ขณะที่ปฏิบัติการธรรมกายยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีทีท่าว่าจุดสิ้นสุดอยู่ตรงไหน เสียงวิพากษ์วิจารณ์ และคำถามที่เริ่มหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ จำเป็นแค่ไหนที่รัฐต้องจัดการกับธรรมกายอย่างเด็ดขาด และธรรมกายเป็นภัยกับพระพุทธศาสนาจริงหรือไม่?
คำตอบจากสังคมแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง
ฝั่งหนึ่งมองว่าธรรมกายเป็นภัยกับพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ และการคงอยู่ของธรรมกายอาจเป็นผลให้คนเสื่อมศรัทธากับศาสนาลงเรื่อยๆ ด้วยคำสอนที่บิดเบือน และวิถีปฏิบัติที่แตกต่างจากชาวพุทธทั่วๆ ไป
ขณะที่อีกฝั่งมองว่าธรรมกายไม่ใช่ปัญหาที่รัฐควรเข้าไปยุ่ง แต่เป็นหน้าที่ของชุมชนศาสนาด้วยกันต่างหากที่จำเป็นจะต้องจัดการกันเอง และการเข้าไปยุ่งกับธรรมกายโดยใช้อำนาจรัฐ อาจเป็นการใช้อำนาจแบบ 2 มาตรฐาน เพราะวัดอื่นๆ ที่ไม่ใช่ธรรมกายแต่มีปัญหาเดียวกันก็ยังมีอยู่อีกมากมาย เพียงแต่ไม่ได้ถูกสังคมจับจ้องเช่นเดียวกับวัดพระธรรมกาย
ไม่ว่าจะคิดแบบไหน แต่คำถามนี้จำเป็นที่จะต้องถกเถียงกัน มองให้รอบด้าน และรับฟังทุกความคิดเห็น ซึ่ง The Momentum ขอทำหน้าที่รวบรวมทัศนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับกรณีธรรมกายจากหลากหลายบุคคลที่คลุกคลีกับแวดวงพระพุทธศาสนาเพื่อให้เห็นภาพใหญ่เกี่ยวกับกรณีนี้มากขึ้น
ธรรมกายสอนให้นิพพานเป็นอัตตา ถามว่ามีสำนักอื่นที่คิดแบบนี้ไหม
หลายๆ วัดอย่างวัดท่าซุงก็สอนว่านิพพานเป็นสวรรค์วิมาน
หรือแม้กระทั่งอาจารย์พุทธทาสภิกขุเอง
ท่านก็เคยโดนด่าจากวัดมหาธาตุว่าสอนผิดจากพระไตรปิฎก
ไม่มีพุทธแท้ จึงไม่มีพุทธเทียม
ถ้าว่ากันตามหลักธรรมคำสอน ไม่ต้องเป็นนักวิชาการด้านศาสนา หรือพระสงฆ์ก็ต้องรู้ว่าวัดพระธรรมกายมีคำสอน และวิถีปฏิบัติที่แตกต่างจากชาวพุทธทั่วๆ ไป แต่ถึงอย่างนั้น คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กลับไม่ได้มองว่าความแตกต่างนี้คือภัยคุกคามพระพุทธศาสนาอย่างที่หลายๆ คนเชื่อกัน
“เวลาเราจะมองว่าอะไรเป็นภัยต่อศาสนา ก็จะต้องโยงไปสู่ปัญหาว่าใครเป็นพุทธแท้ พุทธเทียม ซึ่งในแง่นี้ผมคิดว่ามันอ้างได้ยากที่ใครจะบอกว่าตัวเองเป็นพุทธศาสนาแท้ หรืออย่างน้อยที่สุดถึงมันจะมีสิ่งที่เรียกว่าแท้กับเทียมจริงๆ ก็ต้องถกเถียงกัน แต่ไม่ใช่มองว่ามันเป็นภัย และถ้ามองผ่านสิ่งที่เราเรียกว่าเสรีภาพทางศาสนา ผมก็ไม่เห็นว่าธรรมกายจะมีปัญหาอะไร เพราะธรรมกายมีสิทธิ์ตีความคำสอนในพุทธศาสนาตามแนวทางของตัวเอง ถ้ายกตัวอย่างแนวคำสอน เช่น ธรรมกายสอนให้นิพพานเป็นอัตตา ถามว่ามีสำนักอื่นที่คิดแบบนี้ไหม หลายๆ วัดอย่างวัดท่าซุงก็สอนว่านิพพานเป็นสวรรค์วิมาน หรือแม้กระทั่งอาจารย์พุทธทาสภิกขุเองท่านก็เคยโดนด่าจากวัดมหาธาตุว่าสอนผิดจากพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้นการพูดว่าวัดพระธรรมกายผิด เป็นภัย ผมคิดว่าเป็นการมองจากมุมเดียว เพราะจริงๆ แล้วเรื่องของธรรมกายเป็นปัญหาอย่างอื่นมากกว่า”
นอกจากนี้ คมกฤช ยังให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า เอาเข้าจริงคงไม่มีใครรู้ว่าพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลเป็นอย่างไร แม้จะถูกสอนให้ยึดตามพระไตรปิฎก แต่พระไตรปิฎกของแต่ละนิกาย ในแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นสุดท้ายแล้วพุทธศาสนาทุกสำนัก ทุกนิกายล้วนแต่ผ่านการตีความมาแล้วทั้งนั้น
ขณะที่พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ วัดสร้อยทอง มองประเด็นคำสอนของวัดพระธรรมกายที่ถูกกล่าวหาว่าบิดเบือนว่า
“ถามว่าเราสามารถเคลมความบริสุทธิ์ในความเป็นพุทธของสำนักใดสำนักหนึ่งในประเทศไทยได้ไหม มันทำไม่ได้ ธรรมกายเป็นปัญหาจริง แต่ในการเป็นปัญหาของธรรมกายมันก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง เพราะธรรมกายไม่ใช่ทั้งหมดของพุทธศาสนาของประเทศ พุทธศาสนาไม่ได้มีแค่สำนักธรรมกาย มันมีอีกหลายสำนักเลยซึ่งล้วนแล้วแต่ใช้วิธีการตีความพระพุทธศาสนาทั้งนั้น มีพุทธวนจนะ มีสันติอโศก เยอะแยะไปหมด ปัญหาว่าบิดเบือน ไม่บิดเบือนไม่ใช่เรื่องที่รัฐจะเข้ามายุ่ง แต่เป็นเรื่องของศาสนิกชนที่จะต้องปกป้องกันเอง จะต้องเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงกันเอง ถึงต้องมีคนอย่าง หลวงพ่อ ป.อ.ปยุตตโต มีคนอย่าง ส.ศิวรักษ์ มีคนอย่างพระไพศาล วิสาโล คนพวกนี้แหละที่จะมีอำนาจมาชี้นำความคิดของคนให้มองว่าธรรมกายผิดหรือถูกอย่างไร”
ในวงการปฏิบัติธรรม หรือพระป่านักปฏิบัติท่านจะรู้ว่าสิ่งที่ธรรมกายสอน
ไม่ใช่การวิปัสสนา แต่เขาสอนให้เพ่งเป็นลูกแก้ว ซึ่งมันทำให้เกิดการยึดติดในองค์พระ
หรือลูกแก้วเหล่านั้น แล้วพอถึงจุดหนึ่งมันก็ไปต่อไม่ได้
ธรรมกายคือ “วัสดุชำรุดที่เจ้าของท่านทิ้งแล้ว”
ด้านเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ประเภทปรัชญา สาขาศาสนศาสตร์ เคยชี้แจงไว้ในหนังสือ บทเรียนชาวพุทธจากกรณีธรรมกาย ของสำนักพิมพ์มติชน ในตอน ‘ต้นธาตุ ต้นธรรม’ ว่า
“พูดกันมากว่า ธรรมกายของหลวงพ่อสดนั้น แรกๆ ท่านเองก็นึกว่าเป็นของแท้ แต่พอปฏิบัติๆ ไป ก็ ‘ติดตัน’ ไม่ก้าวหน้า ท่านจึงไปปรึกษาพระวิปัสสนาจารย์ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เป็นใครก็ทราบกันอยู่ แต่ยุทธจักรไม่บอกกัน รู้กันภายใน หลังจากท่านได้ช่วยสอบอารมณ์ ช่วยแก้ไขให้สักระยะหนึ่ง หล่วงพ่อสดก็ ‘ผ่าทางตัน’ นี้ไปได้ และได้เขียนทำนองประกาศความจริงข้อนี้ไว้ให้อาจารย์วิปัสสนารูปนั้นใต้รูปถ่ายของท่านที่มอบถวายไว้ด้วย
“เมื่อถูกถามว่า เมื่อรู้ว่าธรรมกายของท่านนั้นไม่ใช่ของแท้ แล้วทำไมจึงไม่บอกให้ศิษย์ทั้งหลายทราบ หลวงพ่อก็ตอบว่า คนเขาเชื่อกันมากแล้ว ไม่รู้จะทำอย่างไรได้
“นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ธรรมกายนั้นเป็นวัสดุชำรุดที่เจ้าของท่านทิ้งแล้ว เพราะเจ้าของท่านได้อาศัยแนวทางแห่งวิปัสสนาก้าวไปถึงไหนๆ แล้ว แต่ลูกศิษย์หลานศิษย์ก็ยัง ‘กอด’ มรดกอันชำรุดนั้นไว้อย่างเหนียวแน่น เพียงแค่กอดไว้ตามเดิมก็พอทำเนา หลานศิษย์ เหลนศิษย์บางคนเอามาเป็นเครื่องมือหากิน สร้างความร่ำรวยให้แก่ตนจนน่าตกใจ นี่สิครับน่าตำหนิ”
(อ้างอิง http://www.matichon.co.th/news/473509)
เช่นเดียวกับ ผศ. ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เขียนรายงานวิจัยเรื่อง ศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่: ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย มองว่าวิถีทางแบบธรรมกายไม่ใช่วิถีทางที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น
“ถ้ามองในโลกทัศน์แบบพุทธ ถามว่าสิ่งที่ธรรมกายทำมันเบี่ยงเบนออกไปจากคำสอนของพุทธในคัมภีร์หรือไม่ ในวงการปฏิบัติธรรม หรือพระป่านักปฏิบัติท่านจะรู้ว่าสิ่งที่ธรรมกายสอนไม่ใช่การวิปัสสนา แต่เขาสอนให้เพ่งเป็นลูกแก้ว ซึ่งมันทำให้เกิดการยึดติดในองค์พระ หรือลูกแก้วเหล่านั้น แล้วพอถึงจุดหนึ่งมันก็ไปต่อไม่ได้ พูดง่ายๆ คือมันไม่นำไปสู่การหลุดพ้น นั่นคือสาเหตุที่ท่านอาจารย์เสฐียรพงษ์ใช้คำว่าธรรมกายเป็นวัสดุชำรุดที่เจ้าของท่านทิ้งแล้ว
“ทีนี้นอกจากการปฏิบัติที่แตกต่างแล้ว ธรรมกายยังพยายามจะสร้างมหาอาณาจัก 5 หมื่นล้าน แล้วยังไม่หยุดสร้างอีก ถ้าคิดในแง่ของกรอบอ้างอิงแบบพุทธเพื่อจะบอกว่าอันนั้นใช่หรือไม่ใช่ทางไปสู่การหลุดพ้น เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะตอบได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิชาการศาสนาด้วยซ้ำ แต่คนที่เขาเป็นศาสนิก หรือคนที่เข้าใจเรื่องการปฏิบัติเขาก็จะบอกว่าสิ่งที่ธรรมกายทำ มันไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องแน่ๆ”
ส่วน ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ ประธานโครงการปริญญาโท สาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา ภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าวัดพระธรรมกายมีแนวทางคำสอนหลายอย่างที่นอกเหนือไปจากพุทธกระแสหลักมากเกินไป จนคณะสงฆ์ส่วนหนึ่งรับไม่ได้
“โดยเฉพาะคณะสงฆ์ที่เป็นฝ่ายจารีต หรืออนุรักษ์นิยมซึ่งมองว่าสิ่งที่วัดพระธรรมกายสอนคลาดเคลื่อนจากพระไตรปิฎก หรือมีลักษณะการระดมทุนซึ่งไม่ใช่จุดมุ่งหมายหลักของศาสนา ทำให้ภาพของพระพุทธศาสนาดูไม่ดี ซึ่งคณะสงฆ์เองควรจะมีการเข้ามาจัดการบางอย่าง”
ถ้าสอนต่างจากคนอื่น แล้วอยู่เฉยๆ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
ไม่คิดเข้าครอบงำมหาเถรสมาคม ธรรมกายก็อาจจะไม่ถูกจัดการ
การแผ่ขยายอำนาจของธรรมกาย ความน่ากลัวที่มากกว่าหลักธรรมคำสอน
นอกจากนี้ ผศ. ดร.อภิญญายังมองว่า ความน่ากลัวของธรรมกายไม่ได้อยู่ที่หลักธรรมคำสอนเหมือนที่หลายคนเข้าใจ แต่ความพยายามในการแผ่ขยายอำนาจ และการรุกคืบเพื่อกลืนกินพระพุทธศาสนาในประเทศไทยต่างหากที่เป็นความน่ากลัวอย่างแท้จริง
“ในบรรดาความเคลื่อนไหวของสำนักต่างๆ ถ้าประเมินจากแว่นตาของรัฐ รัฐอาจจะรู้สึกว่าธรรมกายมีอัตราการเติบโตที่มากเกินไป เพราะเขามองแบบโกลบอล และมีลักษณะ aggressive จะเห็นได้ว่าพุทธสำนักอื่นก็เติบโต แต่เขาจะเติบโตแบบช้าๆ ไม่ได้ออกมาเป็นเชิงรุก แต่ธรรมกายพยายามใช้เชิงรุก คือต้องการให้วิธีปฏิบัติธรรมแบบธรรมกายถูกใช้ทั่วประเทศ พยายามแทรกเข้าไปในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้โรงเรียนต่างๆ นำวิธีแบบธรรมกายไปใช้ พยายามเข้าไปล้วงลูกในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่าธรรมกายเป็นองค์กรอิสระที่เกินกว่าจะควบคุมมากขึ้นทุกที ขณะที่การจะเจาะเข้าไปข้างในก็ยากมาก
“อีกอย่างที่น่ากลัวคือการแผ่อำนาจของธรรมกายเป็นไปในลักษณะที่ปฏิเสธคำสอนของคนอื่นๆ ด้วย ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าเขาไม่ได้เปิดกว้างกับศาสนาอื่นๆ เขาไม่ชอบ และกลัวคริสเตียนมากๆ ถ้าสมมติว่าวันหนึ่งธรรมกายสามารถยึดครองมหาเถรสมาคมได้สำเร็จ ยึดครองกระบวนการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชได้สำเร็จ มันก็จะยุ่งกันไปใหญ่ เพราะเขาจะบอกว่าพุทธทางอื่น หรือศาสนาอื่นผิดหมดเลย ตัวเองถูกอยู่ฝ่ายเดียว ถ้าเขามีอำนาจ ก็อาจจะใช้อำนาจที่ตัวเองมีไปบีบฝ่ายอื่นๆ
“ทุกวันนี้สำนักต่างๆ ก็มีการสอนตามวิธีการของตัวเองเยอะแยะ ไม่เว้นกระทั่งวิธีกรรมฐาน วิปัสสนาซึ่งแตกต่างกันไป แต่ถ้าสอนต่างจากคนอื่น แล้วอยู่เฉยๆ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่คิดเข้าครอบงำมหาเถรสมาคม ธรรมกายก็อาจจะไม่ถูกจัดการ”
ด้านนักวิชาการด้านปรัชญาอย่างคมกฤช มองคล้ายกันว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของธรรมกายคือการอยู่ใกล้ชิดอำนาจรัฐมากจนเกินไป และทางออกที่อยากเห็นคือการแยกรัฐออกจากศาสนา
“การใกล้ชิดอำนาจรัฐในแง่นี้เราจะเห็นว่าธรรมกายได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐ ถ้าอยู่ในรัฐบาลที่ให้การสนับสนุน เช่น โครงการอบรมข้าราชการ โครงการอบรมนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ พอเป็นอย่างนี้ปุ๊บ เราก็จะเห็นรัฐใช้ธรรมกายเป็นเครื่องมือ ธรรมกายก็ใช้รัฐเป็นเครื่องมือ แต่ถามว่าปัญหาเช่นที่ว่ามานี้มีเฉพาะกับธรรมกายหรือเปล่า ก็ไม่ใช่นะครับ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับองค์กรทางศาสนาไม่ได้มีเฉพาะแต่ธรรมกายเท่านั้น เพียงแต่ธรรมกายเป็นกรณีที่มีความโดดเด่น อาจจะด้วยเพราะธรรมกายทำแต่เมกะโปรเจกต์ และธรรมกายมีลักษณะแบบเครือข่าย แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ปัญหาของธรรมกายเท่านั้น มีวัดอื่นๆ ด้วย นี่เป็นปัญหาจริงๆ ของธรรมกายสำหรับผม
“คือสุดท้ายแล้วมันก็จะนำมาสู่ข้อเสนอที่หลายคนเคยเสนอไว้ คือการแยกศาสนาออกจากรัฐ หรือที่เรียกว่า secularization เพราะสุดท้ายแล้วต่อให้คุณกำจัดธรรมกายได้ ปัญหาเรื่องการอิงแอบอำนาจกันระหว่างรัฐกับสงฆ์ หรือรัฐกับศาสนามันก็ไม่มีวันจบนะครับ ถ้ายังมีลักษณะของการเอื้อประโยชน์ต่อกันในแง่มุมแบบนี้อยู่”
พระรูปอื่น สำนักอื่นมีปัญหากับธรรมกาย ด่ากันไปด่ากันมาอันนั้นไม่มีปัญหาหรอก
จะให้ดีต้องสร้างพื้นที่ในการถกเถียง
รัฐควรจัดการกับธรรมกายอย่างไร
อย่างไรก็ตามปัญหาของวัดพระธรรมกายเป็นเรื่องที่สังคมกำลังจับตามองว่ารัฐจะจัดการอย่างไร ซึ่ง ผศ. ดร.อภิญญามองว่า
“ต้องมีใครสักคนที่ลุกขึ้นมาจัดการ เพราะเขาน่ากลัว แต่จะจัดการอย่างไรไม่ให้เกิดการนองเลือด อันนี้เป็นปัญหาของรัฐที่ต้องจัดการเอาเอง ถ้านองเลือดเมื่อไรจากที่เหมือนจะได้เปรียบจะกลายเป็นเสียเปรียบ และธรรมกายที่ดูเหมือนกำลังจะถอยหลังพิงฝา จะกลับมาได้เปรียบทันที เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวัง”
ขณะที่คมกฤชเสนอว่า การจัดการที่ดีที่สุดกับวัดพระธรรมกายคือการถกเถียง โต้แย้ง โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องเข้ามายุ่งเกี่ยว
“การโจมตี โต้แย้ง ถกเถียงกันเป็นสิ่งที่ควรทำ ถ้าเราคิดเรื่องเสรีภาพทางศาสนา เพียงแต่มันต้องไม่ถูกยกระดับไปสู่การเรียกร้องให้จัดการโดยการใช้อำนาจกับธรรมกาย ดังนั้นถามว่าพระรูปอื่น สำนักอื่นมีปัญหากับธรรมกาย ด่ากันไปด่ากันมาอันนั้นไม่มีปัญหาหรอก จะให้ดีต้องสร้างพื้นที่ในการถกเถียง นักวิชาการทางศาสนา นักปราชญ์ พระสงฆ์ต้องมาถกเถียงกัน จะว่าธรรมกายไม่ใช่พุทธศาสนายังได้เลย แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ เพราะนอกเหนือจากวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงแล้ว มันกลายเป็นการเรียกร้องอำนาจรัฐ หรืออำนาจส่วนกลางให้เข้ามาจัดการกับวัดซึ่งไม่ใช่พวกของตัวเอง ผมว่าอันนี้ต่างหากคือปัญหา”
ไม่ว่าปัญหาของธรรมกายจะจบลงอย่างไร แต่สุดท้ายสังคมโดยรวมคงรู้ดีว่าวัดพระธรรมกายไม่ใช่วัดแห่งเดียวที่กำลังเผชิญกับวิกฤตศรัทธา แต่เป็นพระพุทธศาสนาโดยรวมต่างหากที่เราทุกคนต้องตั้งคำถามต่อไปถึงแนวทางที่เหมาะสมที่จะทำให้ศาสนาประจำชาติไทยกลายเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจที่แท้จริงอีกครั้ง
ภาพประกอบ: Karin Foxx
Tags: Dhammakaya, DSI