‘ความรัก’ ของชาว LGBT (เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล ทรานส์เจนเดอร์) เป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกตีตราว่า ‘แปลกแยก’

ความรักของพวกเขาและเธอเหมือนหรือแตกต่างจากคนรักต่างเพศอย่างชายหญิงอย่างไร? จะหดหู่ สิ้นหวัง หรือชวนจิ้นเหมือนในซีรีส์หรือไม่?

The Momentum ขอชวนคุณร่วมค้นหาความหมายของ ‘รัก’ ที่งาน Pride ซึ่งเปรียบเสมือนพื้นที่ปลอดภัยของชาว LGBT และคนที่สนับสนุน รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างให้พวกเขาแสดงตัวตน และสร้างความตระหนักต่อสังคมถึงการมีอยู่ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศผ่าน 3 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ Viet Pride โฮจิมินห์ เวียดนาม, Metro Manila Pride ฟิลิปปินส์ และ Pink Dot สิงคโปร์

หลายคนที่มางาน Pride บางคนอาจยังไม่ได้ ‘เปิดตัว’ ต่อที่บ้าน บางคนยังไม่มี ‘คำนิยาม’ ตีตราตัวเอง แต่ก็ยินดีปรากฏตัวในสื่อกับเรา เพื่อแชร์มุมมองของตัวเองผ่านคำถามที่ว่า

“รักคืออะไร?”

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในปี 2010 ที่มีกลุ่มคนปั่นจักรยาน (Bike Rally) ในกรุงโฮจิมินห์ ออกมาปลุกกระแสให้ผู้คนออกมาแสดงจุดยืนในประเด็นความหลากหลายทางเพศ จากนั้นปี 2012 ฮานอยจึงเริ่มจัดงาน Pride เป็นครั้งแรก

ขณะที่เมืองหลวงทางใต้ของเวียดนามอย่างโฮจิมินห์ได้จัดงานนี้เป็นปีที่ 3 เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แม้ว่าจะถูกรัฐแทรกแซง แต่สุดท้ายพลังของมวลชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ก็ทำให้งานนี้สำเร็จลุล่วง

“รักคือเวลาที่คุณลืมว่าตัวเองเป็นใคร ลืมอีโก้ที่คุณมี แล้วใช้ใจกับความรักที่คุณให้คนอื่น รู้สึกถึงคนอื่นมากขึ้น” Huy (29 ปี)

“รักคือความเชื่อมโยงระหว่างผู้คน รักมีหลากหลายรูปแบบ กว้างใหญ่เปรียบดังจักรวาล คนเราควรได้รับความรักอย่างปราศจากเงื่อนไข และดูแลกันด้วยความห่วงใย” Nga L.H. Nguyen (27 ปี)

“รักคือความรู้สึกต่อบุคคล ไม่ว่าเขาจะเป็นเพศอะไรก็ตาม” Bil Le (20 ปี)

“รักนั้นไม่มีขอบเขต รักไม่ตีตราคน รักคือน้ำใจ ความภูมิใจ ความกล้าหาญ รักคือทุกอย่าง” Nghi Tran (22 ปี)

Manila Metro Pride

“เปิดใจรับความรัก แล้วพระเจ้าจะรักคุณ” เสียงตะโกนดังขึ้นข้างสวน Luneta Park ศูนย์กลางของกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก หลังมีชาย 2 คนมาป่วนขบวนปีที่ 22 ของงาน Manila Pride March โดยถือป้ายพร้อมข้อความ ‘Jesus Saves from Hell’ พร้อมตะโกนใส่ขบวนที่มีชาว LGBT และผู้สนับสนุนนับพันคนว่า “การรักเพศเดียวกันเป็นบาป”

ในขณะเดียวกัน ระหว่างขบวนก็มีกลุ่มคนใส่เสื้อขาวพร้อมป้ายข้อความขอโทษจากตัวแทนโบสถ์ ‘พระเจ้ารักคุณ พวกเราเองก็เช่นกัน’ ‘ขอโทษสำหรับสิ่งที่โบสถ์ได้กระทำต่อคุณ’ และ ‘ความรักของพระผู้เป็นเจ้านั้นเข้มแข็งกว่าความเกลียดชัง’

 “รักคือการยอมรับคนอื่นในสิ่งที่เขาเป็น ไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือการตัดสินเขาจากภายใน เพราะรักคือรัก” Krista Garnace (19 ปี)

“ความรักเป็นภาษาสากล ทุกคนรู้จักและรู้สึกถึงมัน โดยที่ความรักไม่ได้บังคับให้คุณเป็นคนอื่น เพียงแต่คุณต้องเป็นตัวของตัวเองก็จะรู้สึกถึงความรัก” Scott Tiogangco (21 ปี)

Pink Dot, Singapore

ณ สวน Hong Lim Park สวนขนาดเล็กระหว่างสถานี Chinatown และ Clarke Quay ถูกใช้เป็นพื้นที่ปลอดภัยในงาน Pink Dot ซึ่งเป็นการรวมตัวของชาว LGBT ในสิงคโปร์มายาวนานกว่า 8 ปี และเป็นหนึ่งในงาน Pride ที่อยู่ในรูปแบบการรวมตัว เพราะไม่สามารถจัดเดินขบวนได้เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมาย โดยเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้คนนับหมื่นได้สวมเสื้อสีชมพูเพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนในความรักที่ ‘แปลกแยก’ ในสายตาของรัฐ

“รักคือสิ่งที่ทุกคนสมควรได้รับ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร แต่ก็อย่าลืมว่าต้องรักตัวเองด้วย” Xin (23 ปี)

“ฉันเองก็เฝ้าถามตัวเองทุกวันนี้ ‘รักคืออะไร?’ มันยากมากๆ แต่ฉันคิดว่าคุณจะรู้ว่าคุณรักใครสักคนเมื่อคุณอยากทำทุกอย่างเพื่อเขา ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม” Nicole (23 ปี)

“รักก็แค่รัก” Kody (19 ปี) และ Nanz (17 ปี)

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , ,