ทำไมคนไทยต้องให้ความสนใจการเลือกตั้งผู้นำประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาพอๆ กับการเลือกตั้งในบ้านเรา?

คำตอบคือ เพราะ ‘นโยบายต่างประเทศ’ ของฮิลลารีและทรัมป์จะเป็นตัวบ่งบอกทิศทางสถานการณ์โลกอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะความร่วมมือกับภูมิภาคอาเซียนที่อาจชะงักงันและไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

โอบามา เอเชีย การผูกมิตรเพื่อคานอำนาจ

ย้อนกลับไปในสมัย บารัก โอบามา ทวีปเอเชียเป็นภูมิภาคที่โอบามาต้องการขยายอำนาจและผูกมิตรมากที่สุด เพราะด้วยกำลังทางเศรษฐกิจ ความสงบทางการเมืองเมื่อเทียบกับตะวันออกกลาง และท่าทีของประเทศเอเชีย นอกเหนือจากจีนที่ดูเหมือนจะ ‘อ่อนน้อม’ ต่อสหรัฐฯ มากที่สุด

เอเชียจึงเป็นพันธมิตรที่สหรัฐฯ ต้องรักษาไว้ในยามที่ความขัดแย้งลุกลามไปทั่วโลกและแน่นอนว่าไว้คานอำนาจกับมหาอำนาจใหม่อย่างจีน

นโยบาย The Trans-Pacific Partnership (TPP) หรือข้อตกลงทางการค้าระหว่าง 12 ประเทศในภูมิภาคแปซิฟิก จึงเป็นหนึ่งในนโยบายต่างประเทศที่โอบามาผลักดันมากที่สุด

แต่ในความเป็นจริงเกือบสิบปีที่ผ่านมา เอเชียกลายเป็นทวีปที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญเป็นอันดับรอง เพราะด้วยปัญหาเร่งด่วนอย่างสงครามกลางเมืองในซีเรีย และภัยก่อการร้ายในยุโรปที่สหรัฐฯ ต้องรีบจัดการ

เอเชียจะกลับมามีความสำคัญขึ้นหรือไม่สำหรับสหรัฐฯ?

และนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนถัดไปจะส่งผลอย่างไรต่อความสัมพันธ์ในภูมิภาคเอเชียเอง?

นโยบายต่างประเทศของฮิลลารีและทรัมป์จึงเป็นสิ่งที่ประเทศทั้งเอเชียต้องเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด

สหรัฐฯ อาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการที่ไทยยังถูกปกครองภายใต้รัฐทหาร

ทรัมป์-ฮิลลารี กับการทบทวนเสรีการค้าในเอเชีย

ชัดเจนว่านักอนุรักษ์นิยมสุดโต่งอย่างทรัมป์ย่อมมีนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวกว่าอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอย่างฮิลลารีที่เข้าใจทักษะการทูตมากกว่า หรือพูดง่ายๆ คือเล่นเกมได้อย่างมีชั้นเชิงกว่า แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าความแตกต่างคือ ทั้งสองคนกลับเห็นตรงกันว่า อาจไม่สานต่อผลงานของโอบามาอย่างข้อตกลงการค้า TPP เพราะกลัวว่าเม็ดเงินจะไหลไปสู่เอเชียและคนอเมริกันจะตกงานมากขึ้น

แม้กระทั่งฮิลลารีที่มีภาพลักษณ์นักเสรีนิยมมาโดยตลอด ก็ยังเริ่มกลับมาทบทวนข้อดีและข้อเสียของการเปิดเสรีการค้ากับเอเชีย

สิ่งนี้สะท้อนว่าไม่ว่าทรัมป์หรือฮิลลารีจะคว้าตำแหน่ง ปัญหาความยากจน การว่างงาน และผู้อพยพจะทำให้ประเทศมหาอำนาจเดินย้อนกลับไปในยุคที่ให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศน้อยลง อย่างที่เราเห็นกันมาแล้วใน Brexit

 

จีนกับสหรัฐฯ หลังการมาถึงของประธานาธิบดีคนใหม่

เริ่มกันที่นโยบายต่างประเทศต่อประเทศในเอเชียที่สำคัญที่สุดสำหรับสหรัฐฯ อย่างจีน

ทรัมป์ขู่ว่าจะขึ้นกำแพงภาษีการค้า หากจีนไม่ทบทวนนโยบายเศรษฐกิจของตัวเองที่มีผลทำให้สกุลเงินปั่นป่วน รวมถึงจะปราบบรรดาแฮ็กเกอร์ที่คอยขโมยข้อมูลทางทหารของสหรัฐฯ และการลอกเลียนแบบสินค้าอย่างจริงจัง

ส่วนนโยบายทางด้านทหาร ทรัมป์ชัดเจนว่าจะขยายกำลังทางทหารในทะเลจีนใต้ พื้นที่เกาะและทะเลที่ทั้งจีน บรูไน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม ต่างอ้างสิทธิเหนือพรมแดน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทรัมป์มีแต่คำพูดที่ดุเดือด แต่ยังไม่มีแนวทางชัดเจน และเป็นไปได้ว่าสุดท้ายแล้วทรัมป์จะมุ่งปราบก่อการร้ายมากกว่า จนไม่ได้ให้ความสำคัญกับเอเชียมากนัก

ดังนั้นอาจคาดการณ์ได้ว่า ถ้าทรัมป์ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ อาจลดลง

ขณะที่ฮิลลารีแม้จะคงจุดยืนนโยบายทางทหารในทะเลจีนใต้ แต่ดูจะมีนโยบายประนีประนอมกับจีนมากกว่าทรัมป์

ฮิลลารีเคยพูดไว้ว่า นิยามความสัมพันธ์อย่างมิตรและศัตรูไม่สามารถใช้ได้กับจีน แต่ความประนีประนอมของฮิลลารีกลับไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศนี้ราบรื่น เพราะฮิลลารีต่างจากทรัมป์ตรงที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีน เพื่อรักษาภาพความเป็นประชาธิปไตยของสหรัฐฯ

จากเหตุผลนี้ทรัมป์จึงอาจเป็นคู่ค้าที่ดีกว่าสำหรับจีน เพราะทรัมป์ดูจะไม่ได้สนใจการส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศอื่นมากนัก

PHOTO: Kevin Lamarque, Reuters/profile

เอเชียกับนโยบายของสหรัฐฯ ที่หันมาเอาใจคนในชาติ

ด้านญี่ปุ่นที่ต้องการให้สหรัฐฯ มาคานอำนาจจีน และเอาจริงเอาจังกับเกาหลีเหนือ ฮิลลารีย่อมเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า

เศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังคงต้องการผู้นำสหรัฐฯ ที่ไม่สุดโต่ง รวมถึงญี่ปุ่นยังต้องการให้มีมหาอำนาจมาควบคุมและจัดการกับพฤติกรรมของจีนในทะเลจีนใต้ และการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ เพราะญี่ปุ่นมองว่าสำคัญต่อความมั่นคงของเอเชีย

ซึ่งฮิลลารียังคงมีมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือที่ชัดเจน ขณะที่ทรัมป์กลับบอกว่าถ้าเอเชียจะเดินหน้าเข้าสู่สงคราม ก็ขอให้โชคดี

แม้ในรายละเอียด ฮิลลารีมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับเอเชียมากกว่าทรัมป์ แต่ด้วยความไม่พอใจของชาวสหรัฐฯ จากปัญหาความยากจนและการว่างงาน แน่นอนว่าในฐานะนักการเมือง นโยบายของทั้งสองคนนี้ย่อมต้องเอาใจคนสหรัฐฯ ก่อน อีกทั้งความกระหายสงครามในตะวันออกกลางของทั้งสองคน มีความเป็นไปได้สูงว่าทั้งฮิลลารีและทรัมป์จะให้ความสำคัญกับเอเชียน้อยกว่าโอบามา

โดยเฉพาะถ้าทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี นโยบายสมัยโอบามาที่ให้ความร่วมมือทางด้านข้อมูลและการฝึกทหารในการปราบก่อการร้ายในเอเชียอาจไม่ถูกสานต่อ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในเอเชียอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในช่วงล่อแหลม ที่กลุ่มไอเอสขยายอิทธิพลมายังเอเชียมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นทรัมป์หรือฮิลลารีที่คว้าชัยชนะ ทิศทางนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนถัดไป ก็ส่งสัญญาณเตือนว่าอาเซียนจะไม่ใช่ภูมิภาคที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ

อาเซียนกับความห่างเหินที่เพิ่มขึ้น

จากเอเชียลงมาสู่ภูมิภาคอาเซียน นโยบายต่างประเทศของทรัมป์และฮิลลารีบอกอะไรกับภูมิภาคอาเซียน รวมถึงไทยบ้าง?

หลังจากสงครามเวียดนาม โอบามาเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้มากที่สุด เพราะโอบามามองอาเซียนเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีที่จะคานอำนาจกับจีนได้ เห็นได้จากการจัดการประชุมสหรัฐฯ-อาเซียนประจำปี และความร่วมมือทางทหารกับฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้

การที่โอบามากำลังจะหมดสมัย จึงส่งผลต่อการรวมตัวของภูมิภาคอาเซียนที่ส่อเค้ากระท่อนกระแท่น เพราะนโยบายให้ความร่วมมือของสหรัฐฯ จะต้องชะงัก และขาดความต่อเนื่องอย่างแน่นอน

เพราะทรัมป์และฮิลลารีมีแนวโน้มจะทบทวนโครงการความร่วมมือต่างๆ กับอาเซียน เพื่อเอาใจคนสหรัฐฯ ที่ต้องการให้ผู้นำคนถัดไปให้ความสำคัญกับคนในประเทศมากขึ้น

แม้กระทั่งฮิลลารี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศที่เคยมีนโยบายการทูตมาเยือนประเทศอาเซียนทุกประเทศก็ตาม

ไม่ว่าจะเป็นทรัมป์หรือฮิลลารีที่คว้าชัยชนะ ทิศทางนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนถัดไป ก็ส่งสัญญาณเตือนว่าอาเซียนจะไม่ใช่ภูมิภาคที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ และนโยบายการปราบกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่แข็งกร้าวขึ้นของทั้งคู่อาจสร้างกระแสต่อต้านสหรัฐฯ ในประเทศมุสลิมอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย เหมือนอย่างที่เราเห็นกันมาแล้วกับนโยบายต่างประเทศสมัยจอร์จ บุช ที่เดินหน้าปราบกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในอัฟกานิสถานและอิรักจนสร้างกระแสต่อต้านสหรัฐฯ กับมุสลิมทั่วโลก

ประจวบกับฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ยาวนานของสหรัฐฯ เพิ่งได้ประธานาธิบดีคนใหม่อย่าง โรดริโก ดูเตร์เต ที่มีแนวคิดไม่อ่อนข้อต่อสหรัฐฯ อีกต่อไป อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอาเซียนต้องห่างเหิน

ที่สำคัญสหรัฐฯ อาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการที่ไทยยังถูกปกครองภายใต้รัฐทหาร หรือพัฒนาการของประชาธิปไตยในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทรัมป์คว้าชัยชนะ เช่นเดียวกับพม่าที่อำนาจของทหารยังอยู่

แม้ประเทศจะเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม

Tags: , , , ,