เป็นที่แน่นอนแล้วว่าขณะนี้เรากำลังจะมี พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ที่กำลังจะประกาศใช้ในเดือนมีนาคม-เมษายน 2560
แม้จะมีเสียงคัดค้านและเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมากจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยถึงผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นหลัง พ.ร.บ. ฉบับนี้ประกาศใช้ แต่อีกเสียงที่ไม่ค่อยมีใครได้พูดถึงนักก็คือเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นเดียวกัน
แม้ตอนนี้จะไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ได้อีกต่อไป แต่สิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้คือ ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่จะออกตามมาเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
คำถามคือ แล้ว พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ และประกาศกระทรวงดังกล่าวจะช่วยส่งเสริม หรือเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการกันแน่ The Momentum ชวนคุณไปหาคำตอบในงานจุฬาฯ เสวนา ‘ก้าวต่อไปของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หลัง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2559’ ที่จัดขึ้น ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมใหญ่ ชั้น 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา
ตอนนี้เราคงแก้กฎหมายไม่ได้แล้ว แต่ที่พอจะทำได้ตอนนี้คือการให้ความคิดเห็นต่อร่างประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่อาจจะให้อำนาจกับรัฐมนตรีมากเป็นพิเศษ
คดีหมิ่นประมาทกว่า 50,000 คดี กำลังจะหายไปหลัง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ประกาศใช้
ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ให้ความเห็นว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่นี้จะทำให้ปัญหาหลายๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้นเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะมาตรา 14 (1) จาก พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับเดิมที่ใช้ในการฟ้องคดีหมิ่นประมาทจะหมดไป เพราะ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่เขียนไว้อย่างชัดเจนให้มุ่งเน้นเอาผิดเฉพาะการปลอมตัวตนบนโลกออนไลน์เท่านั้น
“สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้คือ คดีที่ฟ้องหมิ่นประมาทรวมกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ศาลจะยกฟ้องหมดเลย คดีที่อยู่ในระหว่างการดำเนินคดีจะไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ถ้าหลังจากนี้มีการตัดต่อภาพ หรือโพสต์ข้อความที่แม้ว่าเป็นการบิดเบือน หรือใส่ความก็ต้องไปฟ้องกันด้วยกฎหมายหมิ่นประมาท จากการคุยกับคณะกรรมาธิการฯ คดีเหล่านี้น่าจะหายไปกว่า 50,000 กว่าคดี ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องดีมากๆ”
ส่วนในมาตรา 15 ก็มีความชัดเจนขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะมีการกำหนดในประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในข้อ 4 ที่กำหนดประเภทผู้ให้บริการที่ไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย หากมีการนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบ โดยที่ผู้ให้บริการไม่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจ อาทิ ผู้ให้บริการในฐานะสื่อกลางในการรับส่งข้อมูล ผู้ให้บริการเก็บหรือพักข้อมูลคอมพิวเตอร์ชั่วคราว ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายในระบบคอมพิวเตอร์ หรือ Clouding Data Center และผู้ให้บริการทางเทคนิคเพื่อเป็นที่ตั้งหรือที่พักของแหล่งข้อมูล เช่น เว็บไซต์ท่า หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ
นอกจากนี้ในมาตรา 11 ยังจะทำให้การแก้ปัญหาข้อมูลสแปมดีขึ้น เพราะผู้ใช้บริการต้องให้ความยินยอม หรืออนุญาตก่อนที่จะมีการส่งข้อมูล และสามารถบอกเลิกได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ส่วนในมาตรา 20 ที่มีการถกเถียงกันมาก คณะกรรมาธิการก็ได้ทำการแก้ไขในประเด็นใหญ่ๆ ที่มีความกังวล ทั้งการปิดบล็อกเว็บไซต์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการได้ชี้แจง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในกฎหมายฉบับเดิม การเปลี่ยนจำนวนคณะกรรมการกลั่นกรองเนื้อหาจากเดิม 5 คนเป็น 9 คน นอกจากนี้เมื่อทำการกลั่นกรองแล้วยังต้องส่งเรื่องให้รัฐมนตรีพิจารณา ก่อนจะส่งเรื่องต่อไปยังศาล และเมื่อศาลมีคำสั่งสุดท้ายแล้ว แต่ผู้ถูกตัดสินยังสามารถส่งเรื่องฟ้องไปที่ศาลปกครองได้อีกด้วย ถือเป็นมาตรการที่ผ่านการกลั่นกรองถึง 4 ชั้น กว่าที่จะปิดบล็อกเนื้อหาใดๆ ได้
“ตอนนี้เราคงแก้กฎหมายไม่ได้แล้ว แต่ที่พอจะทำได้ตอนนี้คือการให้ความคิดเห็นต่อร่างประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่อาจจะให้อำนาจกับรัฐมนตรีมากเป็นพิเศษ แต่ต้องบอกว่าร่างประกาศทั้งหมดยังเป็น first draft ที่ค่อนข้างหยาบ เป็นเพียงแค่หลักการคร่าวๆ ต่อจากนี้จะมีการรับฟังเสียงผู้ประกอบการ ก่อนจะเขียนเป็นกฎหมายลูก และมีการทำประชาพิจารณ์อีกครั้ง”
ในทางปฏิบัติ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะสามารถระงับการแพร่หลายหรือลบข้อมูลได้เองนั้น การจะลบข้อมูลได้ก็จะต้องเข้าไปอยู่ในฐานข้อมูลของผู้ให้บริการด้วยตัวเองเช่นนั้นใช่ไหม เราจะยอมไหมกับการที่จะทำให้เกิดการกระทำเช่นนั้น
กฎหมายนี้อาจเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ล้วงข้อมูลของผู้ให้บริการได้
ด้าน ผศ. ดร. ปารีณา ศรีวนิชย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด มีหลายส่วนที่เป็นส่วนที่ดี ทั้งเรื่องสแปมเมลที่แก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น รวมถึงร่างประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ ที่กำหนดให้มี complain form หรือแบบฟอร์มสำหรับการแจ้งเตือนเนื้อหาที่มีปัญหาที่ต้องระบุตัวตนของผู้แจ้งเตือนให้ชัดเจน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีส่วนที่กังวล โดยเฉพาะในมาตรา 20 ที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลได้ด้วยตัวเอง
“ในทางปฏิบัติ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะสามารถระงับการแพร่หลายหรือลบข้อมูลได้เองนั้น การจะลบข้อมูลได้ก็จะต้องเข้าไปอยู่ในฐานข้อมูลของผู้ให้บริการด้วยตัวเองเช่นนั้นใช่ไหม เราจะยอมไหมกับการที่จะทำให้เกิดการกระทำเช่นนั้น เพราะถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งเจาะลึกเข้าไปในฐานข้อมูลอันใดอันหนึ่งได้ แปลว่าเขาไม่ได้เข้าไปที่เดียว แต่เขาสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นคนที่จะเข้าไปได้ เราต้องมีความมั่นใจในบุคคลนั้นอย่างพอเพียงว่าจะเข้าไปลบข้อมูลนั้นแค่ที่เดียว แล้วถ้าเกิดเข้าไปลบ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการลบผิดไปนิดเดียวอาจส่งผลกระทบมหาศาล เพราะผู้ประกอบการเองคงมีข้อมูลหลายๆ ส่วนร่วมกันไว้ในที่เดียว เกิดไปลบแล้วกระทบถึงบัญชีลูกค้าจะเสียหายขนาดไหน
“ส่วนตัวมองว่าจะแฟร์กว่านี้ถ้าจะให้ผู้ให้บริการรับผิดชอบข้อมูลของตัวเอง และต้องทำตามคำสั่งศาล ถ้าไม่ทำก็เพิ่มโทษเลย แต่พนักงานเจ้าหน้าที่อย่าเข้าไปยุ่งกับข้อมูลส่วนนี้ของผู้ให้บริการดีกว่า ขอให้ผู้ให้บริการเป็นคนตัดสินใจเถอะว่าเขาจะทำยังไง ตราบใดที่มีคำสั่งศาล”
นอกจากนี้ ผศ. ดร. ปารีณา ยังทิ้งท้ายด้วยว่า สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ถือว่ามีเจตนารมณ์ที่ดี แต่ต้องคอยจับตาประกาศกระทรวงที่จะออกมาว่าเป็นอย่างไร และขอให้ตระหนักถึงผู้ที่เกี่ยวข้องให้มากๆ อย่ามองแค่ผู้ให้บริการกับภาครัฐ แต่ให้มองผู้ใช้บริการเป็นปัจจัยสำคัญว่าจะถูกกระทบมากน้อยแค่ไหน
กฎหมายไม่น่ากลัว แต่ผู้บังคับใช้กฎหมายน่ากลัวกว่า
ในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสื่อกลางในการซื้อขายสินค้า นายศรัทธา หุ่นพยนต์ หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย บริษัท Lazada (Thailand) ระบุว่า สิ่งที่เกรงกลัวมาตลอดไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายมากกว่าว่าเขามีแนวคิดเกี่ยวกับการตีความการกระทำความผิดต่างๆ อย่างไร เพราะที่ผ่านมาพบปัญหาค่อนข้างมากกับการตีความของพนักงานเจ้าหน้าที่
นอกจากนี้ยังกังวลกับถ้อยคำในร่างประกาศกระทรวงที่จำกัดความผู้ให้บริการที่ไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย ซึ่งต้องเป็นผู้ให้บริการที่ต้องไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมจากการกระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้
“คือเราประกอบธุรกิจสื่อกลางในการซื้อขายสินค้าเป็นหลัก ไม่ว่าจะมีการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้นหรือไม่ ทาง Lazada ก็ได้ประโยชน์ทางธุรกิจในแง่ใดแง่หนึ่งอยู่แล้ว ถ้ากฎหมายเขียนไว้แบบนี้ อี-คอมเมิร์ซทุกรายคงไม่ได้รับการยกเว้นการสันนิษฐานความผิดตามมาตรานี้ เพราะมันกว้างเกินไปจนอาจจะไม่ได้รับการยกเว้นเลยสำหรับผู้ประกอบการสักราย
“อีกเรื่องคือการยืนยันตัวตนของผู้แจ้งเตือนเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ซึ่งยังคงมีปัญหาอยู่ดี เพราะไม่แน่ใจว่าจะตรวจสอบได้อย่างไรว่าผู้แจ้งเป็นคนที่แอบอ้างจริง เพราะปัญหาที่ Lazada พบมาตลอดคือการที่ผู้ค้ากลั่นแกล้งกันเอง ร้องเรียนกันเอง ดังนั้นควรมีมาตรการที่สามารถจะยืนยันตัวตนของผู้แจ้งเตือนได้ด้วย”
อะไรคือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทุกวันนี้ผมก็ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร ถามว่าในอินเทอร์เน็ตที่มีคนด่ากันอุตลุด กรรมการกลั่นกรองเนื้อหาจะทำงานกันยังไง ถ้ามีการร้องเรียนกันวันละพันเรื่อง
ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ถ้อยคำกว้างๆ ที่ส่งผลมหาศาล
เช่นเดียวกับ ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหาร สำนักข่าวอิศรา ที่ระบุว่าเมื่อดูตามบทบัญญัติตามกฎหมายแล้วไม่ได้น่ากลัว แต่สิ่งที่น่ากลัวอยู่ที่การใช้ดุลยพินิจ และการใช้อำนาจโดยมิชอบในบรรยากาศบ้านเมืองที่มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และไม่แน่ใจว่าบรรยากาศในลักษณะนี้จะอยู่นานแค่ไหน แต่ก็ทำให้ผู้ประกอบการเกรงกลัวกันมาก
นอกจากนี้ยังมีความกังวลต่อ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ในมาตรา 20 วรรค 2 โดยเฉพาะถ้อยคำที่ระบุว่าเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
“อะไรคือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทุกวันนี้ผมก็ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร ถามว่าในอินเทอร์เน็ตที่มีคนด่ากันอุตลุด กรรมการกลั่นกรองเนื้อหาจะทำงานกันยังไง ถ้ามีการร้องเรียนกันวันละพันเรื่อง คณะกรรมการกลั่นกรองเนื้อหาจะเอาปัญญาที่ไหนไปพิจารณา เพราะถ้อยคำนี้มันกว้างเกินไป พอผู้มีอำนาจคำราม 1 ที ก็ต้องวิ่งพล่านกันไปหมด วัตถุประสงค์ที่ร่างคืออะไร เรื่องลามกอนาจารใช่ไหม เรื่องฆ่าตัวตายใช่ไหม ถ้าคิดแบบนั้นทำไมไม่เขียนให้แคบลงตั้งแต่ตัวกฎหมาย หรือประกาศกระทรวงก็ตาม
“ที่สำคัญถ้ามีเรื่องร้องเรียนเข้ามาวันละเป็นพันๆ เรื่อง จะต้องตั้งคณะกรรมการอีกกี่ชุดขึ้นมาพิจารณา จะเอาอาจารย์นิเทศศาสตร์ไปนั่งตีความเรื่องนี้กันหมดเหรอ หรือจะเอานักสิทธิมนุษยชนที่ไหนมานั่งเป็นกรรมการ ที่สุดแล้วก็ต้องตั้งพวกข้าราชการเป็นกรรมการ แล้วคนเหล่านี้ก็ไม่ได้ฟังความเห็นประชาชนหรอก ก็ฟังผู้มีอำนาจว่าจะสั่งยังไง ฉะนั้นในทางปฏิบัติจะเกิดปัญหา กรรมการจะต้องทำงานกันหน้ามืดตามัวเพราะมีเรื่องเข้ามาเยอะแยะเต็มไปหมด เพราะการใช้ดุลยพินิจในกฎหมายมีปัญหา
“คนเนี่ยไว้ใจไม่ได้ มันอยู่ที่ทัศนคติและภูมิหลังของแต่ละคน การมีนักกฎหมายไม่ได้หมายความว่านักกฎหมายจะตีความถูก เราอย่าไปคิดว่าเขาเป็นนักกฎหมายแล้วจะไว้ใจได้ ฉะนั้นผมก็ไม่ไว้ใจคณะกรรมการกลั่นกรองเหมือนกัน”
คำว่าไม่ต้องรับโทษ แปลว่าเขากลายเป็นผู้กระทำความผิดไปแล้ว ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้เท่ากับว่าต่อจากนี้ผู้ให้บริการทุกๆ รายในประเทศไทยจะมีความผิดอาญาติดตัวกันไปหมดโดยอัตโนมัติ
ผู้ประกอบการอาจมีคดีติดตัวทั้งประเทศ
ด้าน อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เลขานุการมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง หรือ Thai Netizen Network ตัวแทนองค์กรที่คัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้มาโดยตลอด กล่าวถึงปัญหาในมุมของผู้ประกอบการว่ากฎหมายที่มีปัญหาคือมาตรา 15 ที่ระบุข้อยกเว้นสำหรับผู้ให้บริการที่ไม่ต้องรับโทษ
“คำว่าไม่ต้องรับโทษ แปลว่าเขากลายเป็นผู้กระทำความผิดไปแล้ว ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้เท่ากับว่าต่อจากนี้ผู้ให้บริการทุกๆ รายในประเทศไทยจะมีความผิดอาญาติดตัวกันไปหมดโดยอัตโนมัติ เพราะต่อให้เขาเอาข้อมูลออกไปแล้ว ไม่ต้องรับโทษ แต่ความผิดก็จะยังคงติดตัวอยู่
“อีกเรื่องที่เป็นปัญหาคือเรื่องของการพิสูจน์ความผิด ที่ยังไม่ชัดเจนว่าภาระในการพิสูจน์จะอยู่ที่ใคร ในกฎหมายเขียนไว้ว่าในกรณีที่ผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าได้ทำตามขั้นตอนดังกล่าวไปแล้วจะไม่ต้องรับโทษ แต่เขียนไปเขียนมาคล้ายๆ กับว่าภาระนี้จะตกอยู่กับผู้ให้บริการหรือเปล่า ในทางปฏิบัติต้องมีการตั้งคำถามในเรื่องนี้ต่อไป”
นอกจากนี้ขั้นตอนการแจ้งเตือนและเอาออก หรือ notice & takedown ยังเป็นเรื่องที่มีปัญหา เพราะเดินตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกาที่ขณะนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก หรือยูทูบ เท่ากับว่าเจ้าของเนื้อหากับเจ้าของเว็บไซต์ยังเป็นคนคนเดียวกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป 18 ปี โลกของอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนไปมาก เจ้าของแพลตฟอร์ม หรือเว็บไซต์ไม่ได้เป็นคนคนเดียวกับเจ้าของเนื้อหา ดังนั้นกฎหมายก็ควรจะมีการปรับปรุงให้สอดรับกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันด้วย
“ตอนนี้มันไม่ได้มีแค่คนสองคนในสมการ แต่มีเจ้าของเนื้อหาเป็นคนหนึ่งในสมการด้วย การจะเอาเนื้อหาอะไรออกควรต้องไปถามเจ้าของเนื้อหาด้วย เจ้าของเนื้อหาหายไปไหน ทำไมผู้ให้บริการถึงจะทำอย่างไรก็ได้กับเนื้อหาที่อยู่ในระบบของตัวเอง ทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่เจ้าของ”
แม้เสียงคัดค้านกว่า 360,000 เสียงจากประชาชนจะดูไม่มีความหมายในทางปฏิบัติ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงกดดันเหล่านี้ส่งผลให้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ‘ดีขึ้น’ ถึงจะยังไม่ ‘ดีที่สุด’ เช่นเดียวกับประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังจะออกตามมาหลังจากนี้ ซึ่งประชาชน หรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องก็ยังสามารถส่งเสียงของตัวเองออกมาได้ ไม่ว่าจะคัดค้าน หรือเห็นด้วยก็ตาม