จำได้หรือเปล่าว่าช่วงวัย 22 ย่างเข้า 23 ปี คุณกำลังทำอะไรอยู่? หากไม่กำลังใช้ชีวิตปีสุดท้ายในรั้วมหาวิทยาลัย ก็คงจะเป็นเฟิส์ตจ็อบเบอร์เลือดใหม่ไฟแรง หรืออาจจะกำลังวิ่งไล่ตามความฝันกันอยู่…
สำหรับ ‘โมเดิร์นด็อก (Moderndog)’ นี่คือช่วงเวลาที่พวกเขาผ่านการพิสูจน์ตัวเองในฐานะวงดนตรีคุณภาพมาอย่างยาวนาน และยังคงเดินหน้าบันทึกความสำเร็จในประวัติศาสตร์วงการเพลงไทยอย่างไม่เคยหมดความกระหาย!
เพื่อเฉลิมฉลองให้กับหมาทันสมัยในวัย 22 ปีกว่าๆ The Momentum ได้ร่วมพูดคุยกับสมาชิกในวงอย่าง ป๊อด-ธนชัย อุชชิน, เมธี น้อยจินดา และ โป้ง-ปวิณ สุวรรณชีพ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองความเห็นถึงเรื่องราวต่างๆ ในวงการเพลง และประสบการณ์ที่ผ่านมาของวงว่าพวกเขาประสบความสำเร็จดังเช่นทุกวันนี้ได้อย่างไร
เหมือนเรากำลังเขียนไดอารีโชว์ให้คนอื่นอ่านผ่านบทเพลงจากทั้ง 6 อัลบั้ม
ซึ่งก็คือช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงของพวกเราจากเด็กมหาวิทยาลัยข้ามมาถึงวัยกลางคน
ช่วงที่ห่างหายจากวงการเพลง แต่ละคนเฟดตัวเองไปทำอะไรกันบ้าง
เมธี: จริงๆ เรามีผลงานเรื่อยๆ ช่วงหนึ่งผมก็ไปทำอัลบั้มกับ พราย-ปฐมพร ปฐมพร ในชื่อ ‘พราย & เมธีโปรเจกต์’ นอกจากนี้ก็ทำงานศิลปะ ออกแบบเคสไอโฟน และเสื้อ
ป๊อด: ผมไปออกแบบบ้าน, โรงแรม และทำผลงานศิลปะทั่วๆ ไป
โป้ง: ส่วนผมไปทำเบื้องหลังรายการทีวี และเป็นพิธีกรรายการจักรยาน
ตลอดระยะเวลากว่า 23 ปีที่ผ่านมา มุมมองทางดนตรีของวงเติบโตขึ้นแค่ไหน
ป๊อด: เติบโตและเปลี่ยนแปลงมาตลอด เหมือนเรากำลังเขียนไดอารีโชว์ให้คนอื่นอ่านผ่านบทเพลง ทุกคนจะได้เห็นอารมณ์, วิธีคิด, ความเกรี้ยวกราด, ความสดใส, ความเข้าใจ, การยอมรับ และความสับสนที่ปรากฏอยู่ในทุกๆ บทเพลงจากทั้ง 6 อัลบั้ม ซึ่งก็คือช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงของพวกเราจากเด็กมหาวิทยาลัยข้ามมาถึงวัยกลางคน
โป้ง: แต่แนวทางดนตรีของเราจะไม่ค่อยเปลี่ยน ตั้งแต่เริ่มตั้งวงประกวด เราต้องการจะสนุกกับเพลง เวลาทำงานเราก็จะเอาความตื่นเต้นที่ได้ทำอะไรใหม่ๆเป็นตัวตั้งอยู่เสมอ
ป๊อด: หลังประสบความสำเร็จกับอัลบั้มชุดแรก (เสริมสุขภาพ, 2537) เรากดดันกันมาก เพราะตอนทำชุดแรกเราเหมือนมวยวัดที่ทำเอาสนุก พอมันสำเร็จขึ้นมา เราก็ต้องแบกรับมัน
ตัวเจ้าของค่ายเองก็เป็นคนเจนเดียวกับเรา ก็ต้องแบกรับความสำเร็จของเบเกอรี่มิวสิค (Bakery Music) ที่อยู่ๆ ก็ตู้ม! ขึ้นมา ทั้งหัวหน้าและลูกน้องเลยอยู่ในสภาวะต้องไปหาคำตอบกันเอาเองทั้งคู่ ถือเป็นช่วงที่พวกเราได้เรียนรู้กันเยอะมาก ซึ่งพวกเราก็เลือกที่จะไม่หนีมัน และพร้อมเผชิญหน้ากับความล้มเหลวอยู่เสมอ
ไม่รู้ว่าประสบความสำเร็จในที่นี้จำกัดความอย่างไร
แต่สำหรับผม ผมรู้สึกว่าทุกครั้งที่ออกไปทำงานแล้วมีความสุข
สิ่งนี้ก็อาจจะเป็นตัวชี้วัดว่าประสบความสำเร็จได้มั้ง
ทุกวันนี้เรียกได้เต็มปากว่าประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง
ป๊อด: โดยส่วนตัว ผมไม่ค่อยชอบฟังเพลงของตัวเองในอัลบั้มเก่าๆ
เมธี: คราวที่แล้วก็พูดแบบนี้
ป๊อด: อ้าว ตายห่_ละ (หัวเราะ) พอดีช่วงปีใหม่มีโอกาสได้ฟังเพลงในอัลบั้มเก่าๆ ของตัวเองแล้วก็รู้สึกดีกับมัน ช่วงแรกๆ ที่เราทำอัลบั้ม ทุกคนมักจะหาข้อบกพร่องของตัวเอง แล้วก็จะรู้สึกว่า ‘กูไม่น่าทำอย่างนี้เลย ไม่น่าเขียนอย่างนี้เลย’ คล้ายๆมาวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง พอเวลาผ่านมาแล้วมองย้อนกลับไป ผมก็รู้สึกภูมิใจกับอัลบั้มทั้ง 6 ชุดนะ
เมธี: อย่างเช่นเพลง ก่อน (2537) สายกีตาร์มันจะเพี้ยนๆ (หัวเราะ) ตอนแรกก็เหมือนเป็นแผลๆ แต่ดูไปดูมามันก็กลายเป็นแผลเป็นที่มีเสน่ห์ดี
ในด้านของดนตรี ผมรู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จมาตลอด เพราะว่าเราแฮปปี้กับผลลัพธ์ของมัน ถ้ามองในแง่อาชีพก็เหมือนเรากำลังเอาตัวรอดอยู่ในวงการ เลี้ยงตัวเองให้อยู่ในฟันเฟืองและประคองชีวิตให้อยู่ตามสายพานไปเรื่อยๆ
โป้ง: ไม่รู้ว่าประสบความสำเร็จในที่นี้จำกัดความอย่างไร แต่สำหรับผม ผมรู้สึกว่าทุกครั้งที่ออกไปทำงานแล้วมีความสุข สิ่งนี้ก็อาจจะเป็นตัวชี้วัดว่าประสบความสำเร็จได้มั้ง
เคยรู้สึกหมดไฟกันบ้างหรือเปล่า
โป้ง: บ่อยนะ เป็นธรรมดาสำหรับคนทำอะไรซ้ำๆ ก็จะเริ่มรู้สึกมองเห็นแพตเทิร์นเดิมๆ ของมัน แต่พอเริ่มมองเห็นลูปเดิมๆ เราก็ต้องหาทางหนีใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้เราสนุกและตื่นเต้นมากขึ้น
ป๊อด: เราเริ่มจากการเป็นเด็กบ้าตั้งวงดนตรีเพื่อความบ้าคลั่ง แต่พอถึงจุดที่รู้สึกว่า ‘เฮ้ย! นี่มันเป็นอาชีพแล้วนะ’ จะทำอย่างไรให้มันอยู่ได้ มันคือความยากที่เราเองก็หาคำตอบไม่ได้ในบางช่วง บางทีเราก็งงๆ เป๋ๆ กันบ้าง แต่สำคัญที่สุดคือเราไม่เคยทิ้งมัน
พวกเราเหมือนเป็นสุนัขตัวหนึ่งที่อยู่ๆ เช้าวันรุ่งขึ้นก็ต้องไปเจอเจ้านายใหม่
ซึ่งเราก็อาจจะเหวอๆ กัน
พอสัญญาหมด เลยคุยกันว่าออกมาอยู่กันเองคงจะดีกว่า
จะได้ไม่ต้องถูกเปลี่ยนเจ้าของใหม่อีก
พอกลับมามีผลงานอีกครั้ง รู้สึกว่าตัวเองกระหายขึ้นกว่าเดิมไหม
ป๊อด: ผมว่ามันแก้เบื่อได้นะ สมัยเป็นนักศึกษา เวลาเล่นดนตรี เราจะสนุกกับมันมาก เพราะเบื่อการบ้าน แต่พอมาประกอบอาชีพ ‘นักดนตรี’ แล้วต้องเล่นแต่ลิสต์เพลงเดิมๆ มันก็อาจจะซ้ำไปบ้าง ซึ่งถ้าเราได้สลับมาทำสิ่งที่เราชอบ โลดแล่นในชีวิตส่วนตัว มันก็จะทำให้เกิดความสมดุล และกลับมาทำงานประจำได้อย่างลื่นไหล
เมธี: มันเหมือนทำอาหารจนเชี่ยวชาญและรู้โดยอัตโนมัติว่าต้องใส่เครื่องปรุงเท่าไหร่ จนบางทีก็หลงลืมความอร่อยของอาหารไป อย่างเราเป็นนักดนตรี พอไปทำอย่างอื่น แล้วมองย้อนกลับมาก็จะเห็นภาพรวมที่กว้างขึ้นกว่าเดิม
ตั้งแต่ปี 2547 ที่ต้นสังกัดเดิมอย่างเบเกอรี่มิวสิคต้องปิดตัวลง โมเดิร์นด็อกมีวิธีการเอาตัวรอดจนถึงทุกวันนี้ได้อย่างไร (พวกเขาอยู่ภายใต้สังกัด โมเดิร์นด็อก จำกัด มาตั้งแต่ปี 2548 – ปัจจุบัน)
โป้ง: จริงๆ ก็ไม่ได้ทำอะไรมาก เหมือนให้เพลงจัดการตัวมันเองมากกว่า แต่จริงๆถ้ามีคนวางแผนจัดการให้มันก็อาจไปได้ดีกว่านี้ (หัวเราะ)
ป๊อด: สมัยที่เราอยู่เบเกอรี่ เหมือนเราได้ฝึกทำงานกันเองเยอะมาก
โป้ง: หรือเรียกว่าถูกทอดทิ้ง (หัวเราะ)
เมธี: ตอนเปิดใหม่ๆ มีพนักงานแค่ 2 คนเองมั้ง
ป๊อด: เราได้ฝึกงาน ได้เตรียมความพร้อม เรียนรู้ทุกการจัดการ ไล่ตั้งแต่การทำอารต์เวิร์ก, ปกอัลบั้ม, โปรดิวซ์อัลบั้ม ไปจนถึงการปั๊มเทปด้วยตัวเอง พอถึงเวลาที่เราต้องออกมาทำเอง เราเลยทำกันได้
อย่างปกอัลบั้มชุดที่ 3 Love Me Love My Life (2544) อีก 3 วันจะต้องส่งอาร์ตเวิร์ก แต่กราฟิกดีไซเนอร์มาบอกว่าเขามีปัญหาครอบครัว คงต้องให้เราออกแบบกันเอง (ทั้งสามคนหัวเราะพร้อมกัน) และสุดท้ายเราก็ต้องมาทำกันเอง
ทำไมถึงตัดสินใจแยกมาอยู่ด้วยตัวเอง
ป๊อด: เรารู้สึกว่าตอนอยู่กับต้นสังกัด เราทำงานด้วยตัวเองกันอยู่แล้ว เลยไม่ค่อยมีความแตกต่างเท่าไหร่ พอเบเกอรี่ถูกเทกโอเวอร์แล้วเปลี่ยนเจ้าของ พวกเราเหมือนเป็นสุนัขตัวหนึ่งที่อยู่ๆ เช้าวันรุ่งขึ้นก็ต้องไปเจอเจ้านายใหม่ ซึ่งเราก็อาจจะเหวอๆ กัน (หัวเราะ) พอสัญญาหมด เลยคุยกันว่าออกมาอยู่กันเองคงจะดีกว่า จะได้ไม่ต้องถูกเปลี่ยนเจ้าของใหม่อีก (หัวเราะ) อย่างตอนนี้ก็เริ่มมีรุ่นน้องขอมาอยู่ค่ายโมเดิร์นด็อกกับเมธีแล้ว
เมธี: ส่วนใหญ่ผมตอบไปว่าไม่ได้ เพราะลำพังแค่วงตัวเองก็เหนื่อยแล้ว (หัวเราะ)
โป้ง: ข้อดีอีกอย่างคือ เวลาจะทำอะไร เราก็ไม่ต้องไปขออนุญาตใคร แค่คุยกันในไลน์ก็รู้เรื่องแล้ว ไม่ต้องมานั่งประชุมกัน จะอัดเสียงใช้เงินล้านกว่าบาทก็ทำได้เลย
ในมุมของคนทำเพลง สตรีมมิงเป็นเหมือนสื่อที่คนทำเพลงหยิบใช้ได้ทันที ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
แต่ก็ต้องยอมรับว่าโลกมันเปลี่ยนไป เราเองก็ต้องหาวิธีปรับตัวให้อยู่รอดด้วยเช่นกัน
คิดว่าศิลปิน นักร้อง นักดนตรี ในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีตอย่างไร
เมธี: สมัยนี้ผมมองว่าการเป็นนักร้องหรือนักดนตรีมีสถานะไม่ต่างจาก ‘พืชล้มลุก’ ระยะเวลาเติบโตค่อนข้างเร็ว บางคน 3 เดือนก็มีชื่อเสียงแล้ว ซึ่งอาจจะกลายเป็นความกดดัน สำหรับคนที่อยู่ๆ ก็ต้องมาแบกรับกับความสำเร็จ ประสบการณ์ในการแก้ปัญหาก็อาจจะยังมีน้อย
อย่างรายการประกวดร้องเพลง พอมีเด็กร้องเพลงดี กรรมการก็จะชมว่า “โอ้โห น้องมีพรสวรรค์ ต้องดังแน่นอน” ผมสงสัยว่าอะไรแบบนี้มันดีกับเด็กจริงๆ หรือ
ป๊อด: สำหรับผม ดูเหมือนว่าอายุของเพลงในยุคนี้จะสั้นลง คล้ายๆ กับความไวของการเลื่อนฟีดเฟซบุ๊ก แต่ละเพลง แต่ละประเด็นที่นำเสนอมันมีช่วงเวลาที่สั้นมาก
เมธี: บางทีต่อไปเพลงอาจสั้นพอๆ กับ PPAP (หัวเราะ)
พวกคุณคิดเห็นอย่างไรกับบริการ ‘สตรีมมิงมิวสิก’ (Streaming Music) ที่กำลังมาแรง
เมธี: ในมุมคนทำเพลง ผมว่ามันเป็นภาระจำยอมมากกว่า ปัจจุบันซีดีก็ขายไม่ค่อยดี เพราะคนส่วนใหญ่นิยมการดาวน์โหลด กระทั่งมันกลายมาเป็นการดาวน์โหลดแบบถูกกฎหมาย แต่ถ้ามองในแง่คนฟังเพลง ผมว่ามันอำนวยความสะดวกให้เรามากเลยนะ อยากจะฟังเพลงไหนก็ฟังได้เลย
โป้ง: ถ้ามองในมุมของคนทำเพลง สตรีมมิงเป็นเหมือนสื่อที่คนทำเพลงหยิบใช้ได้ทันที กดปุ่มปุ๊บเพลงก็ออกไปสู่โลกเลย ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ก็ต้องยอมรับว่าโลกมันเปลี่ยนไป เราเองก็ต้องหาวิธีปรับตัวให้อยู่รอดด้วยเช่นกัน
ป๊อด: ผมก็ใช้อยู่ทุกวัน ส่วนคนที่ฟังเพลงแล้วจริงจังกับเรื่องเสียง ตามสะสมแผ่นไวนิลก็ยังคงมีอยู่ ผมว่ามันอยู่ที่โปรดักต์ และตัวเพลงมากกว่า
แล้วเทรนด์การไลฟ์ (Live) สดล่ะ
ป๊อด: ทุกวันนี้ทุกคนกลายเป็นสื่อกันหมดแล้ว (UGC-User Generated Content) เพียงแค่เราอาจจะยังไม่คุ้นกับพฤติกรรมการถ่ายทอดสดตัวเองออกอากาศ แต่วันนี้เราได้เห็นประโยชน์ของมันที่ทำให้ทุกคนสามารถเล่าเรื่องของตัวเองได้จากทุกที่ และตรงตามกลุ่มเป้าหมาย จนบางทียังแอบคิดเลยว่า การไปออกรายการทีวีแต่ละครั้ง นั่งแต่งหน้าและรอถ่ายรายการ ก่อนจะต้องกลับบ้านดึกๆ อาจเสียเวลา ต่อจากนี้ก็อาจจะได้เห็นโมเดิร์นด็อกไลฟ์สดถี่ขึ้น
พูดถึงคอนเสิร์ตกันบ้าง รู้สึกอย่างไรกับการกลับมาครั้งแรกในรอบ 8 ปี
ป๊อด: เราตั้งปณิธานว่าทุกครั้งที่ออกอัลบั้มใหม่ เราจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ซึ่งเป็นภาคการแสดงที่บอกความเป็นตัวเราในช่วงเวลานั้นออกมา และแตกต่างจากงานที่เราไปเล่นตามเทศกาลดนตรีทั่วไป เพราะฉะนั้นความรู้สึกของเรากับคอนเสิร์ตที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้คือการที่เราจะได้นำเสนอภาพและเสียง ที่อัพเดตตัวตนของพวกเรา
เมธี: ส่วนใหญ่การจัดคอนเสิร์ตใหญ่ของเราจะทิ้งช่วงห่าง 5 ปี จริงๆ ครั้งนี้จะต้องเป็น ‘20 ปีโมเดิร์นด็อก’ แต่พวกเราวางแผนปล่อยซิงเกิลเดือนละเพลง ซึ่งคงชิลล์กันไปหน่อย เพราะกว่าจะปล่อยเพลงครบอัลบั้มก็กินเวลาไปจบในปีที่ 22 พอดี ซึ่งมาถึงจุดนี้แล้วเราก็คงไม่ไปกำหนดอะไรมันมาก
โป้ง: เราพยายามจะเลือกเพลงที่คิดว่าเล่นแล้วมีผลกระทบกับคนดูมากที่สุด จะมีบางเพลงที่เล่นแล้วไม่ทำงาน เราก็ต้องเอามาลองใช้ อย่างเวลาเล่น ตัวเราเองก็ต้องสนุกกันก่อน ถ้าเล่นแล้วรู้สึกตึงๆ คนดูก็อาจจะไม่สนุกด้วย
ซ้อมหนักแค่ไหน เคยทะเลาะกันบ้างไหม
ป๊อด: เราซ้อมกัน 5-6 วันต่อสัปดาห์ วันละ 6 ชั่วโมง เหนื่อยมาก แต่ก็สนุก เรื่องทะเลาะก็ต้องมีอยู่แล้ว เคยถึงขั้นเขวี้ยงขวดน้ำ เขวี้ยงไม้กลอง ปิดประตูกระแทกใส่กัน แต่เราตกลงกันว่าทุกครั้งที่ซ้อมเสร็จเราจะยกมือไหว้กัน (หัวเราะ)
เพราะแต่ละคนต่างก็มีเจตนาที่จะทำให้งานออกมาดีที่สุด ไม่ใช่ว่าเพื่อให้กูเก่งกว่ามึง เราเถียงกันเอาเป็นเอาตายเพื่อให้ผลลัพธ์ของวงออกมาลงตัวที่สุด
หลังผ่านพ้นบทสนทนาที่เป็นไปอย่างสนุกสนาน เราถามพวกเขาว่า ‘ในอนาคตมีแผนจะทำอะไรต่อไป และหมาทันสมัยจะยังทันสมัยอยู่ไหม?’ พวกเขาตอบกลับมาว่า นอกเหนือจากคอนเสิร์ต บางทีพวกเขาอาจจะลองจัดนิทรรศการศิลปะที่สมาชิกในวงรู้สึกสนุกไปกับมัน
ส่วนเรื่องความ ‘ทันสมัย’ คงเป็นหน้าที่ของพวกเราในการเฝ้าติดตามผลงานของพวกเขาต่อไป…
ถ่ายภาพโดย พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์
FACT BOX:
- คอนเสิร์ต ‘โมเดิร์นด็อก 22’ นับเป็นคอนเสิร์ตครบรอบ 22 ปีของวง และนับเป็นครั้งแรกของการจัดคอนเสิร์ตที่ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี โดยความสนุกสุดยิ่งใหญ่ของพลพรรคหมาทันสมัยจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 18 มีนาคม 2560 นี้
- ในอัลบั้มชุดที่ 6 (ป๊อด/โป้ง/เมธี, 2559) เราให้แต่ละคนเลือกเพลงที่ตัวเองชอบที่สุดในอัลบั้มมาคนละเพลง
– เมธีเลือกเพลง ดอกไม้บาน โดยให้เหตุผลว่า เขาชอบแนวคิดที่ว่า บางอย่างมันก็มีเวลาของมัน ถึงเวลาที่มันจะเบ่งบาน มันก็จะเป็นไปโดยธรรมชาติของมัน
– โป้งเลือกเพลง วันนี้เมื่อปีก่อน เนื่องจากรู้สึกว่าทุกครั้งที่ได้ฟังเพลงนี้เหมือนถูกดึงเข้าไปอยู่ในเพลง
– ขณะที่นักร้องนำอย่างป๊อดเลือกเพลง ขอบคุณโชคดี เนื่องจากรู้สึกว่าเพลงนี้บอกความเป็นตัวตนของพวกเขาทั้ง 3 คน รวมถึงทัศนคติที่มี สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงทุกวันนี้ “จะดีจะร้าย ฉันจะขอบคุณ…”
Tags: Concert, Music, Moderndog