ถ้ามองย้อนกลับไปในปี 2016 หนึ่งในโมเมนต์ที่เราจดจำได้ดี และสร้างแรงบันดาลใจให้กับสังคมได้อย่างมากคือ โมเมนต์ที่ รศ. วราพร สุรวดี ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ตัดสินใจควักเงินส่วนตัว 20 ล้านบาท พร้อมเปิดระดมทุนเพิ่มเติมอีก 10 ล้านบาท เพื่อนำมาซื้อที่ดินข้างๆ พิพิธภัณฑ์ที่มีแผนจะสร้างอาคารสูง เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างที่เก่าแก่ของบ้านหลังนี้

แม้ในความเป็นจริงแล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งอาจารย์วราพรได้ยกให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้บริหารจัดการไปนับสิบปีแล้วก็ตาม

ในวันนี้เมื่อทราบข่าวว่าอาจารย์ประสบอุบัติเหตุ พลัดตกจากชั้น 2 ของที่พักซึ่งเป็นเรือนไม้ในรั้วเดียวกับพิพิธภัณธ์

The Momentum ได้หวนนึกถึงบทสนทนากับอาจารย์วราพรในวันเก่า วันที่อาจารย์ระดมทุนได้ครบ 10 ล้านบาท เพื่อรักษาชีวิตและลมหายใจของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตามที่ตั้งใจ

และเพื่อเป็นการสานต่อปณิธานของอาจารย์ที่ต้องการจะอนุรักษ์ภาพวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของชาวกรุงเทพฯ ในอดีต นอกจากเราอยากจะชวนผู้อ่านส่งกำลังใจให้อาจารย์หายป่วยโดยเร็วแล้ว เรายังอยากชวนคุณมาอ่านบทสัมภาษณ์ที่จะเปิดเผยทุกแนวคิด และปณิธานของอาจารย์ ที่ต้องการให้พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เป็นสมบัติของคนรุ่นหลังตราบนานเท่านาน

ใครๆ ก็บอกว่าเมืองไทยไม่ดี เอะอะอะไรก็ให้คนโน้นคนนี้เป็นคนจัดการ ทำไมถึงจะต้องเอาภาระไปให้คนอื่น เราไม่รู้จักทำกันบ้างหรือไง

ทำไมถึงยกบ้านหลังนี้ให้กับ กทม. และปัญหาที่ผ่านมาคืออะไร

ตอนแรกจะไม่ได้ยกให้ กทม. เพราะพอคิดว่าจะทำพิพิธภัณฑ์ก็นึกว่าจะยกให้กรมศิลปากร แต่กรมศิลป์ก็มีเงื่อนไขมาก เราก็เฉยๆ ไม่ได้เดือดร้อนอะไร พอดีไปเจอลูกศิษย์ เขาเป็นเลขาฯ ผู้ว่าฯ เขาก็บอกว่า กทม. มีโครงการทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นโครงการนำร่อง 4 แห่ง เราก็เข้าล็อกเขาพอดี เพราะตั้งใจว่าจะให้ที่นี่เป็นของนครต่อไป คุณเป็น กทม. เป็นนคร ถ้ารับแทนก็โอเคสิ

อาจารย์นึกว่าการให้ราชการเป็นสิ่งที่ดี เพราะเราเคยเป็นราชการ เราก็ไม่เคยคิดว่าจะทำให้กิจการที่เราเกี่ยวข้องมันเสื่อมโทรมเลยนะ ก็เลยให้ไปโดยไม่ได้คิดมาก เพราะคิดว่าเขาคงทำได้ดีกว่าเรา เพราะเขามีข้าราชการ มีอัตรา มีตำแหน่ง มีเงินเดือน เราจะได้อยู่ของเราสบายๆ ไปเที่ยวให้สบายๆ แต่ก็ปรากฏว่าการจัดการของเขาโอเค ระบบของเขาก็โอเค แต่เขาไม่มีบุคคลที่ดีพอ ไม่มีบุคคลที่รัก ที่เห็นว่าสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์

นั่นแหละคือจุดอ่อนของราชการ หลักการก็ดี แต่พอเปลี่ยนคน ทุกอย่างก็เปลี่ยน อาจารย์ก็รู้ว่ามันขึ้นกับบุคคล แทนที่จะขึ้นอยู่กับหลักการ แทนที่เขาจะตั้งกรรมการที่ดูแลเป็นเรื่องเป็นราว กลับส่งคนคนเดียวมาเป็นนายเรา

แต่ทำไมอาจารย์ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะเวลาใครมา พอมาถึงก็มาขอบคุณอาจารย์ บอกว่าอาจารย์เก็บไว้ดีมากเลย ทุกคนมาชมว่ามีความสะอาดอย่างมาก มาวันหนึ่งเป็นสิบคน แล้วมีคนในหน่วยงานราชการด่าอาจารย์อยู่คนเดียว เราก็เป็นปลื้มอยู่แล้ว

เวลาเด็กๆ มาก็จะบอกให้เขารู้นะว่า บ้านเมืองเราเราต้องรักษา ถ้าเผื่อไม่รักษาวันหน้าก็จะไม่มี แล้วก็จะบอกเขาเลยว่าพวกคุณเป็นเจ้าของนะ เพราะฉันให้คุณ ฉันไม่ได้ให้เขต ไม่ได้ให้ กทม. กทม. เป็นแต่เพียงหัวหน้าแม่บ้านของคุณเท่านั้น เพราะเขากินภาษีคุณ

สิ่งที่คาดหวังไว้ตั้งแต่ทีแรกคืออะไร

ระบบที่ถูกต้องคือราชการควรจะส่งคนมาดูแลช่วยสนับสนุนใช่ไหม สิ่งที่ดีเขาควรจะโปรโมต แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือเราเขียนรายงานก็แล้ว บอกปากเปล่าก็แล้วว่าบ้านมันกำลังจะพังนะ มีเสาอยู่ต้นหนึ่งที่ปูนมันกร่อนหลุดไปหมดแล้ว โครงสร้างจะเสียหายได้ พูดอยู่หลายครั้งก็ไม่มาดู แต่พอวันที่มีสื่อมาเต็มไปหมด มีเรื่องมีราว ผอ.  ก็เดินมาเป็นขบวนใหญ่ มาถามว่าอาจารย์ช่วยไปชี้ให้ดูหน่อยว่าตรงไหนที่ชำรุด น่ารำคาญไหม แล้วอาจารย์เป็นคนขี้รำคาญ ก็เลยบอกไปว่า ผอ. ทำไมต้องมาวันนี้ล่ะ  ตั้งนานที่มาได้ทำไมไม่มา ซึ่งความอาวุโสสามารถทำให้อาจารย์ทำได้

อาจารย์ก็มาคิดว่าทำไมเรายัวะ หรือโมโหขนาดนั้น คือบางทีเรายัวะเพราะมันเป็นเรื่องของหลักการ อาจารย์เป็นใคร เป็นครูวิทยาศาสตร์ ฉันจะไปรู้เรื่องโครงสร้างตึกเหรอ แต่คุณต่างหากที่มีหน้าที่หาผู้เชี่ยวชาญ หรือไปจ้างผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจ ถ้าเผื่อคุณรักที่จะรักษามัน ไม่ใช่พอถึงเวลาก็มาบอกว่าอาจารย์บอกทีว่าตรงไหนชำรุด แล้วฉันจะต้องรู้เหรอ ถ้าหลังคารั่วฉันจะต้องปีนไปชี้บอกคุณด้วยไหม คุณควรจะบอกด้วยซ้ำว่าของอาจารย์แย่แล้วนะ แล้วเขตก็ช่วยจัดการไป อาจารย์ก็จะสาธุด้วย

เสียดายไหมกับเงิน 30 ล้านบาทที่ใช้ซื้อที่ดิน ทั้งที่จริงๆ ได้ยกให้ กทม. ไปบริหารจัดการแล้ว

ที่ดินใหม่ก็เลยซื้อในนามมูลนิธิ มีคนถามว่าจะให้ กทม. อีกไหม ก็ไม่ให้แล้ว เพราะซื้อในนามมูลนิธิเราสามารถบริหารจัดการได้ง่ายกว่า ตอนนี้คนมาชมเยอะเลย เพราะบางทีเขาจะมาเป็นครอบครัว มาวันหยุด ส่วนใหญ่เขาก็ไปกินข้าว ช้อปปิ้ง แล้วแวะมาดูสิ่งที่มีสาระสักหน่อย เพราะฉะนั้นเขาต้องการที่จอดรถ แต่เดิมที่นี่มันไม่มีที่จอด แล้วจะให้เขาเอารถเร่ร่อนไปไหน หรือถ้าจะนั่งแท็กซี่ เขาก็มีลูกหลานอีนุงตุงนังกว่าจะมาถึงได้ หาแท็กซี่กลับก็ลำบากอีก เราก็ช่วยทำที่จอดรถเพื่อทำให้ปู่ย่าตายายเขามีกิจกรรมทำร่วมกับลูกหลาน มาดูที่นี่เพื่อเตือนความจำ ปู่ย่าตายายก็สามารถอธิบายได้ เพราะการที่คนเราแสดงให้เห็นว่าเขารู้ดีกว่าแก รู้ดีกว่าพ่อแก มันก็ทำให้เขามีคุณค่าขึ้นมาใช่ไหม ฉะนั้นลูกหลานก็จะได้คิดว่าปู่ย่าตายายยังสมาร์ตอยู่นะ ไม่ได้เป็นยายแก่โง่เขลาขอลูกกินไปวันๆ มันก็ช่วยสังคม คงไม่ได้เป็นเงินหรอก เพราะเราก็ไม่ได้เก็บเป็นเงินอะไร แต่มันมีอะไรอื่นๆ อีกเยอะแยะที่จะได้ พูดง่ายๆ คือมันฟื้นฟูจิตใจ บางคนเป็นคนแก่ได้มาดูก็ดีอกดีใจ เพราะครั้งหนึ่งเขาโดนไล่ที่ สมัยก่อนบ้านเขาเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องพวกนี้ก็ทำให้อาจารย์รู้สึกว่าที่เราทำอยู่ก็คุ้มนะ เราไม่ได้นึกมุมนี้ตอนทำพิพิธภัณฑ์ใหม่ๆ นึกแค่ว่าให้คนมาดูของแปลกๆ แต่พอถึงเวลาจริงๆ มันก็ได้เรื่องพวกนี้ด้วย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

ทั้งตรอกนี้เดิมทีก็เฉยๆ เพราะเราเป็นคนชาวกรุงฯ เจอกันก็ยิ้มๆ แล้วจบไป แต่พอเราทำที่นี่เขาก็รู้ว่าเราทำ เขาก็สนับสนุน มีแต่ความเคารพ ทักทาย จะไปทางไหนก็รู้จักหมด ขนาดอาจารย์ไปนั่งวินมอเตอร์ไซค์เขาก็ไม่ยอมเก็บสตางค์ นั่งรถใต้ดินยังเจอคนมาขอเซลฟี่ด้วย แสดงว่าสิ่งที่ทำมันคุ้มแล้ว ไม่น่าเชื่อนะ สำหรับชีวิตคนหนึ่ง เราก็อยู่ธรรมดา เพราะเราเป็น third generation ไม่ได้มีความขวนขวายใดๆ มีเงินใช้ตลอดชีวิต ไม่เดือดร้อนก็พอใจแล้ว ตายก็ตาย เผาก็เผา ญาติพี่น้องก็แบ่งเงินแบ่งทองกันต่อไป แต่สิ่งเหล่านี้เราได้มาแบบที่เราไม่เคยคิดมาก่อน แค่คิดว่าคนอื่นจะได้เห็นบ้าง รู้จักกันก็คุยกันบ้าง

กังวลไหมว่าต่อไปพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะไม่เหมือนเดิมเมื่อเวลาผ่านไป

คนรุ่นหลังต้องมาเป็นคนให้คำตอบสิ ถ้าอยากให้มันอยู่ พ่อแม่เขาก็ต้องดูแล ตัวเขาเองก็ต้องดูแลต่อ เพราะฉะนั้นจะอยู่หรือไม่อยู่ อาจารย์ก็ไม่ไปกังวลแล้ว เพราะทำดีที่สุดแล้ว ถ้าเผื่อไม่เก็บ พวกคุณก็ไม่มีให้ดู แล้วทำไมอาจารย์ถึงจะต้องเดือดร้อน ในเมื่อพวกคุณทำให้มันไม่มีเอง หรือใครล่ะที่ทำให้ไม่มี คุณจะปล่อยให้เขาทำไหม ถ้าคุณปล่อยให้เขาทำก็เป็นเรื่องของคุณ

อย่างคุณมาสัมภาษณ์ เก็บไว้ 30 ปี อ่านไปตอนคุณแก่หง่อม สรุปว่าเขารื้อพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว ก็เมื่อเขารื้อไปแล้วก็แล้วไป เราจะไปทำอะไรได้ ถ้าเผื่อคุณไม่ลุกขึ้นมาบอกว่าเมื่อก่อนผมเคยมา อาจารย์เคยพูดไว้อย่างนี้ พยากรณ์ไว้อย่างนี้แล้ว

ถ้าเวลาผ่านไปพิพิธภัณฑ์ถูกรื้อ มีคนมาบอกว่าอาจารย์คงนอนไม่หลับ สะดุ้งอยู่ในหลุม ซอรี่นะ เธอสิต้องสะดุ้ง ฉันต้องสะดุ้งเหรอ คุณไม่สะดุ้ง แต่ดันมาบอกว่าอาจารย์จะต้องสะดุ้งอยู่ในหลุม ทั้งๆ ที่คุณยังเป็นๆ แต่คุณปล่อยให้มันเกิด แล้วคุณไม่สะดุ้งก็เป็นเรื่องของคุณใช่ไหม พวกคุณไม่ทำอะไร ไม่มีใครลุกขึ้นมาทำอะไรก็แล้วไปสิ คุณจะมาเกี่ยงให้อาจารย์นอนสะดุ้งอยู่ในหลุมทำไม ในเมื่ออาจารย์ก็ทำหน้าที่ของตัวเองเสร็จบริบูรณ์แล้ว แล้วคุณมีชีวิตอยู่คุณไม่สะดุ้งล่ะ

ทำไมมานึกถึงมุมของอาจารย์ คุณต้องนึกถึงมุมของตัวคุณสิ ที่คุณจะทำยังไงให้ประเทศนี้ บ้านเมืองนี้บ้าง มาบอกให้อาจารย์ทำ แล้วคุณล่ะทำเองไม่ได้เหรอ คุณทำแม้แต่นิดหนึ่งก็ไม่ได้เหรอ คุณคิดว่าคุณไม่มีอะไรจะทำได้เลยเหรอ

เพราะฉะนั้นจะมาหวังอะไรกับคนอื่น ใครๆ ก็บอกว่าเมืองไทยไม่ดี เอะอะอะไรก็ให้คนโน้นคนนี้เป็นคนจัดการ ทำไมถึงจะต้องเอาภาระไปให้คนอื่น เราไม่รู้จักทำกันบ้างหรือไง คือตัวเองไม่ทำ แต่อยากให้คนอื่นเขาทำ เห็นแก่ตัวมากกว่า

ทำไมคุณไม่คิดล่ะว่าในเคสเดียวกันนี้คุณจะทำอะไรได้บ้าง ถ้าเผื่อคุณคอยติดตามข่าวเรื่อยๆ พอเขาจะทำอะไรกับพิพิธภัณฑ์นี้ คุณก็ออกข่าวไป คนเขาก็จะต้องมาช่วยคุณไหม ถ้าเผื่อไม่มีใครมาช่วย คุณก็ได้ทำหน้าที่ของคุณสุดฤทธิ์สุดเดชแล้ว คุณก็ต้องปล่อยให้มันแล้วกันไป

ในฐานะประชาชนทั่วไป ถ้าเห็นความผิดปกติในสังคม เราจะทำอะไรได้บ้าง

กลวิธีแต่ละยุคแต่ละสมัยก็แตกต่างไป คุณอาจจะลุกขึ้นมาเดินถือป้ายก็ได้ มันก็ต้องมีใครที่ทำสักคน แต่ถ้าเผื่อไม่มีคนทำ กรุงศรีอยุธยาไร้คนดีมันก็ล่มสลาย คุณก็กลายเป็นขี้ข้าต่างชาติไป ก็ตามใจคุณสิ เราจะไปห้ามได้ยังไง

แต่ถ้ามีใครคนหนึ่งลุกมา คนอื่นก็ต้องลุกตาม อย่างที่อาจารย์ลุกขึ้นมาก็ไม่ใช่ว่าอาจารย์พิเศษอะไรหรอกนะ แต่อาจารย์ในฐานะที่อยู่ที่นี่ อาจารย์เห็นอยู่ทุกวัน ก็เลยลุกขึ้นมาบอก สื่อก็บอกต่อ คนอื่นก็รู้ต่อ ทุกคนก็ช่วยกัน สุดท้ายก็ได้เป็นผลสำเร็จ ถ้ามัวแต่คิดว่าจะต้องช่วยคนเดียว 10 ล้านมันก็ไม่สำเร็จใช่ไหม ก็ลุกขึ้นมาช่วยกันสิ บ้านเมืองก็ของคุณเหมือนกันนี่หว่า

อาจารย์จะไม่บอกว่ามาที่นี่แล้วคุณจะได้รู้จักบ้านเมืองคุณดีขึ้นนะ
เพราะมันไม่มีประโยชน์ เพราะคุณจะไม่ได้ไตร่ตรอง การสอนที่เลวที่สุด
​นั่นคือการบอกว่าเธอมาพิพิธภัณฑ์นี้สิ เธอจะได้รู้ว่าบ้านเมืองเราเป็นอย่างไร

ที่ผ่านมาเราขาดคนที่จะลุกขึ้นมาเป็นคนแรกหรือเปล่าในหลายๆ กรณี

ก็ไม่ทราบได้ แต่ที่อาจารย์ลุกขึ้นมาก็ถือเป็นโอกาสที่ดี อาจารย์ลุกมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งก็ไม่นึกว่าลุกมาแล้วจะได้เสียงตอบรับขนาดนี้ เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นตัวอย่างว่า ถ้าเผื่อว่ามีคนลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่เอื้อต่อความเป็นชาติของเราต่อไปได้ คนอื่นก็จะต้องลุกตาม อย่างเรื่องนี้ก็มีคนลุกตามเป็นแสนๆ อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้มีอิทธิพลอะไร แต่สามารถทำเงินได้ 10 ล้าน ภายใน 2 สัปดาห์ ก็ทำไปตามกำลังของเรา ต่อจากนี้ก็จะต้องมีกิจกรรมต่อเนื่องไป ก็จะมีหนุ่มๆ สาวๆ เข้ามาช่วย เพื่อที่จะได้รักษาความคึกคักของพิพิธภัณฑ์ให้มันอยู่ไปได้นานๆ

การมองย้อนกลับไปในอดีตผ่านบ้านเรือนและสิ่งของเก่าๆ เป็นการสอนอะไรเราบ้าง

มันก็สอนเราว่าเขาอยู่กันยังไง มีชีวิตยังไง ก็ต้องดูของเป็นชิ้นๆ ไป อย่างเช่น เรามีกะลาใบหนึ่ง เขาเจาะรูไว้อย่างดีเลย ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าเจาะไว้ทำไม ตอนหลังก็เพิ่งเก็ตว่านี่เป็นกระชอนสำหรับคั้นกะทิ เราก็ได้รู้ความเป็นมาของสิ่งเหล่านี้

หรือมีอยู่ครั้งหนึ่ง คุณอมเรศ ศิลาอ่อน เขาก็มาโวยวายว่า อาจารย์ ปิ่นโตอันนี้ดีจัง เราก็นึกในใจว่ามันดียังไงนะ เพราะมันก็แค่ปิ่นโตใหญ่ๆ ถ้าไปเที่ยวแล้วเอาปิ่นโตนี้ไปใบเดียวก็น่าจะดี เพราะไม่ต้องถือกันอีนุงตุงนัง ใส่อาหารได้ 5 อย่างครบเลย แต่คุณอมเรศเธอบอกว่า นี่มันบ่งบอกว่าชาติเรานี้ได้มีการโลหะวิทยาที่ดี เพราะเขาเรียนมาทางด้านโลหะวิทยา เขาบอกว่าการทำภาชนะโลหะขนาดใหญ่ได้ มันส่อถึงว่าเรามีเทคนิคที่ดีมาตั้งแต่สมัยโบราณ นี่เป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้นของชิ้นอื่นๆ ก็อาจจะมีแง่มุมอื่นๆ ที่เราไม่รู้เหมือนกัน ส่วนใหญ่อาจารย์ก็จะบอกว่าใครจะดูอะไรก็ขอให้ดูเถอะ ไม่รู้นะว่ามันจะไปดลใจใครในของชิ้นไหน

หรือการดูสิ่งของเหล่านี้จะทำให้เรารู้จักรากเหง้าของตัวเองดีขึ้น?

อันนี้คุณว่าเองนะ อาจารย์จะไม่บอกว่ามาที่นี่แล้วคุณจะได้รู้จักบ้านเมืองคุณดีขึ้นนะ เพราะมันไม่มีประโยชน์ เพราะคุณจะไม่ได้ไตร่ตรอง การสอนที่เลวที่สุด นั่นคือการบอกว่าเธอมาพิพิธภัณฑ์นี้สิ เธอจะได้รู้ว่าบ้านเมืองเราเป็นอย่างไร อย่างที่คุณพูดสรุป นั่นคือการสอนที่ไม่ดี และเป็นการสอนที่ใช้ระบบท่องจำ เพราะฉะนั้นอาจารย์จึงจะต้องพยายามระงับจิตใจไม่อธิบาย หรือบอกข้อสรุป

อาจารย์จะบอกแต่เพียงให้คุณมา ให้คุณสังเกต พิจารณา คุณจะเกิดความคิดอะไรก็ตามใจ เพราะเป็นสิทธิของคุณ คุณอาจคิดว่าคนสมัยก่อนเชย คนสมัยนี้เก๋กว่าก็ได้ จะคิดยังไงก็ได้ ไม่เป็นไร

ความสุขของอาจารย์ในวันนี้คืออะไร

ก็ทำแบบนี้มั้ง เพราะอาจารย์เป็นครู การได้สร้างความคิดดีๆ ขึ้นมาให้คนได้  อาจารย์ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของเราตั้งแต่เราเป็นครู ถึงเราจะออกจากงานแล้ว ไม่ได้สอนโดยตรง ถ้าเผื่อเรามีโอกาส ก็ถือว่าโชคดีที่อาจจะได้สร้างข้อคิดประหลาดๆ สร้างมุมมองแปลกๆ ให้เด็ก ให้คนรุ่นใหม่คิดบ้าง ไม่อยากให้ตีบอยู่ในกรอบ หรือให้มาพิพิธภัณฑ์เพื่อจะบอกว่าคุณจะได้อะไรบ้าง 1 2 3 4 หรือบอกว่าการเป็นเด็กดีเป็นอย่างไร มันไม่ใช่คำตอบ ก็จะกลายเป็นท่องจำแล้วลืมไป เพราะฉะนั้นเป็นเด็กดีหรือเปล่าไม่รู้ แต่ถ้าถามว่าเป็นดีคืออะไร คุณตอบได้ นี่แหละคือหน้าที่ของครูรุ่นเก่าที่ต้องมาช่วยกัน

 

ถ่ายภาพโดย วรรษมน ไตรยศักดา

Tags: ,