ผมได้ยินคำว่า ‘โลกร้อน’ มานานหลายปี และการใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ มานานปีก็ทำให้ตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องนี้จะถาโถมเข้าใส่แทบไม่เว้นวัน แต่เอาเข้าจริง ผมก็ไม่เห็นว่าผู้คนรายรอบจะดำเนินชีวิตโดยตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ

การพักอาศัยอยู่ในบริเวณที่เป็นสำนักงาน ทำให้ผมมีโอกาสได้เห็นกองขยะอยู่ทุกวัน แล้ววันหนึ่ง ผมก็มุ่งมั่นตั้งใจจะเก็บขยะรีไซเคิลขายเป็นอาชีพเสริม ด้วยเห็นว่าในกองขยะที่ผมเดินผ่าน มีวัสดุสิ่งของจำนวนหนึ่งที่นำไปขายได้

ผมมุ่งมั่นตั้งใจคัดแยกสิ่งที่ขายได้ออกจากสิ่งที่ขายไม่ได้อยู่นานเป็นปี ได้เห็นสิ่งต่างๆ มากมายหลายรูปแบบถูกทิ้งรวมกันทั้งในถุงและนอกถุง ทั้งเศษผักเศษอาหาร กระดาษอ่อน-แข็งมากมายหลายชนิด ขยะมีพิษ-ขยะอันตราย วัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้า และที่มากที่สุดคือพลาสติก

ในระหว่างที่คัดแยกขยะ คำว่า ‘โลกร้อน’ ก็แวะเวียนเข้ามาในความคิดของผมอยู่เสมอ ใจหนึ่งก็นึกคิดไปว่าทำไมเจ้าของโครงการจึงไม่คิดถึงการจัดการขยะอันมากมายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเอง ส่วนอีกใจหนึ่งก็นึกตำหนิคนทิ้งขยะที่ผลิตขยะมากมายในแต่ละวัน

ต่อมา จากสิ่งที่ ‘ขาย’ ได้ ผมก็ขยับขยายสู่การคัดแยกสิ่งที่ ‘ย่อยสลาย’ ได้ หลังจากได้รู้ว่ามันคือต้นตอของก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีความรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 20 เท่า

ทำไปก็ภูมิใจอยู่เงียบๆ คนเดียว คิดว่าอย่างน้อยก็ได้ทำอะไรเพื่อโลกบ้าง แต่เมื่อจังหวะเวลาของชีวิตเปลี่ยนแปลง การนั่งคัดแยกขยะวันละ 1-2 ชั่วโมงก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ทุกวันนี้ ผมยังคงเดินผ่านขยะกองโตอยู่ทุกวัน และกลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้ผลิตขยะให้กับโลก ไม่ต่างจากพนักงานกินเงินเดือนหลายร้อยชีวิตในพื้นที่แห่งนั้นที่ตัวเองเคยนึกตำหนิ

 

แม้ข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องนี้จะถาโถมเข้าใส่แทบไม่เว้นวัน แต่เอาเข้าจริง ผมก็ไม่เห็นว่าผู้คนรายรอบจะดำเนินชีวิตโดยตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ

ผู้นำไทยรู้จักคำว่า ‘โลกร้อน’ มาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน โดยร่วมลงนามและให้สัตยาบันในกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ ‘ทุกฉบับ’ ทั้งกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol: KP) และล่าสุดคือความตกลงปารีส (Paris Agreement)

ปัจจุบัน ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 350 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี คิดเป็นร้อยละ 0.8 ของทั้งหมด อยู่ในลำดับที่ 21 ของโลก ภาคส่วนของไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงคือ ‘ภาคพลังงาน’ ซึ่งรวมถึงการผลิตพลังงานไปใช้ในภาคอื่นๆ เช่น การขนส่ง อุตสาหกรรม และครัวเรือน โดยปล่อยรวมกันถึงร้อยละ 73

รายงานของสหประชาชาติระบุว่าสภาวะโลกร้อนจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อไทย โดยทำให้ตัวเลขการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลดลงถึงร้อยละ 6 ภายในปี 2573

หลังจากความตกลงปารีสมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 ประเทศต่างๆ จึงเร่งดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามความตกลง สำหรับประเทศไทย นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP21) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อตอนปลายปี 2558 ว่า “ประเทศไทยจะพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 ถึง 25 ภายในปี 2030 โดยลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล ใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น Eco Car รถไฟฟ้า การจัดการขยะ การปลูกป่าอาเซียน โรดแม็ปการลดหมอกควันให้เหลือร้อยละ 0 และสิ่งสำคัญคือการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยึดหลักความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน บนพื้นฐานความรู้คู่คุณธรรม”

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ ‘โครงการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำผ่านระบบการจัดการเมืองอย่างยั่งยืน’ ตามคำเชิญขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ซึ่งเป็นหน่วยงานดำเนินโครงการ และมีสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) เป็นหน่วยงานสหประชาชาติที่รับผิดชอบโครงการ

รายละเอียดแบบคร่าวๆ ของโครงการนี้คือการแปลงนโยบายในระดับรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติในระดับท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการจัดการเมืองคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนในสี่เมืองนำร่อง ได้แก่ เทศบาลนครเกาะสมุย เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลนครเชียงใหม่ และเทศบาลนครนครราชสีมา

หน้าที่ของโครงการนี้คือการเสริมสร้างขีดความสามารถและการพัฒนาโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเมือง โดยเน้นที่ ‘การจัดการของเสียและการขนส่งยั่งยืน’ ซึ่งคาดหวังว่าเมืองนำร่องทั้งสี่แห่งจะนำบทเรียน ประสบการณ์ และผลสำเร็จจากการพัฒนาภายใต้โครงการนี้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ทั้งในประเทศและในภูมิภาค

ระยะเวลาดำเนินโครงการคือตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 โดยได้รับเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) จำนวน 108 ล้านบาท

นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ผู้บริหารจากเทศบาลนครทั้งสี่แห่ง และนางเดียร์ดรา บอยด์ ผู้แทนจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ

ภายในงานมีตัวแทนจากเทศบาลทั้งสี่แห่งมาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย ซึ่งผมคิดว่าสิ่งที่ตัวแทนจากเทศบาลสองในสี่แห่งกล่าวบนเวทีนั้นสะท้อนอะไรบางอย่างที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

นายสหพล กาญจนเวนิช รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวว่านครราชสีมาคือศูนย์กลางของการขนส่ง และแนวโน้มในอนาคตก็มุ่งเน้นไปในทิศทางของการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นศูนย์กลางที่ขยายตัวไปเรื่อยๆ ซึ่งสำหรับผม สิ่งที่น่าแปลกใจคือในสายตาผู้นำท้องถิ่นอย่างรองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ทิศทางที่ดูเหมือนจะมุ่งไปสู่ ‘ความเจริญ’ เช่นนี้ เป็นสิ่งที่เขาวิตกกังวล

“การมุ่งเน้นให้บ้านเราเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง รถไฟฟ้าจะต่อไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ ต่อไปยังทางตอนใต้ของจีน เราจะเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งสินค้าเพื่อจะตัดตอน ไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯ แล้วผ่านลงไปที่แหลมฉบัง นั่นหมายความว่าต่อไปโคราชจะมีคอนเทนเนอร์วิ่งเต็มเมืองเลยครับ เพราะมีรถไฟทางคู่เข้ามาจอดอยู่กลางเมือง เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรากังวลและอยากได้รับ คือความเชี่ยวชาญของผู้มีความรู้ เพื่อมาวางระบบโครงสร้างพื้นฐานให้เรา 10-20 ปีต่อจากนี้ เราจะมีรถไฟใต้ดินไหม ถ้ามี จะมีเส้นทางอย่างไร เราจะมีการขนส่งทางน้ำไหม เรามีแม่น้ำลำตะคองที่ใช้ขนส่งได้ เราจะมีทางด่วนไหม โคราชยังไม่ทราบเลยว่าจะมีไหม ซึ่งเรื่องนี้ผมหวังว่าจะมีผู้มีความรู้และมีประสบการณ์มาแก้ปัญหาให้เราในระยะยาว”

เช่นเดียวกับนายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย ซึ่งกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าเกาะสมุยกำลังเติบโตอย่างไร้ทิศทางและการควบคุมดูแล

“สมุยโตเร็วมาก จนบางครั้งผมเสียดายว่ามันโตจนเราเอาไม่อยู่ บางทีเราไม่ต้องการเห็นโครงสร้างที่มันเกิดขึ้นเร็วเกินไป ผมนั่งเซ็นใบอนุญาตโรงแรม บางครั้งผมไม่อยากเซ็นอีกต่อไปแล้ว แต่ผมไม่สามารถที่จะไปปฏิเสธได้ เพราะเป็นการรอนสิทธิ์ของผู้ที่มีสิทธิ์ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าขืนปล่อยไว้ เราจะกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ค่อนข้างจะไม่มีคุณภาพในอนาคต จากการที่เราเติมมันเยอะเกินไป”

“สมุยโตเร็วมาก จนบางครั้งผมเสียดายว่ามันโตจนเราเอาไม่อยู่”

สิ่งที่ตัวแทนจากเทศบาลนครทั้งสองแห่งกล่าวบนเวทีคือสิ่งที่ผมไม่เคยรับรู้มาก่อน ที่ผ่านมา ผมคิดว่าผู้บริหารของท้องถิ่นน่าจะยินดีกับความเจริญก้าวหน้าและเม็ดเงินที่หลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่ โดยปล่อยให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาแก้ปัญหาของตัวเองไปตามยถากรรม

แต่สิ่งที่ตัวแทนจากนครราชสีมาและเกาะสมุยกล่าว มันก็สะท้อนว่าจริงๆ แล้วพวกเขาก็มียถากรรมของตัวเองเช่นกัน

นครราชสีมาไม่อาจปฏิเสธนโยบายที่ผลักดันให้ที่นี่เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งได้ ขณะที่สมุยก็ยอมรับตามตรงว่าพวกเขาฉุดรั้งการเติบโตอันเนื่องมาจากการท่องเที่ยวไว้ไม่อยู่

ขณะนั่งอยู่ในห้องประชุม ผมนึกถึงขยะที่มองเห็นอยู่ทุกวี่วัน นึกถึงเศษอาหารจากร้านอาหารน้อยใหญ่จำนวนมากมายมหาศาล และนึกถึงรถยนต์ที่วิ่งกันขวักไขว่ ถึงแม้จะเป็นภาพที่มองเห็นในกรุงเทพฯ แต่ผมคิดว่ามันก็คงไม่แตกต่างกันนักกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่สี่เมืองที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำฯ

เพียงแค่มองไปรอบตัว ผมก็เห็นอุปสรรคมากมายของโครงการนี้ และความหวังของโครงการนี้ก็อาจจะดูริบหรี่มากขึ้นเมื่อหันไปมองนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศ

ปลายปี 2558 นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวถ้อยแถลงในฐานะตัวแทนของรัฐบาลไทยต่อที่ประชุม COP21 ว่าประเทศไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573 จะนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ พร้อมกับลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เกือบ 2 ปีต่อมา ผมจึงได้เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ ‘โครงการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำผ่านระบบการจัดการเมืองอย่างยั่งยืน’ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากถ้อยแถลงในวันนั้น

และสำหรับผม มันคือสิ่งที่จับต้องได้เพียงอย่างเดียวหลังจากวันนั้นเช่นกัน

Tags: , , , , , , , , , , , , ,