กลางศตวรรษที่ 16 นักบุญฟรานซิส ซาเวียร์ มิชชันนารีคนแรกจากคณะเยซูอิต เดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก บนเกาะญี่ปุ่น จากการวางรากฐานของเขาในยุคนั้น ช่วยทำให้อีก 100 ปีต่อมา มีชาวญี่ปุ่นนับถือศาสนาคริสต์เป็นจำนวนมากกว่า 300,000 คน

แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ญี่ปุ่นได้กลายเป็นดินแดนต้องห้ามสำหรับผู้นับถือศาสนาคริสต์ไปโดยปริยาย เมื่อบรรดาชนชั้นปกครอง ตั้งแต่โชกุนไปจนถึงไดเมียว ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ อาจทำให้ประเทศเกิดความสั่นคลอน จึงตัดสินใจกวาดล้างชาวคริสต์และมิชชันนารีทุกคนทั้งด้วยไม้แข็งและไม้อ่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับเหตุการณ์ในภาพยนตร์ Silence ของ มาร์ติน สกอร์เซซี

เรื่องราวของ Silence เริ่มต้นขึ้นเมื่อบาทหลวงเฟร์ไรรา มิชชันนารีจากคณะเยซูอิต ผู้เดินทางมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์บนเกาะญี่ปุ่น ขาดการติดต่อกับศาสนจักรไปนานกว่า 1 ปี พร้อมข่าวลือว่าเขาได้หันหลังให้กับพระคริสต์แล้ว หลังจากโดนต่อต้านและทรมานอย่างหนัก

ทำให้บาทหลวงโรดริเกสและบาทหลวงการุเป ผู้เป็นลูกศิษย์ของบาทหลวงเฟร์ไรรา ซึ่งประจำการอยู่ในศูนย์ของคณะเยซูอิตในมาเก๊า ขออาสาเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อตามหา และพิสูจน์ว่าอาจารย์ของพวกเขาไม่ได้ทอดทิ้งพระคริสต์

การเดินทางไปญี่ปุ่นของบาทหลวงหนุ่มแห่งคณะเยซูอิตทั้งสองคนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอย่างที่บอกว่าญี่ปุ่นในยุคนั้นต่อต้านคริสต์ศาสนา ทำให้พวกเขาต้องหาวิธีลักลอบเข้าประเทศ และอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ด้วยความช่วยเหลือของชาวญี่ปุ่นที่ยังแอบนับถือศาสนาคริสต์ และเฝ้ารอการปรากฏตัวของบาทหลวงแห่งคณะเยซูอิตอยู่ตลอด เพราะนับตั้งแต่เกิดการกวาดล้าง พวกเขาก็ไม่ได้ทำพิธีกรรมทางศาสนา ดังที่คริสเตียนที่ดีควรต้องทำเป็นประจำ

แต่การหลบซ่อนตัวของบาทหลวงทั้งสองกลับไม่ยั่งยืนนัก เพราะไม่นาน ผู้ตรวจการรัฐก็สืบทราบถึงการมีอยู่ของมิชชันนารีหน้าใหม่บนเกาะญี่ปุ่น จึงเข้าตรวจสอบหมู่บ้านที่ให้ความช่วยเหลือบาทหลวงโรดริเกสและบาทหลวงการุเป โดยให้ผู้คนในหมู่บ้านเหยียบและถ่มน้ำลายรดรูปเคารพของพระเยซู เพื่อพิสูจน์ว่าตนไม่ใช่ชาวคริสต์และใช้ชีวิตเป็นปกติ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็จะถูกทรมานจนตาย

เหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่เพียงพิสูจน์ความศรัทธาต่อพระเจ้าของศาสนิกชนเท่านั้น แต่ยังทำให้ความเชื่อมั่นของบาทหลวงโรดริเกสที่มีต่อพระเจ้าและศาสนาคริสต์ค่อยๆ สั่นคลอน

ความสนุก ตื่นเต้น และลุ้นระทึกของ Silence เวอร์ชันมาร์ติน สกอร์เซซี ที่ทำได้ดีไม่แพ้ฉากสงครามของทหารนับล้าน อยู่ตรงการปะทะคารมและการดีเบตเรื่องความเชื่อระหว่างบาทหลวงโรดริเกสกับอิโนะอุเอะ มาซาชิเกะ ผู้ตรวจการแผ่นดิน (อุเมะซึกะ)

เพราะขณะที่คนหนึ่งต้องการเผยแพร่คำสอนของศาสนาใหม่ เพื่อหวังให้ผู้คนได้ค้นพบความสุขและได้ใกล้ชิดกับพระเจ้า อีกคนกลับขัดขวางการเผยแพร่ เนื่องจากรู้สึกว่าศาสนาใหม่ที่กำลังคืบคลานเข้ามา นอกจากจะบ่อนเซาะอำนาจปกครองของชนชั้นนำ เพราะถ้าว่ากันด้วยความเชื่อที่สืบทอดกันมาเป็นพันปี ผู้อยู่ในจุดสูงสุดแห่งศรัทธาของชาวญี่ปุ่น ไม่ใช่พระเจ้าหรือพระบุตรแห่งคริสต์ แต่คือองค์จักรพรรดิซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเทพแห่งพระอาทิตย์ นอกจากนี้ ในสายตาของผู้ตรวจการ ศาสนาเก่าที่มีอยู่เดิมก็เหมาะสมกับวิถีของชาวญี่ปุ่นดีอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงให้วุ่นวาย

ส่วนการบีบคั้นให้บาทหลวงหลายคนยอมหันหลังให้พระคริสต์และเปลี่ยนมานับถือศาสนาอื่น บางทีอาจเป็นการตอบโต้ผู้มาใหม่ที่ต้องการกลืนกลายความเชื่อดั้งเดิมของฝ่ายตนด้วยวิถีเดียวกัน เพียงแค่ฝั่งผู้ตรวจการมีอำนาจและพลังทำลายล้างมากกว่า จึงเลือกแสดงออกด้วยวิธีที่เห็นในภาพยนตร์

จุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ บาทหลวงโรดริเกสพยายามโน้มน้าวให้อุเมะซึกะยอมอนุญาตให้เขาเผยแพร่ศาสนาศริสต์ โดยบอกให้เปิดใจยอมรับศาสนาและสิ่งใหม่ที่ไม่มีผลร้ายใดๆ เลย แต่ยิ่งฟังก็ยิ่งรู้สึกย้อนแย้ง เมื่อเห็นได้ว่าตัวเขาเอง (และอาจรวมถึงตัวบาทหลวงการุเปด้วย) ต่างหากที่ไม่ยอมเปิดใจรับหรือปรับเปลี่ยนศาสนาคริสต์ให้เข้ากับวิถีของชาวอาทิตย์อุทัย ด้วยสาเหตุอย่าง ‘ศรัทธาต่อพระคริสต์อันแรงกล้า’ จนไม่กล้าบิดเบือนหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งหลายครั้งก็นำความตายมาสู่พวกเขาและเธอ

หากมองในเรื่องของความศรัทธาต่อพระคริสต์และการเป็นศาสนิกที่ดี การยืนหยัดต่อความเชื่อของตนเอง ย่อมเป็นสิ่งที่ดีต่อศาสนาและความเชื่อนั้นๆ แต่ถ้ามองในแง่ของโอกาสในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ อาจชวนให้เกิดคำถามว่าการยอมสละชีพเพื่อความเชื่อความศรัทธา ทั้งเรื่องศาสนา สังคม และการเมือง เป็นการใช้ชีวิตที่เปล่าเปลืองเกินไปหรือไม่ เพราะถ้ายังมีชีวิตเหลืออยู่ การเผยแพร่ความเชื่อหรือทำสิ่งต่างๆ อันสร้างสรรค์ย่อมเป็นไปได้ เหมือนกับ ‘โมคิชิ’ ตัวละครที่รักษาชีวิตรอดมาได้จนจบเรื่อง

ด้วยหลักคำสอนทางศาสนา ไม่ว่าศาสนาไหน ต่างก็พยายามขีดเส้นทางให้ผู้คนมีชีวิตโดยไม่เบียดเบียนกัน เพียงแต่บางครั้งความศรัทธาที่สุดโต่งจนอาจเรียกได้ว่ามืดบอด ก็อาจสร้างผลลัพธ์อันเลวร้ายให้กับทั้งตนเองและผู้อื่น

Silence เป็นผลงานชิ้นเยี่ยมทั้งในแง่บทภาพยนตร์ (ร่วมเขียนกับเจย์ ค็อกส์) และการกำกับอีกเรื่องหนึ่งของสกอร์เซซี ที่หลายบทตอนในหนัง ทั้งด้วยภาพและเสียง ambience (เสียงพื้นหลังของฉากที่ไร้เสียงดนตรีประกอบและบทพูด) พาเราไปสัมผัสกับความหมายหลายมิติของ ‘ความเงียบ’

Tags: , , ,