ในเวเนซุเอลา ความฝันของบรรดาเด็กชายคือการเป็นนักเบสบอลมืออาชีพในสหรัฐอเมริกา ขณะที่ความฝันของบรรดาเด็กหญิงคือการเป็นนางแบบระดับโลก
น้ำตาแห่งความปีติ การสวมกอดกัน และการย่อเข่ารับมงกุฎ ทั้งหมดเป็นไปเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ในการประกวด ‘มิสเวเนซุเอลา 2019’ เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมก็เช่นกัน จะต่างจากปีก่อนๆ บ้างก็ตรงที่วิกฤตในประเทศส่งผลกระทบแบบที่ทำให้ทุกคนรู้สึกได้
พิธีประกวด ซึ่งถือเป็นกิจกรรมระดับชาติ และในช่วงปีที่ผ่านๆ มาเคยมีผู้เข้าร่วมชมถึงหมื่นห้าพันคน แต่ปีนี้พิธีประกวดกลับถูกจัดขึ้นอย่างเขียมๆ ภายในสตูดิโอของสถานีโทรทัศน์ และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพียง 300 คน อีกทั้งปีนี้กล้องถ่ายไม่ได้จับภาพใบหน้าของใครสักคนที่เป็นผู้ชมในห้องส่ง ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่อ้างกัน เพราะว่าประเทศชาติกำลังประหยัดพลังงาน และไฟฟ้าดับบ่อยในหลายภูมิภาค
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอีกอย่างคือกฎระเบียบ นับเป็นครั้งแรกที่บนเวทีไม่มีการประกาศสัดส่วนรูปร่างของผู้เข้าประกวด ทรวดทรงมาตรฐาน 36-24-36 ไม่ใช่เงื่อนไขอีกต่อไป แต่ถึงอย่างนั้นผู้เข้าประกวดล้วนแต่หุ่นผอมเพรียว ชาวเวเนซุเอลายามนี้แทบไม่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักเกินกันแล้ว เหตุเพราะอาหารขาดแคลน ช่วงปีที่ผ่านมาทำให้ชาวเวเนซุเอลาน้ำหนักลดลงต่ำกว่ามาตรฐาน พวกเขาเรียกวิกฤตนี้ว่า ‘มาดูโร ไดเอ็ต’ ตามชื่อนิโกลาส มาดูโร (Nicolás Maduro) ประมุขของรัฐ
หญิงสาวผู้โชคดีบนเวทีประกวดปีนี้มีชื่อว่า ทาเลีย โอลวิโน (Thalía Olvino) อายุ 20 ปี ความสูง 181 เซนติเมตร เป็นผู้เข้าประกวดจากรัฐเดลตา อะมาคูโร ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ประตูแห่งความสำเร็จในงานอาชีพได้เปิดต้อนรับเธอแล้ว อย่างน้อยนั่นคือความฝัน ที่ผู้หญิงในเวเนซุเอลาหลายคนมี และแทบไม่มีประเทศไหนในโลกที่ตำแหน่งนางงามจะดูสูงส่งล้ำค่าเท่ากับเวเนซุเอลาอีกแล้ว
เวเนซุเอลาเปรียบเสมือนประเทศมหาอำนาจในธุรกิจความงามระดับสากล ตัวแทนจากเวเนซุเอลาเคยได้รับชัยชนะบนเวทีประกวด ‘มิสยูนิเวิร์ส’ มาแล้วถึง 7 ครั้ง และ ‘มิสเวิลด์’ อีก 6 ครั้ง ทำให้มีการส่งเสริมกันจนแทบเป็นอุตสาหกรรม มีการส่งเด็กเข้าหลักสูตรอบรมตั้งแต่วัยละอ่อน ซึ่งแต่ละคอร์สราคาสูงกว่ารายได้ต่อเดือนของแรงงานทั่วไปโดยเฉลี่ยถึงหลายเท่า คู่ขนานกันนั้นยังมีศัลยกรรมความงาม ที่กอบโกยรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แม้ว่าระบบสาธารณสุขของเวเนซุเอลาจะย่ำแย่ ขาดแคลนทั้งยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ถึงอย่างนั้น เวเนซุเอลาก็ยังติดอันดับหนึ่งในยี่สิบประเทศที่นิยมการทำศัลยกรรมความงาม
ยิ่งประเทศกำลังประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจด้วยแล้ว ความฝันของหญิงสาวที่จะก้าวเข้าสู่เส้นทางการประกวดนางงามยิ่งมีแรงผลักดันเป็นทวีคูณ เพียงเพื่อต้องการก้าวให้พ้นจากชีวิตอับจนข้นแค้นไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า หญิงสาวผู้เข้าประกวดส่วนใหญ่จึงพร้อมจะทำทุกวิถีทางเพื่อสิ่งที่ตนเองฝัน
ผู้เข้าประกวดรุ่นก่อนๆ เคยเปิดเผยเกี่ยวกับการทุจริตและการค้าประเวณีในธุรกิจการประกวดนางงาม การทำศัลยกรรมความงาม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หรือคอร์สอบรมนางงาม ล้วนแล้วแต่มีราคา บางครั้งจึงมีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนจุนเจือ โดยที่ผู้เข้าประกวดต้องแลกเปลี่ยนด้วยเรือนร่าง
อาชีพการงานที่ดีและมั่นคงไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดอีกต่อไปแล้ว สิ่งที่ ‘มิสเวเนซุเอลา’ จะต้องคำนึงและตระหนักมากกว่านั้นคือ กิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่า ยกตัวอย่าง อิซาเบลลา โรดริเกซ (Isabella Rodríguez) มิส เวเนซุเอลา ปี 2018 ที่มาจากเขตเมืองเปตาเร ย่านคนจนของเมืองหลวงการากัส เธอคุ้นเคยกับความรุนแรงของผู้คนในย่าน คุ้นเคยกับความหิวโหย แต่เธอก็เป็นหญิงสาวคนหนึ่งที่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อทำความฝันให้เป็นจริงจนสำเร็จ หลังจากคว้ามงกุฎนางงาม เธอยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้คนในชุมชนย่านเปตาเร และไม่ได้รู้สึกอับอายขายหน้าที่จะบอกใครๆ เรื่องพื้นเพหรือที่มาของเธอ
เมื่อต้นปี โรดริเกซเข้าร่วมการประท้วงบนท้องถนนต่อต้านรัฐบาล “ฉันร่วมเรียกร้องเสรีภาพ และพร้อมเป็นปากเป็นเสียงให้กับทุกคนที่เข้าไม่ถึงอาหารและยารักษาโรค” เพียงแค่เธอมีมงกุฎนางงาม ไม่ได้แปลว่าเธอจะต้องใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย “เราแค่ต้องการโอกาส และมีชีวิตอยู่กับความฝันของเรา” เธอบอก
มาถึงปีนี้ความฝันของทาเลีย โอลวิโนสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่งกับตำแหน่งมิสเวเนซุเอลา แต่ฝันที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นยังรออยู่ที่เวทีประกวดนางงามจักรวาล ซึ่งจะมีขึ้นที่เกาหลีใต้ ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ ท่ามกลางสาวงามจากชาติอื่นๆ อีกกว่า 70 ประเทศ รวมถึง ‘ฟ้าใส’ ปวีณสุดา ดรูอิ้น จากประเทศไทย
อ้างอิง:
ภาพ:
FEDERICO PARRA / AFP
Tags: นางงาม, Venezuela, Miss Venezuela, Pageant, เวทีนางงาม, จริตเวเนฯ