*หมายเหตุ: บทความนี้เปิดเผยใจความสำคัญของภาพยนตร์ แต่หากจะอ่านก่อนไปชมก็อาจไม่เสียหาย เพราะการแสดง โทนสี และดนตรีประกอบที่เป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งจังหวะการลำดับภาพและเสียงที่ลงตัวนั้นไม่สามารถถ่ายทอดผ่านตัวอักษรได้เลย*

 

“เคยกอดคนตายไหม”

เป็นประโยคที่เชนถามพิช และเป็นประโยคที่เราถามตัวเองในวินาทีถัดมา เรากับพิชไม่เคยกอดคนตาย แต่เชนเคย

เชน (เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ) เจ้าของไร่ดอกมะลิกลางผืนดินรกร้างห่างไกลที่ติดเหล้า มีความหลังกับ พิช (โอ-อนุชิต สพันธุ์พงษ์) ชายหนุ่มผู้มีโรคร้ายติดตามตัวและเพิ่งย้ายกลับมายังผืนดินแห่งเดียวกันนี้ เพื่อใช้เวลาที่เหลืออยู่ทำบายศรี กิจกรรมที่เขาเชื่อว่าช่วยให้อาการของโรคทุเลา

พิชเป็นมะเร็งปอดที่ลุกลามมาเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคที่ทำให้คนใกล้ตัวคนหนึ่งของเราได้พรากจากไป โดยที่เราได้เห็นหน้าหากแต่ไม่ได้กอดเขา ข้อมูลนี้กวนตะกอนอดีตที่ฝังอยู่ลึกอยู่ในใจเราขึ้นมา และข้อมูลถัดไปที่ได้รับจากหนังเรื่องนี้ก็กวนตะกอนก้อนอื่นๆ ให้ไหลลอยตามมาอย่างไม่หยุดหย่อน

แต่เราก็ไม่รู้แน่ชัดว่าตะกอนไหนคือเรื่องราวใด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในหนังเรื่องนี้ผสานเข้าด้วยกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว เรียงร้อยเป็นถ้อยคำสนทนาพาทีของคนรักคู่หนึ่งที่กรุ่นกลิ่นดอกไม้ป่า และบายศรีหลายชั้นหลายองค์ ซึ่งประกอบด้วยดอกมะลิสีขาวนวล และดอกรักสีม่วงที่ต้องทะนุถนอมราวกับจะให้คงอยู่ไปตลอดกาล หากแต่มีอายุสั้นนัก แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่หนังเรื่องนี้มอบให้ผู้ชม

ใน ‘มะลิลา’ ผู้กำกับ นุชี่-อนุชา บุญวรรธนะ มีอะไรให้เรามากกว่านั้น นั่นคือความเข้าใจที่ลึกซึ้งในสิ่งที่เรียกว่า ชีวิตอันมีจิตวิญญาณเป็นที่ตั้ง

นี่เป็นใจความสำคัญซึ่งเราคิดว่าต่างจาก อนธการ (2015) หนังวัยรุ่นกลิ่นนัวร์เรื่องก่อนหน้าของอนุชาเป็นอย่างมาก และอาจทำให้ผู้ที่เคยชมอนธการ แต่ยังไม่รับรู้แง่มุมอื่นของอนุชาจากบทสัมภาษณ์ หรือไม่เคยชมภาพยนตร์ที่เขาทำก่อนหน้าอนธการอย่าง ตามสายน้ำ ประหลาดใจพอสมควร

และนั่นยิ่งหมายความว่า มะลิลา สมควรได้รับการรับชมอย่างที่สุด ทั้งเพื่อทำความรู้จักกับผู้กำกับที่น่าจับตาที่สุดคนหนึ่งอย่างอนุชาเอง เพื่อชมการแสดงที่สดใหม่และติดตาตรึงใจเราอย่างมากของศุกลวัฒน์และอนุชิต และเพื่อทำความรู้จักกับภาพยนตร์ไทยร่วมสมัยที่มีความเป็นไปได้หลากหลายมากกว่าที่เราเคยคิด

ย้อนกลับไปถึง ตามสายน้ำ (2004) ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของอนุชา หนังมีความยาว 50 นาที ถ่ายด้วยฟิล์ม 16 มม. เล่าเรื่องของชายหนุ่มสองคน กฤตรักวิน แต่วินไม่ยอมรับว่าตัวเองก็ชอบผู้ชาย ทั้งสองเดินทางเข้าป่าพร้อมกับหญิงสาวจริตแรงอีกสองคน โดยมีจุดหมายเป็นน้ำตกชั้นที่ 7 ที่จะมีกระแสน้ำไหลหลากลงมามากมายจนกลายเป็นรูปงวงช้าง หากแต่สุดท้ายแล้วมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น โดยระหว่างทางเดินขึ้นไปยังชั้นบนของน้ำตกนั้น หนังตัดสลับกับเหตุการณ์อื่นๆ ในช่วงเวลาที่ต่างกันในชีวิตวัยรุ่นของทั้งคู่

บทสนทนาเกี่ยวกับรักไม่สมหวังของกฤต ความงามของดอกไม้ป่าหลากชนิด คำสอนทางพุทธศาสนาเกี่ยวกับการปลดปลงเรื่องกามา ตัณหา และราคะ รวมทั้งเพลงประกอบอย่าง ‘ดารา’ โดย มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล กระทบใจเราอย่างรุนแรง

ทั้งหมดสะท้อนใจความของหนังเรื่องนี้ นั่นคือความรักและเพศสภาพ แต่เมื่อวกกลับมาที่มะลิลา เราจะพบว่า แม้หนังทั้งสองเรื่องจะมีองค์ประกอบที่คล้ายคลึงกัน แต่หัวใจของสองเรื่องนั้นแตกต่าง จนเราอยากจะตั้งชื่อเล่นให้กับมะลิลาว่า ‘ทวนสายน้ำ’ เสียด้วยซ้ำ อย่างหนึ่งก็เพราะไม่มีประเด็นเรื่องเพศสภาพอยู่ในมะลิลาแล้ว เพราะเชนและพิชนั้นเป็นเพียงคู่รักคู่หนึ่งเท่านั้นเอง

ในเชิงโครงสร้างของภาพยนตร์ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามะลิลาถูกแบ่งเป็นสองภาคและสองโลกที่แตกต่าง ครึ่งแรกเล่าความสัมพันธ์หลังพิชกลับมาพบเชนอีกครั้ง ซึ่งทำให้เราได้รับรู้เรื่องราวความตายของลูกสาวเชนอันเป็นที่มาของประโยคที่ยกมาในตอนต้น รวมทั้งเหตุผลที่ทำให้ทั้งสองแยกจากกันในอดีต อันเป็นช่วงเวลาที่หากมองอย่างผิวเผิน อาจกล่าวได้ว่าประกอบไปด้วยความสวยงามและตัณหา

ขณะที่ครึ่งหลังเล่าประสบการณ์อันท้าทายและความรู้สึกอันซับซ้อนของเชน ในฐานะพระธุดงค์คู่กับพระรุ่นพี่อีกรูปหนึ่ง (ซึ่งจะมีบทบาทในช่วงท้ายของเรื่อง) ส่วนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ปราศจากบรรดาของเหลวที่เลอะเทอะเปรอะเปื้อนอย่างที่ปรากฏในครึ่งแรก แต่ถูกแทนที่ด้วยความสกปรกและน่าสังเวชของศพไร้ญาติในป่าช้าใกล้เขตชายแดนที่ตายด้วยน้ำมือทหารพรานแทน

อย่างไรก็ดี เราคิดและเชื่อว่าทั้งหมดนี้คือโลกใบเดียวกัน โลกที่ความบริสุทธิ์ของสัมผัสจากปลายนิ้วผสานเข้าด้วยกันกับกลิ่นเหงื่อไคลอับๆ ของคนที่กำลังร่วมรัก โลกที่เรื่องทางเพศอันเป็นตัณหาตามความเชื่อทางศาสนา ผสานเข้าด้วยกันกับการเข้าถึงแก่นแท้ของจิตวิญญาณ และโลกที่ศรัทธาของมนุษย์ผสานเข้าด้วยกันกับพิธีกรรมและศิลปะของการทำบายศรีที่มอบความสมบูรณ์ทางผัสสะให้กับเรา

อนุชาได้ทลายขั้วตรงข้ามต่างๆ ที่เราอาจสังเกตเห็นได้ในหนัง หากไม่ได้ครุ่นคิดคำนึงกับมันเสียก่อน หนังเรื่องนี้ไม่มีการขีดเส้นระหว่างความบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ ความสะอาดและไม่สะอาด ความสดใหม่และความเหี่ยวเฉา ความรักและความใคร่ ความโกรธและความปลง ชีวิตและความตาย ความเชื่อและศรัทธา ศาสนาและพิธีกรรม

และหนังเรื่องนี้ก็ไม่ตัดสินการกระทำของตัวละคร ทั้งด้วยทัศนคติที่เปิดกว้างของอนุชาเอง และด้วยว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้เดินเรื่องด้วยการกระทำเป็นหลัก แต่ด้วยการถ่ายภาพบรรยากาศที่อ้างว้าง องค์ประกอบศิลป์ที่ละเมียดละไม เสียงเครื่องสายที่กรีดหัวใจ อารมณ์ที่มัวหมองของตัวละคร และบทสนทนาที่กร่อนลึกในใจของผู้ชม

ฉะนั้นแล้ว ในหนังเรื่องนี้จึงไม่มีสายตาที่ตัดสินว่า “ใครทำอะไรดีหรือไม่ดี” หากจะมีก็เพียงสายตาของตัวละครที่มองเห็นหรือนิยามว่า “อะไรเป็นอะไร”

อย่างที่เราคิดไปเองว่า พิชอาจนิยามดอกไม้และบายศรีไม่ว่าจะสดหรือเหี่ยวเฉาว่า ‘ความงาม’ และเชนอาจนิยามร่างกายที่ทั้งมีชีวิตและตายไปแล้วว่า ‘ความจริง’ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ตรงข้ามกับความลวง ความฝัน หรือภาพลวงตา แต่คือสิ่งที่พุทธศาสนาเรียกว่าอนัตตา

การปะทะกันซึ่งหน้าระหว่างเชนและเรือนร่างของความตาย ทั้งในรูปของคนรักที่จากไปในอ้อมอก ศพไร้ญาติที่เขาต้องจดจ้องให้ติดตา และมโนภาพที่จิตนั้นรังสรรค์ปั้นแต่งขึ้น ยืนยันจุดนี้ได้ดี

อีกองค์ประกอบของเรื่องที่ขาดไม่ได้และทำให้เส้นเรื่องสมบูรณ์คือตัวละคร ‘หลวงพี่ผู้พัน’ พระรุ่นพี่ที่ธุดงค์พร้อมกับเชนในครึ่งหลังของเรื่อง พระรุ่นพี่องค์นี้เป็นดั่งพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์ของเชน แต่หนังก็ค่อยๆ คลี่คลายและเผยให้รู้ว่าหลวงพี่เองก็อาจมีอดีตที่ยังสละไม่ได้ และมีสภาพร่างกายที่ไม่ปกติ ถึงจะบำเพ็ญเพียรอย่างสุดโต่งกว่าเชนก็ไม่สามารถลบความจริงในข้อนี้ไปได้

‘คนชั้นบน’ อย่างพระรุ่นพี่ที่เคยเป็นทหารกองทัพบกและเป็นที่เคารพรู้จักของคนในชุมชน กับ ‘คนชั้นล่าง’ อย่างเชนที่เป็นคนธรรมดาที่เคยติดเหล้าและมาบวชเป็นพระ สุดท้ายแล้วนั้นอาจไม่ต่างกันไม่ว่าในมิติใด ทั้งสองล้วนมีจุดจบที่คาดเดาไม่ได้ นั่นก็เพราะใต้ผ้าเหลืองนั้น ทั้งสองก็ยังคงเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจและจิตวิญญาณ

เหล่านี้หมุนเวียนเปลี่ยนผันเป็นวัฏจักรในจักรวาลของอนุชา ศุกลวัฒน์ และอนุชิต คือวัฏจักรที่เปรียบดั่งวงกลมที่จุดสุดท้ายต้องเวียนมาบรรจบกับจุดเริ่มต้นและหมุนวนต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าชีวิตจะจบสิ้นลง อย่างที่พิชเคยกล่าวไว้ว่า “หากไม่ได้นำบายศรีที่ใช้ทำพิธีเสร็จแล้วมาลอยน้ำ จะถือว่าไม่จบกระบวนการเรียกขวัญ”

ในฉากสุดท้าย เชนจึงอาจแทนตัวเองเป็นบายศรี—ศิลปะชิ้นเอกที่พิชได้รังสรรค์ขึ้นจากสิ่งที่เราขอบังอาจเรียกว่าความรัก—และปล่อยตัวเองให้ไหลไปกับสายน้ำ เพื่อจะทำให้ขวัญที่หนีหายไปได้กลับมาสถิตอยู่ในกายตน อย่างที่พิชหวังใจให้บายศรีองค์สุดท้ายของเขาได้ทำหน้าที่นั้น ส่วนชีวิตของเชนนั้นก็ยังต้องดำเนินต่อไป ไม่ว่าเขาจะอยู่ใต้ผ้าเหลืองหรือไม่ หรือยังจำไม่ลืมว่าได้กอดคนตายมาแล้วกี่คนก็ตาม

 

 

ภาพทั้งหมดจาก : https://www.facebook.com/MalilaMovie/

Fact Box

  • มะลิลา ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Asian Film Awards 2018 ซึ่งถือเป็นรางวัลทางภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียสองสาขาด้วยกัน ได้แก่ ผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม สำหรับ อนุชา บุญยวรรธนะ และ นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม สำหรับ ศุกลวัฒน์
  • มะลิลา ยังได้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์หลายแห่งทั่วโลก เช่นที่ เทศกาลหนังเอเชียนแห่งฮ่องกง เทศกาลหนังม้าทองคำที่ไต้หวัน เทศกาลหนังเคเรรา ประเทศอินเดีย เทศกาลหนังปูซาน ประเทศเกาหลีใต้  เทศกาลหนังสิงคโปร์ ฯลฯ พร้อมคว้ารางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสามเวทีหลัง
  • มะลิลาเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นไป และต้องการข้อพิสูจน์สำหรับโรงหนังเพื่อจะสามารถยืนระยะในการครองพื้นที่เข้าฉายต่อไปได้
Tags: , , , ,