หนึ่งในเทรนด์ฮิตของการแต่งหน้าปัจจุบันนี้ก็คือความวิ้งวับของประกายชิมเมอร์จากบรรดาเครื่องสำอาง ไม่ว่าจะเป็นรองพื้น อายแชโดว์ บลัชออน ไฮไลต์ แป้ง และอีกหลากหลายไอเท็มที่ล้วนแล้วแต่เสริมประกายชิมเมอร์ลงไปในผลิตภัณฑ์เพื่อตอบรับเทรนด์การแต่งหน้าในปัจจุบัน
ขอวาวๆ วิ้งๆ ในแบบหนังปลาทูเลยแม่!
แต่รู้หรือไม่ว่า ไอ้ประกายวิ้งๆ วาวๆ สไตล์หนังปลาทูที่ว่านี้ มันทำมาจากอะไร แล้วต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง
สิ่งที่เรียกว่าชิมเมอร์ หรือสิ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ความงามทั้งหลายเกิดประกายวิ้งๆ วาวๆ นั้น มาจากการใช้แร่ที่เรียกว่า “ไมก้า” ซึ่งเป็นแร่ธรรมชาติที่มีความวิ้งวับ ผลิตภัณฑ์ความงามมากมายนำไมก้ามาใช้เพื่อผลลัพธ์ความวิ้งวับอย่างเป็น “ธรรมชาติ”
แร่ไมก้าใช้ในอุตสาหกรรมมากมาย ทั้งยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ก่อนที่พิกเมนต์ของมันที่มีความวิบวับโดยธรรมชาติจะเตะตาวงการบิวตี้และถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ความงาม
ไมก้าเริ่มเข้ามาอยู่ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์บิวตี้ตั้งแต่ปี 1942 แต่ยังไม่ได้รับความนิยมนัก โดยในปี 1951 บริษัท Yamagushi Mica Co.,LTD. สร้างโรงงานผลิตผงไมก้าขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ความงามต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น และในปี 1965 บริษัท Dupont Corporation ผู้คิดค้นวิจัยสีที่ใช้ในอุตสาหกรรมก็พัฒนาไทเทเนียมไอออกไซด์ (สารที่ใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ความงาม สี และกระจก มีคุณสมบัติคือป้องกันแสงแดด) เคลือบด้วยไมก้าขึ้น แต่ในอุตสาหกรรมความงามนั้น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ไมก้าเพื่อสร้างประกายความวาววับชิมเมอร์เพิ่งจะมาได้รับความนิยมในช่วงปี 1978 นี่เอง
แม้โรงงานผลิตผงไมกาที่มีชื่อเสียงจะเริ่มต้นที่ประเทศญี่ปุ่น แต่เหมืองแร่ไมกาที่เป็นแหล่งส่งออกสำคัญของโลกอยู่ที่ประเทศอินเดีย
ถนนดินในหมู่บ้านอันไกลโพ้นห่างไกลความเจริญในรัฐฌาร์ขัณฑ์ ประเทศอินเดีย เต็มไปด้วยความระยิบระยับ ไม่ต่างจากใบหน้าของหญิงสาวที่แต่งแต้มไปด้วยเครื่องสำอางประกายชิมเมอร์ เพราะสิ่งที่ปนอยู่ในถนนดินเหล่านั้นและในเครื่องสำอางที่สาวๆ ใช้ คือสิ่งเดียวกัน นั่นคือแร่ไมกา ซึ่งรัฐฌาร์ขัณฑ์และรัฐพิหารในอินเดีย คือที่ตั้งของเหมืองแร่ไมกาที่ส่งออกไปทั่วโลก
จากรายงานของ Terre des Hommes (TDH) ในปี 2018 พบว่า มีแรงงานเด็กที่ทำงานในเหมืองแร่ไมกาที่ประเทศอินเดียสูงถึง 22,000 คน และคำว่าแรงงานเด็กนั้นมีตั้งแต่อายุ 4-5 ขวบไปจนถึง 18 ปีเลยทีเดียว โดย 70% ของแรงงานในเหมืองแร่ไมกาเป็นแรงงานผิดกฎหมาย เนื่องจากอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้
ในปี 2016 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า มีเด็ก 7 คนเสียชีวิตจากเหมืองถล่ม และจากการลงพื้นที่ของ Refinery 29 พบว่า เหตุการณ์เหมืองถล่มเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งที่มีข่าวและไม่มีข่าว และเกิดการเสียชีวิตหรือแค่บาดเจ็บ ในขณะที่คำตอบของเด็กๆ ที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องมาใช้แรงงานทำเหมืองไมกานั้นกล่าวว่า “ถ้าไม่ทำก็ไม่มีกิน”
คำถามที่ตามมาก็คือ เทรนด์การแต่งหน้าและผลิตภัณฑ์ความงามทั้งหลายที่ใช้แร่ไมกาในการทำเพื่อให้เกิดเอฟเฟ็กต์ความวิ้งวับเป็นประกาย มาจากการใช้แรงงานเด็กที่ผิดกฎหมายในอินเดียหรือไม่ และถือเป็นการสนับสนุนให้วงจรนี้เกิดขึ้นต่อไปหรือไม่
ประกายวิ้งๆ บนใบหน้าของเรานั้นแลกมาด้วยชีวิตใครหรือเปล่า
แบรนด์ความงามทั้งหลายไม่ค่อยจะพูดถึงประเด็นเหล่านี้มากนัก แต่หนึ่งในแบรนด์ที่ออกมาพูดเรื่องนี้อย่างชัดเจนก็คือแบรนด์เครื่องสำอางสัญชาติอังกฤษอย่าง LUSH ที่หยุดใช้ไมก้าจากธรรมชาติในการสร้างผลิตภัณฑ์ความงามของแบรนด์มาตั้งแต่ปี 2014 และหันมาใช้ไมก้าสังเคราะห์จากห้องแล็บแทน
แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การไม่ใช้ไมก้าจากธรรมชาติของแบรนด์ LUSH นั้น แม้จะฟังดูดีงาม แต่มันไม่ใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนของการใช้แรงงานเด็กในเหมืองไมก้า และที่สำคัญ มันไม่ได้ช่วยให้เด็กเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
หนึ่งในแบรนด์ที่ยังตัดสินใจยังใช้ไมก้าจากธรรมชาติอยู่ แต่ลงมาขับเคลื่อนประเด็นนี้อย่างจริงจังก็คือ L’Oréal ซึ่งมีแบรนด์ในบริษัทอย่าง Maybelline, Urban Decay, Essie, Nyx ลอรีอัลคิดว่าการปฏิเสธไม่ใช้ไมก้าจากธรรมชาติเลย ไม่ได้เป็นหนทางที่จะช่วยให้เด็กๆ เหล่านั้นมีชีวิตที่ดีขึ้นมากนัก โดยเฉพาะในแง่เศรษฐกิจ เพราะหมู่บ้านเหล่านั้นเป็นหมู่บ้านที่ยากจนมาก ชีวิตความเป็นอยู่ขึ้นอยู่กับการทำงานใช้แรงงานในเหมืองแร่ สิ่งที่ลอรีอัลทำก็คือ ยังคงซื้อแร่ไมก้าอยู่เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นมีรายได้มาจุนเจือครอบครัว แต่จะซื้อเฉพาะเหมืองที่เชื่อถือได้ มีการการันตีว่าไม่ได้ใช้แรงงานเด็กที่ผิดกฎหมาย
ในปี 2017 เกิดความร่วมมือกันระหว่างแบรนด์เครื่องสำอางระดับโลกกว่า 40 แบรนด์เพื่อแก้ไขและป้องกันความไม่สวยงามเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ความสวยงามจากแร่ไมก้านี้ ภายใต้ชื่อ Responsible Mica Initiative หรือ RMI ซึ่งมีแบรนด์ที่เข้าร่วมมากมาย ทั้ง L’Oréal, Estée Lauder Companies, LVMH, Coty, Chanel, Burt’s Beesและ Shiseido เพื่อกำหนดเป้าหมายว่า ภายในปี 2022 การนำแร่ไมก้ามาใช้ในอุตสาหกรรมความงาม จะต้องมาด้วยวงจรที่สวยงาม ไม่ได้มาจากการใช้แรงงานเด็กที่ผิดกฎหมายหรือทำให้ใครต้องได้รับความบาดเจ็บและเสียชีวิตอีก
และอีกหนึ่งในองค์กรที่ทำงานด้านแรงงานเด็กในอินเดียก็คือ KSCF และ BBA ของไกรลาส สัตยาธิ เจ้าของรางวัลโนเบลในปี 2014 ที่สามารถช่วยเหลือเด็กกว่า 80,000 คนทั่วประเทศอินเดียที่ตกเป็นทาสการค้าแรงงานเด็กได้ โดยในจำนวนนั้นมีถึง 3,000 คนที่ทำงานในเหมืองไมก้า โดยบริษัทที่ให้การสนับสนุนการทำงานของไกรลาส สัตยาธิก็คือ Estée Lauder ซึ่งมีแบรนด์เครื่องสำอางในเครืออย่าง M.A.C., Clinique, Smashbox, Bobbi Brown
อีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกันก็คือ ราคาขายไมก้า ที่ทำให้ครอบครัวต่างๆ ในรัฐฌาร์ขัณฑ์และรัฐพิหารต้องใช้แรงงานเด็กซึ่งเป็นลูกเป็นหลานในการทำงานแทนที่เด็กเหล่านั้นจะได้เรียนหนังสือก็คือ เพราะปัจจุบันราคาขายไมก้าอยู่ที่เพียงกิโลกรัมละ 3-10 รูปี (ขึ้นอยู่กับคุณภาพของไมก้า) ในขณะที่แรงงานผู้ใหญ่สามารถหาได้วันละ 50 กิโลกรัม เท่ากับว่า หนึ่งวันทำเงินได้เพียง 60-240 บาท ซึ่งไม่พอที่จะจุนเจือครอบครัว จึงต้องพยายามเพิ่มจำนวนการหาไมก้าให้ได้ โดยนำเอาแรงงานเด็กในครอบครัวมาช่วยทำงานเพื่อจะได้เงินในการขายมากขึ้น แต่ถ้าหากสามารถขายไมก้าได้ในราคาที่ไม่ถูกกด ซึ่งควรจะเป็นกิโลกรัมละ 40-50 รูปี ครอบครัวเหล่านี้ก็สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องนำเอาลูกหลานมาเป็นแรงงานผิดกฎหมาย
บางที นอกจากเราจะต้องเรียนรู้ทริกในการแต่งหน้าว่าจะแต่งหน้าสไตล์นี้อย่างไร ใช้อะไรบ้าง เราอาจจะต้องมาเรียนรู้และศึกษาด้วยว่า เครื่องสำอางแต่ละชิ้นบนโต๊ะเครื่องแป้งที่เราใช้ มีส่วนประกอบมาจากอะไร และแต่ละส่วนประกอบนั้นมันมีที่มาที่ไปอย่างไร
อย่าให้ความสวยงามมันต้องตั้งอยู่บนชีวิตของใครอีกเลย
อ้างอิง:
- https://www.marieclaire.com/beauty/a23722189/mica-in-makeup-controversy/
- https://www.refinery29.com/en-us/2019/05/229746/mica-in-makeup-mining-child-labor-india-controversy
ที่มาภาพ : GETTYIMAGES, Nita Bhalla/REUTERS
Tags: ลอรีอัล, เครื่องสำอาง, ไมก้า, เทรนด์แต่งหน้า, แรงงานเด็ก, เอสเต้ลอเดอร์, แร่ไมกา