(1)
เมื่อหลายปีก่อน ทาง Documentary Club นำหนังสารคดีเรื่อง The Act of Killing จากอินโดนีเซียมาฉาย หนังที่บรรดา ‘ฝ่ายขวา’ จำนวนมากยังรู้สึกถึง ‘ชัยชนะ’ ได้กลับมาจำลองเหตุการณ์ การ ‘สังหารหมู่’ คอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย ระหว่างปี 1965 – 1966 ซึ่งประมาณการแล้วน่าจะมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 แสนคน พร้อมกับเล่าถึงความยิ่งใหญ่ของวีรกรรมตัวเองอีกครั้ง
แน่นอน เรื่องราวในหนังทำให้ผมอดนึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ได้ ทั้งด้วยการสังหารคอมมิวนิสต์เหมือนกัน การใช้พฤติกรรมดูหมิ่น – เหยียดหยาม — ลดทอนความเป็นคนของฝ่าย ‘คอมมิวนิสต์’ เหมือนกัน แต่ที่ต่างกันก็คือ ‘ฝ่ายขวา’ ของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในอีก 30 – 40 ปีให้หลัง ไม่มีใครสักคนที่รู้สึก ‘ภูมิใจ’ กับชัยชนะในวันนั้น หากแต่เลือกจะอยู่ในความเงียบ และส่วนใหญ่ มักจะบอกให้ลืมไปเสีย เพื่อความปรองดอง และความสามัคคีของคนในชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ครอบงำเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มาช้านาน
‘Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok’ หนังสือภาษาอังกฤษเล่มใหม่ของ ‘ธงชัย วินิจจะกูล’ อาจารย์มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน – เมดิสัน หนึ่งในแกนนำนักศึกษาสมัย 6 ตุลาฯ เป็นหนังสือที่เจ้าตัว ยืนยันว่าต่างจาก ‘6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง’ ซึ่งเขียนเป็นภาษาไทย และตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเมื่อปี 2558
ธงชัยพาเราเดินทางไปสำรวจความเงียบ ทบทวนห้วงเวลา และการรับรู้ของเหตุการณ์นี้ ตามระยะเวลาที่ผันผ่าน เพื่อหาคำตอบว่าทำไม ‘ผู้ถูกกระทำ’ ถึงเงียบในช่วงไม่กี่ปีหลัง ทั้งที่พวกเขาตกเป็นเหยื่อของการสังหารหมู่ที่เลวร้ายที่สุดใจกลางกรุงเทพฯ, ทำไมฝ่าย ‘ผู้กระทำ’ ถึงไม่ได้มีความภาคภูมิใจทั้งที่กระทำในนามของความ ‘รักชาติ’ ไม่ต่างจากฝ่ายขวาในอินโดนีเซีย แล้วอะไรทำให้วันนี้ 6 ตุลาฯ กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง…
…..
(2)
ย้อนกลับไปสมัยที่ผมเรียนประถมฯ จำได้ว่ามีหนังสือรวมภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ วางอยู่ในห้องสมุดโรงเรียน หนังสือปกแดงๆ ไร้การเซ็นเซอร์ เต็มไปด้วยภาพสยดสยอง ซึ่งแน่นอน ไม่มีแบบเรียน ตำราเรียน หรือหนังสือประวัติศาสตร์เล่มไหนเคยกล่าวถึงมาก่อน
นั่นเป็นช่วงปี 2542 – 2543 ไม่กี่ปีหลังการรำลึกครบรอบ 20 ปี 6 ตุลาฯ ในปี 2539 ที่ธงชัยอธิบายในหนังสือว่าเป็นการเปิดการสนทนาเรื่อง ‘6 ตุลาฯ’ ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านั้น ทั้งสังคม ทั้งสื่อกระแสหลัก ไม่ได้รับอนุญาตให้พูดถึง ไม่ว่าในกรณีใดๆ เพราะเป็นเรื่อง ‘ละเอียดอ่อน’
จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม นั่นเป็นเวลาเดียวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีแคนดิเดทคนสำคัญคือ สมัคร สุนทรเวช ลงแข่งขัน สมัครถูกขุดอดีตเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ ขึ้นมา ในฐานะผู้มีส่วนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่เช้าวันนั้น
แน่นอน สมัครปฏิเสธ เขาพูดมาทั้งชีวิตว่า เขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เพราะวันนั้น ไม่ได้อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะเดียวกัน ก็มีคนที่โชคร้าย เสียชีวิตเพียงคนเดียวจากการแขวนคอ
แต่การพูดถึง 6 ตุลาฯ ในวันนั้น และในสื่อกระแสหลัก ก็จำกัดวงผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์อยู่ในวงแคบๆ ไม่ว่าจะเป็นสมัคร ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกระทิงแดง หรือตำรวจตระเวนชายแดน ไม่มีใครอาจหาญไปขยายวงว่าแท้จริงแล้ว ใครที่อยู่เบื้องหลังกองกำลังจัดตั้ง หรือมีเหตุการณ์อะไรอื่นที่แวดล้อมเหตุการณ์สังหารโหดอีก ขณะเดียวกัน ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดวาระข่าวสาร ก็ดูจะพอใจกับการยุติวงไว้แค่นั้น…
…..
(3)
แล้วความทรงจำอะไรบ้างที่เปลี่ยนไป? ในช่วงเวลาไม่กี่ปีให้หลัง 6 ตุลาฯ ‘ฝ่ายซ้าย’ หรือนักศึกษาผู้ถูกกระทำ จำต้องสยบยอมในความเงียบ งานรำลึก 6 ตุลาฯ ยังถูกห้ามจัด งานเสวนายังถูกห้ามให้อภิปราย เป็นเวลาอย่างน้อย 20 ปี นานจนแม้แต่คนที่ผ่านเหตุการณ์นั้นหลายคนยังยอม ‘ลืมๆ’ ไป
ธงชัยพยายามหาเหตุผลว่าเป็นเพราะอะไร สถานะของ 6 ตุลาฯ ถึงต้องอยู่ในความ ‘เงียบงัน’ ขนาดนั้น ทั้งในมุมมองของ ‘ความสงบเรียบร้อย’ มุมมองในทางพุทธศาสนา ว่าด้วยการปล่อยวาง – ให้อภัย ไปจนถึงการสร้างความปรองดองทางการเมือง รวมถึง ‘หนึ่งในตัวละครสำคัญ’ ที่มีอำนาจมากในเหตุการณ์นั้น…มากจนปกคลุมเหตุการณ์นี้ไว้อย่างมิดชิด…
ในแง่หนึ่ง คำตอบนั้นชัดเจนอยู่แล้วผ่านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งออกมาในรัฐบาลพลเอก ธานินทร์ กรัยวิเชียร ในปี 2521เพราะเขียนชัดในกฎหมายว่าเพื่อ ‘ความสามัคคีของคนในชาติ’ ซึ่งทำให้ธงชัยกับนักโทษคนอื่นๆ พ้นจากเรือนจำ ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ หลังจากต้องเสียเวลาไปยาวนานหลายปี
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ‘ฝ่ายขวา’ ก็ไม่มีใครคิดจะขยายความวีรกรรมของตัวเองในเช้าวันนั้นเช่นกัน ทั้งที่พอมีเหตุอ้างได้ เพราะฝ่ายผู้มีอำนาจในตอนนั้นยังสามารถกล่อมเกลาสังคมให้เชื่อได้ว่า ใต้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีอุโมงค์ลับ นักศึกษามีอาวุธสงคราม รวมถึงมีขบวนการคอมมิวนิสต์จากเวียดนาม และจีนหนุนหลัง ขณะเดียวกัน แต่ละคนก็สามารถพูดได้ว่า ‘ทำเพื่อชาติ’ กลุ่มผู้ก่อเหตุรอบธรรมศาสตร์วันนั้น โดยเฉพาะในหัวสมองของ ‘ฝ่ายขวา’ ทุกคน ยืนยันแน่นอนว่าทำเพื่อปกป้อง ‘ชาติ’ จากภัยคอมมิวนิสต์ คุ้มกันศาสนา เพราะกระบวนการกล่อมเกลาขณะนั้นยืนยันว่า เพราะ ‘นักศึกษา’ ต่อต้านการบวชของพระถนอม กิตติขจร เตรียมเผาวัดบวรนิเวศวิหาร รวมถึงกระทำไปเพื่อปกป้องรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์
แต่ก็ไม่มีผู้ใดได้รับ ‘อนุญาต’ ให้ขยายความวีรกรรมนั้น บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนดูกังวลกับเหตุการณ์ที่ตามมาว่า ออกจะ ‘เลยเถิด’ เกินไป และยิ่งฟื้นฝอยหาตะเข็บมากขึ้น ผู้ก่อเหตุ—ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ก็อาจต้องเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามไปด้วย
กล่าวสำหรับ 6 ตุลาฯ ยิ่งลืมไปมากเท่าไร ไม่ถูกขุดคุ้ยมากขึ้นเท่าไร ยิ่งเป็นผลดีกับทุกคนที่อยู่เบื้องหลัง ที่จะ ‘ลอยนวลพ้นผิด’ ได้เสมอ เพราะฉะนั้น การไม่ถูกพูดถึงเลย ย่อมเป็นเรื่องดีที่สุด
…..
(4)
ความ ‘ลืมไม่ได้ จำไม่ลง’ ทำให้ 6 ตุลาฯ 2519 มีสถานะพิเศษที่แตกต่างจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 แม้ทั้งสองเหตุการณ์ ฝ่ายผู้กระทำอย่างรัฐจะไม่มีใครต้องรับผิดชอบ และลอยนวลจากกฎหมายนิรโทษกรรมที่ออกตามมาหลังจากนั้นเช่นกัน แต่สองเหตุการณ์ดังกล่าวยังคงมีที่ทางในประวัติศาสตร์ มีการจัดพิธีรำลึก มีอนุสรณ์สถานในพื้นที่สาธารณะ และมีตัวแทนจากฝ่ายรัฐเข้าร่วมงานทุกปี แต่สำหรับ 6 ตุลาฯ กลับอยู่ในมุมมืด ด้านตรงกันข้าม ไร้สถานะทั้งในประวัติศาสตร์ที่เป็นทางการและแบบเรียน หากจะรำลึกก็เป็นเหตุการณ์เฉพาะ มีการเสวนาเพียงแค่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สำหรับผู้ที่สนใจจริงๆ
แต่การไม่ได้รับอนุญาตให้พูดถึงนั้น กลับมีสถานะพิเศษ ยิ่ง ‘ลบ’ เรื่องนี้ออกจากความทรงจำมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้คน ‘อีกรุ่น’ สนใจมากขึ้น การกล่าวถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ไม่ได้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับพวกเขาอีกต่อไป สถานการณ์การเมืองที่พลิกกลับไปกลับมา การออกใบอนุญาตให้ ‘ฆ่า’ ได้กลางกรุงอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2553 โดยไม่ต้องมีใครต้องรับผิด (อีกเช่นเคย) ไม่สามารถทำให้ใครเชื่อได้อีกแล้วว่าคนไทยนั้น ‘รักสงบ’ มีความสามัคคีปรองดอง
ธงชัย เล่าเรื่องผ่าน Moments of Silence ว่า การใช้ภาพของเหตุการณ์นี้ผ่านภาพยนตร์อย่าง ‘ดาวคะนอง’ หรือมิวสิควิดีโอเพลงอย่าง ‘ประเทศกูมี’ ของวง Rap Against Dictatorship เมื่อปี 2561 ได้ทำให้ 6 ตุลาฯ กลับมามีตัวตนอย่างชัดแจ้ง ไม่ได้เป็นเรื่อง ‘ละเอียดอ่อน’ อย่างที่คนเจเนอเรชันหนึ่งคิด และครั้งนี้ ‘ผู้กระทำ’ ก็ไม่ได้ถูกจำกัดวงที่ ‘ลูกเสือชาวบ้าน’ หรือสมัคร สุนทรเวชที่เสียชีวิตไปแล้วอีกต่อไป…
ธงชัยกล่าวในงานเปิดตัวหนังสือ Moments of Silence เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า เหตุการณ์ที่เขารู้สึกว่าควรเพิ่ม ‘บท’ ในหนังสืออีก 1 บท เป็นบทที่ 11 คือการใช้ภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ประกอบเพลงพระราชนิพนธ์ ‘ยูงทอง’ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ว่าเป็นบทว่าด้วยการ ‘ทะลุเพดาน’ หรือ ‘Smashing the Ceiling’
…..
(5)
เมื่อการพูดถึง 6 ตุลาฯ เปลี่ยนไป ความเงียบในเรื่องนี้ก็เบาลง ธงชัยกลายเป็นนักเขียนยอดนิยมสำหรับคนรุ่นใหม่ หนังสือ ‘6 ตุลาฯ ลืมไม่ได้ จำไม่ลง’ กลายเป็นหนึ่งในหนังสือยอดนิยมของเด็กมัธยมฯ สะท้อนให้เห็นว่าเด็กเจเนอเรชันนี้ ไม่มีใครสนใจ ‘ความเงียบ’ ของ 6 ตุลาฯ ที่ถูกขีดไว้ก่อนหน้านี้อีกแล้ว ยิ่งประวัติศาสตร์เป็นเรื่องห้ามพูดถึงมากเท่าไร เพดานของความอยากรู้ก็ยิ่งถูกทะลุทะลวงมากขึ้นเท่านั้น ความพยายามจำกัดวงแบบเรียนประวัติศาสตร์ เพื่อให้ศึกษาเฉพาะเรื่องที่รัฐอยากให้รู้ จึงไม่มีผลอะไรกับคนรุ่นนี้อีกต่อไป
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครหน้าไหนจะอธิบายว่า ‘6 ตุลาฯ’ เป็นความจำเป็น หรือเป็นเรื่องที่ ‘ยั่วยุ’ ให้บรรดานักศึกษาต้องก่อการ หรือเข้าป่าเพื่อไปเป็นแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ประวัติศาสตร์หน้านี้ ก็ ‘ปลุกไม่ขึ้น’
หากยังตอบคำถามไม่ได้ว่า ทำไม…ในเช้าวันนั้นต้องมีการฆ่ากันอย่างโหดเหี้ยมกลางเมืองหลวง และทำไมผู้ที่อยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์วันนั้น ไม่เคยมีใครต้องรับผิดชอบเลย…แม้แต่คนเดียว
Fact Box
Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok : ธงชัย วินิจจะกูล : สำนักพิมพ์ Silkworms