เป็นที่รู้กันดีว่าบนโลกนี้ไม่มีที่ไหนเงียบอย่างแท้จริง ในบ้านเงียบๆ มีค่าเฉลี่ยเสียงเท่ากับ 30 เดซิเบล เสียงของรถราและกิจกรรมของเมืองที่ไม่เคยหลับคือซาวด์แทร็กขับกล่อมเราตลอดเวลาจนลืมไปแล้วว่าได้ยินมันอยู่ แม้ในป่าลึกก็เต็มไปด้วยเสียงเซ็งแซ่ของสรรพสัตว์และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่นเดียวกับในทะเลทรายและมหาสมุทร

เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้เงียบจริงๆ คุณต้องออกไปนอกโลก นั่นจึงเป็นเหตุผลที่นักบินอวกาศของนาซ่าต้องเตรียมความพร้อม ‘รับมือ’ กับความเงียบระดับนั้น ด้วยการฝึกปรับตัวในห้องเก็บเสียงสะท้อน (Anechoic Chamber) ที่ห้องแล็บออร์ฟีลด์ (Orfield Laboratories) ในรัฐมินเนโซตา ความเงียบระดับ -9.4 เดซิเบล ทำให้มันครองแชมป์สถานที่ที่เงียบที่สุดในโลกตามบันทึกของกินเนสอยู่หลายปี ก่อนจะถูกโค่นแชมป์โดยห้องเก็บเสียงของไมโครซอฟต์ในวอชิงตัน ที่มาพร้อมความเงียบระดับ -20.6 เดซิเบล นับว่าใกล้เคียงที่สุดกับค่าความเงียบสมบูรณ์ขณะมีอากาศ ที่มีการคำนวณไว้ว่าจะเงียบได้ถึง -24 เดซิเบล มีเพียงเสียงการกระทบกันของโมเลกุลอากาศกับอุณหภูมิห้อง และเงียบกว่านั้นคือภาวะสุญญากาศ

 

ห้องที่เงียบที่สุดในโลกแบบ 360 องศา ออกแบบโดยไมโครซอฟต์

 

ค่าเสียงต่ำกว่า 0 เดซิเบลได้อย่างไร?

ได้เพราะเดซิเบลเป็นการวัดค่าความดังของเสียงด้วยเครื่องมือที่เลียนแบบการได้ยินของมนุษย์ จึงไม่นับรวมเสียงที่มีค่าความถี่ต่ำและสูงที่หูมนุษย์ไม่อาจได้ยิน ดังนั้น ในขณะที่ 85 เดซิเบลคือระดับเสียงที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าเป็นอันตรายต่อหู และระดับ 0 เดซิเบลคือระดับเสียงต่ำสุดที่หูมนุษย์สามารถได้ยิน มันย่อมไม่ได้แปลว่าพ้นไปจากนั้นคือภาวะปราศจากเสียง ค่าเดซิเบลจึงสามารถติดลบได้เพราะเสียงยังมีอยู่แม้เราไม่ได้ยิน ค่าติดลบมากก็แปลว่าเงียบมาก

ความเงียบที่ยิ่งสนิทมากเท่าไหร่ ดูเหมือนจะยิ่งส่งผลกระทบกับมนุษย์อย่างเป็นปรากฏการณ์มากเท่านั้น ทั้งก่อกวนประสาทสัมผัส เล่นกลกับสมองของเรา ราวกับความเงียบเป็นมวลอันมีพลัง ที่หากมากพอก็อาจทำให้จิตหลุดได้

 

ประสบการณ์เงียบจนได้ยินเสียงหัวใจตัวเอง (ไม่โรแมนติก)

ว่ากันว่ามันดังราวกับเสียงน้ำตกขนาดใหญ่ ทันทีที่คุณก้าวเข้าไปในห้องที่เงียบที่สุดในโลก…

“เมื่อคุณถูกห้อมล้อมด้วยความเงียบ คุณกลับยิ่งได้ยินมากขึ้น เริ่มจากคุณจะได้ยินเสียงหัวใจตัวเอง บางครั้งได้ยินเสียงของปอด การทำงานของท้องคุณก็จะดังมาก ในห้องที่ปราศจากเสียงนี้ ตัวคุณเองนี่แหละจะกลายเป็นเสียง” สตีฟ ออร์ฟีลด์ แห่งแล็บออร์ฟีลด์ ให้สัมภาษณ์ไว้ในฐานะเจ้าของสถิติเงียบที่สุดเจ้าแรก ทุกวันนี้แล็บของเขายังเปิดให้บริการ สำหรับใครที่อยากสัมผัสประสบการณ์ความเงียบสุดหลอน ดูรายละเอียดที่ orfieldlabs.com

แต่คนส่วนมากไม่มีใครอยู่ในนั้นได้นาน โดยเฉลี่ยราว 15 นาทีคุณจะเริ่มออกอาการบางอย่าง บ้างเริ่มมึนหัว หลายคนต้องนั่งลง ภาวะไร้เสียงกระทบกระเทือนประสาทสัมผัสในการรับรู้ทิศทาง บ้างรู้สึกว่าห้องบีบตัวแคบลง บ้างเริ่มวิตกจริต

 “เมื่อคุณถูกห้อมล้อมด้วยความเงียบ คุณกลับยิ่งได้ยินมากขึ้น”

แทบทุกคนยืนยันว่าได้ยินเสียงการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายตัวเองเสียงหัวใจ เสียงกระแสเลือด เสียงกระดูก เสียงข้อต่อ บ้างว่าเป็นเสียงน้ำตกที่ดังต่อเนื่องและกลายเป็นเสียงแหลมสูงแบบที่เคยได้ยินเวลาที่อยู่เงียบๆ หรือตอนใกล้หลับ ตอนนั่งสมาธิ ตอนปิดประตูอยู่ในรถเงียบๆ หลังเพิ่งฟังคอนเสิร์ตวงร็อกสุดกระหึ่ม อาจคล้ายเสียงหวีดในหูที่ทางการแพทย์เรียกว่า Tinnitus ซึ่งเกิดกับคนที่หูเริ่มตึง เครียดเกินไป หรือระบบการไหลเวียนของเหลวผิดปกติ นักจัดรายการวิทยุ ชาด อาบัมราด ที่ร่างกายปกติดีทุกอย่าง เคยทดลองขังตัวเองในห้องเก็บเสียงนานหนึ่งชั่วโมง เขาได้ยินเสียงฝูงผึ้ง และจบลงที่เพลง Everywhere ของวง Fleetwood Mac ดังชัดเจนราวกับมันเปิดอยู่ข้างๆ

“ห้องน่ะเงียบเชียบ แต่แน่นอนว่าหัวผมไม่เลย” อาบัมราดกล่าว

มนุษย์มักเชื่อกันว่าเสียงหมายถึงสิ่งที่เรารับรู้ผ่านทางหูขึ้นไปถึงสมอง แต่เทรเวอร์ ค็อกซ์ ศาสตราจารย์ด้าน Acoustic Engineering แห่งมหาวิทยาลัยแซลฟอร์ด มองว่า “มันมีการเชื่อมโยงในทางตรงข้ามคือจากสมองมาสู่หู มากกว่าจากหูไปสู่สมองซะอีก” กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นเพลงติดหู เสียงในห้วงคำนึง เสียงความคิดอะไรก็ตามในหัวเรา หากเราอยู่ในที่เงียบสนิทแท้จริง สมองที่ชินกับการได้ยินบางอย่างอยู่ตลอดเวลาจะเริ่มเล่นแร่แปรธาตุ สร้างให้เสียงจากภายในหัวเป็นเหมือนเสียงที่ดังขึ้นจริง นักประสาทวิทยาชาวโปแลนด์ เจอร์ซี คอร์นอร์สกี ใช้แนวคิดนี้มาวิเคราะห์หาเหตุปัจจัยของอาการประสาทหลอน ล่าสุดห้องแล็บของไมโครซอฟต์ได้รับคำขอเพื่อใช้ทดลองทางการแพทย์ในลักษณะนี้ แต่ทางแล็บยังลังเลใจเพราะหากเป็นการทดลองทางจิตกับมนุษย์ อาจมีแง่มุมทางกฎหมายที่สร้างปัญหาได้ในภายหลัง

 

แล้วมีไหม คนที่ไม่ถูกความเงียบทำร้ายแต่กลับทำให้ได้สติ

เขาชื่อจอร์จ ฟอย เป็นหนึ่งในชาวนิวยอร์กที่รู้สึกว่าตัวเองถูกคุกคามด้วยความโหวกเหวกวุ่นวายของเมืองใหญ่ วันหนึ่งเขาอยู่ในสถานีรถไฟใต้ดิน รถไฟวิ่งเข้าสู่ชานชาลาพร้อมกัน 4 ขบวน ส่งเสียงราวโลกถล่ม จังหวะเดียวกับที่ลูกๆ ของเขากำลังร้องงอแงลั่น จอร์จยกมือขึ้นปิดหู และกระจ่างแก่ใจว่าต้องการแสวงหาสถานที่ที่เงียบที่สุดในโลก ภารกิจนั้นพาเขามาถึงห้องแล็บออร์ฟีลด์ที่มินเนโซตา เขาจ่ายค่าตั๋วเพื่อซื้อประสบการณ์ความเงียบ 45 นาที

การหาช่วงเวลาเงียบสงบในแต่ละวันคือที่มาของความสุข มันทำให้คุณได้คิดถึงสิ่งที่ต้องการจริงๆ ในชีวิต

“แรกๆ ผมยังได้ยินเสียงตัวเองหายใจ ผมก็เลยกลั้นหายใจ แต่แล้วเสียงหัวใจเต้นตุบๆ ก็ดังขึ้นแทน ซึ่งผมทำอะไรไม่ได้ เลยฟังไปเรื่อยๆ จากนั้นก็ได้ยินเสียงเลือดไหลเวียนในร่างกาย หูผมมันดันเซนซิทีฟกว่าเดิมเมื่ออยู่ในความเงียบ ผมรู้สึกหงุดหงิด แล้วก็ได้ยินเสียงหนังศีรษะเคลื่อนตัวอยู่บนกะโหลก ซึ่งมันพิลึกและน่าสยองมาก เป็นเสียงเหมือนใครขูดโลหะ ผมอธิบายไม่ถูก นี่ผมประสาทหลอนหรือเปล่า ผมเริ่มผิดหวังเพราะตั้งใจอยากพบความเงียบที่นี่ แต่มันตรงข้ามเลย สงสัยจะมีแต่ความตายเท่านั้นที่เงียบได้จริง

“ผ่านไปสักพักผมก็เลิกหมกมุ่นกับเสียงของระบบในร่างกาย แล้วผมก็เริ่มมีความสุขกับมัน ผมไม่รู้สึกกลัวเลย ผมออกมาจากห้องเพราะหมดเวลาถ้าให้อยู่นานกว่านั้นก็อยู่ได้ ทุกคนประทับใจกันใหญ่บอกว่าผมทำลายสถิติ หลังจากนั้นมาผมรู้สึกสงบ เหมือนได้พักอย่างแท้จริง ภารกิจครั้งนี้เปลี่ยนชีวิตผมไปเลย ผมพบว่าการหาช่วงเวลาเงียบสงบในแต่ละวันคือที่มาของความสุข มันทำให้คุณได้คิดถึงสิ่งที่ต้องการจริงๆ ในชีวิต… ลองจัดการสภาพแวดล้อมตัวเองให้เงียบสงบลงเป็นครั้งคราว ปิดทีวี หรือออกไปนอกเมืองบ้าง อย่างที่ผมทำ คุณจะรับมือกับเสียงหนวกหูและความวุ่นวายในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น”

ฝรั่งบอกว่า ‘Silence is Gold’ คนไทยบอกว่า ‘พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสีย (ได้) ตำลึงทอง’ ความเงียบช่างล้ำค่าในทุกวัฒนธรรม แต่หลังจากมนุษย์สร้างห้องที่ที่เงียบที่สุดในโลกสำเร็จแล้ว เรากลับพบว่าความเงียบที่แท้นั้นไม่มีอยู่จริง และสิ่งล้ำค่าที่เราต้องการก็ไม่ใช่ความเงียบ แต่คือความสงบต่างหาก

 

ข้อมูลอ้างอิง
smithsonianmag.com
bbc.com
theguardian.com 

Tags: , , , , , , ,