‘รอมฎอน’ หรือเดือนถือศีลอด ในปีนี้จะเริ่มขึ้นในวันที่ 23 เมษายนนี้จนถึง 24 พฤษภาคม ถือเป็นช่วงเวลาอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก โดยสาระสำคัญของเดือนรอมฎอนนอกจากการถือศีลอดแล้ว คือการออกไปรวมตัวสวดภาวนาในมัสยิด รวมตัวกันดื่มกินในตอนกลางคืน พบปะและแสดงความเอื้ออาทรต่อกันด้วยการพูดคุย สวมกอด และจับมือ หลายประเทศจะมีการตั้งเตนท์แจกอาหารให้ชาวมุสลิมที่ยากไร้ แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ในปีนี้จึงมีการร้องขอให้งดเว้นการรวมตัวกัน
“เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อจิตวิญญาณของพวกเรา” หญิงชาวมุสลิมกล่าวกับสำนักข่าวอัลจาซีรา
ทางด้านสภามุสลิมแห่งอังกฤษ (The Muslim Council of Britain) ได้เผยแพร่คู่มือ ‘รอมฎอนจากที่บ้าน’ สำหรับเหล่าผู้ศรัทธา เช่น คำแนะนำในการรับประทานอิฟตาร์ทางวิดีโอแชทแทนการมารวมตัวกัน (อิฟตาร์คือมื้ออาหารค่ำหลังอาทิตย์ตกดิน ซึ่งปกติมักจะรับประทานร่วมกันเป็นหมู่คณะ) รวมถึงคำแนะนำให้เตรียมเมนูอิฟตาร์อย่างรัดกุมเพื่อจะไม่ต้องออกไปซื้อของหลายรอบ ลดความเสี่ยงในการออกไปเจอผู้คน จนถึงข้อปฏิบัติในการถือศีลอดระหว่างเวิร์กฟรอมโฮม ฯลฯ
หลายประเทศที่มีประชากรเป็นนับถือศาสนาอิสลาม เช่น มาเลเซีย บรูไน และสิงคโปร์ ได้ออกมาตรการสำหรับเดือนรอมฎอน สั่งห้ามเปิดตลาดรอมฎอน ซึ่งปกติจะมีชาวมุสลิมออกไปช้อปปิ้งกันคึกคัก ส่วนในอินโดนีเซียก็มีคำสั่งห้ามประชาชนเดินทางกลับบ้านเกิด ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่จะเกิดขึ้นทุกปีหลังจบเดือนรอมฎอน ขณะที่ปากีสถานอนุญาตให้ชาวมุสลิมไปละหมาดที่มัสยิดได้ แต่ทุกคนจะต้องเว้นระยะห่างจากกัน 6 ฟุต และขอให้ทุกคนนำเสื่อมาเองด้วย
สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดิอาระเบีย ยังสั่งงดเว้นการตั้งเตนท์การกุศลรอมฎอน แต่จะมีมูลนิธิจัดส่งอาหารให้ตามบ้านแทน
ขณะที่ในประเทศไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเปิดเผยว่าทางจังหวัดอนุญาตให้มีตลาดรอมฎอนได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่จะต้องถือศีลอดตลอดทั้งเดือน โดยต้องอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส มีการเข้าออกทางเดียวและมีจุดคัดกรองที่ได้มาตรฐาน ทุกร้านต้องอยู่ห่างกัน 1 เมตร และทุกคนในตลาดจะต้องสวมหน้ากากอนามัย
ในการถือศีลอดตลอดระยะเวลา 30 วัน ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงจะต้องงดเว้นการกินอาหารและเครื่องดื่มใดๆ ระหว่างวัน จะดื่มหรือกินได้เฉพาะหลังพระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น นอกจากนี้จะต้องงดการด่าทอ ว่าร้าย สูบบุหรี่ หรือการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อฝึกการระงับความอยากในตัวและยกระดับจิตวิญญาณของตน
ดอกเตอร์ เอ็มมาน เอล-บาดาวี ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมุสลิมกล่าวกับสำนักข่าวบีบีซีว่า แม้วิถีปฏิบัติจะเปลี่ยนไปแต่เขาเชื่อว่าจิตวิญญาณของรอมฎอนจะยังคงอยู่ ในทางหนึ่งการชำระจิตวิญญาณของหลายคนอาจเข้มข้นขึ้นด้วยซ้ำ เพราะการอยู่บ้านยิ่งทำให้ห่างจากสิ่งยั่วยุทั้งหลายได้เป็นอย่างดี
อ้างอิง:
https://www.bbc.com/news/uk-52363397
https://mcb.org.uk/resources/ramadan/
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_3986433
Tags: เดือนรอมฎอน, การถือศีลอด, โควิด-19