มาตรา 112 กลายเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังสำนักข่าว บีบีซีไทย ถูกเพ่งเล็งจากทางการไทยในการดำเนินคดี ข้อหาเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ที่ว่าด้วยการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาท จากบทความ ‘พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย’ ที่มีเนื้อหาในเชิงลบต่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ และแชร์ลิงก์บนแฟนเพจ บีบีซีไทย – BBC Thai เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา

เหตุการณ์ครั้งนี้ต่างจากการดำเนินคดีมาตรา 112 ในอดีต เนื่องจากหากมีการดำเนินคดีเกิดขึ้น นี่จะเป็นการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ กับสำนักข่าวระดับโลกครั้งแรก

จึงไม่แปลกที่สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักทั้งในญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินเดีย อังกฤษ ยุโรป และอเมริกา จะให้ความสนใจและรายงานเหตุการณ์ดังกล่าว หลังมีข่าวว่าทางการไทยจะดำเนินคดีกับบีบีซีไทย

ให้หลังจากบทความบีบีซีไทยเผยแพร่เพียงหนึ่งวัน ไผ่ ดาวดิน หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หนึ่งในสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ภาคอีสาน ที่แชร์บทความดังกล่าว ก็ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวข้อหาผิดมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก่อนที่ศาลจะอนุมัติให้ประกันตัวในวันต่อมา

ล่าสุด ทางการไทยได้ยกระดับความเข้มงวด เมื่อ ประชาไท รายงานว่า ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา มีประชาชนที่ใช้เฟซบุ๊ก 6 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกปรับทัศนคติ จากกรณีกดไลก์หรือกดติดตามเฟซบุ๊กของ Somsak Jeamteerasakul

ทั้งหมดคือข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ท่ามกลางอากาศเย็นช่วงปลายปีของกรุงเทพฯ ที่กลายเป็นข้อครหาของสื่อต่างชาติ และสร้างข้อถกเถียงในหมู่คนไทยที่เห็นต่าง

จนอากาศที่เริ่มหนาวกลายเป็นร้อนระอุขึ้นมาทันที

Photo: Reuters

หลักการของบีบีซีและท่าทีของทางการไทย

แม้ทางการไทยจะดำเนินคดีกับประชาชนที่แชร์บทความ ‘พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย’ เช่น ไผ่ ดาวดิน ไปแล้ว แต่จนถึงวันนี้ (8 ธ.ค. 59) ก็ยังไม่มีการดำเนินคดีเอาผิดมาตรา 112 กับสำนักข่าวบีบีซีแต่อย่างใด เหมือนกับว่ารัฐบาลไทยต้องการจะดูท่าทีและชั่งใจผลได้ผลเสียบางอย่าง เนื่องจากเรื่องนี้ถูกจับตามองจากทั่วโลก ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการส่งสัญญาณว่าจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดก็ตาม

สำนักข่าว AFP อ้างคำสัมภาษณ์ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า บีบีซีไทยมีสาขาสำนักงานอยู่ในประเทศไทย และนักข่าวก็ยังเป็นคนไทย หากทำผิดกฎหมายไทย ก็ต้องถูกดำเนินคดีในประเทศไทย

ตรงกับคำสัมภาษณ์ในเนื้อข่าวที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ไทยพีบีเอส (7 ธ.ค. 59) ว่า “กรณีสื่อต่างประเทศ ในเมื่อมีสาขาอยู่ในประเทศไทย และมีนักข่าวคนไทยอยู่ด้วย เมื่อมีการกระทำผิดกฎหมายไทยก็ต้องถูกดำเนินคดี ก็จบแค่นั้น เหมือนเราไปอยู่ที่ประเทศอื่น ถ้าเราทำผิดกฎหมายประเทศเขาเราก็ต้องถูกดำเนินคดี สื่อผิด ก็ผิด

“เพราะฉะนั้นระมัดระวังด้วย อย่าไปละเมิด ทำให้เกิดความวุ่นวายสับสน และขอให้ระมัดระวังการทำผิดกฎหมายอื่นๆ ด้วย เช่น มาตรา 116 (ของประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยการทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ทำให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์”

ด้าน Reuters รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีว่า “เจ้าหน้าที่ต้องติดตามเรื่องนี้ มันเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะติดตามคนที่ทำผิดกฎหมาย”

ขณะที่สำนักข่าวบีบีซีประกาศที่จะยืนหยัดต่อหลักการในการนำเสนอข่าวของตัวเอง มากกว่าจะอิงกับกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งสะท้อนผ่านคำชี้แจงของโฆษกบีบีซีว่า

“การก่อตั้งบีบีซีไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข่าวสารอย่างไม่เลือกข้าง มีความเป็นอิสระ และถูกต้อง ในประเทศที่สื่อมวลชนต้องเผชิญกับข้อจำกัด และเรามั่นใจว่าบทความชิ้นนี้ไม่มีสิ่งใดที่ขัดต่อหลักปฏิบัติในการเสนอข่าวบีบีซี” (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ สื่อทั่วโลกพร้อมใจเสนอข่าวรัฐบาลไทยเตรียมดำเนินคดีบีบีซี)

Photo: www.bbc.com

คนไทยคิดอย่างไรกับบทความที่ละเมิดมาตรา 112

หลังบีบีซีไทยเผยแพร่บทความ ‘พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย’ เพียงไม่นาน ได้มีผู้เข้ามาอ่านจำนวนมาก เมื่อดูจากตัวเลขในโพสต์ที่แชร์ลิงก์บทความบนหน้าแฟนเพจ ที่มีจำนวน 27,000 กว่าไลก์ 2,478 แชร์ และ 1,024 คอมเมนต์

ท่ามกลางความเห็นที่มากมายนั้นมีความเห็นหลากหลาย ทั้งเห็นด้วยและเห็นแย้ง

“อ่านข่าวนี้ไม่ได้รู้สึกแย่อะไรนะครับ กลับรู้สึกดีด้วยซ้ำที่ราชวงศ์ของไทยเข้าถึงง่ายมากยิ่งขึ้น ดูเป็นสากลดีครับ”

December 2 at 11:52am

“อ่านแล้วไม่ใช่วิธีการเขียนพระราชประวัติเลย นะคะ เจตนาคืออะไร”

December 2 at 3:37pm

“สำหรับ BBC แล้วเขาเพียงต้องการนำเสนอข่าวในอีกมุมเท่านั้น ถ้าคุณลองเปิดใจรับฟังแล้วนำไปวิเคราะห์ต่อมันจะเป็นประโยชน์มากกว่าคุณมานั่งคอมเม้นท์ด่านะ”

December 2 at 10:40am

“ขอให้บีบีซีปลอดภัย”

December 2 at 12:22pm

 

หรือกระทั่งเห็นต่างถึงขั้นถกเถียงและพาดพิงถึงสำนักข่าวที่นำบทความนี้มาเผยแพร่ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง

 

“BBC เขียนข่าวแบบนี้เพื่ออะไร กลับไปยุ่งเรื่องของประเทศตัวเองจะดีกว่านะ เรื่องครอบครัวก็เป็นเรื่องส่วนพระองค์ #ลามปามมาก”

December 2 at 12:24pm

“เหิมเกริม ไร้จรรยาบรรณในวิชาชีพ อ้อ ก็ไม่เคยเห็นจากสำนักนี้เท่าไร”

 December 2 at 1:36pm

นี่คือท่าทีของสื่อมวลชนที่ควรถูกตั้งคำถามถึงกาลเทศะ เมื่อตัดสินใจปล่อยบทความนี้ หลังจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ขึ้นทรงราชย์อย่างเป็นทางการได้เพียงหนึ่งวัน (1 ธ.ค. 59)

หรือแท้จริงแล้ว การเลือกที่จะไม่พูดถึงข้อเท็จจริงบางอย่างของสื่อมวลชนไทย ซึ่งควรทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนสังคม สร้างความเข้มแข็งทางปัญญาให้พลเมือง และถ่วงดุลอำนาจรัฐ

ควรจะเป็นโจทย์ที่ควรเอามาตั้งคำถามและหาคำตอบกันมากกว่าหรือไม่

Photo: Reuters​

มาตรา 112 รักษาหรือทำลายสถาบันฯ?

จากกรณีบทความของบีบีซี ถึงการเข้าจับกุม ไผ่ ดาวดิน การบุกเข้าสำนักงานบีบีซีประเทศไทยของเจ้าหน้าที่ทางการไทย (ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่า ไม่เป็นความจริง)  และการยกระดับความเข้มงวดตลอดในช่วง 5 วันที่ผ่านมา ที่มีประชาชนผู้ใช้เฟซบุ๊ก 6 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกปรับทัศนคติ จากกรณีกดไลก์หรือกดติดตามเฟซบุ๊กของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ด้าน พล.อ. เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เปิดเผยกับ โพสต์ทูเดย์ ว่า การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างเข้มงวดนั้น เป็นไปเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากสถาบันฯ ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้

ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า การบังคับใช้นั้นเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ

“จะทำอะไรก็ต้องระวังก็แล้วกัน อย่าไปทำผิดที่เป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวคนอื่นเขา จนทำให้เกิดความวุ่นวายสับสน มาตรา 116 ก็มี ถ้าทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็ต้องดำเนินคดี ผมไม่ได้ขู่นะ

“ดังนั้น ถ้าต้องการให้ประเทศชาติสงบสุขก็ต้องช่วยกัน”

จากคำกล่าวของทางการไทยที่ยกเหตุผลเรื่องความสงบและการรักษาสถาบันเป็นที่ตั้ง พาให้นึกถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 ที่กล่าวถึงการบังคับใช้มาตรา 112 เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2548 ว่า

“แต่ว่าความจริง ก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน แล้วก็ไม่กลัว ถ้าใครจะวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้นๆ จะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน…

“แต่อย่างไรก็ตาม เข้าคุกแล้ว ถ้าเป็นการละเมิดพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เองเดือดร้อน เดือดร้อนหลายทาง ทางหนึ่ง ต่างประเทศเขาบอกว่าเมืองไทยนี่ พูดวิจารณ์พระมหากษัตริย์ไม่ได้ ว่าวิจารณ์ไม่ได้ก็เข้าคุก มีที่เข้าคุก เดือดร้อนพระมหากษัตริย์ ต้องบอกว่าเข้าคุกแล้วต้องให้อภัย

 

“ที่เขาด่าเราอย่างหนัก ฝรั่งเขาบอกว่าในเมืองไทยนี่ พระมหากษัตริย์ถูกด่า ต้องเข้าคุก ที่จริงควรเข้าคุก แต่เพราะฝรั่งบอกอย่างนั้น ก็ไม่ให้เข้า ไม่มีใครกล้าเอาคนที่ด่าพระมหากษัตริย์เข้าคุก เพราะพระมหากษัตริย์เดือดร้อน เขาหาว่าพระมหากษัตริย์เป็นคนที่ไม่ดี อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นคนที่จั๊กจี้ ใครว่าไรสักนิด ก็บอกให้เข้าคุก ที่จริงพระมหากษัตริย์ไม่เคยบอกให้เข้าคุก ตั้งแต่สมัยรัชกาลก่อนๆ เป็นกบฏ ก็ยังไม่จับใส่คุก ไม่ลงโทษ รัชกาลที่ 6 ท่านไม่ลงโทษ ไม่ได้ลงโทษผู้ที่เป็นกบฏ มาจนถึงต่อมา รัชกาลที่ 9 ใครเป็นกบฏ ก็ไม่เคยมีแท้ๆ ที่จริงก็ทำแบบเดียวกันไม่ให้เข้าคุก ให้ปล่อย หรือถ้าเข้าคุกแล้วก็ให้ปล่อย ถ้าไม่เข้าก็ไม่ฟ้อง เพราะเดือดร้อนผู้ที่ถูกด่า เป็นคนเดือดร้อน”

เป็นเรื่องไม่ง่ายหรือสะดวกนักที่จะตัดสินว่า การบังคับใช้มาตรา 112 ของรัฐควรหรือไม่ หรือเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสถาบันฯ มากแค่ไหน เพราะจากพระราชดำรัสข้างต้น ด้านหนึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความอึดอัดพระทัยของพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ หรือมาตรา 112 ในขณะที่อีกด้านของทางการไทยอ้างว่า ทำเพื่อรักษาสถาบันให้คงอยู่สืบไป

กรณีบทความ ‘พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย’ ของ บีบีซีไทย เป็นเพียงหนึ่งในหลายกรณีก่อนหน้าที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งหลายครั้งมีผู้หยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า การมีอยู่ของกฎหมายมาตรานี้ แท้จริงแล้วเป็นเพียงเครื่องมือที่ผู้มีอำนาจรัฐใช้เพื่อประโยชน์ของตัวและพวกพ้องเท่านั้น ขณะที่บางส่วนมองว่าข้อกฎหมายนี้จำเป็นต่อสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย

สมมติฐานข้างต้นจะจริงหรือไม่ คงต้องหยิบประเด็นนี้มาถกเถียงกันอย่างเปิดใจ แม้ว่าความจริงที่เกิดขึ้นจะบอกกับเราว่า นี่คือหนึ่งในเรื่องที่ยากจะพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาก็ตาม

ภาพประกอบ: Karin Foxx 

FACT BOX:

มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี ทั้งนี้ ในประมวลกฎหมายไม่มีนิยามว่าพฤติการณ์แบบใดเข้าข่าย ‘หมิ่นประมาท’ หรือ ‘ดูหมิ่น’ ลักษณะการกระทำความผิดมีหลากหลาย แล้วแต่ศาลจะพิเคราะห์เจตนา

Tags: , ,