‘เด็กคืออนาคตของชาติ’
ประโยคนี้ดูจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้าที่จะต้องแบกภาระเลี้ยงดูผู้สูงอายุที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
ดังนั้นเด็กในวันนี้จึงกลายเป็นประชากรที่สำคัญของประเทศ ซึ่ง ‘เด็กปฐมวัย’ เป็นวัยแห่งการเรียนรู้และเสริมสร้างพัฒนาการ และจำเป็นจะต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อจะได้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
แต่ปัญหาคือ เมื่อดูจากผลวิจัยเกี่ยวกับปัญหาที่ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในประเทศไทย ก็พบว่า
เด็กไทยไอคิวต่ำ ได้รับการเลี้ยงด้วยนมแม่น้อยที่สุดในอาเซียน
คณะผู้วิจัยสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย (Future Innovative Thailand Institute หรือ FIT) เปิดเผยผลวิจัยเกี่ยวกับปัญหาที่ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัย (อายุต่ำกว่า 6 ปี) ในประเทศไทย พบว่า
1. เด็กไทยไอคิวต่ำ โดยไอคิวเฉลี่ยของนักเรียนไทยทั่วประเทศ ใน พ.ศ. 2554 อยู่ที่ 98.59 และลดต่ำลงเหลือ 93.1 ใน พ.ศ. 2557 โดยพบเด็กไทยมีไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ (IQ < 90) สูงถึงร้อยละ 34.9 ซึ่งค่ากลางมาตรฐานสากลจะอยู่ที่ 100
2. ประเทศไทยลงทุนกับการศึกษาระดับปฐมวัยน้อยที่สุด คือ 23,282 บาท/คน/ปี เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ที่มีการลงทุน 37,194 บาท และ 26,332 บาท ตามลำดับ
3. มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นระยะเวลา 6 เดือน เพียง 23.1% ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน
4. หญิงตั้งครรภ์จำนวน 47.6% มีระดับไอโอดีนในปัสสาวะต่ำกว่ามาตรฐาน คือต่ำกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการพัฒนาสมองและไอคิวของเด็กไทย
5. มีเด็กได้รับสิทธิ์จากโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเพียง 1 แสนคน คิดเป็นจำนวน 2% เท่านั้น
6. สิทธิ์การลาคลอดของประเทศไทยอยู่ที่ 12 สัปดาห์ ขณะที่ประเทศในกลุ่ม OECD (เช่น อเมริกา อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี) จะอยู่ที่ 50 สัปดาห์
7. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ได้รับการประเมินว่าดีและดีมากมีเพียง 40.4% เท่านั้น
8. มีเด็กที่ได้อยู่กับพ่อและแม่เพียง 62% ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพ่อแม่ทำงานอยู่คนละจังหวัดจำนวน 49% และพ่อแม่แยกทางกัน 32% ส่งผลให้มีเด็กที่อยู่กับผู้สูงอายุสูงถึง 1.4 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ
จากปัญหาทั้ง 8 ข้อ สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทยจึงได้เสนอนโยบายในการแก้ไขและพัฒนาการดูแลเด็กปฐมวัยในประเทศไทย 3 เรื่อง ดังนี้
1. ตั้งงบประมาณโครงการเงินอุดหนุนเป็น 4,796,555,214 บาทต่อปี
2. เพิ่มจำนวนสิทธิ์การลาคลอดจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน ใช้งบประมาณ 3,220,818,750 บาทต่อปี
3. พัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเพิ่มทักษะการคิดวิเคราะห์ให้กับเด็กปฐมวัย ใช้งบประมาณ 15,306,535,000 บาทต่อปี
ถึงแม้ตัวเลขงบประมาณที่ใช้ในการพัฒนาเด็กจะดูมีมูลค่าสูง แต่ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เนื่องจากในอนาคตเด็กเหล่านี้จะเติบโตมาเป็นประชากรที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ
หากนโยบายเหล่านี้สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง อนาคตของชาติไทยอาจจะดูไม่ริบหรี่อย่างที่คิดก็ได้
ภาพประกอบ: Karin Foxx
อ้างอิง: ข้อมูลจากทางสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย (FIT)
Tags: research, ChildrenDay, IQ