Photo: Antara Foto Agency, Reuters/profile

ชาวมุสลิมหลายหมื่นคนในกรุงจาการ์ตานำโดยกลุ่ม Islamic Defenders Front (FPI) เดินขบวนประท้วงเพื่อกดดันให้ บาสุกี จาฮายา เปอร์นามา (Basuki Tjahaja Purnama) ผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตาลาออก หลังจากชาวมุสลิมบางส่วนไม่พอใจเปอร์นามาอย่างรุนแรง โดยกล่าวหาว่า เขาได้ดูถูกเหยียดหยามคำสอนของชาวมุสลิม ซึ่งเปอร์นามาคือผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตาคนแรกที่มีเชื้อชาติจีนและนับถือศาสนาคริสต์

ทางการอินโดนีเซียใช้กองกำลังทหารและตำรวจกว่า 18,000 นาย รักษาความปลอดภัยบริเวณห้างสรรพสินค้า และพื้นที่ธุรกิจในกรุงจาการ์ตา เพื่อเตรียมรับมือกับการประท้วง ขณะที่บางบริษัทได้เตือนให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้าน และสถานทูตบางประเทศได้เตือนประชาชนหากจะเดินทางมากรุงจาการ์ตาในช่วงนี้

Photo: Beawiharta Beawiharta, Reuters/profile

สิ่งที่นำไปสู่การประท้วงของชาวมุสลิม

บาสุกี จาฮายา เปอร์นามา เป็นผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตาคนแรกที่มีเชื้อชาติจีน และนับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งเขาเตรียมจะลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการอีกสมัยในปีหน้า โดยชาวมุสลิมบางกลุ่มในกรุงจาการ์ตาออกมารณรงค์ให้ประชาชนไม่ลงคะแนนให้เปอร์นามา โดยอ้างถึงข้อความหนึ่งในคัมภีร์อัลกุรอานที่ถูกชาวมุสลิมบางกลุ่มแปลความหมายว่า ห้ามชาวมุสลิมอยู่ภายใต้การปกครองของคนที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม ซึ่งได้มีคนโต้แย้งว่าข้อความนี้หมายถึงช่วงสงคราม ดังนั้นจึงไม่ควรแปลข้อความนี้ตรงๆ

หลังจากชาวมุสลิมบางกลุ่มเริ่มใช้ข้อความนี้โน้มน้าวไม่ให้ชาวมุสลิมเลือกเปอร์นามาเป็นผู้ว่าราชการในสมัยหน้า เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2559 เปอร์นามาได้ออกมาตอบโต้ข้อความดังกล่าวว่าเป็นสิ่งโกหก

เมื่อคำพูดนี้ของเปอร์นามาออกไปสู่สาธารณชน ก็ได้สร้างความโกรธอย่างรุนแรงให้กับชาวมุสลิม เนื่องจากชาวมุสลิมมองว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์และสบประมาทคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอานของอิสลาม

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องเชื้อชาติและศาสนาต่อตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตาเริ่มมาตั้งแต่ปี 2014 ในสมัยนั้นที่ โจโก วิโดโด ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการ และเปอร์นามาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าราชการ ชาวมุสลิมบางกลุ่มนำโดยกลุ่ม Islamic Defenders Front ได้ประท้วงต่อต้านไม่ให้เปอร์นามาที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการแทน โจโก วิโดโด

Photo: Iqro Rinaldi, Reuters/profile

ความขัดแย้งระหว่างชาวจีนและชาวมุสลิมในอินโดนีเซียในปี 1998

อินโดนีเซียเคยเกิดเหตุจลาจลที่มีผลมาจากความแตกต่างทางฐานะเศรษฐกิจระหว่างชาวจีนและชาวมุสลิมในปี 1998 โดยชาวมุสลิมมองว่า ชาวจีนในอินโดนีเซียที่มีประชากรน้อยกว่ามักมีฐานะและมีการศึกษาที่ดีกว่า อย่างไรก็ตามการเมืองอินโดนีเซียในสมัยนั้นยังถูกครอบงำโดยชาวมุสลิม ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เหตุการณ์สลดในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คน ความรุนแรงจากเหตุการณ์นี้ทำให้ชาวจีนเริ่มแสดงตัวตนมากขึ้น อย่างการใช้ชื่อตัวเป็นภาษาจีนได้ และเริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมืองในตำแหน่งสำคัญๆ อย่างรัฐมนตรี และข้าราชการ

ความตึงเครียดครั้งนี้ได้สร้างความกังวลใจให้กับชาวจีนในอินโดนีเซียอีกครั้ง โดยอินโดนีเซียคือประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมมากที่สุดของโลก คิดเป็นกว่า 87% ของประชากรทั้งหมดในอินโดนีเซีย

อ้างอิง: Reuters