Low Fat Art Fes ครั้งที่ 3 เป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญของเทศกาลศิลปะอันว่าด้วย Performance Art ที่เคยอยู่แต่ในโรงละครซึ่งผู้ชมส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่เป็นคนคุ้นหน้าในแวดวงศิลปะมาร่วมชื่นชม แต่ปีนี้ทีมงานเลือกที่จะพาตัวเองและศิลปินจากทั่วโลกมาทำงานคลุกคลีร่วมกับชาวชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ในย่านคลองสาน สวนสมเด็จย่า ท่าดินแดง ใช้เวลาอยู่เกือบครึ่งปีในการสร้างซีนศิลปะใหม่ๆ ไปพร้อมกับสานสัมพันธ์ระหว่างผู้คน เพื่อเล่าบางเรื่องราวในพื้นที่ออกมาด้วยวิธีการในแบบที่ถนัดของศิลปินแต่ละคน

เราจึงได้เห็นคุณป้าจูงหลานมาดูการแสดงมัดเชือก Shibari อากู๋วัยเกษียณมานั่งดูการแสดงที่ไม่ใช่งิ้วเรื่องโปรด แต่เป็นการแสดงที่ว่าด้วยหมู่บ้านร้างแห่งหนึ่งในเม็กซิโก เทศกาลศิลปะครั้งนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงการนำงานไปตั้งไว้โดดๆ กลางชุมชนอย่างไม่สนใจบริบท แต่เรียนรู้ที่จะประนีประนอมกับข้อจำกัดสารพัดประดามีของการอยู่ร่วมกัน ทำให้ 8-17 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมาเป็นการเปิดโอกาสให้คนรักศิลปะได้ออกมานอกแกลลอรี่ ตระเวนไปตามทางเดินแคบๆ ที่เต็มไปด้วยแมวจร ถามทางจากป้าร้านชำ นั่งดูการแสดงบนพื้นไม้เขรอะฝุ่นในโรงเกลือ เกิดเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ทำให้โลกศิลปะกับโลกของคนในชุมชนขยับเข้าใกล้ เข้าใจกันมากขึ้น

Speed Show: Drift Internet Cafe

ศิลปิน: Sun XiaoXIng

สถานที่: ร้าน KC Internet

24 ชั่วโมงในอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ก็กลายเป็นงานศิลปะได้ Sun XiaoXing ศิลปินชาวจีนชวนใครก็ได้มาทำอะไรก็ได้ในร้านอินเทอร์เน็ตที่เปิดให้บริการทั้งวันทั้งคืนไม่มีวันปิด อย่างร้าน KC Internet บริเวณท่าดินแดง ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไม่ได้มีเพียงวัยรุ่นแถวนั้นมานั่งเล่นเกมกันเหมือนทุกวัน แต่มีคนต่างถิ่นและชาวต่างชาติต่างภาษามานั่งปะปนอยู่ด้วยกันเต็มไปหมด ต่างคนต่างทำสิ่งที่ตัวเองสนใจไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก จะกลับเมื่อไหร่ก็ได้ไม่มีการผูกมัดใดๆ แต่ทุกการเคลื่อนไหวบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องจะถูกบันทึกเก็บไว้ทั้งหมด

ไอเดียการยึดอินเทอร์เน็ตคาเฟ่มาเป็นโปรเจ็กต์ศิลปะนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง Drift Internet Cafe โดย Oshimi Shuzo อันว่าด้วยเรื่องราวความรักที่เกิดขึ้นชั่วข้ามคืนในอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ Sun XiaoXIng และเพื่อนๆ เคยร่วมกันจัดเพอร์ฟอแมนซ์นี้ขึ้นมาแล้ว ครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี 2016 ที่ Haofengjing Internet Cafe ในกรุงปักกิ่ง โดยจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ 00:00-06:00 น. ของวันนั้นๆ จะเป็นการชวนคนมาใช้งานอินเทอร์เน็ตร่วมกันอย่างอิสระ โดยจะบันทึกหน้าจอทั้งหมดไว้ แล้วเปิดวนให้คนเข้ามาดูร่องรอยว่าคนอื่นๆ มาใช้งานอินเทอร์เน็ตทำอะไรบ้างในช่วงเวลา 06:00-18:00 น. หลังจากนั้นทุกอย่างก็จะหายไปตลอดกาล Cyber Theatre Project นี้จึงเป็นการยั่วล้อกันระหว่างโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์ ว่าเราเป็นตัวเองได้แค่ไหน ตัวตนที่แท้จริงของเราอยู่ในโลกไหนกันแน่

REALNESS SUNYA

ศิลปิน: ซัน พิทยา แพเฟื่อง

สถานที่: โรงเกลือแหลมทอ

ฝุ่นจากไม้เก่าในโรงเกลือตีฟุ้งลอยวนให้เห็นอยู่ในกรอบเส้นของแสงจากเครื่องฉาย ส่องภาพนายทหารในชุดเครื่องแบบ ยืนตะเบ๊ะสีหน้าขึงขังไปยังผนังด้านหนึ่งของโรงเกลือแหลมทองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ดนตรีเพลง ‘ไม่มีวัน’ ของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ส่งเสียงกรีดแหลมบาดลึกกรีดแทงดังก้องสะท้อนไปทั่ว

ร่างของซัน-พิทยา แพเฟื่อง ค่อยๆ เยื้องย่างบนส้นสูงสีเงิน เดินเข้ามาในแสงไฟ หลังจากนั้นอีกหนึ่งชั่วโมงต่อมา สายตาหลายสิบคู่ก็ไม่อาจละจากบุคคลตรงหน้าได้เลย ตลอดทั้งโชว์ผู้ชมได้ทบทวนประสบการณ์การรับรู้เกี่ยวกับเพศทางเลือก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กะเทยในบริบทสังคมไทย ผ่านสารคดีสั้นๆ ไร้เสียง แต่แค่เพียงภาพก็ตะโกนเรื่องราวออกมาได้ดังสนั่นไปทั่วบริเวณแล้ว ชวนให้เราตั้งคำถามเกี่ยวกับขนบประเพณี เพศสภาพ ความเป็นชาย ความเป็นหญิง ความเป็น LGBTQ การเต้นหน้าฮ่าน การรำมวยไทย ไปจนถึงโสเภณีเด็กชาย
ความน่าสนใจก็คือตลอดโชว์นี้ ศิลปินเป็นผู้จัดการทุกอย่างเองตั้งแต่เปิดคลิปวิดีโอ ปรับซาวด์เอฟเฟกต์ เปลี่ยนเสื้อผ้า ฯลฯ สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาของเราเป็นความพยายามที่จะถ่ายทอดสิ่งที่เขารู้สึก ผ่านมุมมองของลูกครึ่งไทย-ฝรั่งเศสที่เกิดในจังหวัดพิจิตร แต่เติบโตมากับวัฒนธรรมสแกนดิเนเวียน วิชาความรู้สาขาศิลปะการเต้นร่วมสมัยจาก Oslo National Academy of the Arts ที่เขาได้ร่ำเรียนมาจึงผสมเข้ากับประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานกับนักออกแบบท่าเต้นที่มีชื่อเสียงของเอเชียหลายคน อย่างพิเชษฐ กลั่นชื่น และ Jereh Leung ความเชี่ยวชาญในการเต้นแบบโว้ก (Vogue) กลายเป็นงานศิลปะที่ตั้งคำถามถึงนิยามของการแสดงและประเด็นทางสังคมที่เรารับรู้ว่ามีอยู่แต่ไม่กล้าสบตากับมันอย่างจริงจังสักที

Intimate Memorabilia

ศิลปิน: Lemonot, Tentacles และพูนศักดิ์ ทังสมบัติ

สถานที่: เก๋งจีนทั่งง่วนฮะ

นิทรรศการแห่งความทรงจำของครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนตระกูลใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ถูกคัดสรร จัดวาง เล่าเรื่องใหม่ผ่านฝีมือของ Lemonot แพลตฟอร์มของการออกแบบและวิจัย ที่ก่อตั้งขึ้นโดย Sabrina Morreale และ Lorenzo Perri สถาปนิกจาก Architectural Association พวกเขานำกระบวนการทางสถาปัตยกรรม และลักษณะโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม มาเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆ จนออกมาเป็นผลลัพธ์ที่แปลกใหม่ ปัจจุบันทั้งคู่เป็นอาจารย์พิเศษอยู่ที่ International Program in Design and Architecture คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเปิดบ้านเก๋งจีนทั่งง่วนฮะให้บุคคลทั่วไปเข้าชม เปรียบเสมือนการเปิดอุโมงค์กาลเวลาให้คลายผู้คนที่ไม่เคยได้ผ่านบานประตูไม้ใหญ่เข้าไปความสงสัยว่าภายในมีอะไรอยู่บ้าง Lemonot และ Tentacles ได้ร่วมกันกับคุณลุงพูนศักดิ์ ทังสมบัติ เจ้าของบ้านนักสะสมที่เก็บของเก่าทรงคุณค่าไว้เต็มไปหมด นำมาสร้างการเชื่อมโยงปะติดปะต่อชิ้นส่วนความทรงจำผ่านข้าวของของคนที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้เข้าด้วยกัน

เราโชคดีที่วันนั้นเดินขึ้นไปชมนิทรรศการนี้ในช่วงใกล้ค่ำ พร้อมกับลูกหลานเจ้าของบ้านที่เดินขึ้นมาชี้ชวนกันดูข้าวของซึ่งเคยเป็นสิ่งคุ้นตาของพวกเขาถูกจัดวางในรูปแบบใหม่ ล้อมด้วยม่านพลาสติกล้อกับแสงสุดท้ายของวัน เกิดเป็นเหลือบรุ้งยามเมื่อยกกล้องขึ้นเก็บภาพ การจัดวางซึ่งผ่านการออกแบบมาอย่างดีขับเน้นให้ความทรงจำที่ตกค้างอยู่กับข้าวของเหล่านั้นทำงานกับทุกคน ต่อให้เพิ่งเคยพบเป็นครั้งแรกอย่างเรา หรือแม้แต่ผู้ที่คุ้นเคยกับสิ่งเหล่านั้นทุกวันก็ตาม

ช่าง-ทอง | The Goldsmith

ศิลปิน: ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

สถานที่: ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ อนงคาราม

เสน่ห์อย่างหนึ่งของความเป็นชุมชนก็คือ ความใกล้ชิดทั้งในแง่ความรู้สึกและกายภาพ ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ สถาปนิกและนักเขียนสารคดีคอลัมน์ ‘อาคิเต็ก-เจอ’ ซึ่งเกิดและเติบโตในชุมชนสวนสมเด็จย่าจึงตั้งคำถามถึงพื้นที่หน้าต่างบ้านตัวเอง ซึ่งตรงกันพอดีกับหน้าต่างห้องสมุดเก่าแก่อายุมากกว่า 53 ปี ในวัดอนงคาราม จนกลายมาเป็นงานศิลปะจัดวางเล่าเรื่องราวของคุณพ่อผู้เป็นช่างทอง อันเป็นอาชีพเก่าแก่แต่เต็มไปด้วยปริศนาที่คนทั่วไปไม่เคยรู้

เขาใช้ทักษะทางสถาปัตยกรรมจัดสรรพื้นที่ในห้องสมุดมุมเล็กๆ จำลองเป็นพื้นที่ทำงานของช่างทองและใช้ทักษะด้านงานเขียนสารคดีถอดประสบการณ์ส่วนบุคคล มาแทรกเข้าไปในพื้นที่สาธารณะอย่างห้องสมุด แบ่งเรื่องจากการสัมภาษณ์ออกเป็น 9 ส่วน ซ่อนไว้ตามชั้นหนังสือที่แบ่งหมวดหมู่เป็นสาขาวิชาที่แตกต่างกันตามระบบดิวอี้ ให้ผู้เข้าร่วมได้ค่อยๆ ค้นหาทีละแผ่นด้วยตัวเองก่อนจะนำมาเย็บเข้าเล่มบนโต๊ะทำทองของจริง

ในลิ้นชักมีอุปกรณ์การทำทองของจริงมาจัดแสดงให้ดูอย่างใกล้ชิด พร้อมกับ ภาพถ่าย สมุดจดบัญชีรายชื่อช่างทำทองมาเสริมส่งเรื่องเล่าให้สมบูรณ์ เป็นการสร้างประสบการณ์เล่าเรื่องแบบใหม่ที่ผนึกการอ่านเข้ากับพื้นที่จำเพาะเจาะจง นั่นหมายความว่า ต่อให้ได้หนังสือทำมือจากนิทรรศการนี้ไปอ่านที่ไหนก็ไม่ได้บรรยากาศเท่ามาที่นี่ด้วยตัวเอง

Engeki Quest: No Name Cats in Thonburi

ศิลปิน: Chikara Fujiwara (BricolaQ)

โลกคือโรงละครโรงใหญ่ที่เราต่างเป็นผู้เล่น เป็นเหมือนธีมหลักของวรรณกรรมสุดน่ารักเล่มนี้ ที่ชวนให้เราเดินเท้าออกสำรวจฝั่งธนฯ ไปพร้อมกับภารกิจตั้งชื่อแมวก่อนดวงอาทิตย์จะลับขอบฟ้า

Chiraka Fujiwara ศิลปินชาวญี่ปุ่น ร่วมกับภรรยา Minori Sumiyoshiyama เคยมีประสบการณ์เปลี่ยนเมืองทั้งเมืองให้กลายเป็นโรงละครผ่านวรรณกรรม Interactive อย่าง ENGEKI QUEST ไว้แล้วหลายเมือง หลายประเทศ ตั้งแต่โตเกียว โยโกฮามา คิโนซากิ ประเทศญี่ปุ่น กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ดูเซนดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี อันซาน ประเทศเกาหลีใต้ และฮ่องกง

พวกเขาใช้เวลาออกสำรวจมุมลึกลับของย่านฝั่งธนบุรีเป็นเวลากว่า 2 เดือนจนเรียกได้ว่าพาไปปล่อยไว้ตรงไหนของฝั่งธนฯ ก็ไม่มีหลง โดยในหนังสือเล่มนี้จะเมินบรรดาแลนด์มาร์กสำคัญที่อยู่ในหนังสือท่องเที่ยวเล่มอื่นๆ แต่นำสิ่งละอันพันละน้อยอย่างป้ายประกาศให้เช่าบ้านในชุมชน คุณลุงผู้ดูแลวัด เซียมซีอัตโนมัติมาใส่ไว้ในหนังสือเต็มไปหมด กลายเป็นเส้นทางไม่รู้จบที่เปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้เลือกทางเดินของตัวเอง ทุกการตัดสินใจจะพาเราไปเจอกับสถานที่และผู้คนที่แตกต่างกัน ที่เชื่อมั่นได้เลยว่าทุกเส้นทางจะเป็นประสบการณ์ประทับใจที่ทำให้เรามองชุมชนเดิมๆ ไม่เหมือนเดิมอย่างแน่นอน

ฆาริสโก้, ดินแดนแห่งหนึ่ง

ศิลปิน: Inés Somellera

สถานที่: โรงเรียนบำรุงวิชา

ฆาลิสโก้ (Jalisco) เป็นชื่อของเมืองเล็กๆ ในประเทศเม็กซิโก ซึ่ง Inés Somellera ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาจากการผสมผสานกันของศาสตร์ต่างๆ ตั้งแต่ทัศนศิลป์ การเต้น ละครเวที การจัดแสง และบทกวีภาษาเม็กซิกัน ว่าด้วยเรื่องราวและผู้คนที่ดูไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่เกิดขึ้นในพื้นที่เดียวกันคือหมู่บ้านร้างอันห่างไกลแห่งหนึ่ง ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นเมื่อชายคนหนึ่งเดินทางมาเพื่อตามหาพ่อของเขาตามคำบอกเล่าของแม่ที่จากไป

ช่วงเวลาตลอด 1 ชั่วโมงเต็ม ในลานคอนกรีตกลางโรงเรียนบำรุงวิชา ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนย่านคลองสาน ผู้ชมจากหลากหลายที่มา ทั้งชาวชุมชนและชาวต่างชาติ บ้างนั่งเสื่อ บ้างนั่งบนเก้าอี้พลาสติก ทุกคนถูกตรึงไว้กับที่ด้วยพลังการแสดงของนักแสดง 4 คน การจัดแสงไฟที่ขับเน้นอารมณ์ ฉากกำแพงที่เบื้องหลังเป็นเพิงหลังคาสังกะสีที่เปิดพะเยิบพะยาบตามแรงลม และฝุ่นดินที่คลุ้งในอากาศตามการขยับเคลื่อนไหวของนักแสดง ทุกอย่างดูเข้ากันได้อย่างประหลาด สร้างบรรยากาศความแห้งแล้ง ไร้ชีวิตชีวาของดินแดนความฝันอันไร้กาลเวลาแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

Every Pain is Temporary

เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจคต์ 9SQMs: Memory ReVival

ศิลปิน: ปัญยวีร์ พงษ์สินไทย

สถานที่: โรงเกลือแหลมทอง

ภาพเขียนที่เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งตลอด 5 ชั่วโมงในโรงเกลือแหลมทอง ถูกแต่งแต้มด้วยสีอะคริลิกที่ละลายไหลลงมาพร้อมหยดน้ำจากแข็งก้อนใหญ่ ก่อนจะเปลี่ยนแปลงสีสันบนผืนผ้าใบด้านล่างไปเรื่อยๆ ร่องรอยกัดเซาะเป็นทางยาวจากเกลือเม็ดที่ทำปฏิริิยากับก้อนน้ำแข็งยิ่งกระตุ้นให้เกิดร่องรอยของสีที่คาดเดาไม่ได้ แม้จะสวยงามจนผู้ชมรู้สึกพอใจอยากหยุดไว้เท่านั้น หรือสีคล้ำเข้มปะปนกันจนตุ่นเละน่าเกลียดอยากเบือนหน้าหนี ผู้ชมก็ทำได้เพียงเฝ้ารอ เพราะเวลาผ่านไปเพียงชั่วอึดใจมันก็จะแปรเปลี่ยนไปเป็นอื่น ป่าน-ปัณยวีร์ พงศ์สินไทย ศิลปินเจ้าของตั้งใจให้ภาพของเธอเป็นเช่นนั้นเอง

เธอเล่าว่าตนเองได้สัมผัสความเจ็บปวดซ้ำแล้วซำ้เล่าจนพบคำตอบว่า ต่อให้ทุกข์ทนทรมานแค่ไหนสักวันความเจ็บปวดนั้นก็จะค่อยๆ จางหายไป ไม่ว่ารวดร้าวของแต่ละคนจะเป็นสีอะไร ยิ่งใหญ่หรือเล็กน้อย มันก็ล้วนแต่เป็นเรื่องชั่วคราว สิ่งที่เราทำได้ขณะเผชิญหน้ากับมันก็คือการเรียนรู้ ซึมซับความสวยงามของมันที่ไม่เคยซ้ำกัน นี่เป็นผลงานหนึ่งในโปรเจ็คต์ของ 9SQMs : Memory ReVival by The Collective Creations ที่ชวนศิลปินหลากหลายสาขามาจัดแสดงพร้อมๆ กันในพื้นที่ขนาด 3X3 ตารางเมตรในโรงเกลือแหลมทอง

Tags: , , , ,