นอกจาก ฮารูกิ มูราคามิ ก็เป็นเรื่องยากพอสมควรที่จะนึกถึงชื่อนักเขียนญี่ปุ่น เพราะที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้สัมผัสวรรณกรรมญี่ปุ่นมากเท่าไหร่นัก อาจด้วยตลาดที่เล็กจนแทบไม่มีใครกล้าทำ แต่การเกิดขึ้นของสำนักพิมพ์ JLIT ก็ได้มาเปลี่ยนบรรยากาศเก่าๆ ด้วยการยืนยันความชัดเจนด้วยการจัดพิมพ์เฉพาะวรรณกรรมคลาสสิกญี่ปุ่น ซึ่งเราจะพาไปพูดคุยกับ อรรถ บุนนาค หนึ่งในผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ ที่ไล่ตาม passion บนความเป็นไปได้แห่งนี้

สำนักพิมพ์ของเรา ไม่ได้ทำเพื่อกำไรที่มากมาย นี่เป็นโมเดลที่เราคิดตามแบบของเรา
ซึ่งต้องบอกว่าก็ต้องเป็นคนที่มีความดันสูงในระดับหนึ่งที่อยากจะทำด้วย

 

Japanese Literature

เราพยายามคิดคอนเซปต์ของสำนักพิมพ์ JLIT ให้มีความรัดกุมที่สุด เนื่องจากเราอยากให้มีงานวรรณกรรมญี่ปุ่นดีๆ ในไทย เพราะในเวลานี้หนังสือแปลญี่ปุ่นเริ่มติดตลาดแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นวรรณกรรมแบบ Popular Literature ซึ่งผลงานวรรณกรรมคลาสสิกขึ้นหิ้งของญี่ปุ่นจริงๆ ไม่ค่อยได้รับการพิมพ์ หรือถ้ามี 80-90% ก็แปลจากภาษาอังกฤษ มีน้อยมากที่แปลจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น พวกเราเลยคิดว่าในฐานะที่อยู่ในวงการนี้ แล้วเราเองเป็นทั้งนักแปล และคนหาต้นฉบับ ก็เลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้นเรามาทำสำนักพิมพ์ที่พิมพ์งานวรรณกรรมญี่ปุ่นกันแบบเพียวๆ เลยดีไหม

 

การทำธุรกิจไม่มีเวลาให้โลกสวย

บอกตรงๆ ว่าเราเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็กและมีเงินทุนต่ำ ดังนั้นจึงพยายามทำทุกวิถีทางที่จะลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด ก็ใช้วิธีการลงแรงมากกว่าลงเงิน ทีมงานของเราจึงมีนักแปลและหุ้นส่วนแค่ 3 คน แล้วก็ผลัดกันทำงาน เวลาคนไหนแปลก็จะให้อีกคนอีดิต หรือเวลาที่เราคัดเลือกเรื่องก็จะมานั่งคุยกันว่าจะเอาเรื่องอะไร ซึ่งเราจะเน้นการนำวรรณกรรมคลาสสิกขึ้นหิ้งต่างๆ มาแปล เพราะส่วนใหญ่ก็จะหมดลิขสิทธิ์ไปแล้ว ทำให้เราไม่ต้องมีต้นทุนในการซื้อ ซึ่งในโลกการทำธุรกิจเราจะคิดแบบโลกสวยไม่ได้ อย่างสำนักพิมพ์ของเราบอกเลยว่าก็ไม่ได้ทำเพื่อกำไรที่มากมาย นี่เป็นโมเดลที่เราคิดตามแบบของเรา ซึ่งต้องบอกว่าก็ต้องเป็นคนที่มีความดันสูงในระดับหนึ่งที่อยากจะทำด้วย

แม้จะเป็นของใหม่ที่เขาเองไม่เคยลิ้มรสก็ตาม เขาก็จะมีความรู้สึกท้าทาย อยากผจญภัยที่จะทดลองอ่าน

 

มองกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน

ในวันที่เริ่มต้น เรามองเห็นกลุ่มผู้อ่านของหนังสืออยู่แล้วว่าเป็นใคร แม้อาจจะเป็นนักอ่านกลุ่มเล็กๆ แต่เรารู้เลยว่าในกลุ่มคนที่สมมติว่ามีสักสองพันคน ทั้งหมดนี้จะซื้อหนังสือของเราแน่ๆ และสิ่งหนึ่งคือเราเห็นว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีพื้นฐานการอ่านที่แข็งแรง มีไลฟ์สไตล์ในการอ่านหนังสือได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว และคนกลุ่มนี้มักไปซื้อหนังสือตามร้านหนังสือเล็กๆ ซึ่งเป็นคนวรรณกรรมจริงๆ และถ้ามีวรรณกรรมดีๆ ออกมา ถึงแม้จะเป็นของใหม่ที่เขาเองไม่เคยลิ้มรสก็ตาม เขาก็จะมีความรู้สึกท้าทาย อยากผจญภัยที่จะทดลองอ่าน

สิ่งพิมพ์ยังไม่ตาย แต่คนที่ตายคือคนที่ไม่ปรับตัวต่างหาก

 

สิ่งพิมพ์ยังไม่ตาย

ในวันที่เราบอกว่าจะเปิดสำนักพิมพ์ เพื่อนและคนรอบตัวก็ตกใจว่าจริงเหรอที่จะเปิดสำนักพิมพ์ในยุคที่คนปิดกันระนาว แต่เราขอบอกเลยว่าสิ่งพิมพ์ยังไม่ตาย แต่คนที่ตายคือคนที่ไม่ปรับตัวต่างหาก ทุกคนหรือนายทุนต่างตื่นตระหนกว่าทุกอย่างย้ายไปอยู่ดิจิทัลหมดแล้ว แต่ถ้าถามว่าแล้วดิจิทัลโมเดลของคุณคืออะไร เขาก็ตอบไม่ได้ สำหรับเราคิดว่าตัวเองควรอ่านทุกอย่าง ฟังทุกอย่าง แต่ต้องตัดสินด้วยตัวเอง เอาสิ่งที่ได้รับทั้งหมดมาชั่ง และจะต้องเตรียมใจรับสิ่งที่ต้องเจอ

เราว่าคนที่จะอยู่ในวงการหนังสือได้ ต้องอยู่ด้วย passion คุณต้องรู้สึกว่าคุณอยากทำหนังสือ
แล้วก็ทำมันอย่างร่วมสมัย ต้องไม่เป็นคนเชย หรือถ้าคุณจะเป็นคนเชยก็ได้ แต่ต้องมีแนวทางที่ชัดเจน

 

อยู่ได้ด้วย Passion

เราว่าคนที่จะอยู่ในวงการหนังสือได้ ต้องอยู่ด้วย passion คุณต้องรู้สึกว่าคุณอยากทำหนังสือ แล้วก็ทำมันอย่างร่วมสมัย ต้องไม่เป็นคนเชย หรือถ้าคุณจะเป็นคนเชยก็ได้ แต่ต้องมีแนวทางที่ชัดเจน อย่างตอนนี้ที่ญี่ปุ่นตลาดนิตยสารเขาก็อยู่ได้ เพราะว่ามีการแบ่งกลุ่มเป้าหมายคนอ่านแบบยิบย่อยและชัดมาก เช่น นิตยสารผู้หญิงสำหรับคนที่บริโภคเรื่องแฟชั่นอายุระหว่าง 40-50 ปี หรือนิตยสารเกี่ยวกับผู้สูงอายุ คือในแวดวงสิ่งพิมพ์ของเราตอนนี้ยังแบ่งกว้างไป และไม่ได้เจาะกลุ่มตลาดได้ชัดขนาดนั้น

 

ทำสำนักพิมพ์ก็เหมือนการแต่งงาน

ถ้าพรุ่งนี้จะมีใครลุกขึ้นมาทำสำนักพิมพ์เล็กๆ แบบ JLIT เราแนะนำคำเดียวเลยว่า ทำเลย ไม่ต้องไตร่ตรอง (หัวเราะ) ถ้าไตร่ตรองแล้วคุณจะไม่ทำสำนักพิมพ์ เหมือนการแต่งงาน อย่าไตร่ตรอง อย่าคิดเยอะ กระโดดไปเลย ในอนาคตถ้าจะหย่าหรือเกิดอะไรขึ้นก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะถ้าทุกคนมัวแต่คิด จะไม่เกิดสิ่งใหม่ๆ หรือสำนักพิมพ์ใหม่ๆ เพราะทุกคนจะกลัวหมด

ชีวิตคนเรามันสั้นนัก อยากจะทำอะไรก็ทำเถอะ แค่อย่าไปเดือดร้อนคนอื่นเท่านั้น

 

ทำสิ่งที่จะไม่ย้อนกลับมาเสียใจ

ตอนนี้เรามองว่าการทำสำนักพิมพ์ JLIT เป็นอาชีพของเราไปแล้ว เพราะว่าเวลาที่ใครถามว่าทำงานอะไร เราก็จะบอกเขาว่าทำสำนักพิมพ์ JLIT หรือเวลาไปพูดบรรยายที่ต่างๆ ก็จะมีสเตตัสที่คนบอกว่าเราเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ซึ่งที่ผ่านมามันทำให้เรารู้แล้วว่าต้องเจอกับอะไร เผชิญกับอะไร รู้ว่าไม่ว่าจะทำอะไรมันก็จะเกิดทุกข์ ก่อนที่จะประสบความสำเร็จ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องผ่านขั้นตอนของความผิดพลาดมาก่อนอยู่แล้ว ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ ใครที่จะทำงานสำนักพิมพ์เราคิดว่าควรมองสิ่งที่เกิดขึ้น มองอุปสรรคให้เป็นสิ่งที่ต้องก้าวผ่านและเผชิญหน้ากับมัน ถ้าเราเริ่มต้นด้วยสิ่งที่เป็น passion ของตัวเอง เราต้องชั่งใจว่าถ้าทำแล้วไม่ว่าจะเกิดอะไร เราจะไม่เสียใจในภายหลัง เพราะชีวิตคนเรามันสั้นนัก อยากจะทำอะไรก็ทำเถอะ แค่อย่าไปเดือดร้อนคนอื่นเท่านั้น

 

เรื่อง: ปริญญา ก้อนรัมย์ ภาพ: มณีนุช บุญเรือง

Tags: , ,