ฉันมองเห็นบ้านไม้หลังหนึ่งที่สูงสองชั้น รั้วบ้านสูงไม่ถึงครึ่งของชั้นแรก เจ้าของบ้านทาสีฟ้าอ่อนลงบนรั้วไม้นั้นด้วยตัวเอง ถึงจะไม่ได้อยู่บ้านหลังนี้มานานนักและไม่ได้มาอยู่โดยตั้งใจ แต่เธอก็รู้สึกว่ามันเป็นบ้าน ไม่รู้ว่าเพราะมันอบอุ่นด้วยความสัตย์จริง หรือเพราะที่อื่นนอกเหนือจากที่นั่นแห้งแล้งเกินจะรับกันแน่
เธอเป็นหญิงสาวธรรมดาคนหนึ่ง ดูแลตัวเองได้ เป็นตัวของตัวเอง เรียบง่าย ติดดิน แต่ความหวั่นไหวในใจติดตรึงซึมลึกแบบที่ไม่มีใครสังเกตเห็นหากเธอไม่ปริปากเล่ามันออกมา กล่าวอีกแบบหนึ่ง ไม่มีใครสังเกตเห็นเธอ แต่เธอสังเกตเห็นคนอื่น สิ่งมีชีวิตอื่น และสิ่งอื่นเสมอ
ท้องฟ้าก่อนค่ำสีส้มอมชมพูก็อยู่ภายใต้การสังเกตการณ์นั้น รายละเอียดของโทนสีที่เปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ของธรรมชาติ ถูกบันทึกลงบนจอรับภาพของเธอจากหน้าต่างบานไม้ชั้นสอง หลังที่ตั้งอยู่ท่ามกลางแปลงผักและสวนป่าในเขตชานเมือง หลังที่มีใยแมงมุมบางเบาห้อยโหนอยู่บนขื่อไม้ หลังที่ฉันไม่เคยเหยียบย่ำล้ำเส้นเข้าไป หลังที่ฉันหลงผิดคิดมโนขึ้นมาเองว่ามีอยู่จริง
ใน Midnight Harmony สนามเด็กเล่นของปีศาจ หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรกในซีรีส์ Monologue ของสำนักพิมพ์ P.S. ลัดดา สงกระสินธ์ อาจไม่ได้ตั้งใจวาดภาพนั้นให้ผู้อ่านจินตนาการตาม แต่มโนภาพนี้ของเราค่อยๆ ชัดแจ้งขึ้นมาขณะกำลังอ่าน ‘ท้องฟ้าก่อนค่ำสีส้มอมชมพู’ ภาคแรกของหนังสือที่ประกอบด้วยเรื่องเล่าขนาดสั้น 13 เรื่องที่สั้นเหลือเกิน สั้นจนเรามิอาจจับต้องเรื่องราวอะไรได้ แต่ในโลกวรรณกรรมร่วมสมัยที่มีเรื่องแต่งที่เต็มไปด้วยเส้นเรื่องเฉียบขาดมากมาย เรื่องเล่าที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์นั้นอาจเป็นที่ต้องการของใครหลายคน
อารมณ์สับสนของคนที่เติบแล้วแต่ยังไม่โต แข็งแล้วแต่ยังไม่แกร่ง มั่นคงแล้วแต่ยังไม่มั่นใจ อารมณ์ที่ใครต่อใครล้วนแล้วแต่เคยผ่านหรือกำลังพยายามก้าวผ่าน นี่คือจุดร่วมของผู้เขียน ผู้อ่าน และหนังสือเกือบทุกเล่มของสำนักพิมพ์ P.S. ที่กำลังเดินทางอย่างช้าๆ ไปหานักอ่านใหม่ๆ ในกลุ่มเป้าหมายเดิม นั่นคือหญิงสาวหลากคาแร็กเตอร์ที่กำลังสนุกกับการอ่านหนังสือที่อ่านง่ายและกุมความรู้สึกอยู่หมัด โดยที่ความยาวไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด
แต่ด้วยความที่นิยมและคุ้นชินกับเรื่องสั้นที่ยาวกว่านี้อีกนิดหรือมีน้ำมีเนื้อกว่านี้อีกหน่อย อุปสรรคใหญ่ที่เราข้ามผ่านไปไม่ได้เสียทีคือความสั้นหรือสั้นมากของเรื่องเล่าแต่ละเรื่องในเล่มนี้และเล่มอื่นๆ ของ P.S. อย่าง Fragile พัสดุตีกลับ ชำรุดง่าย และอาจสูญหายระหว่างทาง (ภวิล เฟย์) หรือเล่มอื่นในซีรีส์ Dialogue อย่าง Abstract Bar (ปอ เปรมสำราญ), Cobalt Blue (เพนิญ) และ Bubble Gum (โบนิตา อาดา) จนเราอดคิดไม่ได้ว่า สนามเด็กเล่นของปีศาจ นั้นมีศักยภาพในการเป็นเรื่องสั้นขนาดยาวสี่เรื่องแทนได้ และเราอาจเต็มอิ่มกับเรื่องเล่าของผู้เขียนมากกว่านี้อีกหลายเท่าตัวหากไม่ถูกหน้ากระดาษไร้ตัวอักษรคั่นความรู้สึกให้ขาดตอน และไม่ถูกการตัดจบของแต่ละเรื่อง (ที่เราคิดว่าไม่คมนัก) ทำให้รู้สึกว่าผู้เขียนไม่ยอมเปิดเผยตัวตนในอดีต หรืออีกนัยหนึ่งคือเกิดอาการ ‘เล่าไม่หมด’
อารมณ์สับสนของคนที่เติบแล้วแต่ยังไม่โต แข็งแล้วแต่ยังไม่แกร่ง มั่นคงแล้วแต่ยังไม่มั่นใจ คือจุดร่วมของหนังสือเกือบทุกเล่มของสำนักพิมพ์ P.S.
แต่ผู้เขียนก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำอย่างที่เราอยากให้ทำ เพราะการแบ่งภาคให้กับเรื่องเล่าแต่ละชุดก็ได้จัดแบ่งหมวดหมู่ให้เห็นความต่างอย่างชัดเจนเพียงพอแล้ว การที่ผู้เขียนเก็บงำบางสิ่งบางอย่างเอาไว้ และการที่ผู้อ่านถูกปิดตาไม่ให้รับรู้เหตุการณ์ การกระทำ ฉาก และองค์ประกอบอื่นนอกเหนือจากความย้ำคิด ความหมกหมุ่น และความรู้สึกภายในของตัวละคร (ซึ่งแน่นอนว่าแทนตัวผู้เขียนเอง) ก็อาจเป็นที่ชื่นชอบและหลงใหลของใครหลายคน
ฉะนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความยาวของเรื่องเล่าและการปิดบังตัวเองของผู้เขียนที่เป็นจุดอ่อนของหนังสือเล่มนี้สำหรับเรา อาจเป็นจุดแข็งสำหรับผู้อ่านคนอื่นและซีรีส์ Monologue ดังเช่นที่ผลงานอื่นๆ ของ P.S. นั้นได้พิสูจน์ตัวเองกับผู้อ่านมาแล้วในระดับที่เรียกว่าน่าประทับใจ
ในสามภาคที่เหลือของ สนามเด็กเล่นของปีศาจ ผู้เขียนยังคงความสั้นกระชับและยึดจับคอนเซ็ปต์ของ ‘การสนทนากับตัวเอง’ ได้อย่างแม่นมั่น โดยในแต่ละภาคนั้นก็มีบรรยากาศที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ ขณะที่ภาคแรกทำให้เราคิดถึงบ้านไม้หลังเล็กในหัวมุมถนนแคบๆ ในเขตชานเมือง ภาคที่สองในชื่อ ‘ปีศาจที่พำนักในใจ’ กลับทำให้เราคิดถึงบ้านพักตากอากาศริมหาดที่มีน้ำทะเลสีซีดจาง สถานที่ซึ่งคู่รักคู่หนึ่งมาเช่าพักเพื่อทบทวนความสัมพันธ์กึ่งรักกึ่งล่ม
ที่ว่ากึ่งล่มนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอาการซึมเศร้าของ ‘เขา’ ที่ดูเหมือนจะเกินเยียวยา (ผู้เขียนไม่ได้พูดตรงๆ ว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้า แต่เห็นได้ชัดจากเรื่อง ‘เขาหลับ’ และ ‘หนังผีและผี’) แถมหากจะพึ่งความสามารถของตัวละคร ‘ฉัน’ ให้ช่วยบรรเทาอาการก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนั้น เมื่ออ่านครบทั้งแปดเรื่องแล้วก็คงจะกระจ่างแจ้งได้ไม่ยาก
‘ความฝัน’ ภาคที่สามของเล่มนั้นมีน้ำเสียงที่ต่างออกไป เป็นน้ำเสียงโอนอ่อนย้อนหาอดีตแบบไม่ปิดบัง ผ่านหน้าฉากของสามความฝันที่พูดถึงการผจญภัยบนดวงจันทร์ และความทรงจำในโรงเรียนมัธยมฯ และอีกสี่เรื่องเล่าเกี่ยวกับการตื่นและการหลับ ดั่งอยากจะบอกว่าความฝันนั่นแหละที่ดี ที่งาม ที่เป็นที่ต้องการ ไม่ใช่ความจริงที่เรามักจะต้องรอคนหลับให้ตื่นขึ้น หรือรอให้คนตื่นนั้นหลับลงพร้อมกับเรา เพื่อให้เราได้ห้อยโหนลงมาจากเถาวัลย์แห่งความโดดเดี่ยวเปลี่ยวว้างนั่นเสียที
ภาคแรกทำให้เราคิดถึงบ้านไม้หลังเล็กในหัวมุมถนนแคบๆ ในเขตชานเมือง ภาคที่สองในชื่อ ‘ปีศาจที่พำนักในใจ’ กลับทำให้เราคิดถึงบ้านพักตากอากาศริมหาดที่มีน้ำทะเลสีซีดจาง
ส่วนภาคสุดท้ายอย่าง ‘สีน้ำเงินขวดหนึ่งหกราดท้องฟ้า’ ประกอบด้วยเรื่องเล่า 11 เรื่องที่หากไม่คิดว่าเป็นเรื่องแยก อาจรู้สึกว่ามันเชื่อมต่อกันได้กลมกลืนกว่าภาคก่อนๆ จนเหมือนเป็นฉากเดียวกันและเหตุการณ์ชุดเดียวกัน สิ่งที่เราชอบในภาคนี้คือเราเริ่มรู้สึกว่าตัวละคร ‘ฉัน’ ได้เริ่มแง้มบุคลิกของตัวเองให้เราได้ทำความรู้จักมากขึ้นอย่างจริงใจ หลังจากได้แต่รับฟังผลพวงของความย้ำคิดของเธอมาตลอดสามภาค รวมทั้งยังได้รับรู้แง่มุมอื่นของเธอจากความคิดเห็นที่เธอมีต่อสังคมแห่งนี้ที่เธอเคยอยู่ ยังต้องอยู่ และกำลังจะเคลื่อนเข้าไปอยู่
เราอ่าน สนามเด็กเล่นของปีศาจ จบในรวดเดียว และพบว่าสิ่งที่ชัดเจนยิ่งคือการเติบโตของตัวละคร ‘ฉัน’ ที่เริ่มจากความว้าวุ่นแกมสงสัยในภาคแรก มาสู่การรู้จักรักและรู้จักปล่อยรักในภาคที่สอง การปลดล็อคกับอดีตของตัวเองในภาคที่สาม และการสงบลงของเจ้าปีศาจที่นำทางเธอมาตลอดเล่มในภาคสุดท้าย นำมาซึ่งการปรายตามองไปสู่อนาคตทั้งของตัวเองและของที่ที่ตนผูกพันและจำอยู่
สุดท้ายนี้ นี่ไม่ใช่หนังสือที่เราประทับใจจนต้องอวยแล้วอวยเล่า แต่มันก็ไม่ใช่การบ่นเรื่อยเปื่อยอย่างที่ภายนอกของเขาวงกตนี้หลอกตาเราไว้ในตอนแรก งานของลัดดาชิ้นนี้มีพลังในแบบของมัน พลังในแบบที่คนส่วนมากเข้าถึงได้ พลังที่อาจติดอยู่ในใจพวกเขาไม่นานก็สั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าอ่านแล้วผ่านพ้นไปทันใดแบบที่ไม่เหลืออะไรให้จดจำเอาเสียเลย
Fact Box
- Midnight Harmony สนามเด็กเล่นของปีศาจ ผลงานของ ลัดดา สงกระสินธ์ หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรกในซีรีส์ Monologue โดยสำนักพิมพ์ P.S. พิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561
- ผลงานที่ผ่านมาของ ลัดดา สงกระสินธ์ คือหนังสือรวมบทกวี ฝนบางหยดกลายเป็นผีเสื้อ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2559 โดยสำนักพิมพ์สมมติ