หนึ่งในสิ่งที่ท้าทายมากของวงการละครเวทีบ้านเราปีนี้คงเป็นเรื่องของ ‘พื้นที่การแสดง’ สืบเนื่องจากปีที่แล้ว พื้นที่ของโรงละครพระจันทร์เสี้ยวและห้องบีฟลอร์ (B-Floor) ที่อยู่ในสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้ปิดตัวไป ซึ่งทั้งสองถือเป็นโรงละครหลักในกรุงเทพฯ ทำให้ปัจจุบันเหลือโรงละครเวทีไม่กี่แห่ง อาทิ Democrazy Theatre, Thonglor Art Space และ Creative Industries

ตั้งแต่ปีที่แล้ว เราได้เห็นการแก้ปัญหาของกลุ่มละคร หลายครั้งกลายเป็นผลบวกเชิงความคิดสร้างสรรค์ในการใช้พื้นที่ แนวทางหนึ่งที่ชัดเจนคือการไปใช้พื้นที่ของอาร์ตแกลเลอรี่ อย่างงานดังปีที่แล้ว Blissfully Blind ของกลุ่มบีฟลอร์ จัดแสดงที่ Bangkok CityCity Gallery หรือคณะ Splashing Theatre ก็ไปใช้อาร์ตแกลเลอรี่หลายแห่ง ทั้ง RMA Institute (ในเรื่อง Godspeed You! Blue Strawberry) และ Buffalo Bridge Gallery (เรื่อง ค(ขั้)ว : What I talk When I talk about grinding)

Yelo House อดีตโรงพิมพ์เก่าที่ถูกแปลงสภาพเป็นอาร์ตสเปซและร้านอาหารเป็นอีกสถานที่ที่คนทำละครไปใช้งานกัน ผู้เขียนมีโอกาสดูการแสดงที่นี่ครั้งแรกเมื่อปีที่แล้วกับงาน Sleepwalkers ของ FULLFAT Theatre ซึ่งเป็นละครแบบ Physical Theatre หรือการเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่มีการพูด ในเรื่องนั้น ผู้กำกับ นพพันธ์ บุญใหญ่ ได้ใช้พื้นที่ของ Yelo House แทบจะทุกส่วน การแสดงเกิดขึ้นตั้งแต่ชั้นหนึ่งถึงชั้นสาม และผู้ชมยังได้เดินย้ายที่ไปมาด้วย จนผู้เขียนคิดว่า ถ้าจะมีละครเรื่องอื่นมาแสดงที่นี่ พวกเขาสามารถคิด ‘มุก’ ใหม่ๆ ในการใช้พื้นที่ได้หรือไม่

และในที่สุดก็มีละครมาแสดงที่ Yelo House อีกครั้ง นั่นคือเรื่อง ‘เมมมัว memoir’: ไหนว่าจะไม่จำ’ ของชมรมสุดวิสัย

ก่อนอื่นขอเล่าถึง ‘ชมรมสุดวิสัย’ สักนิด แม้จะใช้ชื่อว่าชมรม แต่กลุ่มละครนี้ไม่ได้มีสมาชิกตายตัว คอนเซ็ปต์ของกลุ่มคือให้ชาวละครเวทีแวะเวียนเปลี่ยนกันมากำกับละครสั้นในธีมต่างๆ กันไป ผลงานที่ผ่านมาเช่น ละครสั้น ‘รักคนละข้าง’ (2014) ในธีม ‘ข้าง’ เช่น ข้างหน้า ข้างหลัง, ละครสั้น 5 เรื่อง 5 หลง 5 ผู้กำกับ (2016) ในธีม ‘หลง’ (หลงกล หลงทาง) และ ละครสั้น ฝันโขมง Snooze เพราะยังไม่อยากตื่น (2017) ในธีม ‘ความฝัน’

แน่นอนว่าธีมของ ‘เมมมัว memoir : ไหนว่าจะไม่จำ คือเรื่องของ ‘ความทรงจำ’ ประกอบด้วยละครสั้นสี่เรื่องที่เปลี่ยนนักแสดงและตำแหน่งไปทุกเรื่อง มีนักแสดงคอยนำทางผู้ชม (ในรอบของผู้เขียนคือ พันธุ์ชนะ สุนทรพิพิธ) พร้อมทั้งเกริ่นให้ฟังถึงประเภทของความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับละครตอนนั้น อย่างเช่นตอนแรก ‘จำ Apple ID ไม่ได้ เป็นเรื่องของความทรงจำระยะสั้น เรื่องราวเรียบง่าย ใช้นักแสดงเพียงคนเดียว (จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ) ว่าด้วยชายคนหนึ่งที่พยายามถามหา Apple ID จาก Siri

จำ Apple ID ไม่ได้’ กำกับโดย วิชย อาทมาท หากใครเคยดูงานของวิชยมาบ้างก็จะพบว่าเขาทดลองกับพื้นที่การแสดงอยู่เสมอ ทั้งในเรื่อง บ้าน Cult เมือง Cult (2013) ที่ทำการแสดงสองห้องพร้อมกัน หรือ ไม่มีอะไรจะพูด (2017) ที่ผู้ชมเลือกได้ว่าจะดูการแสดงห้องซ้ายหรือขวา ส่วนในเรื่องนี้ วิชยให้ผู้ชมอยู่ที่ชั้นหนึ่ง แต่นักแสดงอยู่ในห้องกระจกชั้นสอง นั่นหมายถึงว่า เราต้องชะเง้อคอดูการแสดง บางคนเห็นชัดเจน บางคนก็อาจจะมองไม่เห็นนัก ถือว่าเป็นตอนที่การนำเสนอน่าสนใจ ตัวเนื้อเรื่องว่าด้วยความขัดแย้งของมนุษย์กับแอปพลิเคชั่นก็ขบขันพอใช้ แต่อาจจะไม่ได้กระทบใจนัก

ตอนที่สอง จำเดือน’ ย้ายขึ้นไปที่ชั้นสอง เมื่อขึ้นไปก็เห็น ปริยา วงษ์ระเบียบ และวิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล นั่งนิ่งกันอยู่ ยังไม่อาจแน่ใจว่าเนื้อเรื่องเกี่ยวกับอะไร แต่เดาในใจว่าได้ฮาแน่นอน เพราะแม้จะเป็นนักแสดงต่างรุ่น แต่ทั้งสองขึ้นชื่อเรื่องจังหวะการแสดงอันคมกริบ ต่อมาเนื้อเรื่องเปิดเผยว่าทั้งคู่เป็นวิญญาณที่ติดอยู่ในบ้านและไม่ไปผุดไปเกิดเสียที ส่วนสเปซฮิปๆ อย่าง Yelo House ก็ถูกดัดแปลงเป็นศาลพระภูมิ (ในจินตนาการ) ด้วยการเอาน้ำแดงมาตั้ง

ดูละครไปได้เพียงห้านาที ผู้เขียนเดาได้ทันทีว่า จำเดือน ต้องกำกับโดย ปานรัตน กริชชาญชัย เธอคือนักการละครที่โดดเด่นในแนวตลก แต่มันไม่ใช่เพียงตลกแบบเรื่อยเปื่อย ความตลกของปานรัตนมักมีส่วนผสมของความ Absurd อย่างในที่นี้คือบทสนทนาที่วนเวียนไปมา แต่จังหวะโต้ตอบของนักแสดงนั้นรวดเร็วและฉะฉาน (แถมยังพ้องกับดนตรีสดอย่างเหมาะเจาะ) เช่นนั้นแล้ว จังหวะตลกในแบบของปานรัตนต้องใช้ไหวพริบสูง ซึ่งนักแสดงนำทั้งสองก็ทำได้ดียิ่ง ส่วนการตีความเรื่องความทรงจำในตอนนี้ก็น่าสนใจ ออกจะเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณที่ว่าด้วยตัวละครที่ถูกกักขังอยู่ในความทรงจำแบบไหลเวียนหมุนวนซ้ำ

เข้าสู่ตอนที่สาม จำลอง กำกับโดย จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ ผู้ชมถูกพาไปยังโถงด้านหน้าของชั้นหนึ่ง เราได้ประสบกับเรื่องราวของผู้หญิงสองคน (ปานรัตน กริชชาญชัย และลลิตา ทับทอง) ที่ดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์แบบคู่รักเลสเบี้ยน การใช้พื้นที่ของตอนนี้ก็น่าสนใจเช่นเคย ด้วยการให้นักแสดงเล่นทั้งที่โซฟาตรงชั้นหนึ่งและปีนป่ายบันไดอลูมิเนียมขึ้นไปยังชั้นสอง แม้ว่าจะดูขัดเขินอยู่บ้าง แต่นักแสดงก็แสดงลื่นไหลพอสมควร

มองอย่างผิวเผิน เรื่องราวของ จำลอง ดูเหมือนไม่ได้มีอะไรมากกว่าการทะเลาะยืดเยื้อของผู้หญิงสองคน แถมผู้เขียนเองยังรู้สึกตะหงิดใจกับการแสดงของปานรัตนเกือบตลอดเรื่อง แต่ภายหลัง ละครเฉลยว่าเธอไม่ใช่มนุษย์ หากแต่เป็นหุ่นยนต์ที่ความทรงจำถูกโปรแกรมมา นี่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ละครพลิกกลับตาลปัตร ช่วยยกระดับจากความสัมพันธ์ดาษดื่นกลายเป็นเรื่องของมนุษย์ที่เอาเปรียบจักรกลได้ทุกวิถีทาง แม้แต่การฉกฉวยความทรงจำ

การแสดงดำเนินมาถึง จำศีล ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย (กำกับโดย วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล) ผู้ชมถูกพาขึ้นไปชั้นสองอีกครั้ง แต่ฉากถูกเซ็ตใหม่ด้วยไฟโทนขาวขับเน้นบรรยากาศแบบไซไฟ ส่วนตัวเรื่องเล่าถึงชายผู้หนึ่ง (คานธี วสุวิชยกิตติ์) ที่พยายามทำเรื่องขอจำศีลหลับใหลยาวนานกับหุ่นยนต์สาว (ชนิดา ปัญญาเนรมิตดี) หากแต่เธออาจจะเป็นมากกว่าหุ่นยนต์เสมียนรับเรื่อง

เดาได้ไม่ยากว่าชายคนนี้อยากจำศีลเพราะเขามีอดีตอันเลวร้ายและเลือกหนีมันด้วยการหลับไร้สติ แต่ยิ่งหนีเท่าไร ก็เหมือนจะยิ่งหลุดพ้นได้ยาก ราวกับว่า ‘การลืม’ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถใช้ได้กับ ‘ความทรงจำ’ อย่างที่ตัวละครหุ่นยนต์สาวพูดไว้อย่างน่าคิดว่า “การลืมก็คือการจำว่าจะไม่จำ” เช่นนั้นแล้วการลืมอย่างจงใจคงไม่มีอยู่จริงและไม่สามารถเป็นไปได้

โดยรวมแล้ว ‘เมมมัว memoir’: ไหนว่าจะไม่จำ เป็นการแสดงใช้พื้นที่และร้อยเรียงธีมได้น่าสนใจ น่าสังเกตว่ามีถึงสามในสี่ตอนที่ว่าด้วยเรื่องมนุษย์ผู้ดิ้นรนอยู่ระหว่างความทรงจำกับเทคโนโลยี จนผู้เขียนพูดกับเพื่อนว่า “มันช่าง Black Mirror เหลือเกิน” เพราะถ้าใครได้ดูซีรีส์นี้ทางเน็ตฟลิกซ์ในซีซั่นที่สี่ ก็คงจับได้ว่าธีมหลักของ Black Mirror ซีซั่นล่าสุด คือเรื่องความทรงจำแบบดิจิทัล ยิ่งเทคโนโลยีก้าวไกลไปเพียงใด มนุษย์ก็พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะจัดการกับความทรงจำ ไม่ว่าจะเป็นการยักย้าย ถ่ายโอน ย้อนหลัง หรือลบเลือน ซึ่งไม่อาจทราบได้ว่าจะทำสำเร็จสมบูรณ์ในชาติปางไหน

แต่ดูเหมือนเราจะต้องทนทุกข์ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่มีความทรงจำไปอีกนาน

Fact Box

‘เมมมัว memoir’ : ไหนว่าจะไม่จำ แสดงถึงวันที่ 14 ก.พ. 61 ณ Yelo House ซ.เกษมสันต์ 1 (BTS สนามกีฬาแห่งชาติ) ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/214230379147190

Tags: , ,