Photo: Osman Orasal, Reuters/profile

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ เมื่อถึงเทศกาลคริสต์มาสหรือปีใหม่ เราทุกคนจะเกิดความกังวลและไม่มั่นใจ หากจะไปเฉลิมฉลองในสถานที่ที่เป็นแลนด์มาร์ก หรือสถานที่ที่ผู้คนมารวมตัวเยอะๆ เพราะกลัวว่าสถานที่เหล่านี้อาจเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มหัวรุนแรง โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุการณ์รถบรรทุกพุ่งชนคนในตลาดคริสต์มาสกลางกรุงเบอร์ลิน

ปีใหม่ปีนี้เราจึงเห็นประเทศตะวันตกใช้หน่วยรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มกำลังตามสถานที่สำคัญต่างๆ แต่แล้วในคืนปีใหม่ก็เกิดเหตุสลดอีกครั้งในสถานที่ที่ไม่ใช่แลนด์มาร์ก ไม่ใช่สถานที่ที่ทุกคนต่างระแวดระวัง แต่คือไนต์คลับในย่านทันสมัยของเมืองอิสตันบูล ของประเทศตุรกี ที่คนทั่วไปไม่มีใครคาดคิด

ผู้ก่อเหตุเดินทางมายังไนต์คลับที่ชื่อว่า Reina ด้วยรถแท็กซี่ ก่อนจะวิ่งเข้าไปในไนต์คลับพร้อมกับปืนยาว แล้วกราดยิงเป็นเวลาประมาณ 7 นาที โดยผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า คนร้ายพยายามยิงไปที่ร่างกายส่วนบนของเหยื่อ และมุ่งเป้าไปที่ที่คนยืนรวมตัวกันอยู่เยอะๆ โดยผู้คนบางส่วนวิ่งหลบเข้าไปในห้องน้ำ และบางส่วนกระโดดลงแม่น้ำ เนื่องจากไนต์คลับตั้งอยู่บริเวณช่องแคบบอสฟอรัส (Bosphorus)

Photo: Osman Orasal, Reuters/profile

ความคืบหน้าการจับตัวคนร้าย

หลังจากเหตุการณ์โจมตีไนต์คลับในเมืองอิสตันบูลผ่านมา 4 วัน ล่าสุด เมฟลัต คาวูโซกลู (Mevlut Cavusoglu) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า ทางการตุรกีสามารถระบุตัวคนร้ายได้แล้ว แต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อคนร้ายต่อสื่อมวลชน โดยก่อนหน้านี้ตำรวจตุรกีได้ปล่อยภาพของผู้ต้องสงสัยออกมา

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า มือปืนน่าจะเป็นคนจากประเทศในเอเชียกลาง อย่าง อุซเบกิสถาน หรือคีร์กีซสถาน โดยคาดว่าเขาเดินทางเข้าตุรกีในเดือนพฤศจิกายน 2016 พร้อมกับภรรยาและลูกสองคน เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นจุดสนใจ ซึ่งล่าสุดครอบครัวของเขาถูกทางการตุรกีจับกุมแล้ว

Anadolu Agency สำนักข่าวของรัฐบาลตุรกี ได้ปล่อยคลิปวิดีโอที่เชื่อว่า เป็นคลิปที่มือปืนบันทึกภาพตัวเองด้วยโทรศัพท์มือถือที่ Taksim Square แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าคลิปวิดีโอนั้นถูกบันทึกก่อนหรือหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ไนต์คลับ Reina กลางเมืองอิสตันบูล

การปฏิบัติการของกลุ่มไอเอสในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่

หากสังเกตจะพบว่า กลุ่มไอเอสได้ออกมาอ้างว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์โจมตี ที่ผู้ก่อเหตุจงใจลงมือในช่วงเทศกาลคริสต์มาสหรือปีใหม่ทั้งสองครั้ง เหตุการณ์แรกคือ เหตุการณ์สังหารหมู่ที่ไนต์คลับ Reina กลางเมืองอิสตันบูล ที่กลุ่มไอเอสออกมาอ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตี และยกย่องมือปืนว่า เป็นการกระทำเยี่ยง ‘วีรบุรุษ’ ในการตอบโต้ตุรกีที่กลุ่มไอเอสกล่าวหาว่าเป็นผู้สังหารชาวมุสลิม และเป็นการโจมตีการเฉลิมฉลองของพวกที่ละทิ้งศาสนา (Apostate) ซึ่งสองในสามของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้คือชาวต่างชาติ ทั้งชาวซาอุดีอาระเบีย เลบานอน ฝรั่งเศส อินเดีย โมร็อกโก จอร์แดน คูเวต แคนาดา อิสราเอล เบลเยียม เยอรมนี และรัสเซีย เพราะไนต์คลับ Reina นั้นตั้งอยู่ในย่านทันสมัย ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติและคนมีชื่อเสียงของตุรกี

แม้กลุ่มไอเอสจะถูกทางการตุรกีกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีพลเมืองในตุรกีในช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา แต่นี่คือเหตุโจมตีในตุรกีครั้งแรก ที่กลุ่มไอเอสออกมาประกาศว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเอง

และอีกเหตุการณ์หนึ่งที่กลุ่มไอเอสออกมาอ้างว่าอยู่เบื้องหลังการก่อเหตุคือ เหตุการณ์ที่คนร้ายขับรถบรรทุกพุ่งชนคนในตลาดคริสต์มาสกลางกรุงเบอร์ลิน ของเยอรมนี ทำให้คนเสียชีวิตไปถึง 12 คน และกว่า 49 คนได้รับบาดเจ็บ โดยกลุ่มไอเอสได้ออกมาประกาศผ่านเว็บไซต์ว่า คนก่อเหตุคือหนึ่งในทหารของกลุ่มไอเอส “ทหารของกลุ่มไอเอสได้กระทำการโจมตีในกรุงเบอร์ลิน และตั้งใจมุ่งเป้าที่พลเมืองของประเทศที่ร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อปราบกลุ่มไอเอส” อย่างไรก็ตามแม้กลุ่มไอเอสจะออกมาโพสต์ข้อความ แต่ไม่ได้ออกมาระบุอัตลักษณ์ของคนก่อเหตุ

แม้จะไม่มีหลักฐานใดที่สนับสนุนการกล่าวอ้างนี้ของกลุ่มไอเอส เราจึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ผู้ก่อเหตุนั้นเป็นเครือข่ายของกลุ่มไอเอสจริง หรือได้รับอิทธิพลจากอุดมการณ์ของกลุ่มไอเอสผ่านสื่อออนไลน์แล้วลงมือก่อเหตุเอง หรือที่เราเรียกว่าเป็นการลงมือลักษณะหมาป่าตัวเดียว (Lone Wolf) แต่ชัดเจนว่าผู้ก่อเหตุนั้นจงใจใช้เทศกาลคริสต์มาสเป็นสัญลักษณ์ในการก่อเหตุ ซึ่งสะท้อนว่าเป็นการส่งข้อความประกาศการเป็นศัตรูต่อโลกตะวันตกอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวด้านความมั่นคงเปิดเผยกับสำนักข่าว Reuters ว่า จากลักษณะการก่อเหตุ มีความเป็นไปได้ว่า ผู้ก่อเหตุได้รับการฝึกสู้รบในลักษณะกองโจร (Guerrilla Warfare) มาอย่างดี “ผู้ก่อเหตุกราดยิงในอิสตันบูลมีประสบการณ์ในการสู้รบอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นไปได้ว่าเขาอาจจะเคยผ่านการสู้รบในซีเรียมาหลายปี” ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า หากฐานที่มั่นของกลุ่มไอเอสถูกโจมตีมากขึ้นเรื่อยๆ โลกจะเห็นการต่อสู้ของกลุ่มหัวรุนแรงในลักษณะกองโจรมากขึ้น

Photo: Jacky Naegelen, Reuters/profile

ตุรกีประกาศเดินหน้าปราบกลุ่มไอเอสให้ราบคาบ

แม้เหตุการณ์สังหารหมู่กลางไนต์คลับในคืนปีใหม่จะเป็นการส่งสัญญาณตอบโต้ตุรกี ที่ร่วมกับสหรัฐฯ ในการส่งกองกำลังทางทหารเข้าไปปราบกลุ่มไอเอส และกองกำลังเคิร์ดในซีเรียตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2016 แต่ นูมาน เคอร์ตูลมัส (Numan Kurtulmus) รองนายกรัฐมนตรีตุรกีประกาศกร้าวว่า จะยังดำเนินการปราบกลุ่มไอเอสให้อยู่หมัด จนกว่ากลุ่มหัวรุนแรงจะไม่เป็นภัยคุกคามต่อตุรกีอีก

“ไม่ว่าพวกเขาจะวางแผนอะไรไว้ในปี 2017 เราจะยังคงพยายามรุกเข้าไปยังที่ซ่อนของกลุ่มไอเอส ด้วยการสนับสนุนของพระเจ้า ด้วยการสนับสนุนของประชาชน เราจะทำให้พวกเขาแพ้อย่างราบคาบด้วยการตอบโต้ทุกวิถีทางที่จำเป็น”

ในปี 2016 ตุรกีเจอกับเหตุรุนแรงในกรุงอังการา และเมืองอิสตันบูลอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เหตุระเบิดฆ่าตัวตาย และเหตุระเบิดหลายครั้ง ทั้งที่สนามบินอตาเติร์ก (Ataturk) ในเมืองอิสตันบูล งานแต่งงาน ไปจนถึงสนามกีฬาฟุตบอลในเมืองอิสตันบูล ที่รวมแล้วมีคนเสียชีวิตไปร่วมร้อยคน ทำให้ตุรกีประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกไม่ปลอดภัยอีกต่อไป และเป็นสัญญาณชัดเจนว่า เหตุรุนแรงได้ลุกลามจากบริเวณชายแดนเข้าสู่ใจกลางเมืองแล้ว

ที่ผ่านมาตุรกีเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นผู้นำในการปราบกลุ่มหัวรุนแรงในซีเรีย บีนาลี ยิลดิริม (Binali Yildirim) นายกรัฐมนตรีของตุรกีอ้างว่า ตุรกีได้สังหารนักรบไอเอสไปมากกว่า 1,200 คน “ตุรกีเป็นประเทศเดียวที่เป็นผู้นำในการต่อสู้ ในขณะที่สหรัฐฯ ไม่ได้ทำอะไรเลย” เขายังกล่าวหาการสนับสนุนกองกำลังเคิร์ดในซีเรียของรัฐบาลของบารัก โอบามา ว่า เป็นการสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย และขอให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หยุดการกระทำที่น่า ‘อับอาย’ นี้

ท่าทีของประเทศตะวันตกต่อกลุ่มไอเอส

แม้ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ จะยังไม่ได้พูดถึงแนวทางการปราบก่อการร้าย เมื่อเขาเข้ามาทำงานในทำเนียบขาว แต่เหตุการณ์การโจมตีล่าสุดที่ตุรกีนั้น ก็ทำให้เขาประกาศกลางงานเลี้ยงปีใหม่ว่า การสร้างกำแพงบริเวณแนวชายแดนระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐฯ นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น “เราจำเป็นต้องมีพรมแดนที่เข้มแข็ง เมื่อคนเข้ามาในประเทศ พวกเขาต้องเขามาอย่างถูกกฎหมาย และนี่คือสาเหตุว่าทำไมเราถึงอยากมีกำแพง”

ด้าน อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ยอมรับว่าเหตุโจมตีตลาดคริสต์มาสในกรุงเบอร์ลินครั้งล่าสุดนั้น ทำให้ชาวเยอรมันที่ก่อนหน้านี้ยื่นมือช่วยเหลือผู้อพยพมาโดยตลอดนั้นรู้สึกเป็น ‘ปฏิปักษ์’ กับผู้อพยพแล้ว “มันเป็นสิ่งที่แย่มากสำหรับชาวเยอรมัน ที่ตื่นตัวในทุกๆ วัน เพื่อจะช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเหล่านี้ และคงเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับพวกเราที่จะเรียนรู้ว่าคนพวกนี้ที่เข้ามาในประเทศของพวกเรา เพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัย อาจเป็นผู้ก่อเหตุนี้เสียเอง”

อย่างไรก็ตาม แม้ อังเกลา แมร์เคิล จะเริ่มยอมรับว่า นโยบายรับผู้อพยพนั้นอาจสร้างปัญหา แต่เธอยังคงคิดว่า การต่อสู้กับการก่อการร้ายคือการไม่ยอมปล่อยให้พวกเขามาเปลี่ยนวิถีความคิด และการดำเนินชีวิตของผู้คน เพราะนั่นแปลว่าเรายอมจำนนให้กับพวกเขา

“เราไม่อยากจะยอมให้ตัวเองเป็นอัมพาตจากเหตุก่อการร้าย มันอาจจะยากมากในชั่วโมงนี้ แต่เราจะพยายามเข้มแข็ง เพื่อดำเนินชีวิตในหนทางที่เราอยากจะเดิน ในประเทศที่มีเสรีภาพ การเปิดกว้าง และการอยู่ร่วมกัน”
หากเป้าหมายของกลุ่มไอเอสคือ การสร้างความหวาดกลัวให้กับโลกใบนี้  ทำให้ผู้คนไม่สามารถตื่นมาด้วยความรู้สึกเดิม หรือใช้ชีวิตแบบเดิมอีกต่อไป การไม่ยอมให้ตัวเองเป็นอัมพาตจากการก่อการร้ายตามคำพูดของ อังเกลา แมร์เคิล ก็อาจจะเป็นหนทางหนึ่งในการไม่ยอมให้กลุ่มหัวรุนแรงบรรลุตามเป้าหมาย

ทว่าเหตุการณ์เหล่านี้ที่ปลิดชีวิตคนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามว่า ในขณะที่เราไม่อยากให้กลุ่มก่อการร้ายมาเปลี่ยนวิถีชีวิต แต่ในมุมหนึ่งเราอาจจะต้องยอมรับว่า เหตุการณ์เหล่านี้ได้กระทบต่อความรู้สึกและการใช้ชีวิตของผู้คนไปแล้วในทศวรรษนี้ และมันได้สะท้อนออกมาผ่านแนวคิดในการป้องกันการก่อการร้าย ที่แตกต่างอย่างชัดเจนของผู้นำทั้งสองประเทศอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ กับอังเกลา แมร์เคิล

ที่ไม่ว่าจะเลือกหันซ้ายหรือหันขวาก็ดูจะไม่ใช่บทสรุปของสงครามในยุคนี้

อ้างอิง:
Tags: , , , , , , ,