มันเป็นเวลา 05.52 นาฬิกาของเช้าวันที่สองของเทศกาลคริสต์มาส ตอนที่แพตซี แรมซีย์ (Patsy Ramsey) รีบโทรศัพท์แจ้งตำรวจอย่างฉุกละหุก ไม่กี่นาทีก่อนหน้านั้น แม่บ้านวัย 39 พบจดหมายข่มขู่ที่บันไดหลังบ้านในเมืองบูลเดอร์ รัฐโคโลราโด

จอนเบเนต์ แรมซีย์ (JonBenet Ramsey) ลูกสาววัย 6 ขวบของเธอถูกลักพาตัวไปโดยไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้เลย “เราตื่นนอนแล้วไม่พบเธอ โอ พระเจ้า ช่วยส่งเจ้าหน้าที่มาเร็วๆ ได้โปรดเถอะ พระเจ้า ได้โปรดเถอะ” แพตซี แรมซีย์พูดละล่ำละลักในสาย

เหตุเพราะเป็นช่วงวันหยุดเทศกาลคริสต์มาสประจำปี 1996 ทำให้เช้าวันพฤหัสบดีมีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่เพียงไม่กี่คน ลิซา อาร์นต์ (Lisa Arndt) เจ้าหน้าที่สืบสวนและตำรวจอีกหนึ่งนายขับรถตรงไปยังบ้านของครอบครัวแรมซีย์ ที่ถนนสาย 15 พวกเขาตรวจค้นบ้าน แต่ไม่พบร่องรอยของเด็กหญิง

ในจดหมายข่มขู่มีใจความว่า คนลักพาตัวจะโทรศัพท์ติดต่อมาช่วง 8 โมงถึง 10 โมงเช้าเพื่อบอกข้อเรียกร้อง แต่ช่วงเวลาดังกล่าว กลับไม่มีโทรศัพท์เข้ามา เวลาบ่ายโมง ลิซา อาร์นต์แจ้งกับพ่อของเด็กหญิงให้ตรวจค้นบ้านอีกครั้ง เพื่อค้นหาว่ามีอะไรที่สูญหายไปบ้าง

ไม่นานต่อมา จอห์น แรมซีย์ (John Ramsey) ค้นพบอะไรบางอย่างน่ากลัวที่ห้องใต้ดิน ที่ใต้ผ้าห่มสีขาวมีศพลูกสาววัย 6 ขวบของเขาซุกอยู่ ถูกมัดตัวและปิดปาก จอนเบเนต์ถูกฆาตกรรม

ใครมีส่วนเกี่ยวข้องกับความตายของเด็กหญิง ซึ่งต่อมากลายเป็นข่าวสลดที่โด่งดังเมื่อพูดถึง Little Miss Christmas จอนเบเนต์เคยเป็นนางงามรุ่นเยาว์ที่คว้ามงกุฎไปครองจากเวทีประกวดหลายเวที ข่าวการเสียชีวิตของเธอได้รับการกล่าวถึงมานานหลายทศวรรษ แต่ตราบถึงทุกวันนี้ยังไม่มีคำตอบว่าใครเป็นคนฆ่าเธอ

ในบันทึกการสอบสวน พ่อวัย 53 ปีของเด็กหญิงเล่าถึงตอนที่เขาพบศพลูกสาว

“ผมดึงเทปกาวออกจากปากเธอ และพยายามแก้ปมเชือกที่มัดแขนของเธอไว้ ผมจูบเธอ และพูดกับเธอ จนพบความจริงว่าเธอไม่ได้นอนหลับไปเฉยๆ จากนั้นผมจึงอุ้มเธอขึ้นบันไดไปชั้นบน”

แรมซีย์วางศพของลูกสาวที่ชั้นล่างของบ้าน บริเวณรอบลำคอของเธอถูกรัดด้วยบ่วงลวด แน่นเสียจนเส้นลวดบาดลงบนผิวเนื้อ แพทย์ชันสูตรรายงานในภายหลังว่า เธอยังมีบาดแผลที่กะโหลกศีรษะ และบริเวณอวัยวะเพศ

เนื่องจากรูปการณ์ส่อเค้าเป็นคดีลักพาตัว ในเช้าวันนั้นจึงมีเจ้าหน้าที่จากเอฟบีไอเดินทางมาที่เกิดเหตุ นักสืบรอน วอล์เกอร์ (Ron Walker) ไปถึงบ้านของแรมซีย์ราวเที่ยง หลังจากตรวจสอบพื้นที่และสภาพศพของเด็กหญิงแล้ว เขาสรุปเป็นคดีฆาตกรรม แทนที่จะเป็นการลักพาตัว

“ผมเข้าไปในบ้านและตรวจสอบทุกอย่าง ผมเห็นร่างของเด็กหญิงเหยียดนอนอยู่ตรงต้นคริสต์มาส มันน่าหดหู่จริงๆ นั่นคือวันคริสต์มาส แต่ตรงนั้นมีเด็กนอนตายอยู่”

เหตุเพราะมีการเคลื่อนย้ายศพ จึงทำให้ยากต่อการพิสูจน์ร่องรอยที่แท้จริง นอกจากนั้น ในช่วงก่อนเที่ยงยังมีเพื่อนๆ และเพื่อนบ้านของแรมซีย์แวะเวียนเข้ามาปลอบขวัญ รอน วอล์เกอร์กล่าวว่า:

“เมื่อมีคนเข้ามาในที่เกิดเหตุเยอะ พวกเขาก็จะทิ้งร่องรอยกันไว้เยอะเช่นกัน ทำให้ยากในการพิสูจน์ว่าใครหยิบจับสัมผัสอะไรบ้าง พอที่เกิดเหตุเต็มไปด้วยคราบสกปรกแบบนี้ ทำให้เรารู้ได้ทันทีเลยว่า การสืบสวนจะต้องเต็มไปด้วยความยุ่งยาก”

ไม่เพียงแค่นั้น ข่าวการเสียชีวิตของจอนเบเนต์ แรมซีย์-นางงามเด็กยังได้รับความสนใจจากสื่ออย่างรวดเร็ว ภาพของเด็กหญิงวัย 6 ขวบถูกตีพิมพ์เป็นข่าวใหญ่ และนักข่าวคนหนึ่งในจำนวนกลุ่มแรกๆ คือลอว์เรนซ์ ชิลเลอร์ (Lawrence Schiller) จากนิตยสาร เดอะ นิวยอร์เกอร์ เขาสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับบรรดาพยานให้การและเจ้าหน้าที่สืบสวน กระทั่งสามารถบันทึกเทปสัมภาษณ์ได้นับร้อยปาก จากนั้นเขายังติดตามเอกสารการสอบสวน และสืบเสาะหาข้อมูลเพิ่มเติม

“ถ้าลูกสาวของผมถูกฆ่าละก็ ผมคงทนอยู่จนเวลาผ่านไปยี่สิบปีโดยไม่รู้อะไรเลยไม่ได้หรอก” เขาบรรยายถึงแรงจูงใจของตนเอง “แต่ละวันที่ผ่านไปมันคงจะทรมาน”

นักเขียนซึ่งปัจจุบันอายุ 81 ปีใช้เวลารวบรวมข้อมูลอยู่หลายปีกระทั่งเขียนเป็นหนังสือออกมา รวมทั้งหนังสารคดีสำหรับทีวี ที่เขาเล่าถึงจดหมายข่มขู่หลายฉบับที่พบภายในบ้านของแรมซีย์ จดหมายเหล่านั้นมีบทบาทสำคัญในงานสืบสวนคดีตั้งแต่เริ่มแรก และมันน่าแปลกตรงที่กระดาษจดหมายนั้นมาจากกระดาษบันทึกที่ใช้ภายในบ้าน หมึกจากปากกาก็เช่นกัน

นอกจากหลักฐานที่มาของจดหมายข่มขู่แล้ว เจ้าหน้าที่สืบสวนยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าไถ่ 118,000 ดอลลาร์ที่คนร้ายเรียกร้อง มันเป็นตัวเลขตรงกันกับจำนวนเงินที่ผู้เป็นพ่อ-จอห์น แรมซีย์ได้รับเป็นโบนัสประจำปีจากนายจ้าง

แต่ใครเล่าจะรู้ และทำไมจดหมายถึงถูกส่งเข้ามาทางหลังบ้าน ซึ่งยากที่จะมีใครไปพบเจอ เจ้าหน้าที่สืบสวนพยายามตรวจสอบหลายจุดหลายประเด็น และไม่ยอมตัดทิ้งข้อสงสัยว่า ผู้เป็นแม่-แพตซี แรมซีย์เป็นคนเขียนจดหมายเหล่านั้นด้วย

อาจจะเป็นไปได้ที่แม่ของเด็กคิดแผนและเขียนจดหมายขึ้น เพื่อหลอกล่อให้เจ้าหน้าที่หลงทิศทางในการสืบสวน หรือจดหมายเหล่านั้นอาจจะมาจากคนแปลกหน้าที่บุกรุกเข้าไปในบ้านของแรมซีย์ เรียกร้องเงินค่าไถ่ แล้วลงมือสังหารเด็กหญิง เจ้าหน้าที่สืบสวนตั้งคำถามเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนถึงขนาดต้องโต้แย้งถกเถียงกันเอง

ระหว่างที่เจ้าหน้าที่บางคนเชื่อว่าคนร้ายเป็นแม่ พ่อ หรือแม้กระทั่งพี่ชายวัยแก่กว่าสามปีของผู้ตาย เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ กลับเชื่อว่า คนร้ายเป็นคนที่สมาชิกในครอบครัวไม่มักคุ้น พวกเขาต่างมองเห็นความเป็นไปได้ของทฤษฎีทั้งสองฝ่าย เพียงแต่ทุกคนยังขาดหลักฐานสนับสนุน และเมื่อต่างฝ่ายต่างเชื่อไม่ตรงกัน ทำให้เกิดการขัดขากันเองในการทำงาน ยิ่งเมื่อคดีกลายเป็นที่สนใจของสื่อในวงกว้าง ก็ยิ่งทำให้การสืบสวนไร้ทิศทางชัดเจนมากขึ้นไปอีก

ศพของจอนเบเนต์ แรมซีย์ถูกนำไปทำพิธีฝังที่เมืองมาเรียตตา ในรัฐจอร์เจีย บ้านเกิดของผู้เป็นแม่ แพตซี แรมซีย์เองซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 2006 ก็ถูกฝังใกล้กันกับหลุมศพของลูกสาว ส่วนจอห์นนั้นแต่งงานใหม่ในภายหลัง และย้ายออกจากเมืองบูลเดอร์

ปี 2006 ครูสอนภาษาวัย 41 คนหนึ่งถูกจับกุมตัวได้ในประเทศไทย และให้การรับสารภาพว่าเป็นคนสังหารจอนเบเนต์ แต่ทว่าเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ดีเอ็นเอของเขาไม่ตรงกับร่องรอยใดๆ ที่ตรวจพบในที่เกิดเหตุ ทนายอัยการจึงปิดสำนวนฟ้อง ปี 2008 คดีของครอบครัวแรมซีย์ถูกถอดถอนจากสำนักทนายอัยการ ทั้งๆ ที่ยังปิดไม่ลง

เมื่อปี 2016 Netflix ได้หยิบเอาคดีนี้มาสร้างเป็นหนังสารคดีกึ่งฟิกชัน Casting JonBenet (เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์เมื่อเดือนมกราคม 2017 และฉายทาง Netflix เมื่อเดือนเมษายน 2017) ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในบูลเดอร์กระฉับกระเฉงขึ้นมาอีกครั้ง ในฤดูใบไม้ร่วงปีนั้นโฆษกตำรวจแถลงข่าวว่าจะมีการสืบสวนคดีฆาตกรรมนี้สืบต่อ

แต่ตราบถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

 

อ้างอิง:

Lawrence Schiller, Perfect Murder, Perfect Town, HarperCollins, 1999

Spiegel Online