เดนิส วิลเลอเนิฟ (Denis Villeneuve) อยากให้หนังเรื่องนี้ใช้ซีจีให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะเขาต้องการให้นักแสดงแสดงกับของจริงๆ ตรงหน้า ดังนั้นเขาจึงสร้างฉากห้องยานอวกาศของเอเลี่ยนขึ้นมาจริงๆ เพื่อให้นักแสดงรู้สึกเหมือนอยู่ในยานจริงๆ และหาคนมาเชิดหุ่นเป็นขาเอเลี่ยนเพื่อให้ เอมี อดัมส์ ได้รีแอ็กกับเอเลี่ยนจริงๆ ขณะแสดงด้วย

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้นแทบจะตรงข้ามกับสิ่งที่หนังบล็อกบัสเตอร์ปัจจุบันทำโดยสิ้นเชิง

ในยุคที่ยังไม่ได้เข้ามาทำหนังจริงๆ เวลาดูเบื้องหลังหนังที่มีซีจีเยอะๆ เราก็จะคิดว่า โห ถ่ายสบายเลย ถ่ายแต่กับฉากในโรงถ่าย ถ่ายกับฉากเขียวๆ ทั้งวัน ง่ายเลย เย็นเลย ไม่ต้องออกไปข้างนอก แต่หลังจากที่เริ่มมีโอกาสเข้ามาทำหนังแล้วก็พบว่าคนสบายอาจจะเป็นพวกผู้กำกับ แต่คนเหนื่อยคือนักแสดงต่างหาก เพราะเราก็ลืมคิดไปว่าสิ่งที่นักแสดงต้องเล่นและปฏิสัมพันธ์ด้วยนั้นเป็นอากาศธาตุมาก เป็นจินตนาการแบบเพียวๆ ต้องนึกเอาเองว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับสัตว์ประหลาดตัวไหนอยู่ (แบบที่มองไม่เห็น) ต้องทำหน้าตาหวาดกลัวเหมือนเจอจริงๆ ทั้งๆ ที่ด้านหน้าคือ จอเขียวๆ หรือเป็นทีมงานใส่ชุดเขียวๆ แม้ว่าฟังดูลำบาก แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักแสดงแล้ว นี่ล่ะคือภารกิจของพวกท่าน พวกท่านต้องกลัวแม้ว่าจะไม่มีอะไรตรงหน้าให้กลัว อะไรพวกนี้อาจเป็นสกิลการแสดงที่แท้จริงเหมือนกัน (เอาจริงๆ แล้วลำพังถ่ายกับฉากจริงๆ มีของจริงๆ ก็ยากอยู่แล้วนะ เพราะไม่ว่าจะกำลังเครียดหรือเศร้าแค่ไหน บางทีนักแสดงก็ยืนอยู่ตรงข้ามกับทีมงานอีก 10 คนอยู่ แต่ก็ต้องแสดงประหนึ่งอยู่คนเดียวในห้อง)

ยุคหลังๆ ยิ่งหนักมือกันขึ้นเรื่อยๆ หนังบางเรื่องนั้นแทบจะถ่ายซีจีกันทั้งเรื่องไปเลย ผมเคยพูดคุยกับคนไทยที่มีโอกาสเข้าไปทำงานกับทีมทำซีจีของ Gravity เขาบอกว่าหนังใช้เวลา 7 ปีในการผลิต พวกเขาต้องเตรียมงานสร้าง 4 ปีไปกับงาน animatic คือการครีเอตฉากต่างๆ ด้วยคอมพิวเตอร์ขึ้นมาทั้งหมดว่าหนังจะเป็นอย่างไร (ลองนึกถึงพวกการ์ตูนแอนิเมชันคอมพิวเตอร์แบบคร่าวๆ) จากนั้นก็เอานักแสดงมาพากย์เสียงไปก่อน แล้วทั้งหมดนี้ก็จะฉายให้สตูดิโอดูว่าหนังจะออกมาเป็นอย่างไรเมื่อเสร็จแล้ว (เนื่องจากหนังอย่าง Gravity นั้นเกิดขึ้นในอวกาศทั้งเรื่อง และมันต้องซีจีทั้งเรื่อง ทำให้เกิดการลงทุนอย่างมหาศาล หากจะทำจริงๆ การทำตัวอย่างหนังทั้งเรื่องออกมาให้ดูก่อนอาจจะช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ลงทุนได้มากขึ้น และเป็นการช่วยให้มีขวัญและกำลังใจขึ้นว่าไอ้ที่จิ้นๆ ว่าจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ มันจะออกมาเวิร์กจริงๆ) เมื่อไฟเขียวผ่าน การถ่ายทำเกิดขึ้นเพียง 3-4 เดือน สิ่งที่ทีมงานต้องทำในกองถ่ายคือถ่ายตามบอร์ดซีจีที่เตรียมกันมาแล้วก็ถ่ายตามนั้นไปเลย (ฟังดูเป็นการถ่ายทำที่ไม่สนุกแต่อย่างใด) นักแสดงก็เล่นกับยานอวกาศปลอมและจอเขียวๆ ฟ้าๆ ไปเรื่อยๆ ตามคำสั่ง หลังจากถ่ายทำเสร็จ อีกประมาณ 2-3 ปีเป็นเรื่องของการทำซีจีล้วนๆ แต่หลังๆ คือสุดของสุด หนังบางเรื่องมีบางซีนที่นักแสดงต้องเล่นกับฉากเขียวๆ อย่างเดียวจริงๆ คือไม่มีฉากอะไรเลย ไม่มีเซตต้องสร้าง และไม่มีเอ็กซ์ตราเดินเข้าฉาก คือทุกอย่างไปทำเอาในคอมพิวเตอร์จริงๆ ถ่ายไปแค่หน้านักแสดงพอ

อย่างที่บอกว่ากระบวนการและวิธีการทำของเดนิสค่อนข้างตรงข้ามกับระบบปกติพอสมควร เขาต้องการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นของจริงจับต้องได้ให้มากที่สุด อันที่จริงขาเอเลี่ยนในหนังนั้นไม่ต้องจ้างคนมาเชิดขาขณะทำการแสดงก็ได้ แต่เดนิสคิดว่าถ้าหากมีของจริงให้นักแสดงเห็นบ้าง นักแสดงจะแสดงออกมาได้ดีกว่า และรู้สึกจริงกว่า ผมเคยต้องถ่ายอะไรแบบนี้อยู่บ้างเล็กน้อย ก็จะพยายามหาของมาทดแทนสิ่งที่จะไปเติมในคอมพิวเตอร์ให้นักแสดงสักหน่อยขณะแสดง เพราะรีแอ็กชันระหว่างการมีของและไม่มีของมันก็ออกมาไม่เหมือนกันจริงๆ เช่น สมมติเราจะถ่ายฉากของกระเด็นใส่หน้าแล้วนักแสดงต้องตกใจ ถ้าให้นักแสดงเล่นเองอาจได้การแอ็กติงแบบหนึ่ง แต่ถ้าหาของมาพุ่งเข้าหน้าได้จริงๆ อาการตกใจจะเป็นไปตามธรรมชาติ ตามระบบป้องกันตัวของร่างกาย อะไรที่ธรรมชาติมากๆ เช่น ปฏิกิริยาตอบสนองแบบฉับพลันของร่างกาย บางทีก็เลียนแบบได้ยากมากจริงๆ ต้องเกิดขึ้นจริงๆ ถึงจะทำแบบนั้นได้ คิดว่าคำอธิบายนี้น่าจะช่วยทำให้เข้าใจความรู้สึกของเดนิสมากยิ่งขึ้นในการที่จะได้สุดยอดการแสดงออกมา บางทีก็ต้องทำแบบนี้แหละ

แต่สุดท้าย เอมี อดัมส์ ไม่ได้ชิงออสการ์ปีนี้นะ จบนะ #โกรธ

หมายเหตุ: บทความ “ARRIVAL” โดยนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “จงแสดงวิธีทำ” จาก HAMBURGER MAGAZINE ฉบับที่ 73 วันที่ 1-7 มี.ค. 2560

Tags: ,