อาหารคือหนึ่งในปัจจัยสี่ เป็นส่วนหนึ่งในการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต และแต่ละพื้นที่บนพื้นโลกมีอาหารการกินอันแตกต่าง อีกทั้งยังถูกเชื่อมโยงไปไกลถึงรากเหง้า สังคม และวัฒนธรรม จึงไม่น่าแปลกใจที่อาหารแต่ละจานจะมีเรื่องเล่ามากมาย ซึ่งการเล่าก็สามารถทำได้หลายแบบ
มังงะจำนวนมากเล่าเรื่องอาหารได้อย่างดุเดือดและหลากหลายแง่มุม บ่อยครั้งยังทำหน้าที่เป็นหนังสือสอนทำอาหารไปในตัว 5 มังงะที่เราหยิบยกมานี้มีทั้งการแข่งขันไปจนถึงเรื่องราวของพนักงานออฟฟิศ ซึ่งแต่ละเรื่องนั้นอาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังไดเอตอยู่จริงๆ
Food Wars!: Shokugeki no Soma
Food Wars!: Shokugeki no Soma หรือ ยอดนักปรุงโซมะ ตีพิมพ์ลงในนิตยสารโชเน็งจัมป์ รายสัปดาห์ เขียนโดยยูโตะ สึคุดะ ผู้ที่เคยได้รับรางวัลนักเขียนมังงะหน้าใหม่ยอดเยี่ยม ในปี 2006 ซึ่งส่งผลให้เขาได้เซ็นสัญญาเป็นนักวาดการ์ตูนกับนิตยสารโชเน็งจัมป์
ผลงานชิ้นที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากที่สุดก็คงจะไม่พ้นผลงานชิ้นนี้ โดยมีผู้วาดคือซาเอคิ ชุน ที่สำคัญสึคุดะยังได้โมริซากิ ยูกิ นักวิจัยอาหารสาวที่มีชื่อเสียงในญี่ปุ่นมาเป็นหนึ่งในทีมงานด้านข้อมูลอาหารด้วย
หลังจากประสบความสำเร็จอย่างมาก ในเวลาต่อมา Food Wars!: Shokugeki no Soma ก็มีไลท์โนเวล และอนิเมะออกฉาย รวมถึงได้รับการนำไปพัฒนาเป็นเกม
ยอดนักปรุงโซมะ เป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่ม ยุคิฮิระ โซมะ ผู้มุ่งมั่นจะเป็นสุดยอดเชฟและก้าวข้ามพ่อของตนที่เป็นพ่อครัวให้จงได้ บ้านของโซมะเป็นร้านอาหารเล็กๆ แต่แล้ววันหนึ่งพ่อของเขาก็ปิดกิจการลงและให้โซมะไปเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนทำอาหารโทสึคิซะเรียว สุดยอดโรงเรียนที่ขัดเกลาผู้มีฝีมือมาแล้วนักต่อนัก และมีอัตราเด็กเรียนจบแค่ 10 เปอร์เซ็นต์
เมื่อเริ่มเข้าเรียนที่นี่ โซมะก็ได้พบกับโลกอาหารอีกใบที่ไม่ได้มีแต่ตัวเองกับพ่อเท่านั้น โลกอาหารที่กว้างใหญ่ถูกเปิดออกตรงหน้า เขาได้เห็นวิธีทำอาหารแบบใหม่ เทคนิคที่ต่างออกไป การเลือกใช้วัตถุดิบและการสร้างสรรค์เมนูของแต่ละคน แล้วจุดเริ่มต้นของการดวลอาหารเพื่อชิงความเป็นหนึ่งก็เริ่มต้นขึ้น โซมะจะก้าวขึ้นไปยังจุดสูงสุดและเอาชนะพ่อตัวเองได้หรือไม่ ต้องติดตาม!
Wakakozake
Wakakozake ตีพิมพ์ในปี 2011 ในนิตยสาร Comic Zenon ถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ถึงสามซีซั่น ฉบับมังงะเคยติดอันดับหนังสือ 10 เล่มที่พนักงานร้านหนังสือแนะนำในปี 2014 และหลังจากประสบความสำเร็จทั้งมังงะและละครโทรทัศน์แล้วในปี 2015 Comic Zenon ก็ให้ไฟเขียวเพื่อสร้างอนิเมะจำนวนทั้งหมด 12 ตอน ซึ่งก็ยังคงได้รับความนิยมไปไม่แพ้กัน
Wakakozake เป็นเรื่องราวของมุราซะกิ วากาโกะ สาวโสดพนักงานออฟิศ วัย 26 ปี สิ่งที่เธอโปรดปรานก็คือยามหลังเลิกงาน เธอจะท่องเที่ยวไปตามย่านร้านค้าต่างๆ และเลือกร้านนั่งดื่มสักร้านหนึ่ง เพื่อลิ้มชิมรสอาหาร แกล้มเครื่องดื่มสุดชื่นใจอย่างเหล้าหรือเบียร์เย็นๆ ซึ่งเป็นการจับคู่ที่เข้ากัน และยังช่วยเพิ่มรสชาติให้กับเมนูอาหารเหล่านั้นมากขึ้น
ความสุขง่ายๆ ยามค่ำคืนของวากาโกะจะทำให้เรานั่งไม่ติดเก้าอี้เลยทีเดียว อนิเมะเรื่องนี้เป็นตอนสั้นๆ ตอนละ 2 นาที แต่อาจจะให้ท้องเราร้องไปทั้งคืน และนอกเหนือไปจากอาหารแล้วก็ยังจะได้เห็นวัฒนธรรมการใช้ชีวิตบางส่วนของประเทศญี่ปุ่นด้วย
Silver Spoon
Silver Spoon หรือ ซิลเวอร์สปูน เขียนโดยฮิโรมุ อาราคาวะ ซึ่งเป็นามปากกาของฮิโรมิ อารากาวะ นักวาดการ์ตูนผู้มีชื่อเสียงจากเรื่อง Fullmetal Alchemist หรือในชื่อภาษาไทย แขนกล คนแปรธาตุ
ซิลเวอร์สปูนตีพิมพ์ในนิตยสารโชเน็งซันเดย์รายสัปดาห์ ตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเรื่องราวก็ยังไม่จบลง ฮิโรมุ ผู้เขียนเคยหยุดทำงานนานถึงเกือบปี สาเหตุมาจากอาการป่วยทำให้เธอไม่สามารถเขียนมังงะต่อได้ ปัจจุบันมังงะเรื่องนี้มียอดขายถึง 15 ล้านเล่มแล้ว และถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมะรวม 2 ซีซั่น ในปี 2013 และ 2014
ฮะจิเค็น ยูโงะ เด็กนักเรียนชั้นมัธยมปลายที่ผลการเรียนดีเลิศ แต่กลับเลือกเข้าเรียนที่โรงเรียนการเกษตรเอโสะโนะ เพราะว่าต้องการแยกตัวออกมาจากครอบครัว และด้วยความมั่นใจที่ว่าตัวเองมีพื้นฐานทางการเรียนที่ดี ดังนั้นจะเข้าเรียนที่ไหนก็น่าจะทำได้ดีไม่ต่างกัน
แต่นั่นก็คือความคิดที่ผิด เพราะยูโงะไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการเกษตรเลย ณ โรงเรียนแห่งใหม่นี้ ทั่วทั้งพื้นที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ การเรียนแบ่งออกเป็นหลายภาคส่วน นักเรียนทุกคนต้องเรียนรู้วิชาเฉพาะทางทั้งปศุสัตว์ การบริหารจัดการ การเพาะปลูก และการเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น
และสิ่งที่ทำให้ยูโงะแตกต่างจากเพื่อนๆ มากที่สุดก็คือ เขาไม่มีเป้าหมายอย่างแท้จริง ผิดกับทุกคนที่เข้าเรียนที่นี่เพราะมีจุดมุ่งหมายบางอย่าง หลายคนเป็นลูกของเกษตรกร และหลายคนก็ตั้งหน้าตั้งตาจะเปิดฟาร์มของตัวเอง แต่ถึงอย่างไร การมาเรียนที่นี่ก็ได้ให้คำตอบและประสบการณ์อันมีค่าแก่เขาแน่นอน
Sweetness and Lightning
Sweetness and Lightning มีชื่อในภาษาไทยว่า เมนูกรุ่น อุ่นไอรัก เป็นมังงะแนวเซย์เน็น ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Good! Afternoon ตั้งแต่ปี 2013 ปัจจุบันมีผลงานรวมเล่มออกมาแล้ว 10 เล่มและถูกนำมาสร้างเป็นอนิเมะฉายทางทีวีในปี 2016 ทั้งหมด 12 ตอน
มังงะเรื่องนี้ นอกจากจะเหมาะกับสาวๆ ทั่วไปแล้ว ยังเหมาะสำหรับคุณพ่อมือใหม่ด้วย เพราะเรื่องราวทั้งหมดจะเรียกรอยยิ้มที่เปี่ยมไปด้วยความสุขกับลูกๆ ตัวน้อยได้เป็นอย่างดี
อินุซึกะ โคเฮย์ อาจารย์หนุ่มโรงเรียนมัธยมปลายต้องประสบกับเหตุการณ์อันน่าเศร้า ซึ่งทำให้เขาต้องสูญเสียภรรยาไป ช่วงเวลาต่อจากนั้นมา โคเฮย์จึงต้องเลี้ยงดูลูกสาวเพียงลำพัง หน้าที่รับผิดชอบของเขาเพิ่มขึ้น แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขากล่าวโทษโชคชะตาแต่อย่างใด นอกเหนือไปจากงานสอนแล้ว โคเฮย์ต้องทำงานบ้านทุกอย่าง รวมไปถึงการทำอาหาร
ลูกสาวตัวเล็กของเขาตั้งหน้าตั้งตารอกินข้าวกับเขาทุกมื้อ แต่ปัญหาก็คือโคเฮย์ไม่มีความสามารถในการทำอาหารเลย วันหนึ่งโชคชะตาจึงพาให้เขาไปพบกับ อิดะ โคโตริ นักเรียนสาวของโรงเรียนที่เขาสอน บ้านของเธอเปิดร้านอาหาร เธอจึงเสนอว่าจะเป็นฝ่ายสอนเขาบ้าง ผ่านวิชาการทำอาหารนั่นเอง รวมถึงเคล็ดลับต่างๆ ที่จำเป็นจะต้องรู้ เรื่องราวอบอุ่นของคุณพ่อลูกหนึ่งจึงเริ่มต้นขึ้น
Sweetness and Lightning อาจไม่ได้ทำให้คนดูหิวตามจนทนไม่ไหว แต่เชื่อว่ามังงะเรื่องนี้จะสามารถทำให้หัวใจทุกคนชุ่มชื่นได้อย่างแน่นอน อีกทั้งยังแฝงแนวทางการเลี้ยงลูกที่ดีอีกด้วย
What Did You Eat Yesterday?
What Did You Eat Yesterday? ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Weekly Morning เป็นผลงานของฟูมิ โยชินางะ และเป็นหนึ่งในมังงะที่เคยได้เข้าชิงรางวัลการ์ตูนยอดเยี่ยม Manga Taisho
มังงะเรื่องนี้มีชื่อในภาษาไทยว่า เมื่อวานเจ๊ทานอะไร? ซึ่งอาจทำให้หลายคนรู้สึกคลุมเครือในเนื้อหาและเข้าใจผิดเกี่ยวกับเนื้อเรื่องที่แท้จริง
คาเคย์ ชิโร่ ทนายความวัยกลางคน รูปหล่อ มาดเนี้ยบ ที่ปิดบังกับคนภายนอกเรื่องที่เขาเป็นเกย์เอาไว้ เขาคบหาและอยู่อาศัยกับยาบูกิ เคนจิ ช่างทำผมที่อ่อนวัยกว่าเขานิดหน่อย ความแตกต่างของเคนจิกับชิโร่ก็คือ เคนจิเลือกที่จะเปิดเผยตัวเองแก่ครอบครัวและคนภายนอก แม้ว่านั่นจะทำให้ครอบครัวเลือกที่จะตัดขาดเขาไปก็ตาม แต่ถึงทั้งคู่จะไม่เหมือนกันในจุดนั้น มันก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาตกอยู่ในสถานะลำบากแตกต่างกันสักเท่าไร ค่านิยมของสังคมยังคงแอบทำร้ายพวกเขาอยู่กลายๆ
แต่อย่างไรการได้อยู่ร่วมกันก็ทำให้พวกเขามีความสุข คาเคย์เป็นคนพิถีพิถันเรื่องอาหารและการดูแลสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง บ่อยครั้งก็ทำให้เคนจิน้อยใจอยู่บ่อยๆ ว่าตัวเองนั้นดูแก่กว่าเขาเสียอีก
ชิโร่จริงจังกับการทำอาหารตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบไปจนถึงการปรุง และขั้นตอนการเลือกสรรค์ต่างๆ นี้ แฝงไปด้วยการวางแผนเกี่ยวกับอนาคตทั้งสิ้น
ไม่ใช่แค่เรื่องการกิน แต่ชิโร่ยังออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้สุขภาพของตนแข็งแรงอยู่เสมอ ดังนั้นมังงะเรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่การพูดถึงความหลากหลายทางเพศ แต่ยังทำให้เรารู้จักการวางแผนในการรับมือกับอนาคตผ่านความรักของตัวละครทั้งสองคนนี้
Tags: Food, อาหาร, การทำอาหาร, มังงะ, manga, อนิเมะ