยวกับการเป็นผู้หญิงเซ็กซี่คือ น้อยแต่มาก คือยิ่งคุณเปิดเผยน้อย จะทำให้คุณดูน่าค้นหามากขึ้น”
ภาพลักษณ์ผู้หญิงสวยมีสมองและเคารพตัวเองทำให้แฟนๆ จำนวนไม่น้อยคาดหวังว่า จะไม่เห็นเธอในลุควาบหวามดังเช่นนักแสดงฮอลลีวูดคนอื่นๆ ความคาดหวังนี้จึงนำไปสู่กระแสโจมตีภาพถ่ายเซ็กซี่ของเธอในนิตยสาร Vanity Fair
ถ้าเรายอมให้สังคมใช้ความรุนแรงโดยโทษว่าผู้หญิงทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ และกล่าวโทษผู้ถูกกระทำ
สังคมจะไม่มีทางมีความปลอดภัย เราต้องสอนให้สังคมเคารพทุกเพศ
Feminism คือการให้สิทธิผู้หญิงในการเลือก และใจความสำคัญคือการสนับสนุนความเท่าเทียม
หลังจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเธอทรยศบทบาทของเธอในฐานะผู้พิทักษ์สิทธิสตรีด้วยการถ่ายภาพวาบหวาม เอ็มมา วัตสันออกมาให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่า
“สิ่งนี้เปิดเผยให้ฉันเห็นถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Feminism (สิทธิสตรี)
“หลักเสมอภาคและสิทธิสตรีคือ การให้สิทธิผู้หญิงในการตัดสินใจ หลักการของสตรีนิยมไม่ได้หมายถึง การโจมตีผู้หญิงคนอื่น มันเกี่ยวกับอิสรภาพ เสรีภาพ และความเท่าเทียม
“ฉันไม่รู้จริงๆ ว่าภาพหน้าอกของฉันไปทำลายสิทธิสตรีตรงไหน มันเป็นสิ่งที่สับสนมาก ฉันสับสน และคนส่วนใหญ่ก็สับสน”
นักข่าว Reuters ถามเอ็มมา วัตสันว่า ภาพถ่ายของเธอบนปก Vanity Fair นั้นเกี่ยวข้องกับอะไร ซึ่งเอ็มมา วัตสันตอบว่า “หลายคนพูดว่าฉันไม่สามารถเป็นนักสิทธิสตรีและมีหน้าอกได้ ซึ่งฉันต้องการแสดงออกว่ามันไม่จริง”
จากกรณีนี้ The Momentum ได้สัมภาษณ์ ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ว่าแท้จริงแล้ว Feminism หรือหลักความเสมอภาคของผู้หญิงคืออะไร ซึ่ง ดร.วราภรณ์ อธิบายว่า Feminism นั้นมีใจความสำคัญคือ การเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมทางเพศในสังคม ซึ่งแนวคิดนี้ก็มีพัฒนาการมาตามช่วงเวลา
“แนวคิด Feminism มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น สมัยก่อนอาจจะเน้นเรื่องเพศเป็นหลัก และเน้นแค่ความเท่าเทียมระหว่างเพศหญิงกับเพศชาย แต่ปัจจุบันเรายอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น และเราไม่สามารถพูดเรื่องความเป็นธรรมในมิติเดียวได้ เพราคนคนเดียวอาจเผชิญกับความไม่เป็นธรรมในหลายมิติ เช่น ทางด้านเพศ เชื้อชาติ และศาสนา”
ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท มองว่าในกรณีของเอ็มมา วัตสันนั้นเกิดจากความคาดหวังของสังคมต่อตัวบุคคลที่มีลำดับชั้น ซึ่งจะแตกต่างตามเพศและภาพลักษณ์ของคนคนนั้น และการวิพากษ์วิจารณ์เอ็มมา วัตสันนั้นเกิดจากชุดความคิดตายตัวเกี่ยวกับนักสตรีนิยม ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
“ผู้หญิงและผู้ชายถ่ายรูปโนบรามีเยอะแยะ ผู้ชายถ่ายได้ไม่เป็นไร หากผู้หญิงที่เป็นนางแบบถ่ายภาพโนบราก็เกิดเป็นกระแสฮือฮา แต่ไม่ได้ประณาม แต่พอเป็นเอ็มมา วัตสันมันกลายเป็นกระแสตีกลับจากการที่เธอประกาศตัวว่าเป็นนักสตรีนิยม แล้วหลายคนมีชุดความคิดตายตัวว่า นักสตรีนิยมต้องแต่งตัวมิดชิดตลอดเวลา ไม่ทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ ซึ่งส่วนตัวมองว่าอาจจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะใจความสำคัญของ Feminism คือการให้ทางเลือกกับผู้หญิงอย่างที่เอ็มมา วัตสันบอก”
เมื่อกลับมามองประเด็นที่ว่า การแต่งตัววาบหวามนั้นถือว่าผู้หญิงทำตัวเป็นวัตถุทางเพศหรือไม่ และเป็นสิ่งที่นักสตรีนิยมควรหรือไม่ควรทำ ดร.วราภรณ์มองว่า
“หากเป็นประเด็นเรื่องวัตถุทางเพศ คิดว่าคนมองผิดจุด ถ้าจะไปมองว่าการลดการแต่งตัววาบหวามจะช่วยลดการเกิดความรุนแรงทางเพศนั้น นักสตรีนิยมจะมองว่าแนวคิดข้างต้นไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาความรุนแรง เพราะการแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศไม่ใช่การจำกัดว่าผู้หญิงควรแต่งตัวอย่างไร หรือไม่ให้ผู้หญิงออกไปข้างนอกเวลากลางคืน ถ้าเรายอมให้สังคมใช้ความรุนแรงโดยโทษว่าผู้หญิงทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ และกล่าวโทษผู้ถูกกระทำ สังคมจะไม่มีทางมีความปลอดภัย เราต้องสอนให้สังคมเคารพทุกเพศ
“และอีกส่วนคิดว่าเกิดจากความหมั่นไส้ด้วย เพราะปัจจุบันจะมีความคิดเชิงลบต่อนักสตรีนิยมที่มองว่านักสตรีนิยมมักเรียกร้องเกินไป น่ารำคาญ จึงทำให้เกิดกระแสนี้ต่อเอ็มมา วัตสัน”
ในกลุ่มที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เอ็มมา วัตสันนั้นส่วนใหญ่คือกลุ่มผู้หญิงที่บอกว่าเธอ ‘ทรยศ’ ต่ออุดมการณ์การเป็น ‘นักสิทธิสตรีนิยม’ ซึ่งเอ็มมา วัตสันกล่าวว่า “การเป็นนักสิทธิสตรีนิยมไม่ได้หมายถึง การโจมตีผู้หญิงคนอื่น แต่คือการให้สิทธิผู้หญิงในการเลือก”
การขจัดทัศนคติเชิงลบหรืออคติต่อผู้หญิงนั้นอาจต้องเริ่มจากผู้หญิงด้วยกันเองก่อน ด้วยการลดการตัดสินผู้หญิงด้วยกันเองจากชุดความคิดตายตัวว่าผู้หญิงที่ดีต้องเป็นอย่างไร?
Cover: Mario Anzuoni, Reuters/Profile
อ้างอิง:
- www.theguardian.com/film/2017/mar/05/emma-watson-vanity-fair-cover-feminism
- www.bbc.com/news/entertainment-arts-39170490
- www.hollywoodreporter.com/news/emma-watson-defines-feminism-her-response-vanity-fair-topless-photo-shoot-criticism-983295
- www.reuters.com/article/people-emmawatson-idUSL2N1GI0CA
- www.vanityfair.com/hollywood/2017/02/emma-watson-cover-story