ต่อเนื่องจากบทความ ‘จริงหรือที่มีคนจากเมืองไทยรอดตายจากเรือไททานิก?’ ที่ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ระหว่างคลำทางหาข้อมูลเรื่องคนไทยกับเรือไททานิกนานหลายปี ผลพลอยได้คือการพบร่องรอยของเรือโดยสารอีกลำที่อับปางลงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และบนเรือลำนั้นมีคนไทยอยู่ด้วยกันสามคน ส่วนคนไทยสามคนนั้นจะเป็นใคร ติดตามได้ในบทความนี้ครับ
ตุลาคมจมเรือ
ประมาณ 5 นาฬิกา 30 นาที ของวันพุธที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1918 (ตรงกับ พ.ศ. 2461) กลางมหาสมุทรแอตแลนติก ทางตอนใต้ห่างออกไปจากเกาะไอร์แลนด์ ราว 200 ไมล์ทะเล ในบรรยากาศอวลกลิ่นอายแห่งมหาสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เรือกลไฟโดยสารระวางเกือบ 8,000 ตัน ถูกเรือดำน้ำฝ่ายเยอรมนียิงตอร์ปิโดจนระเบิดและอับปางลง
ฮิราโนะ มารุ (Hirano Maru) คือชื่อของเรือกลไฟลำนั้น บริษัท นิปปอน ยูเซน คาบูชิกิ ไคชา (Nippon Yusen Kabushiki Kaisha) เป็นเจ้าของพาหนะสัญชาติญี่ปุ่น ส่วนเรือดำน้ำเพชฌฆาตสัญชาติเยอรมันมีชื่อว่า SM UB-91 ผู้เป็นกัปตันประจำเรือปรากฏนาม วูล์ฟ ฮันส์ เฮิร์ตวิก (Wolf Hans Hertwig)
ย้อนกลับไปในเย็นวันเสาร์ที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1918 เรือกลไฟลำหนึ่งซึ่งมีอายุสิบปีนับแต่ถูกสร้างขึ้นมาได้เข้าจอดเทียบท่าเมืองลิเวอร์พูลหนึ่งคืน จากนั้นล่องออกไปคอยขบวนเรือที่ปากน้ำอีกหนึ่งคืน จนเมื่อเย็นวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม เวลาประมาณ 17.15 น. ฮิราโนะ มารุจึงเริ่มออกเดินทางพร้อมกับกองเรือโดยสารและเรือสินค้าลำอื่นๆ เป็นขบวน โดยพาหนะที่ร่วมเดินสมุทรในคราวนั้นมีจำนวนราวสิบสี่หรือสิบห้าลำ ทั้งยังมีเรือพิฆาตตอร์ปิโดจากกองทัพเรืออเมริกันแล่นคุมไปด้วยอีกสองลำ สำหรับปลายทางของฮิราโนะ มารุอยู่ที่เมืองโยโกฮามา
เพื่อให้ผู้อ่านหลับตาแล้วมองเห็นภาพสถานการณ์สงครามโลกครั้งแรกอันร้ายกาจ ควรจะกล่าวด้วยว่าเกาะอังกฤษในช่วงเวลานั้นกำลังเผชิญกับภัยทางอากาศ ทางฝ่ายเยอรมันพยายามโจมตีกรุงลอนดอนด้วยเครื่องบินรบ ส่งผลให้พลเมืองแตกตื่นอลหม่านและได้รับความเดือดร้อน ไม่เพียงเท่านั้นเกาะอังกฤษยังถูกฝ่ายเยอรมันล้อมทางทะเลอีกด้วย การเดินเรือขนส่งโดยสารจึงเป็นอันตรายยิ่งด้วยว่าจะต้องแล่นฝ่าไปในดงตอร์ปิโด เป้าหมายของเยอรมันก็คือทำให้อังกฤษขาดแคลนอาหาร แต่ทางรัฐบาลอังกฤษได้ออกนโยบายจำกัดอาหารในการแก้ปัญหาดังกล่าว นับแต่เกาะอังกฤษถูกล้อมด้วยเรือดำน้ำ ทางรัฐบาลจึงควบคุมการเดินเรือขนส่งโดยสารอย่างเข้มงวด ภายหลังจากที่ทางฝ่ายเยอรมันได้จมเรือโดยสารอาร์เอ็มเอส ลูซิเทเนีย (RMS Lusitania) ของอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1915 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 1,198 คน และมีชาวอเมริกันอยู่บนเรือด้วย ทางสหรัฐอเมริกาจึงได้ส่งกองเรือพิฆาตมาช่วยคุ้มกันขบวนเรือที่แล่นออกจากเกาะอังกฤษ
อาจเป็นเพราะทางการอังกฤษเล็งเห็นว่าการเดินเรือขนส่งโดยสารค่อยๆ ปลอดภัยขึ้นแล้ว ฮิราโนะ มารุจึงได้ถอนสมอออกจากลิเวอร์พูล โดยผู้หญิงและเด็กยังได้รับอนุญาตให้เดินทางด้วย ลูกเรือและนายเรือของพาหนะลำนี้ล้วนเป็นชาวญี่ปุ่น มีเพียงกัปตันคนเดียวเท่านั้นที่เป็นชาวฝรั่งนั่นคือ เฮกเตอร์ เฟรเซอร์ (Hector Fraser) และเขาก็ได้จบชีวิตด้วยการจมลงไปพร้อมกับเรือ ในวันออกเดินทางมีฝูงคนมาส่งผู้โดยสารคับคั่ง ปกติแล้วการส่งเสียงร่ำลาตามท่าเรือจะเต็มเปี่ยมด้วยความสนุกครึกครื้น แต่สำหรับการเดินทางเที่ยวนี้กลับเงียบเหงาเศร้าสลดอย่างน่าใจหาย แทบไม่มีผู้ใดจะยิ้มแย้มแจ่มใส แวววิตกปรากฏให้เห็น แน่ล่ะ ผู้โดยสารย่อมรู้ดีว่าในท้องทะเลเต็มไปด้วยความเสี่ยง หากพวกเขาพวกเธอก็ได้ตัดสินใจแล้วที่จะขึ้นเรือล่องไป ต่างพากันโบกมือให้เกาะอังกฤษอย่างอาลัยอาวรณ์ ที่กราบเรือ ชายชาวเอเชียคนหนึ่งถอดผมปลอมออกกวัดแกว่ง เปล่งถ้อยคำบางอย่างออกมาเสียงดัง เรือโดยสารสัญชาติญี่ปุ่นแล่นห่างไกลออกจากฝั่งไปเรื่อยๆ จวบจนแลเห็นเพียงผืนน้ำกับแผ่นฟ้า
ด้วยความตระหนักถึงภัยทางทะเลในช่วงสงคราม บนเรือฮิราโนะ มารุจึงมีกฎข้อบังคับให้ผู้โดยสารปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัย เช่น การระวังมิให้แสงไฟปรากฏบนเรือ การเตรียมพร้อมเรือชูชีพ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการซักซ้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินถึงสามครั้ง เช่น ซ้อมฟังสัญญาณเตือนภัยหรือการใส่เครื่องชูชีพ ผู้โดยสารก็ปฏิบัติตามอย่างคล่องแคล่ว เป็นที่พอใจของกัปตันมาก สำหรับการเดินเรือเที่ยวนี้ แทนที่จะออกทางปากอ่าวลิเวอร์พูลเลยแต่กลับแล่นขึ้นไปทางเหนือเพื่ออ้อมเกาะไอร์แลนด์ ครั้นเมื่อพ้นเกาะไอร์แลนด์ก็ต้องพุ่งตรงไปในมหาสมุทรแอตแลนติก โดยต้องอยู่ห่างจากเกาะไอร์แลนด์ให้มากแล้วจึงแล่นตัดลงไปทางใต้ ถึงแม้วิธีเดินเรือดังกล่าวจะสิ้นเปลืองเวลา ทว่าเป็นการหลบหลีกและอำพรางต่อเรือดำน้ำฝ่ายเยอรมัน อีกประการหนึ่งการเดินเรือในเวลากลางคืนย่อมนำมาซึ่งความปลอดภัยมากกว่า
แต่แล้วในที่สุดก่อนอรุณรุ่งของวันพุธ ฮิราโนะ มารุทั้งลำสะเทือนสะท้านราวกับมีหินหรือวัตถุหนักๆ พุ่งเข้ามาปะทะอย่างเร็วแรง ผู้โดยสารบนเรือแทบไม่แปลกใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นั่นล่ะตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำของฝ่ายเยอรมัน เสียงหวีดร้อง เสียงร่ำไห้ เสียงตะโกนโหวกเหวกเรียกหากันในความมืด หลายต่อเสียงระคนกันจนฟังไม่ค่อยได้ศัพท์ หลายชีวิตตะลึงงัน หลายชีวิตพยายามคิดหาทางรอดในระยะเวลาอันสั้นตามแบบที่ได้ซักซ้อมมา หลายชีวิตปลงตกและยินดีต่อชะตากรรม
ถึงแม้ผู้โดยสารพอจะคาดคะเนว่าเป็นไปได้สูงที่เรือกลไฟอาจต้องพบเจอเหตุการณ์นี้ แต่เมื่อเผชิญหน้ากับมัจจุราชเข้าจริงๆ ก็ให้รู้สึกสะทกมิใช่น้อย ในที่สุดเรือสัญชาติญี่ปุ่นระเบิดและแตกออกเป็นเสี่ยงๆ และอีกไม่นานนักก็ค่อยๆ จมลงสู่ก้นมหาสมุทร เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่าสามร้อยราย และแทบไม่น่าเชื่อว่าจะมีชาวสยามอยู่ด้วยถึงสองคน และมีผู้รอดชีวิตประมาณสามสิบคน โดยเรือพิฆาตของสหรัฐอเมริกาชื่อ ยูเอสเอส สเตอร์เรตต์ (USS Sterrett) ช่วยเหลือไว้ได้ หนึ่งในผู้รอดชีวิตนั้นก็เป็นชาวสยามอยู่หนึ่งคน
พ่อเพื่อนยาก น่ารักยิ่งอิงแลนด์เอ๋ย ฉันลาก่อน ฉันลาด้วยความหมดหวัง
ในอันที่ฉันจะมีโอกาสมาเยี่ยมเพื่อนอีก ลาก่อนสหายรักทั้งหลาย
พระเจ้าเบื้องบนเท่านั้น ที่บันดาลให้เราได้มาพบและรักกันอีก
ชาวสยามสามคน
เรือฮิราโนะ มารุมีชาวสยามเป็นผู้โดยสารอยู่สามคน โดยสองคนเป็นนักเรียนทุนกระทรวงพระคลังมหาสมบัติที่ถูกส่งไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยในอังกฤษ ส่วนอีกคนเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่ได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาดูงานที่กรุงลอนดอน
ชาวเอเชียผู้ถอดผมปลอมออกกวัดแกว่งขณะอยู่บนกราบเรือก็เป็นชาวสยาม เขาไม่เพียงแต่เป็นผู้ชาย หากยังเป็นคุณชายหรือที่เรียกว่าหม่อมราชวงศ์ ถ้อยคำที่บัณฑิตทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และมหาวิทยาลัยลอนดอน เปล่งออกมาเสียงดังในวันนั้นคือ “พ่อเพื่อนยาก น่ารักยิ่งอิงแลนด์เอ๋ย ฉันลาก่อน ฉันลาด้วยความหมดหวัง ในอันที่ฉันจะมีโอกาสมาเยี่ยมเพื่อนอีก ลาก่อนสหายรักทั้งหลาย พระเจ้าเบื้องบนเท่านั้น ที่บันดาลให้เราได้มาพบและรักกันอีก” แน่ล่ะ คำร่ำลาดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นลาง
จากคำบอกเล่าของชาวสยามที่รอดชีวิตมาได้ (ซึ่งจะไม่ยอมเฉลยก่อนหรอกนะว่าเป็นใคร ลองตามลุ้นกันสิครับ) การเดินทางกลับคืนบ้านเกิดเมืองนอนของชาวสยามทั้งสาม ใช่ว่าพวกเขาจะไม่ทราบถึงภัยอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ถึงแม้ทางการจะพยายามปกปิดข่าว หากก็เป็นที่รู้กันว่าในทะเลก็คือดงตอร์ปิโด อย่างไรก็ตาม พวกเขามิอาจขัดคำสั่งหรือคัดค้านต่อท่านอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน
ในช่วงมหาสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การเดินทางกลับจากอังกฤษมายังประเทศสยามมีให้เลือกอยู่สามทาง ได้แก่ ทางแรกโดยสารเรือผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้าคลองสุเอซ ซึ่งเป็นทางที่ใกล้ที่สุด ราคาถูกที่สุด แต่มีอันตรายมากที่สุดเช่นกัน เพราะต้องผ่านย่านที่มีเรือดำน้ำของฝ่ายเยอรมันจำนวนมากโดยเฉพาะตอนเข้าช่องแคบยิบรอลตา ผู้รอดชีวิตถึงกับเอ่ยว่า “ดุจทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นกระป๋องปลาซาดีนของเรือใต้น้ำและทุ่นระเบิดฉะนั้น” ดังนั้นจึงไม่มีใครปรารถนาเดินเรือทางนี้เลย
ส่วนทางที่สอง ล่องเรืออ้อมทวีปแอฟริกาผ่านเมืองเคปทาวน์ อาจมีอันตรายในตอนออกจากเกาะอังกฤษและแถวบริเวณทางเข้าทะเลเมดิเตอเรเนียน ค่าเรือราคาถูก และนิยมเดินเรือกัน แต่จะทำให้เสียเวลาเดินทางมาก
และทางสุดท้ายคือ เดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปทางสหรัฐอเมริกา ผ่านญี่ปุ่นและจีน เป็นอันตรายเฉพาะตอนแล่นออกจากเกาะอังกฤษ พอพ้นไปได้ ก็ปลอดภัยเลย แต่มีราคาแพงที่สุด แรกเริ่มเดิมทีชาวสยามทั้งสามปรารถนาเลือกเดินเรือกลับทางสหรัฐอเมริกา แต่ทางสถานทูตไม่มีเงินเพิ่มให้เดินทาง จำเป็นต้องกลับเส้นทางที่สองคือแล่นเรืออ้อมทวีปแอฟริกาผ่านเคปทาวน์ พวกเขาออกเดินทางโดยรถไฟจากมหานครลอนดอนมายังเมืองลิเวอร์พูล ให้เจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษตรวจหนังสือเดินทางตรวจค้นของต้องห้ามเสร็จสิ้นก็ขึ้นไปบนเรือกลไฟ
ระหว่างอยู่ในเรือฮิราโนะ มารุ ชาวสยามทั้งสามมักขึ้นไปบนดาดฟ้าเพื่อชมภูมิประเทศ หรือไม่ก็พูดคุยกับนายช่างกลเรือหรือฝรั่งอีกสองสามคนที่โต๊ะอาหาร ฝรั่งคนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนร่วมห้องด้วยเล่าว่าเป็นการเดินทางครั้งที่สองของเขา ก่อนหน้านี้เขาเคยไปหาภรรยาและลูกที่เมืองเคปทาวน์แล้วเรือแตก โชคดีที่ยังรอดมาได้ แต่เขากลับรู้สึกวิตกต่อเที่ยวเรือนี้
การเมาคลื่นเป็นสิ่งที่ผู้โดยสารมักจะประสบ ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยดูท่าทางจะหนัก เขามีอาการติดต่อกันหลายวัน แม้กระทั่งตอนซักซ้อมเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินในวันอังคาร เขาก็แทบจะอาเจียนออกมาด้วยความคลื่นเหียน ดังนั้นข้าราชการผู้เคยถูกชาวฝรั่งในอังกฤษเรียกว่า ‘Mr. Rakse’ (นายรักเษ) จึงพยายามแก้ปัญหาด้วยการขึ้นไปนอนบนดาดฟ้าเพื่อหาอากาศบริสุทธิ์จนมืดค่ำแล้วจึงลงมาที่ห้องนอน ปลดเสื้อนอกออกเหลือแต่เสื้อกับกางเกงชั้นใน ล่วงเข้าสู่เช้ามืดวันพุธ นายรักเษสะดุ้งตื่นอีกทีท่ามกลางความมืดเพราะได้ยินเสียงโครมครามจากการล้มของตู้ถ้วยชาม ตอนนั้นแหละที่ฝ่ายเยอรมันยิงตอร์ปิโดใส่เรือโดยสารสัญชาติญี่ปุ่นแล้ว เขาตกใจกลัวแทบหมดสติ คลำหาเสื้อชูชีพแต่ไม่พบ ทันใดนั้น เพื่อนชาวสยามคนหนึ่งก็เปิดไฟสว่างขึ้น พากันรีบฉวยเครื่องชูชีพแล้ววิ่งไปบนดาดฟ้า ยืนรอนายเรือและกะลาสีมาแก้และโรยเรือชูชีพมาเทียบรับตามที่ได้ซักซ้อมมา แต่ก็ไม่มีใครปรากฏตัวสักที ขณะที่ผู้โดยสารคนอื่นๆ เริ่มปีนขึ้นไปอยู่ในเรือชูชีพแล้ว ด้วยความกลัวว่าจะหนาวตาย ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยวิ่งลงไปในห้องนอนอีกหนเพื่อหาเสื้อกั๊กชูชีพมาใส่พร้อมสวมทับโอเวอร์โค้ตอีกชั้นจากนั้นก็วิ่งมาบนดาดฟ้า ชาวสยามทั้งสาม-หม่อมเจ้าผู้สอบไล่ได้ดีกรี บี.เอ. ออเนอร์ ชั้น 4 จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด หม่อมราชวงศ์ และนายรักเษ ตั้งหน้าตั้งตาคอยให้คนมาแก้เรือชูชีพ
ท้องฟ้าเริ่มสว่างด้วยแสงอาทิตย์ขึ้นทีละน้อย ทำให้พอจะมองเห็นกันได้อย่างสลัวๆ เงาคนตะคุ่มๆ อยู่ในน้ำ เสียงร้องครวญคราง เสียงเรียกให้ช่วย ชาวสยามทั้งสามยังคงยืนอยู่ที่เดิม จวบจนเมื่อเห็นว่าช้าไปจะไม่ได้การ นายรักเษจึงชวนเพื่อนอีกสองคน ขึ้นไปอยู่บนเรือชูชีพโดยไม่ต้องรออีก ว่าพลางเขาก็ป่ายปีนขึ้นไป พอกำลังหย่อนก้นลงนั่ง ฮิราโนะ มารุก็พลันระเบิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยกระโดดจากเรือชูชีพพุ่งไปในทะเล จมลงครู่หนึ่ง พอโผล่ขึ้นมากะลาสีชาวญี่ปุ่นสองคนตะครุบไว้ด้วยนึกว่าเป็นทุ่นทำให้สำลักน้ำ เขาจึงใช้มือต่อยสุดกำลังจนหลุดออกมาได้ จากนั้นก็ว่ายน้ำไปเกาะหีบไม้ฉำฉาที่ลอยอยู่
นายรักเษฟื้นจากสลบด้วยเสียงของชายชาวจีนที่นอนอยู่ข้างๆ กัน ซึ่งถึงแม้จะรอดชีวิตมาได้แต่ก็กลายเป็นคนสติไม่สมประดี ทหารเรืออเมริกันผิวดำนายหนึ่งเดินเข้ามาสอบถามว่าสบายดีขึ้นแล้วหรือ แน่นอนว่าเขาเป็นหนึ่งในทหารประจำเรือพิฆาตยูเอสเอส สเตอร์เรตต์ ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยเอ่ยถามถึงเพื่อนชาวสยามอีกสองคน ทหารเรืออเมริกันชี้ไปที่ชายชาวจีนอย่างร่าเริง แต่เมื่อนายรักเษบอกว่าไม่ใช่ ทหารเรือผิวดำก็มีสีหน้าสลดลง แล้วกอดชาวสยามเพียงคนเดียวเพื่อปลอบขวัญ เป็นอันว่าทั้งหม่อมเจ้าและหม่อมราชวงศ์นักเรียนทุนกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้สูญสิ้นชีวิตไปเสียแล้ว พวกเขาอาจจะปีนตามขึ้นไปบนเรือชูชีพไม่ทันท่วงที และเมื่อเรือฮิราโนะ มารุระเบิดขึ้นเพราะถูกยิงตอร์ปิโดเป็นครั้งที่สองเข้ากลางลำเรือ ร่างของชาวสยามทั้งสองก็คงถูกแรงระเบิดปลิดปลิวกระจัดกระจาย
ข้อความโทรเลขถึงประเทศสยามว่า หลวงจินดารักษ์ (จำลอง สวัสดิ์-ชูโต) ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยรอดชีวิตจากการอับปางของเรือฮิราโนะ มารุ และได้รับความช่วยเหลือให้ขึ้นฝั่งแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1918 ส่วนนักเรียนทุนกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอันได้แก่ หม่อมเจ้าอรรกพันธุ์ เกษมศรี อายุ 22 ปี 11 เดือน 23 วัน และหม่อมราชวงศ์ประพฤทธิ์ เกษมศรี อายุ 24 ปี 3 เดือน 28 วัน ทั้งสองได้ถึงแก่มรณกรรมกลางมหาสมุทรแอตแลนติกอันห่างไกลไปจากบ้านเกิดเมืองนอน
ส่งท้าย
มหาสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดเมื่อมีการตกลงหยุดยิงในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ซึ่งถือกันว่าเป็นวันสงบศึก ทางฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผู้มีชัยชนะ อย่างไรก็ตามตลอดช่วงสงครามนับแต่ปี ค.ศ. 1914-1918 ปรากฏความสูญเสียมากมายมหาศาลต่อทั้งสิ่งก่อสร้างและชีวิตผู้คน
ภายหลังจากเรือฮิราโนะ มารุอับปางแล้ว หลวงจินดารักษ์ (จำลอง สวัสดิ์-ชูโต) ซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตได้กลับมาพักอยู่ ณ กรุงลอนดอนอีกสามเดือนเศษ จวบจนเมื่อกลิ่นอายสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มจางหายไป เขาจึงหวนคืนกลับสู่ประเทศสยาม และได้สมรสกับหญิงสาวนามว่า เสมอใจ อมาตยกุล เธอเป็นเจ้าของนามปากกา ‘ซันฟลาวเวอร์’ ซึ่งนับเป็นนักแปลสตรีคนแรกของประเทศไทย
หลวงจินดารักษ์ปฏิบัติหน้าที่ทางราชการด้านการปกครองจนต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยาจินดารักษ์ และด้วยความที่เป็นผู้สันทัดทางด้านการกีฬาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอล มวย หรือเทนนิส ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จึงได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษาอีกด้วย
น่าเสียดายอย่างยิ่งที่บัณฑิตหมาดใหม่อีกสองคน ผู้เป็นนักเรียนทุนกระทรวงพระคลังมหาสมบัติมิได้กลับมาถึงประเทศสยาม
เอกสารอ้างอิง
- จินดารักษ์, พระยา. (2509). “เมืองแก้วยามมหาสงคราม” ใน ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาจินดารักษ์ (จำลอง สวัสดิ์-ชูโต) ณ เมรุพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 10 ตุลาคม 2509. พระนคร : สรยุทธการพิมพ์.
- วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา. (2461). พระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ปรารภความเสียชีวิตของหม่อมเจ้าอรรกพันธุ์ แลหม่อมราชวงศ์ประพฤทธิ์. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. (2550). นักเรียนนอก: ข้อมูลสำคัญในประวัติศาสตร์สังคมไทย. กรุงเทพฯ : แสงดาว