ค่ำคืนนี้ฮิลลารีมาในสูทสีขาวทั้งตัว ส่วนทรัมป์ใส่เนกไทสีแดงเข้ม เอาเฉพาะการแต่งกาย ก็บอกกับเราแล้วว่า ‘ครั้งนี้ไม่มียั้ง’ ต่างจากครั้งแรกที่ทั้งคู่ต่างเลือกเครื่องแต่งกายสลับสีประจำพรรคของตัวเอง ฮิลลารีมาในสูทแดง ส่วนทรัมป์ใส่เนกไทสีน้ำเงินเข้ม
สำหรับการดีเบตครั้งนี้ ซึ่งเป็นรอบสุดท้าย ผู้ที่รับบทบาทหนักที่สุดคงจะเป็นทรัมป์ เพราะเขาพ่ายแพ้มาแล้วจากดีเบตใน 2 ครั้งแรก อีกทั้งยังพบปรากฏการณ์ขาลงอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่า คริส วอลเลซ (Chris Wallace) ผู้ดำเนินรายการดีเบตในรอบสุดท้ายจาก Fox News จะออกมาประกาศในสัปดาห์ที่แล้วว่า การดีเบตรอบนี้จะสนทนากันใน 6 นโยบายสำคัญคือ หนี้สิน, ผู้อพยพ, เศรษฐกิจ, ศาลสูง, นโยบายต่างประเทศ และความเหมาะสมที่จะเป็นประธานาธิบดี แต่ดูเหมือนทุกสายตา จะจับจ้องและรอคำตอบชัดๆ อยู่ 2 เรื่อง
1. คลิปเสียงหลุดของทรัมป์เรื่องการล่วงละเมิดผู้หญิง
2. อีเมลที่หลุดออกมาล่าสุดของ จอห์น โปเดสตา (John Podesta) ประธานแคมเปญหาเสียงของฮิลลารี ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังการเลือกตั้งหลายแง่หลายมุม
ทั้งคู่เริ่มต้นดีเบตโดยไม่จับมือ และจบการดีเบตโดยงดจับมือกันอย่างสิ้นเชิง ต่างจากการดีเบตครั้งก่อนที่เดินมาจับมือกันในตอนจบเหมือนเป็นสัญญาณลบต่อความสัมพันธ์ของสองแคมเปญหาเสียง
ต่อไปนี้คือ ’10 โมเมนต์สำคัญจากการดีเบตในรอบสุดท้าย’ ซึ่งต่างฝ่ายต่างงัดวาทศิลป์ที่เฉียบคมมาคัดง้าง เสียดสี แปะป้าย เพื่อทำลายเครดิตของฝั่งตรงข้ามอย่างไม่มีใครยอมใคร เพราะนี่คือสงครามการถกเถียงครั้งสุดท้าย ที่มีเดิมพันเป็นโอกาสในการครองตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
“ถ้าทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาก็จะเป็นเพียงหุ่นเชิดของรัสเซีย
เขาแสดงออกอย่างชัดเจนมากว่า เขาโปรดปรานปูตินขนาดไหน”
1. ความเห็นต่อการทำแท้ง
ทรัมป์ยืนยันว่าควรมีบทลงโทษต่อผู้หญิงที่ตัดสินใจทำแท้ง แต่ด้านฮิลลารีสนับสนุนสิทธิในการทำแท้งเต็มที่ พร้อมประกาศกลางเวทีชัดว่า “ฉันขอปกป้องสิทธิของผู้หญิงที่จะตัดสินใจเรื่องสุขภาพด้วยตัวเอง และฉันไม่คิดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ควรขยับเข้ามาใกล้การตัดสินใจในเรื่องส่วนตัวของผู้หญิง”
2. นโยบายต่อผู้อพยพ
ทรัมป์เห็นว่า “เรามีคนอพยพที่เป็นพวกละตินห่วยๆ (Hombres) และเราต้องเอาพวกเขาออกไป” ด้านฮิลลารีโต้กลับว่า “ทำไมเราไม่นำผู้อพยพที่อาจจะไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนชัดเจนเข้าไปสู่ระบบ นำพวกเขาเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในชาติของเรา ฉันคิดว่าวิธีการนี้ดีกว่าการขับไล่ผู้อพยพ”
3. หุ่นเชิดรัสเซีย
ก่อนหน้านี้อีเมลในแคมเปญหาเสียงของฮิลลารีร่วมหมื่นฉบับถูกแฮ็กโดยวิกิลีกส์ เธอโจมตีว่าเป็นฝืมือของปูติน และรัฐบาลรัสเซียในการทำลายความน่าเชื่อถือของแคมเปญหาเสียงของเธอ และระบบความมั่นคงในสหรัฐฯ ขณะเดียวกันเธอก็ถือไพ่ศัตรูของชาติแปะป้ายไปที่ทรัมป์เต็มแรง เพราะทรัมป์แสดงอาการชื่นชมปูตินมาก่อนหน้านี้
ฮิลลารีโจมตีว่า “ถ้าทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาก็จะเป็นเพียงหุ่นเชิดของรัสเซีย เขาแสดงออกอย่างชัดเจนมากว่า เขาโปรดปรานปูตินขนาดไหน และแสดงออกชัดเจนว่าเชื่อมั่นในปูตินมากกว่ากองทัพและหน่วยงานความมั่นคงของเรา”
ด้านทรัมป์ปฏิเสธตรงๆ ว่า “ผมไม่ได้เป็นหุ่นเชิดของรัสเซีย คุณนั่นแหละที่เป็น”
“สิ่งเดียวที่ฮิลลารีมีเหนือผม คือประสบการณ์
และมันคือประสบการณ์แย่ๆ ที่เธอสร้างให้กับประเทศนี้มาตลอดหลายทศวรรษ”
4. หยิบประสบการณ์ขึ้นมาเกทับกันซึ่งหน้า
ทรัมป์เปิดก่อนว่า “สิ่งเดียวที่ฮิลลารีมีเหนือผม คือประสบการณ์ และมันคือประสบการณ์แย่ๆ ที่เธอสร้างให้กับประเทศนี้มาตลอดหลายทศวรรษ” และ “ถ้าเธอได้เป็นประธานาธิบดี ประเทศนี้ก็จะตกอยู่ในความยุ่งเหยิงต่อไป”
ด้านฮิลลารีไม่ยอมแพ้ ยกประสบการณ์ต่างๆ ของตัวเองตลอด 4 ทศวรรษ ในตำแหน่งต่างๆ ขึ้นมาบลัฟกันซึ่งหน้า ทั้งยังสำทับว่า “ในวันที่ฉันนั่งอยู่ในห้องสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อนำ บิน ลาเดน มาสู่ระบบยุติธรรม (คืนสังหาร ฮิลลารีนั่งอยู่ในห้องในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) ส่วนทรัมป์น่ะหรือตอนนั้นเขาเป็นพิธีกรรายการ Celebrity Apprentice อยู่เลย” และ “ทรัมป์ก็เป็นได้แค่นักพูด แต่ไม่เคยทำอะไรสำเร็จสักอย่าง”
“ผู้หญิงน่ารังเกียจ”
5. ‘Excuse Me, My Turn’
เมื่อฮิลลารีพยายามจะพูดแทรก ขณะที่ทรัมป์พยายามอธิบายการนำเข้าเหล็กจากจีนมาใช้ในการก่อสร้างในบริษัทของเขา ทรัมป์ป้องกันการพูดแทรกด้วยประโยคว่า “ขอโทษนะครับ, นี่คือรอบการพูดของผม” ขณะเดียวกันเมื่อทรัมป์พยายามจะบอกว่า สมัยฮิลลารีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีเงินหายไปถึง 6,000 ล้านเหรียญฯ ฮิลลารีแทรกทันทีว่า “นั่นเป็นการเคลมที่ผิดพลาดอย่างร้ายกาจ”
อีกหนึ่งจุดตกต่ำของทรัมป์ในวันนี้คือ การพูดแทรกและโจมตีฮิลลารีว่าเป็น “Such a Nasty Woman” หรือ “ผู้หญิงน่ารังเกียจ” ระหว่างที่ฮิลลารีกำลังตอบเรื่องนโยบายทางสังคม ในขณะที่ฮิลลารีตอบคำถามต่อไปโดยไม่สนใจ อย่างไรก็ตาม การโจมตีดังกล่าวเกิดหลังจากประโยคที่ทรัมป์พูดไว้ในช่วงต้นของการดีเบตว่า “ไม่มีใครที่จะมีความเคารพต่อผู้หญิงมากเท่าผมแล้ว”
“สำหรับทรัมป์ เขาคิดเสมอแหละว่าการทับถม ล่วงละเมิดผู้หญิง
ทำให้เขาตัวใหญ่ขึ้น โอ่อ่าขึ้น”
6. ยุทธศาสตร์ของทรัปม์ ‘ถามอะไรมา ผมจะตอบ ISIS’
เมื่อผู้ดำเนินรายการพยายามตั้งคำถามว่า “ทำไมผู้หญิงถึง 9 คน ได้ออกมากล่าวหาทรัมป์ว่าได้ล่วงละเมิดทางเพศพวกเธอ ถ้ามันไม่จริง” ทรัมป์กล่าวโทษว่า “ทั้งหมดน่าจะเป็นฝีมือแคมเปญหาเสียงของฮิลลารี ที่พยายามสร้างเรื่องราว หรือเขียนนิยายที่ไม่ใช่เรื่องจริง” และทั้งหมด “totally false” ด้านฮิลลารีขยี้เต็มแรงว่า “สำหรับทรัมป์ เขาคิดเสมอแหละว่าการทับถม ล่วงละเมิดผู้หญิง ทำให้เขาตัวใหญ่ขึ้น โอ่อ่าขึ้น” หลังจากนั้นก็โยงเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศหญิงตามวิธีที่เธอฝึกซ้อมมา เพื่อโจมตีว่าประธานาธิบดีแบบทรัมป์เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเยาวชนในชาติไม่ได้หรอก “ชาติของเราจะยิ่งใหญ่ได้ เพราะคนในชาติมีคุณธรรมพื้นฐานบางประการ มันขึ้นอยู่กับพวกเราว่าจะทำให้มันเกิดขึ้นได้ไหม ทั้งขณะนี้ และในอนาคต โดยเฉพาะสำหรับเยาวชนของชาติ”
และแน่นอนว่า เมื่อมีการขยี้เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศหญิงเยอะเกินไป ทรัมป์ก็ชูยุทธศาสตร์ที่ได้เตรียมตัวมาใช้ในการดีเบตตลอด 3 ครั้ง คือ ‘ถามอะไรมา ผมจะตอบ ISIS’ กล่าวคือ เป็นเทคนิคที่ทรัมป์ใช้เลี่ยงประเด็นเวลาถูกโจมตีเรื่องไม่จ่ายภาษี หรือการล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิง
“ผมรักการพูดเรื่องการกำจัด ISIS” ประโยคนี้ไม่เพียงเป็นเทคนิคเลี่ยงประเด็น แต่ยังเป็นวิธีดึงความสนใจด้วยว่า “เฮ้ย! เรื่องเลวๆ ของตระกูลคลินตันมีเยอะไปหมด ทำไมไม่ขุดกันขึ้นมาหน่อย!” แต่การเลี่ยงตอบคำถามแบบนี้ดูเหมือนจะยิ่งทำให้เขาตายกลางเวทีมากขึ้น
“ผมขอบอกพวกคุณตรงนี้เลยว่า… ผมจะทำให้ฮิลลารีแพ้ให้ได้”
7. ยุทธศาสตร์ของฮิลลารี ‘สงครามนี้คือสงครามว่าใครเลวน้อยกว่ากัน!’
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามเรื่องมูลนิธิส่วนตัวของตระกูลคลินตัน ซึ่งมีข่าวฉาวว่ารับเงินจากต่างประเทศ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ระหว่างประเทศ ในระหว่างที่ฮิลลารีดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
“ฉันมีความสุขมากที่จะเล่าเรื่องมูลนิธิคลินตันให้ฟัง เพราะมูลนิธิของฉันถือเป็นการทำการกุศลในระดับโลก และทำให้ผู้ที่ติดเชื้อ HIV กว่า 11 ล้านคน สามารถได้รับการรักษาโรคอย่างถูกหลักอนามัย ทั้งยังช่วยเหลือผู้ประสบภัยและช่วยธุรกิจเล็กๆ เมื่อผู้ดำเนินรายการขยี้ต่อเรื่องการแลกผลประโยชน์ เธอตอบสั้นๆ ว่า “มันไม่มีหลักฐาน”
ฮิลลารีตอบเลี่ยงประเด็น ด้วยการหันไปโจมตีมูลนิธิของทรัมป์แทนว่า “ฉันจะลองเปรียบเทียบระหว่างมูลนิธิคลินตันกับมูลนิธิทรัมป์ให้ฟัง ในขณะที่เราใช้เงินบริจาคเพื่อทำการกุศลในระดับโลก ส่วนมูลนิธิของทรัมป์น่ะหรือ เขารับเงินบริจาคมา และใช้เงินนั้นสร้างรูปปั้นของตัวเองที่สูงถึง 6 ฟุต”
สมกับที่การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่การเลือกตั้งว่า ใครดีกว่าใคร แต่เป็นการเลือกตั้งระหว่างสองผู้สมัคร ที่คนอเมริกันต่างไม่ชอบหน้า และมีผลคะแนนนิยมติดลบมากที่สุด จนเปลี่ยนเป็นการเลือกตั้งว่าใครเลวน้อยกว่ากัน
“ทรัมป์มีคุณสมบัติเหมาะสมน้อยที่สุดที่จะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี”
8. “ผมจะทำให้ฮิลลารีแพ้ให้ได้”
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามทรัมป์ว่า เขาจะยอมรับผลการเลือกตั้งได้หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เห็นออกมาโจมตีว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีแต่การโกง ทรัมป์เลี่ยงตอบเรื่องการยอมรับผลการเลือกตั้ง ไปสู่การตอบแบบแพ้ไม่เป็นว่า “ผมขอบอกพวกคุณตรงนี้เลยว่า… ผมจะทำให้ฮิลลารีแพ้ให้ได้” ทั้งยังย้ำต่อว่า “ฮิลลารีไม่ควรได้รับอนุญาตให้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะเธอมีปัญหาเรื่องการใช้อีเมลส่วนตัวสมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ” และ “การเลือกตั้งนี้มีการทุจริตของบรรดาสื่อมวลชน ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนใจของผู้เลือกตั้ง” และทรัมป์ได้สรุปว่า “เป็นการเลือกตั้งที่มีกลโกง”
ฮิลลารีโต้ทรัมป์ว่าเป็นพวกขี้แพ้ชวนตี ไม่ได้อย่างที่ต้องการ ก็จะชวนคนอื่นทะเลาะ ชี้ชัด “สหรัฐฯ เป็นประเทศประชาธิปไตย ทุกคนต้องยอมรับผลเลือกตั้งให้ได้”
9. ความขำขันที่เกิดขึ้น
ฮิลลารีเปิดประเด็นก่อนว่า “เมื่อไรก็ตามที่ทรัมป์ทำสิ่งไหนแล้วไม่ได้ดั่งใจ เขาก็จะบอกว่า มันมีการโกงเกิดขึ้น”
เธอลิสต์สิ่งที่ทรัมป์บอกว่า มีการโกงเกิดขึ้น ตั้งแต่บอกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ก็มีการโกงเกิดขึ้น, เมื่อ FBI ประกาศผลสอบสวนคลินตันว่ามีไม่มีความผิด ทรัมป์ก็บอกว่า FBI มีการโกงเกิดขึ้น หรือเมื่อทรัมป์แพ้การเลือกตั้งขั้นต้นในบางรัฐ เขาก็บอกว่ามีการโกงเกิดขึ้น รวมถึงระบบศาล เขาก็บอกว่ามีการโกงเกิดขึ้น
ฮิลลารีขยี้ต่อว่า “หรือเมื่อเขาไม่ได้รับรางวัลเอมมีอวอร์ดส์ สำหรับรายการของเขามาตลอด 3 ปี เขาก็ทวิตว่า การประกาศผลรางวัลถือว่ามีการโกงเกิดขึ้น ทั้งหมดนี้คือวิธีคิดของเขา”
ทรัมป์แย่งซีนปิดท้ายจนได้รับเสียงฮาจากผู้ชม ด้วยการบอกว่า “ผมควรได้รับรางวัลนี้นะ” ขณะที่ฮิลลารีตอบกลับว่า “มันขำขัน แต่มันเป็นเรื่องน่าหนักใจจริงๆ นะ”
ผลสำรวจบอกว่า ผลการเลือกตั้งอาจอยู่ระหว่างฮิลลารีชนะ
และฮิลลารีชนะถล่มทลาย”
10. อ้างอิงคำพูด ‘ลุงเบอร์นี’ มาบลัฟกัน
ทรัมป์เปิดประเด็นก่อนว่า เบอร์นี แซนเดอร์ส ซึ่งเป็นคู่แข่งคนสำคัญของฮิลลารีในการเลือกตั้งขั้นต้น เคยพูดว่า “ฮิลลารีเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ที่ตัดสินใจต่อเรื่องต่างๆ ได้ย่ำแย่เหลือเกิน”
ด้านฮิลลารีตบหน้าทรัมป์กลับด้วยการพูดว่า “คุณควรถามเบอร์นีนะว่า ใครที่เขาสนับสนุนให้เป็นประธานาธิบดี เขาเคยพูดไว้ว่าคุณคือบุคคลอันตรายที่สุดที่ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในยุคร่วมสมัย”
ด้าน เบอร์นี แซนเดอร์ส ทวิตตอบทันทีในระหว่างการดีเบตอันร้อนแรงสดๆ ว่า “ทรัมป์มีคุณสมบัติเหมาะสมน้อยที่สุดที่จะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี”
สำหรับค่ำคืนนี้ ดูเหมือนว่าชัยชนะจะตกเป็นของฮิลลารีอีกครั้ง หากวัดจากผลสำรวจล่าสุดของ CNN/ORC ที่วัดผลในหมู่ผู้ชมการดีเบต โดยผู้ชมส่วนใหญ่ยกให้ฮิลลารีมีชัยชนะเหนือทรัมป์ที่ร้อยละ 52 ต่อร้อยละ 39 และตลอดการดีเบตทั้ง 3 ครั้ง หากใช้ผลสำรวจของ CNN เป็นตัวตั้ง ก็แสดงว่าฮิลลารีได้รับชัยชนะตลอดการดีเบตทั้ง 3 ครั้ง
เมื่อถามต่อว่า เราพอจะรู้ผลคร่าวๆ หรือยังว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ? คำตอบเฉพาะหน้าคือการจ้องดูผลสำรวจคะแนนนิยม ซึ่งดูเหมือนฮิลลารีจะได้รับชัยชนะในผลสำรวจมากกว่า 24 สำนัก จนทำให้ Vox พาดหัวเมื่อวานนี้ว่า “ผลสำรวจบอกว่า ผลการเลือกตั้งอาจอยู่ระหว่างฮิลลารีชนะ และฮิลลารีชนะถล่มทลาย”
อย่างไรก็ตาม ในทางการเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอตลอดระยะเวลาอีก 20 วันที่เหลือ เพราะในการดีเบตรอบสุดท้าย ต่างฝ่ายต่างทิ้งบาดแผลที่ชวนจำไว้ให้กันในระดับยากจะแก้ตัว และทั้งคู่ต่างก็ใช้เวทีไม่คุ้มค่านักในการแก้ต่างให้กับตัวเอง
สำหรับวันพรุ่งนี้ เชิญติดตามบทความ ‘สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรจากการดีเบตทั้ง 3 ครั้ง?’ เพื่อใช้ให้เห็นโจทย์สำคัญในทางการเมือง ที่สังคมไทยควรหยิบมาใช้ โดยเฉพาะการถือหลักการ “ในระบอบประชาธิปไตย เราจะเหลือที่ยืนและความเคารพให้กับผู้แพ้เสมอ”
FACT BOX:
ดูผลสำรวจคะแนนนิยาม และอ่านบทความ ‘The polls are split between Hillary Clinton winning and … Hillary Clinton winning in a landslide’ ได้ที่ http://vox.com/2016/10/18/13311128/polls-trump-clinton-2016-winning
Tags: follow-up, Donald Trump, uselection2016, debate 3, ฮิลลารี ทรัมป์, Hillary Clinton, President, United States of America, momentum, Politics