‘ศพรถตู้ชนกระบะ หวยออก 25 เลขอาถรรพณ์’
‘ตรงเป๊ะหวย 2 ตัว-รถตู้ชน 25 ศพ’
‘คอหวยเฮทั่วทิศ รถตู้ 25 ศพ แจกโชคตรงเผง’
นี่คือตัวอย่างพาดหัวข่าวประกาศผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวด 17 มกราคม 2560 บนหน้าหนังสือพิมพ์หัวสีต่างๆ ซึ่งกำลังกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการทำงานของสื่ออย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน เนื่องจากหลายฝ่ายมีความเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกันว่า ลักษณะการพาดหัวข่าวประเภทนี้เปรียบเสมือนการไม่ให้เกียรติผู้เสียชีวิต
บ้างก็มองว่าการที่สื่อนำเสนอข่าวรายงานผลสลากกินแบ่งรัฐบาลถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะเข้าข่ายการมอมเมาประชาชน
แต่ก็มีไม่น้อยที่มองการประกาศผลสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นเพียงแค่การทำหน้าที่ ‘รายงาน’ ของสื่อเท่านั้น
The Momentum จึงทำการสรุปความเห็นที่แตกต่างกันของแต่ละฝ่ายว่าพวกเขามองกรณีปัญหานี้ออกมาในรูปแบบใด?
สื่อไม่ควรนำเสนอเรื่องมอมเมาประชาชน
ธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายดิจิทัล บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้แสดงความคิดเห็นบนหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวในเชิงการตั้งคำถามต่อ ‘ไทยพีบีเอส’ หลังจากที่พวกเขาได้ประกาศผลสลากกินแบ่งรัฐบาลลงในเฟซบุ๊ก โดยมีใจความดังนี้
“สื่อสาธารณะ ควรต้องปฏิบัติต่อคนดูของเขาอย่างให้เกียรติ และสร้างคุณค่า แม้จะต้องนำเสนอข่าวสารกว้างขวาง แต่การเลือกคนดูก็เป็นสิ่งที่สำคัญ
“ในกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ (ไทยพีบีเอสประกาศผลสลากกินแบ่งรัฐบาล) พวกเขาควรจะมีท่าทีต่อเรื่องการพนัน หรือการเสี่ยงโชคอย่างไร? ระหว่างให้ประชาชนตระหนักรู้เท่าทัน? หรือมองว่าหวยรัฐบาลเป็นเรื่องถูกต้องและปกติ?
“สิ่งที่พวกเขาต้องคิดให้มากคือ ประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากการนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงนี้? ผลหวยหายากหรือไม่ ถ้าสื่อไม่นำเสนอ ประชาชนก็จะไม่มีหนทางในการรับข้อมูลข่าวสารประเภทนี้เลยใช่หรือไม่?
“ถ้าสื่อทีวีช่องนี้นำเสนอข่าวสารเหมือนช่องอื่นๆ แล้วจะมีสื่อสาธารณะเอาไว้ทำไม?”
ฝั่งเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ก็เผยแพร่สกู๊ปข่าว ชาวเน็ตวิจารณ์ขรม ‘ไทยรัฐ-เดลินิวส์-ข่าวสด’ โยงรถตู้ 25 ศพ ถูกเลขท้าย 2 ตัว หนำซ้ำใช้คำว่า ‘เฮ’
โดยเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ได้นำข้อมูลจากผู้ใช้งานเฟซบุ๊กหลายรายที่แสดงความเห็นในกรณีนี้ และรายงานว่า
“พาดหัวข่าวดังกล่าวแย่ที่สุดเท่าที่เคยเห็น ไร้จรรยาบรรณ ไม่ให้เกียรติ และไม่เห็นใจญาติผู้เสียชีวิต โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์บางฉบับที่ใช้คำว่า ‘เฮ’ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความดีใจ ทั้งที่เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นโศกนาฏกรรมความสูญเสีย”
นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ยังได้ทำการเปิดเผยรายชื่อหนังสือพิมพ์ที่ถูกกล่าวหาในกรณีการพาดหัวข่าวไม่เหมาะสมว่า
“มีหนังสือพิมพ์จำนวน 3 ฉบับที่นำเสนอข่าวนี้ ซึ่งแต่ละฉบับมีความรุนแรงในการใช้คำพาดหัวข่าวที่แตกต่างกัน เช่น ไทยรัฐที่ใช้พาดหัวข่าวว่า ‘ศพรถตู้ชนกระบะ หวยออก 25 เลขอาถรรพณ์’ ฝั่งเดลินิวส์พาดหัวข่าวว่า ‘คอหวยเฮทั่วทิศ รถตู้ 25 ศพ แจกโชคตรงเผง’ ขณะที่ข่าวสดพาดหัวข่าวว่า ‘ตรงเป๊ะหวย 2 ตัว รถตู้ชน 25 ศพ’ ”
การนำเสนอข่าวผลสลากกินแบ่งรัฐบาล คือปรากฏการณ์หนึ่งในสังคม
The Momentum ได้ทำการต่อสายตรงถึงฝั่งผู้ที่มีความเห็นเป็นกลางต่อกรณีการนำเสนอข่าวเรื่อง ‘หวย’ ของสื่อในยุคปัจจุบัน
โดยแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้และเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในวงการสื่อสิ่งพิมพ์มองในแง่ความเป็นจริงว่า “หนังสือพิมพ์ต่างจังหวัดส่วนใหญ่จะออกแค่ 2 วันคือทุกวันที่ 1 และวันที่ 16 ของเดือน เนื่องจากเขาจะรอพิมพ์ประกาศผลสลากฯ ให้เสร็จก่อนที่จะวางขาย สำหรับหนังสือพิมพ์หลายหัวในกรุงเทพฯ บางวันที่หวยออก กองบรรณาธิการก็ต้องปิดต้นฉบับกันเร็วมากๆ แม้ว่าข่าวอื่นจะยังทำกันไม่เสร็จก็ตาม เพราะคนส่วนใหญ่เขาไม่ได้ซื้อพาดหัวกัน เขาซื้อประกาศผลสลากกินแบ่งฯ
“ถ้าพูดกันตามตรงชาวบ้านส่วนใหญ่ก็อาจจะไม่ได้สนใจประเด็นที่หนังสือพิมพ์นำเสนอข่าวเรื่องหวยกันหรอกนะ เพราะมันเป็นเรื่องจริง เลขที่ถูกรางวัล ‘เลข 25’ เขาก็ตีความจากเหตุการณ์นั้น เวลาเกิดอะไรขึ้นมาคนไทยก็เอามาตีเลขกันได้หมด ฉะนั้นถ้าคุณจะไปบอกว่าเขาพาดหัวเช่นนั้นไม่ถูกต้องก็ไม่ใช่ เพราะมันคือเรื่องจริง ชาวบ้านเขาก็ตีเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นตัวเลขกันได้หมด เขาเลยไม่ค่อยตำหนิกัน แต่ชนชั้นกลางส่วนใหญ่ก็จะไม่เห็นด้วย
“ฉะนั้นไม่ว่าตัวเลขหวยจะไปพ้องกับจำนวนผู้เสียชีวิต หรือแม้แต่เลขทะเบียนรถของนายก มันก็คือเรื่องของหวย เป็นเรื่องเดียวกัน เพียงแต่เรื่องหนึ่งคือเรื่องของการสูญเสีย ส่วนอีกเรื่องเกี่ยวกับทะเบียนรถของบุคคลสำคัญ ถ้าสื่อจะรายงานเรื่องเลขบนทะเบียนรถถูกหวยได้ ทำไมจะรายงานเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะมันเป็นปรากฏการณ์เหมือนกัน ฉะนั้นถ้าเรื่องเลขจำนวนศพถูกหวยกลายเป็นเรื่องที่ถูกมองว่าผิด เลขทะเบียนรถนายกถูกหวยก็ไม่ควรถูกรายงานเป็นข่าวเช่นกัน
“ในมุมมองผม ผมก็อาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับการที่สื่อนำเสนอข่าวเรื่องหวยสักเท่าไหร่ เเต่เข้าใจว่ามันเป็นปรากฏการณ์ เพราะในเมื่อมันมีดีมานด์ มันก็ต้องมีซัพพลาย ถ้าจะบอกว่าการที่สื่อนำเสนอเรื่องพวกนี้คือการมอมเมา งั้นก็คงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่แรกที่คุณมีล็อตเตอรี่ให้เล่น เพราะนั่นก็เข้าข่ายการมอมเมาตั้งแต่ต้นแล้ว”
ท้ายที่สุดแล้ว สื่อจะมีหน้าที่ในการนำเสนอข่าวเรื่องหวยหรือไม่? หรือจะหาจุดกึ่งกลางให้สังคมพอใจได้ทุกฝ่ายอย่างไร? คงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นอย่างหนาหูในวันนี้คงจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาชั้นดีให้สื่อทั้งหลายได้หันมาทบทวนบทบาทและการทำหน้าที่ของตัวเองอีกครั้งก่อนที่ในอนาคตพวกเขาจะกลายเป็นแค่กระดาษที่ไร้ความน่าเชื่อถือ
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai
อ้างอิง:
- http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9600000005751
- https://www.facebook.com/time.chuastapanasiri/posts/10154470300268732