นับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 เป็นต้นมา ในวินาทีประวัติศาสตร์ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นทรงราชย์ว่า

“ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา ได้กล่าวในนามของปวงชนชาวไทย เชิญข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ข้าพเจ้าขอตอบรับ เพื่อสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง”

ถือเป็นหมุดหมายสำคัญว่ารัชสมัยของรัชกาลที่ 10 ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยมีรับสั่งโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร’

เมื่อแผ่นดินเปลี่ยน สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมานับจากนี้ก็คือ การเฉลิมพระยศเจ้านายในราชวงศ์เสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับรัชสมัยปัจจุบัน ซึ่งในฐานะพสกนิกรผู้จงรักภักดี The Momentum จึงขอไขความกระจ่างในเรื่องนี้ ด้วยการพูดคุยในเชิงวิชาการกับ เล็ก พงษ์สมัครไทย ผู้เขียนหนังสือ พระญาติ ราชสกุล กรุงรัตนโกสินทร์ และเฉลิมพระยศเจ้านายฝ่ายในในรัชกาลที่ 1-9 โดยสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม ในเครือมติชน และ กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร ผู้เขียนหนังสือ ในวังแก้ว, ร้อยเรียงเวียงวัง, ชีวิตในวังบางขุนพรหม ฯลฯ

การเฉลิมพระยศเจ้านายต้องนับจากองค์พระมหากษัตริย์เป็นต้นไป

สำหรับหลักเกณฑ์ในการเฉลิมพระยศเจ้านายต่างๆ นั้น เล็ก พงษ์สมัครไทย ให้ข้อมูลว่า ในเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเป็นใหญ่ในราชสกุล หรือกุลเชษฐ์ การเฉลิมพระยศเจ้านายในราชสำนัก ต้องนับจากองค์พระมหากษัตริย์เป็นต้นไป โดยสายบนนับจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สายข้างนับจากพระเชษฐภคินี และพระขนิษฐา หรือพี่สาว น้องสาว ส่วนสายล่างนับจากพระโอรส และพระธิดา เป็นต้นไป

“เพราะฉะนั้นพระมหากษัตริย์เป็นกุลเชษฐ์ในราชสกุล เวลานับพระยศ พระศักดิ์ ต้องนับจากในหลวงเป็นจุดเริ่มต้น แล้วค่อยดูว่าเจ้านายพระองค์นี้มีความสัมพันธ์อย่างไรกับในหลวง ถ้ามีพระยศตั้งแต่พระองค์เจ้าขึ้นไปจะต้องมีคำนำหน้า เช่น พระเจ้าน้องนางเธอ, พระเจ้าลูกยาเธอ ฯลฯ ต่อด้วยพระองค์เจ้า เพื่อจะได้บอกให้รู้ว่าเจ้านายพระองค์นี้สัมพันธ์อย่างไรกับพระมหากษัตริย์”

ส่วนจะมีการเฉลิมพระยศเจ้านายต่างๆ ในราชวงศ์เมื่อไหร่นั้น เล็ก พงษ์สมัครไทย ระบุว่า ขึ้นอยู่กับพระราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 10 ที่จะทรงแต่งตั้งก่อน หรือรอให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อน ซึ่งอาจจะใช้เวลานานนับปีต่อจากนี้ไป

เฉลิมพระปรมาภิไธยเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้วเท่านั้น

แม้จะมีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นทรงราชย์แล้ว แต่ก่อนที่จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร ระบุว่าจะต้องเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ต่อเมื่อทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว จะทรงเป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ

“อาจมีการคิดพระนามใหม่ก็ได้ แต่ต้องขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ’ หลังจากที่พระเจ้าอยู่หัวได้ขึ้นประทับที่พระราชอาสน์ หรือพระราชบัลลังก์ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้นสำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

“ส่วนพระราชพิธีนี้พระองค์จะสะดวกเมื่อไหร่ก็สุดแท้แต่พระราชอัธยาศัย ซึ่งที่ผ่านมามีพระราชดำรัสว่าขอให้งานของพระบรมราชชนกผ่านพ้นไปก่อน แล้วค่อยประกอบพระราชพิธี ในระหว่างนี้ต้องใช้พระปรมาภิไธยเป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปก่อน จะยังไม่ใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

พระบรมราชชนนี

จากข้อมูลบางกระแสระบุว่า พระอิสริยยศของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อมีการเปลี่ยนแผ่นดินแล้วจะต้องมีการเฉลิมพระอิสริยยศใหม่ โดยมีสร้อยพระนามเป็น ‘พระพันปีหลวง’ แต่ เล็ก พงษ์สมัครไทย แย้งว่าคำว่า ‘พระพันปีหลวง’ ถือเป็นคำลำลองที่ใช้กันทั่วไป แต่ภาษาทางการต้องเรียกว่าเป็น ‘พระบรมราชชนนี’

“พระอิสริยยศพระบรมราชินีนาถ ถือเป็นตำแหน่งที่สมบูรณ์สูงสุดแล้ว พอเปลี่ยนรัชกาลในความเห็นของผมท่านคงไม่ตั้งให้สูงขึ้นไปอีก แต่น่าจะใช้พระนาม และพระยศเดิม แล้วต่อท้ายว่าพระบรมราชชนนี เช่นเดียวกับในสมัยรัชกาลที่ 6 ขึ้นครองราชย์ ท่านได้ให้สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ไปทูลถามสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ท่านก็พูดกันในวงในว่า สมเด็จพระศรีพัชรินฯ ทรงตำหนิเอา บอกว่ารัชกาลที่ 5 ก็ตั้งให้ฉันสูงสุดแล้ว ไม่ต้องมาตั้งอะไรอีก รัชกาลที่ 6 ท่านจึงต่อท้ายสร้อยพระนามว่า ‘พระบรมราชชนนี’ ซึ่งบรมก็แปลว่า ในหลวง ราชชนนี ก็แปลว่า แม่ในหลวง แต่ชาวบ้านเรียกกันว่าพระพันปีหลวง ซึ่งเป็นภาษาลำลองมากกว่า”

ดังนั้นเมื่อมีการเฉลิมพระอิสริยยศใหม่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ น่าจะเปลี่ยนเป็น ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี’

สมเด็จพระเทพฯ และพระประยูรญาติ

ทางด้าน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งถือเป็นพระอิสริยยศสูงสุดแล้ว เล็ก พงษ์สมัครไทย ให้ความเห็นว่า พระอิสริยยศเดิมอาจเทียบเท่ากับ กรมพระเทพามาตย์ในสมัยโบราณ น่าจะไม่มีการเปลี่ยนพระอิสริยยศอีก แต่อาจจะเปลี่ยนสร้อยพระนามจาก ราชกุมารี ที่แปลเป็นคำสามัญว่า ลูกสาวของพระมหากษัตริย์ เป็น ‘ราชขนิษฐารินี’ ที่แปลว่า น้องสาวของพระมหากษัตริย์

“ทั้งนี้กรณีที่พระมหากษัตริย์จะแต่งตั้งพระราชธิดาให้เป็นใหญ่อย่างสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เรียกว่าไม่น่าจะเคยปรากฏมาก่อน เพราะรัชกาลที่ 3 ท่านก็โปรดพระราชธิดามาก แต่ท่านก็ตั้งให้เป็นกรมหลวง แต่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ไม่ได้ทรงกรม แต่น่าจะเทียบเท่าได้กับพระเทพามาตย์ คือสูงสุดรองจากพระราชินี ดังนั้นในกรณีนี้จึงคาดเดาได้ลำบาก”

ส่วนกรณีของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ที่ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปแล้ว คงต้องขึ้นอยู่กับพระราชวินิจฉัยในรัชกาลที่ 10 ว่าจะทรงคืนพระอิสริยยศให้หรือไม่ ถ้ามีการคืนพระอิสริยยศก็จะเป็น

‘สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี’

เช่นเดียวกับ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่น่าจะเปลี่ยนพระอิสริยยศจาก ‘พระเจ้าลูกเธอ’ เป็น

‘สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณวลัยลักษณ์’

ทางด้าน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ซึ่งมีสร้อยพระนามว่า ‘ทินัดดามาตุ’ แปลว่า พระมารดาของหลานสาวองค์โตของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นพระยศอาจไม่เปลี่ยน แต่สร้อยพระนามอาจเปลี่ยนไป โดยใช้คำภาษาบาลีที่แปลว่า พระมารดาของธิดาองค์โตของพระมหากษัตริย์ ซึ่งคาดเดาได้ลำบาก เพราะไม่มีกรณีให้เทียบเคียงกับในอดีต

นอกจากนี้ยังมีกรณีเครือพระญาติอย่าง พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กับนาวาอากาศเอก วีระยุทธ ดิษยะศริน ซึ่ง เล็ก พงษ์สมัครไทย ขยายความว่า คำว่า ‘พระเจ้าหลานเธอ’ หมายถึงหลานที่เป็นสายตรงของพระมหากษัตริย์ คือในหลวงเป็นปู่ หรือเป็นตา แต่ในกรณีที่เป็นหลาน-ลุง จะไม่นับว่าเป็นหลานโดยตรง แต่จะใช้คำว่า ‘พระภาคิไนย’ ซึ่งแปลว่า หลานซึ่งเป็นลูกของพี่สาวหรือน้องสาว

ดังนั้นพระยศใหม่ของทั้ง 2 พระองค์ น่าจะเปลี่ยนเป็น

‘พระเจ้าภาคิไนยเธอ พระองค์เจ้า…’ ตามด้วยพระนาม

“ให้ข้อมูลเป็นความรู้นิดหนึ่งว่า ถ้าพระยศเป็น พระองค์เจ้า จะต้องมีคำนำหน้าเสมอ หมายความว่าเกี่ยวเนื่องด้วยพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันอย่างไร เช่น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าฯ หรือพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าฯ ถ้าใช้พระองค์เจ้าฯ เฉยๆ หรือพูดลอยๆ จะถือว่าผิด”

พระราชโอรส และพระราชธิดา

ตามหลักโบราณราชประเพณีแล้ว ถ้าเป็นพระราชโอรส จะใช้คำว่า ‘พระเจ้าลูกยาเธอ’ ส่วนพระราชธิดาจะใช้ ‘พระเจ้าลูกเธอ’ นำหน้าพระนาม นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดว่าถ้าพระมารดามีฐานันดรเป็นพระองค์เจ้าขึ้นไป พระราชโอรส และพระราชธิดา จะใช้ ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้า… พระองค์เจ้า…’ และ ‘สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า… พระองค์เจ้า…’ ส่วนถ้าพระมารดาเป็นบุคคลสามัญจะใช้เป็น ‘พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้า’ และ ‘พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้า’

ทั้งนี้การเฉลิมพระยศของเจ้านายพระองค์ต่างๆ สำนักพระราชวังจะมีหน้าที่แต่งตั้งขึ้นไปถวายพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังต้องมีการจารึกพระนามไว้ในแผ่นทองคำเนื้อแปดที่เรียกว่า พระสุพรรณบัฏ เพื่อเก็บไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามต่อไป

ทั้งนี้ข้อมูลทั้งหมดเกิดจากการอ้างอิงตามโบราณราชประเพณี และบางส่วนเป็นข้อคิดเห็น สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปต้องขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัย เป็นการส่วนพระองค์ และคงต้องติดตามประกาศที่แน่นอนจากสำนักพระราชวังต่อไป

Photo: Damir Sagolj, Reuters/profile

Tags: , ,