คำว่า ‘หยุด พ.ร.บ.ตีทะเบียนสื่อ’ เป็นวลีที่แพร่หลายในหมู่คนทำงานสื่อทั้งเล็กและใหญ่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะ สปท. จะผลักดันกฎหมายที่มีสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชนในวงกว้างเป็นเดิมพันอีกฉบับเข้าที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 1 พฤษภาคม นั่นคือ ‘ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน’

หลังจากการประชุมร่วม 8 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 141-13 เสียง งดออกเสียง 17 เสียง และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ข้อเสนอในร่างกฎหมายนี้ถือว่าสุดโต่ง เพราะบังคับให้คนทำงานที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดความคิดผ่านสื่อต่างๆ จะต้องจดทะเบียนกับสภาวิชาชีพสื่อแห่งชาติ ซึ่งนิยามของ ‘สื่อ’ ที่ต้องไปจดทะเบียนนั้นกินความกว้าง

“ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” หมายความถึง “บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพเป็นสื่อกลาง เพื่อนำข่าวสาร สาร และเนื้อหาเพื่อประโยชน์สาธารณะทุกประเภทไปสู่มวลชนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด อย่างเป็นปกติธุระ หรือทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นประจำจากเจ้าของสื่อ หรือมีรายได้จากการงานที่กระทำนั้น ไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม” (จากร่างกฎหมายฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม)

คำจำกัดความนี้กินความรวมตั้งแต่คนทำงานขีดๆ เขียนๆ ทำงานเล่าเรื่อง ทั้งที่มีสังกัดและไม่มีสังกัด ย่อมมีผลทำให้ฟรีแลนซ์และมือสมัครเล่นเข้ามาทำงานได้ยากยิ่งขึ้น เพราะหากใครที่เข้านิยามนี้ แต่ไม่ได้ไปขึ้นทะเบียน ก็จะถูกลงโทษจำคุกสูงสุดสามปี ปรับสูงสุดหกหมื่นบาท

แต่หลังจากมีกระแสคัดค้านหนัก สปท. ก็ยอมปรับข้อเสนอเล็กน้อย เปลี่ยนจากเดิมที่บังคับให้คนทำงานสื่อต้องจดทะเบียนกับสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ มาเป็นการจดทะเบียนกับต้นสังกัด เพื่อให้มี ‘ใบรับรอง’ และยกเลิกบทลงโทษที่บังคับให้สื่อต้องจดทะเบียน เปลี่ยนมาใช้วิธีตัดสิทธิบางอย่าง

ที่มาของการเสนอร่างกฎหมายให้จดทะเบียนสื่อมาจากมุมมองที่ว่าสื่อมักเป็นส่วนหนึ่งในปัญหาต่างๆ คำก่นด่าที่มีต่อสื่อ เช่น สื่อไม่ทำหน้าที่ สื่อเสนอไม่เป็นกลาง เล่นข่าวมั่ว เสี้ยมความเกลียดชัง ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นจุดอ่อนของสื่อในทุกสังคม และเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ แต่รัฐบาลกลับใช้เป็นข้ออ้างที่จะควบคุมสื่อ ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว ยังฝังเมล็ดพันธุ์ปัญหาใหม่ลงไปด้วย และการเติบโตของโลกออนไลน์ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รัฐหวั่นไหว เพราะข่าวสารแพร่กระจายรวดเร็ว ไม่อยู่ในกรอบและธรรมเนียมปฏิบัติเดิมที่รัฐจะสามารถควบคุมเนื้อหาได้ จึงนำมาสู่ข้อเสนอให้ขึ้นทะเบียนสื่อแทน

ถามว่าถ้าแก้นิยามของคำว่า ‘ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ’ เสียใหม่ให้แคบลง เอาไว้ใช้กับนักข่าวเท่านั้น จะดีไหม? คำตอบคือยิ่งแก้ยิ่งอันตราย เพราะนอกจากจะทำให้สื่อกลายเป็นลูกไก่ในกำมือของรัฐ ยังจะยิ่งตอกย้ำชั้นชนของการเป็น ‘สื่อมวลชน’ ใครไม่มีบัตรอาจไม่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลข่าวสารจำนวนหนึ่งหรือไม่มีสิทธิ์เขียน ทั้งยังเปิดช่องให้เกิดการกีดกันแบ่งแยก สวนทางกับยุคที่เทคโนโลยีกำลังบอกเราว่าใครๆ ก็เป็นพลเมืองข่าวได้

ข้อเสนอในร่างกฎหมายนี้ถือว่าสุดโต่ง เพราะบังคับให้คนทำงานที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดความคิดผ่านสื่อต่างๆ จะต้องจดทะเบียนกับสภาวิชาชีพสื่อแห่งชาติ

อยากเป็นแบบ ‘สิงคโปร์’ กันทำไม?

พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน ซึ่งรับงานยกร่างกฎหมายฉบับนี้บอกว่าการมีระบบใบอนุญาตจะทำให้สื่อกำกับกันเองได้ดี และนำโมเดลใบอนุญาตมาจากมาตรการการจัดระเบียบสื่อของประเทศสิงคโปร์ที่ช่วยทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพและมีความเจริญ

แม้สิงคโปร์จะศิวิไลซ์ในหลายด้าน บ้านเมืองสะอาดเรียบร้อยสวยงามแบบที่ทุนนิยมรังสรรค์ แต่ในแง่การเมืองและเสรีภาพ สิงคโปร์เป็นประเทศที่ไม่น่าจะนำมาเป็นต้นแบบอย่างยิ่ง

สื่อในสิงคโปร์ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างเข้มงวด จากการจัดอันดับเสรีภาพขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) พบว่าสิงคโปร์อยู่อันดับที่ 151 ต่ำกว่าไทยซึ่งอยู่อันดับที่ 142 เสียอีก และหากยังจำกันได้ อามอส ยี (Amos Yee) วัยรุ่นสิงคโปร์วัย 19 ปีที่อัปโหลดวิดีโอเสียดสีนายกรัฐมนตรี ลี กวนยู และวิจารณ์ศาสนา สุดท้ายโดนลงโทษจำคุกสองครั้ง หลังจากถูกคุมขังจนครบกำหนด เขาก็ตัดสินใจออกจากประเทศ และอยู่ระหว่างการขอที่พักพิงและสถานะผู้ลี้ภัยในสหรัฐอเมริกา

เมื่อปี 2013 องค์กรกำกับดูแลสื่อของสิงคโปร์อย่าง The Media Development Authority (MDA) ออกกฎหมายเพื่อควบคุมเนื้อหาออนไลน์ บังคับให้เว็บไซต์ข่าวหรือบล็อกต่างๆ ที่มีบทความข่าวและสถานการณ์ปัจจุบันเฉลี่ยสัปดาห์ละชิ้นในรอบสองเดือน และเป็นเว็บไซต์หรือบล็อกที่มีคนในประเทศเข้าชมอย่างน้อย 50,000 UIP ต่อเดือน ต้องเข้าระบบขึ้นทะเบียนและจ่ายเงินจำนวน 50,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งคิดเป็นเงินไทยราว 1,200,000 บาท จึงจะดำเนินการต่อได้

นอกจากระบบการขึ้นทะเบียนสื่อของสิงคโปร์ที่น่าเป็นกังวล ร่างกฎหมายของ สปท. ยังส่อเค้าว่าจะกระทบกับคนตัวเล็กตัวน้อยยิ่งกว่า เพราะสิงคโปร์บังคับในระดับ ‘องค์กร’ ส่วนของไทยบังคับทั้งกับตัวองค์กรและ ‘ผู้ปฏิบัติงาน’ ซึ่งจะกินความถึงตัวนักข่าว บล็อกเกอร์ และเจ้าของเพจต่างๆ ให้ต้องเข้าระบบตีตรวนด้วยกันทั้งหมด

ถ้ารัฐไม่คุม แล้วใครจะคุมสื่อ?

ในโลกที่สื่อแข่งขันกันที่ความเร็วและยอดคลิก การทำงานผิดพลาดของสื่อเป็นเรื่องที่คุ้ยหาเมื่อไรก็เจอได้ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการลงข่าวผิด ละเมิดสิทธิเด็ก ลอกข่าว ละเมิดลิขสิทธิ์ ฯลฯ

ทางออกที่เป็นอุดมคติคือให้สื่อสำนักต่างๆ รวมตัวกันเป็นองค์กรวิชาชีพ หากมีเรื่องผิดพลาดใดๆ องค์กรวิชาชีพควรรับเรื่องร้องเรียนและวินิจฉัย มีมาตรการลงโทษ และมีการเยียวยาผู้เสียหาย โดยใช้วิธีให้สื่อและประชาสังคมคุมกันเอง แทนที่จะให้อำนาจตัดสินถูกผิดไปอยู่ในมือของรัฐ

แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้กำลังจะทำให้การคุมวินัยสื่อไปอยู่ในมือของรัฐ ผ่านการตั้ง ‘สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ’ ซึ่งจะมีกรรมการ 15 คน ในจำนวนนี้ 2 คนเป็นตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ และอีก 2 คนมาจากองค์กรอิสระ สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติจะทำหน้าที่กำหนดถูกผิดผ่านการออก ‘มาตรฐานกลางของจริยธรรมสื่อสารมวลชน’ และวินิจฉัยการกระทำผิดของสื่อ มีอำนาจลงโทษปรับเป็นเงินสูงสุด 150,000 บาท และมีอำนาจเพิกถอนใบรับรองสื่อด้วย

กรณีมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทำงานของสื่อ ร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอกลไกพิจารณา 3 ประเภทคือ หากเป็นความผิดพลาดของคนปฏิบัติงาน ให้องค์กรสื่อต้นสังกัดสืบสวนกันเอง หากความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นในระดับองค์กร เรื่องจะไปอยู่ในการพิจารณาของกลุ่มวิชาชีพ แต่ถ้าผลการวินิจฉัยของทั้งสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อออกมาไม่เป็นที่พอใจ สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติจะมารับเรื่องอุทธรณ์ สำหรับสื่อที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือไม่มีใบรับรอง จะไม่มีสิทธิ์ได้พิจารณากันเองในองค์กร แต่จะถูกส่งเรื่องไปที่สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ

ด้วยวิธีนี้ นอกจากสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติจะแทรกแซงความเป็นอิสระขององค์กรสื่อต่างๆ ได้แล้ว ยังจะทำให้สื่อที่ไม่เข้าระบบการจดทะเบียนมีสถานะเป็นเหมือน ‘คนไร้บ้าน’ และ ‘ไร้สิทธิ’ ที่จะกำกับดูแลตัวเอง

บนข้อถกเถียงนี้ เรื่องหนึ่งที่ต้องยอมรับคือการควบคุมกันเองของสื่อไทยยังไปได้ไม่สวย ประเทศไทยมีการรวมตัวขององค์กรวิชาชีพหลายองค์กรอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ ซึ่งสื่อแต่ละสำนักจะเป็นสมาชิกหรือไม่ก็ได้ เพราะเป็นระบบสมัครใจ แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือสื่อต่างๆ มีความคิดความเชื่อที่ไปกันคนละทางกับองค์กรวิชาชีพ และวิกฤตก็หนักหน่วงยิ่งขึ้นเมื่อความเห็นต่างนั้นเกิดขึ้นกับเรื่องพื้นฐานอย่างเรื่องความคิดทางการเมืองหรือการตีความความหมายของคำว่าจริยธรรมสื่อมวลชน จนกระทั่งหลายปีที่ผ่านมามีองค์กรสื่อขอลาออกจากการเป็นสมาชิกภาพกันไปหลายองค์กร จึงทำให้สื่อต่างๆ ไม่ได้ผูกพันตัวเองกับระบบการตรวจสอบที่มีอยู่

แล้ววิธีไหนคือวิธีที่ดีที่สุดในการกำกับดูแลสื่อ?

นี่เป็นโจทย์ท้าทายที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะในยุคที่สื่อหลอมรวมไม่แบ่งประเภทเด่นชัดดังเช่นสมัยก่อน

อย่างไรก็ตาม ไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนใช้วิธี ‘ขึ้นทะเบียน’ สื่อมวลชน

Tags: , , , , ,