ครบรอบหนึ่งสัปดาห์หลังการดีเบตครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายระหว่าง ฮิลลารี คลินตัน และโดนัลด์ ทรัมป์ สองผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016 ที่ทั้งดุเดือด เชือดเฉือน แบบไม่มีใครยอมใคร

และถึงแม้ท้ายที่สุด การดีเบตครั้งสุดท้ายจะเริ่มต้นและจบลงที่ผู้สมัครฯ ทั้งสองคนไม่จับมือกันและกัน

แต่ระหว่างทางของการดีเบตอันร้อนแรงระหว่างฮิลลารีกับทรัมป์ ก็มีเรื่องราวอันน่าจดจำ และเป็นตัวอย่างที่ดีของ ‘ประชาธิปไตย’ ซึ่งเกิดจากวัฒนธรรมการยอมรับความพ่ายแพ้ การยกย่องผู้ชนะ และการแสดงความเคารพและชื่นชมต่อศัตรูทางการเมือง ที่ค่อยๆ บ่มเพาะมาตลอดประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา

ซึ่งสังคมไทยควรจะย้อนกลับมาถามตัวเองว่า “เราควรจะเรียนรู้อะไรจากวิถีประชาธิปไตยของอเมริกา?”

Photo: Jim Young, Reuters/profile

ยกที่ 1: ฮิลลารี คลินตัน VS โดนัลด์ ทรัมป์

ฮิลลารี คลินตัน:

“ฉันเคารพลูกๆ ของโดนัลด์ พวกเขาเป็นเด็กที่น่าทึ่งและมีความสามารถ และฉันคิดว่าเป็นเพราะพวกเขามีโดนัลด์เป็นพ่อ ซึ่งฉันไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูดหรือทำ แต่ฉันเคารพคุณสมบัตินี้ของเขาในฐานะที่ฉันเป็นแม่และยาย ฉันคิดว่าสิ่งนี้สำคัญมาก”

โดนัลด์ ทรัมป์:

“ผมถือว่าสิ่งที่เธอพูดเกี่ยวกับลูกผมเป็นคำชมที่น่ารักมากสำหรับผม แม้ผมจะไม่แน่ใจว่าเป็นคำชมหรือเปล่า แต่มันเป็นคำพูดที่ดี และผมภูมิใจในตัวลูกๆ ของผมมาก พวกเขาเป็นเด็กที่น่าทึ่ง ผมจึงถือว่านี่เป็นคำชมสำหรับผม คราวนี้ผมจะพูดถึงฮิลลารีบ้าง เธอเป็นผู้หญิงที่ไม่เคยล้มเลิก และไม่ยอมแพ้ ซึ่งผมเคารพเธอตรงนี้ ผมพูดจากสิ่งที่เห็น ซึ่งเธอคือนักสู้ ผมไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เธอตัดสินใจหลายอย่าง รวมถึงกลยุทธ์และนโยบายต่างๆ แต่เธอก็สู้ไม่ถอย และไม่เคยยอมแพ้ และผมว่านี่คือคุณสมบัติที่ดีมาก”

นั่นคือคำตอบที่สองผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 พูดถึงกันและกัน เมื่อผู้ฟังในเวทีดีเบตถามว่า “มีอะไรบ้างไหมที่ทำให้ทั้งคู่รู้สึกเคารพต่อกัน?”

ตามภาษานักการเมืองที่ชำนาญการหลบเลี่ยงประเด็น ฮิลลารีเลี่ยงชมทรัมป์ตรงๆ ด้วยการเปลี่ยนไปชมลูกๆ ของเขาแทน ขณะที่ทรัมป์มาเหนือความคาดหมายด้วยการชมฮิลลารีในฐานะ “She’s a fighter”

ทำไมการชื่นชมฮิลลารีด้วยคำว่า ‘fighter’ จึงเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย?

หนึ่ง เพราะสิ่งที่แคมเปญหาเสียงของฮิลลารีพยายามนำเสนอต่อสาธารณชนตลอดการเลือกตั้ง คือการนำเสนอภาพลักษณ์ของเธอผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะคลิปสั้นๆ ทางโลกออนไลน์ว่า

“เป็นระยะเวลามากกว่า 40 ปีแห่งการรับใช้สาธารณชนผ่านอาชีพต่างๆ ฮิลลารี คลินตัน ได้สู้เพื่อเด็กๆ และบรรดาครอบครัว ซึ่งต้องการนักสู้เพื่อพวกเขา เธอไม่เคยล้มเลิก เธอไม่เคยยอมแพ้ และคนอเมริกันก็ต้องการคนแบบเธอ” (ดูคลิป Fighter | Hillary Clinton ฉบับเต็มได้ที่ www.youtube.com/watch?v=l_GYGsIpP54 )

สอง เพราะว่าป้ายหาเสียงหลักที่ติดอยู่บนโพเดียมปราศรัยของฮิลลารีในทุกๆ เวทีในสนามการเลือกตั้งขั้นต้น ติดป้ายคำว่า ‘Fighting for Us’ หรือ ‘สู้เพื่อพวกเราทุกคน’

การที่ทรัมป์ชื่นชมฮิลลารีด้วยประโยคเดียวกับแคมเปญของเธอพยายามนำเสนอ จึงเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะยิ่งเป็นการตอกย้ำความเป็นยอดนักสู้ของฮิลลารี ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเมินได้ว่า ฮิลลารีจะไม่มีวันชื่นชมทรัมป์ในลักษณะเดียวกัน เห็นได้ชัดๆ จากการที่เธอเลี่ยงไปกล่าวชื่นชมลูกๆ แทนที่จะชื่นชมทรัมป์ ถึงความพยายามในการที่จะ ‘Make America Great Again’

ไม่ว่าทั้งคู่จะมีความจริงใจแค่ไหนกับการชื่นชมกันและกันหลังการดีเบตอันดุเดือด แต่นี่คือแบบแผนที่สำคัญของการเมืองอเมริกา โดยการแสดงความเคารพและชื่นชมคู่แข่งในทางการเมือง ซึ่งไม่เพียงเกิดขึ้นในเวทีดีเบตนี้ หรือระหว่างฮิลลารีและทรัมป์เท่านั้น แต่เกิดขึ้นมาโดยตลอดในการเมืองอเมริกา และยังเกิดขึ้นกับคู่แข่งขันหลายคู่ในทางการเมือง

เพราะนี่คือหนึ่งใน ‘วัฒนธรรมสำคัญ’ ในระบอบประชาธิปไตย!

Photo: Brian Snyder, Reuters/profile

ยกที่ 2: ฮิลลารี คลินตัน VS เบอร์นี แซนเดอร์ส

ย้อนกลับไปเมื่อการเลือกตั้งขั้นต้นอันร้อนแรงของพรรคเดโมแครตจบลง ในช่วงต้น ฝั่ง เบอร์นี แซนเดอร์ส ดูเหมือนจะไม่ได้ตัดสินใจประกาศถอนตัวและให้การสนับสนุนฮิลลารีในทันที แต่ลากเวลาสักระยะเพื่อต่อรองในทางการเมือง โดยเฉพาะเรื่องนโยบายที่เขาได้สัญญาไว้กับผู้สนับสนุน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ท่ามกลางความผิดหวังของผู้สนับสนุนจำนวนมาก เขาก็ประกาศต่อผู้สนับสนุนถึงการยอมรับในผลการเลือกตั้ง และยังโน้มน้าวให้ผู้สนับสนุนของเขาย้ายไปสนับสนุนฮิลลารีด้วย

“ผมมายืนที่นี่ เพื่อบอกให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ว่าทำไมผมถึงประกาศรับรอง ฮิลลารี คลินตัน และทำไมเธอจึงเหมาะสมที่จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ

“…อดีตรัฐมนตรีคลินตันได้รับชัยชนะในการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และผมขอแสดงความยินดีกับชัยชนะของเธอด้วย

“…ผมตั้งใจว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้แน่ใจได้ว่า เธอจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป”

ท่ามกลางเสียงโห่ร้องไม่ขาดสายของผู้สนับสนุนเบอร์นีในที่ประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นผลจากความผิดหวังที่เบอร์นีไม่ได้เป็นตัวแทนพรรค  ผู้สนับสนุนจำนวนไม่น้อยจัดกิจกรรมประท้วงกติกาของพรรค รวมทั้งเรียกร้องให้เขาตัดสินใจลงสมัครในนามผู้สมัครอิสระ

แต่ค่ำคืนนั้น เบอร์นีขึ้นปราศรัยในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ โดยพยายามอย่างมากเพื่อโน้มน้าวให้ผู้สนับสนุนของตัวเองเปลี่ยนใจไปสนับสนุนฮิลลารี

“ผมรู้จักฮิลลารี คลินตัน มาเป็นเวลากว่า 25 ปี ผมจดจำเธอในฐานะสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ ผู้ซึ่งทำลายกำแพงบทบาทของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งไปสู่การช่วยเหลือและต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประกันสุขภาพของชาวอเมริกัน”

“…ฮิลลารีจะเป็นประธานาธิบดีที่ยอดเยี่ยม และผมภูมิใจที่ได้ยืนเคียงข้างเธอในค่ำคืนนี้”

ขณะที่ในสุนทรพจน์ขานรับการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่ง ประธานาธิบดี ฮิลลารีไม่รีรอที่จะกล่าวยกย่องเบอร์นี รวมถึงผู้สนับสนุนของเขาด้วย

“ฉันต้องขอขอบคุณเบอร์นี แซนเดอร์ส เบอร์นี-การหาเสียงของคุณได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนอเมริกันหลายล้านคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ผู้ซึ่งได้ทุ่มเทหัวใจ และจิตวิญญาณให้กับการเลือกตั้งขั้นต้น คุณได้ใส่ใจนโยบายทางเศรษฐกิจและความยุติธรรมทางสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

“และสำหรับผู้สนับสนุนของเบอร์นี ทั้งที่อยู่ที่นี่ และทั่วประเทศ ฉันอยากให้พวกคุณได้รู้ ฉันพร้อมจะรับฟังพวกคุณเสมอ ปัญหาของคุณคือปัญหาของฉัน ประเทศของเราต้องการความคิด พลังงาน และความทุ่มเทจากพวกคุณ มันคือหนทางเดียวที่เราจะนำนโยบายที่ก้าวหน้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ เราเขียนนโยบายเหล่านั้นด้วยกัน และขณะนี้เราจะร่วมเดินทางและทำให้มันเกิดขึ้นไปด้วยกัน”

การประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ และประกาศรับรองสนับสนุนคู่แข่งขันฝ่ายตรงข้ามไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในที่สุดก็เกิดขึ้น

วิธีประเมินว่าสุนทรพจน์เหล่านี้สำคัญอย่างไร และมากแค่ไหนในทางการเมือง อาจต้องลองประเมินจากสถานการณ์ประมาณนี้ เช่น ถ้าเบอร์นีไม่ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ แต่ดึงดันลงสู่สนามเลือกตั้งในนามผู้สมัครอิสระจะเกิดอะไรขึ้น? แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อเอกภาพของพรรค และอาจส่งผลให้ฮิลลารีแพ้การเลือกตั้งระดับชาติไปโดยปริยาย เพราะเบอร์นีมีฐานเสียงที่กว้างขวางมาก เห็นได้จากการที่เขาได้รับคะแนนเสียงในรอบการเลือกตั้งขั้นต้นไปถึง 13 ล้านเสียง ได้รับชัยชนะในสนามเลือกตั้งถึง 22 รัฐ และถือยอดรวมเดเลเกต (delegate) กว่า 1,900 เสียง

หากมองในแง่นี้ สุนทรพจน์สำหรับแสดงการยอมรับความพ่ายแพ้ในทางการเมือง รวมถึงสุนทรพจน์เพื่อยกย่องศัตรูทางการเมืองจึงสำคัญพอกัน!!

Photo: John Gress, Reuters/profile

ยกที่ 3: ฮิลลารี คลินตัน VS บารัก โอบามา

กว่าฮิลลารีจะได้ยืนบนเวทีและประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งขั้นต้น จนได้เป็นตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2016 เมื่อ 8 ปีก่อน เธอก็ผ่านการประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ และประกาศรับรอง (Endorsement) จากบารัก โอบามา มาแล้ว

เมื่อย้อนดูสุนทรพจน์ การประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ของฮิลลารีในครั้งนั้น จะเห็นได้ทันทีเลยว่า มีลักษณะเหมือนกับสุนทรพจน์ที่เบอร์นีได้กล่าวไว้ในปี 2016 นั่นเอง

“หนทางที่จะต่อสู้ในขณะนี้ ที่จะเติมเต็มเป้าหมายต่างๆ ของเราก็คือ การที่พวกเราจะต้องทุ่มเทพลังงาน ความทุ่มเท ความแข็งแกร่งของเรา และทำทุกวิถีทางเพื่อให้ บารัก โอบามา เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯ

“วันนี้ฉันขอประกาศถอนตัวจากการหาเสียง เพื่อเป็นตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ฉันขอแสดงความยินดีกับโอบามาสำหรับชัยชนะและการหาเสียงอันวิเศษของเขา ฉันขอประกาศรับรองโอบามา และขอประกาศว่าจะให้การสนับสนุนเขาทุกวิถีทาง ฉันขอเรียกร้องให้พวกคุณร่วมกับฉัน ช่วยกันหาเสียงให้โอบามา เหมือนที่พวกคุณได้ช่วยกันหาเสียงให้ฉันมาโดยตลอด”

และเมื่อย้อนดูสุนทรพจน์ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งขั้นต้นของโอบามา ก็จะเห็นได้ทันทีเลยว่า มีลักษณะเหมือนกับที่ฮิลลารีกล่าวยกย่องเบอร์นีในปี 2016 นั่นเอง

“วุฒิสมาชิกฮิลลารีได้สร้างประวัติศาสตร์ในการหาเสียง ไม่ใช่เพียงเพราะเธอคือผู้หญิงที่สามารถประสบความสำเร็จในสิ่งที่ไม่เคยมีผู้หญิงคนใดประสบความสำเร็จมาก่อน แต่เพราะเธอคือผู้นำ ผู้ซึ่งได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนอเมริกันหลายล้านคน และเพราะความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญ ความมุ่งมั่นของเธอ เป็นสาเหตุให้เราสามารถยืนอยู่ ณ ที่นี่ ในค่ำคืนนี้ได้ …พรรคของเรา และประเทศของเรา ดีขึ้นกว่าเดิมก็เพราะฮิลลารี และผมเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้ ก็เพราะมีโอกาสได้แข่งขันกับ ฮิลลารี รอดแฮม คลินตัน”

ในสุนทรพจน์ขานรับเป็นตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โอบามาก็ยังย้ำอีกรอบว่า

“ให้ผมได้แสดงความขอบคุณไปยังผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ และได้เดินทางร่วมกับผมบนเส้นทางการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งมาไกลที่สุดในประวัติศาสตร์ เธอคือนักสู้สำหรับชาวอเมริกันหลายล้านคน เธอคือแรงบันดาลใจให้กับลูกสาวของผม และคนคนนั้นก็คือ ฮิลลารี รอดแฮม คลินตัน”

ยกที่ 4: จอห์น เอฟ. เคนเนดี VS ริชาร์ด เอ็ม. นิกสัน

ย้อนกลับไปเก่ากว่านั้น ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1960 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่สูสีที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อเมริกัน ระหว่าง จอห์น เอฟ. เคนเนดี กับรองประธานาธิบดี ริชาร์ด เอ็ม. นิกสัน ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าเคนเนดีเป็นฝ่ายชนะไปอย่างหวุดหวิด โดยผู้สนับสนุนนิกสันต่างเรียกร้องให้เขาประท้วงผลการเลือกตั้ง แต่นิกสันปฏิเสธ พร้อมกับบอกว่า

“ต่อให้เรามีชัยชนะในท้ายที่สุด… แต่ผลที่ออกมาในสายตาโลก และผลกระทบต่อระบบประชาธิปไตยโดยรวม ย่อมจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างแน่นอน”

นิกสันปฏิบัติหน้าที่ต่อในฐานะรองประธานาธิบดี และรายงานผลการเลือกตั้งว่าเคนเนดีเป็นฝ่ายชนะต่อวุฒิสภาอย่างเป็นทางการ

เขาย้ำในสุนทรพจน์ฉบับนั้นว่า “ไม่ว่าเราจะได้ต่อสู้อย่างทรหดเพียงใด ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาสูสีสักเพียงใด ผู้ที่พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งจะยอมรับผลการเลือกตั้งและให้การสนับสนุนผู้ชัยชนะ”

สุนทรพจน์เช่นนี้นั่นเอง ที่ช่วยทำให้เกิดการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ ในสถาบันประธานาธิบดี (ข้อมูลการเลือกตั้งในปี 1960 สามารถค้นได้ที่ หนังสือ มากกว่าการเลือกตั้ง – การถ่ายโอนอำนาจในประเทศประชาธิปไตย, จัดทำโดย สำนักงานสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ)

Photo: Jonathan Ernst, Reuters/profile

4 ปรากฏการณ์ระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ข้างต้น บอกอะไรกับเรา? และบอกอะไรกับสังคมไทย?

สังคมไทยยังขาดค่านิยมที่สำคัญต่อการมีอยู่ของประชาธิปไตยใช่หรือไม่?

เราขาดที่ยืนให้กับผู้พ่ายแพ้ในทางการเมือง โดยลืมไปว่าเราสามารถแสดงความเคารพและชื่นชมต่อศัตรูทางการเมืองของเราได้

และเป็นไปได้ไหมว่า ถ้าสุนทรพจน์สำหรับแสดงการชื่นชมคู่ต่อสู้ในทางการเมือง สุนทรพจน์สำหรับแสดงการยอมรับความพ่ายแพ้ สุนทรพจน์สำหรับแสดงการรับรองและสนับสนุนผู้ชนะอีกฝ่าย ถือเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองอย่างสันติ และช่วยลดความขัดแย้งทางการเมืองได้ในระดับหนึ่ง แต่สังคมไทยยังไม่เคยเดินไปถึงจุดนั้น เพราะวัฒนธรรมประชาธิปไตยว่าด้วยการยอมรับความพ่ายแพ้ และแสดงการยกย่องคู่ต่อสู้ในทางการเมืองยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม?

อย่างไรก็ตาม ในแวดวงการเมืองอเมริกันก็ใช่ว่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้สังคม จนไม่มีข้อบกพร่อง เพราะในดีเบตครั้งที่ 3 ทรัมป์ได้แสดงถึงความไม่รับผิดชอบ และทำลายวัฒนธรรมประชาธิปไตยในรอบ 240 ปีของอเมริกา

2 เหตุการณ์ต่อไปนี้ อาจส่งผลให้เกิดความยุ่งยากในการถ่ายโอนผ่านอำนาจอย่างสันติในอนาคต

หนึ่ง เมื่อผู้ดำเนินรายการถามทรัมป์ว่า เขาจะยอมรับผลการเลือกตั้งได้หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เขาได้ออกมาโจมตีว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีแต่การโกง

ทรัมป์เลี่ยงตอบเรื่องการยอมรับผลการเลือกตั้ง ไปสู่การตอบแบบแพ้ไม่เป็นว่า “ผมขอบอกพวกคุณตรงนี้เลยว่า… ผมจะทำให้ฮิลลารีแพ้ให้ได้” และยังย้ำว่า “การเลือกตั้งนี้มีการทุจริตของบรรดาสื่อมวลชน ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนใจของผู้เลือกตั้ง”

และทรัมป์ได้สรุปว่า “เป็นการเลือกตั้งที่มีกลโกง”

สอง ในการปราศรัยหลังการดีเบตครั้งที่ 3 จบลง ทรัมป์บอกกับผู้สนับสนุนว่า “ผมขอสัญญากับผู้ที่ตัดสินใจจะโหวตให้ผม ผู้สนับสนุนของผม และประชาชนทั้งสหรัฐฯ ว่า ผมจะยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้อย่างแน่นอน, ถ้าผมชนะ”

น่าติดตามต่อไปว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะจบลงด้วยการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติหรือไม่?

Tags: , , , ,