หากว่า reputation (2017) คือการประกาศตัวเป็นอสรพิษของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ พร้อมน้ำเสียงเชือดเฉือนและท้าชนกับเหล่าดราม่ามากมายในชีวิต ในอีกสองปีให้หลัง สวิฟต์ก็ได้ลอกคราบจากการเป็นนางงูมาสู่ผีเสื้อและโลกสีรุ้งใน Lover อัลบั้มลำดับที่เจ็ดที่เพิ่งปล่อยขายเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา และถล่มทุกชาร์ตเพลงไม่ว่าจะในฝั่งอเมริกา สหราชอาณาจักร และเอเชีย จนนักวิจารณ์หลายสำนักพร้อมใจกันยกคะแนนโหวตสูงลิ่วพร้อมลงความเห็นว่า เทย์เลอร์ สวิฟต์คนเก่า —ที่เธอบอกว่าตายไปแล้วในอัลบั้มก่อนนั้น—ดูจะหวนกลับมาในอุตสาหกรรมเพลงแล้วจนได้

“อัลบั้มนี้ว่าด้วยมุมมองความรักอันหลากหลาย แม้ความรักนั้นบางครั้งจะทำเราเจ็บปวดก็ตาม และอัลบั้มนี้เล่าถึงทุกความรู้สึกที่ความรักกระทำกับเรา” เธอว่า “อย่างตอนทำอัลบั้ม reputation ฉันคิดชื่ออัลบั้มได้ก่อนจะเขียนเพลงเสียอีก แต่กับอัลบั้มนี้ ฉันทำเพลงไปแล้วสักครึ่งหนึ่งได้มั้ง จนกระทั่งตอนเขียนเพลง Lover ฉันเขียนเพลงนี้เพียงลำพังตอนกลางดึกกับเปียโนของฉัน และตอนนั้นแหละที่ฉันรู้ได้ทันทีว่า มันต้องเป็นชื่ออัลบั้มนี้แน่ๆ 

“อันที่จริงฉันเกือบตั้งชื่ออัลบั้มนี้ว่า Daylight ซึ่งเป็นหนึ่งในชื่อเพลงในอัลบั้มเหมือนกัน แต่รู้สึกว่ามันดูเจาะจงไปหน่อยเพราะอัลบั้ม reputation มันเป็นธีมมืดมน ทั้งอัลบั้มมีแต่ฉากกลางคืน แล้วการตั้งชื่ออัลบั้มใหม่ว่า Daylight ก็ดูจงใจเกินไปหน่อย”

ME! คือซิงเกิลเปิดอัลบั้มที่เธอจับคู่กับ แบรนดอน ยูรี ฟรอนต์แมนวงอีโม-เรโทรอย่าง Panic! at the Disco กับเนื้อหาสนุกสนานสุดขีดจนแทบจะเหมือนขี่รุ้งไปฟังเพลงไป และยังดีดกันติดๆ ด้วยซิงเกิลที่ถือเป็นการประกาศจุดยืนสนับสนุนสิทธิความหลากหลายทางเพศของเธออย่างเต็มตัวกับ You Need to Calm Down ที่เพิ่งจะคว้ารางวัลมิวสิกวิดีโอยอดเยี่ยมแห่งปีของ MTV มาหมาดๆ กับเนื้อเพลงที่เรียกร้องให้ยุติความเกลียดชังและเปิดกว้างกับ LGBTQ ซึ่งในเวลาต่อมา 

การเคลื่อนไหวนี้ของเธอถูกจับตามองอย่างมากเพราะเป็นที่รู้กันว่า แฟนเพลงส่วนใหญ่ของเธอเป็นคนขาวและค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟ การประกาศตัวชัดเจนในเรื่องนี้จึงมีแนวโน้มอย่างมากที่อาจทำให้สวิฟต์เสียกลุ่มแฟนเพลงเก่าๆ ไป แต่หากวัดจากยอดสตรีมมิ่งแล้ว ดูเหมือนว่าต่อให้เธอเสียกลุ่มแฟนเพลงเก่าๆ ไปจริงๆ เธอก็ยังคว้าหัวใจอีกหลายคนและสร้างกลุ่มคนฟังใหม่ๆ ได้ จนท่อน “Cause shade never made anybody less gay” กลายเป็นท่อนหลักที่คนฟังร้องตะโกนไปกับเธอทุกครั้งที่เธอขึ้นแสดง ถึงขั้นที่เมื่อเธอขึ้นโชว์ที่รายการ Good Morning America —ซึ่งเป็นรายการใหญ่และมีฐานคนดูหลากเพศหลากวัย— ได้รับการวิเคราะห์ว่าน่าสนใจออกจะตายไป! รายการทีวียักษ์ใหญ่ของอเมริกาก็มีการแสดงสดเพลงที่สนับสนุนเพศทางเลือกอย่างชัดเจนเช่นนี้ แถมยังมีกลุ่มคนดูนับร้อยที่ร่วมส่งเสียงร้องไปกับเพลงด้วย

กับอัลบั้ม Lover สวิฟต์ยังคงใช้ดนตรีซินธ์-ป๊อปและอิเล็กทรอนิกส์ป๊อปเป็นแกนหลักในการทำเพลงทั้ง 18 แทร็กกับความยาว 61 นาทีกว่า โดยได้ แจ็ค อันโตนอฟฟ์ ที่กอดคอโปรดิวซ์เพลงด้วยกันมาตั้งแต่อัลบั้ม 1989 (2014) เรื่อยมาจนปัจจุบัน ทำให้คนฟังจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าเพลงของสวิฟต์ไม่มีอะไรแปลกใหม่จากอัลบั้มก่อนๆ ทั้งทำนองและเสียงสังเคราะห์ที่เป็นเสมือนองค์ประกอบสำคัญในเพลงของเธอเสมอ โดยเฉพาะเมื่อเราวัดจาก I Forgot That You Existed เพลงชวนแสบคันที่เธอเล่าว่า การไม่เห็นตัวตนคนที่มาทำร้ายเธอนั้นมันนำความสงบมาให้เธอมากแค่ไหน (อูย…) จนดูราวกับว่า ร่างนางอสรพิษจาก reputation ยังแฝงเร้นตัวอยู่ในอัลบั้มนี้ที่สวิฟต์ออกปากว่าเป็น ‘จดหมายรักที่มีต่อความรัก’ และอาจไม่มีอะไรแปลกใหม่ไปจากที่เคยเลย แม้ว่าในแทร็กที่สองอย่าง Cruel Summer จะว่าด้วยความรักและความเปราะบางของการพยายามประคับประคองชีวิตคู่ให้อยู่รอด และเป็นแทร็กที่เธอเปิดเปลือยความอ่อนไหวของตัวเองผ่านท่อน “I love you, ain’t that the worst thing you ever heard?” (แถมหลายคนยังตั้งข้อสังเกตว่า โน้ตเริ่มต้นของเพลงนี้คือโน้ตตัวสุดท้ายของแทร็ก Getaway Car —ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์อันสั่นคลอนและไม่ควรเกิดขึ้น— จากอัลบั้มก่อนเลยนี่นา)

แล้วจากนั้น เราจึงพบว่า Lover ดูจะเป็น ‘จดหมายรักที่มีต่อความรัก’ ของสวิฟต์จริงๆ เพราะแทร็ก Lover อันเป็นชื่อเดียวกับอัลบั้ม เล่าถึงมุมมองที่เธอมีต่อความรักในวัยผู้ใหญ่ (สวิฟต์กำลังมีอายุจะครบ 30 ปีในเดือนธันวาคมนี้) และโดดเด่นด้วยการใช้เครื่องดนตรีอย่างเปียโนและเครื่องสาย กับเบสแน่นทุ้มที่นิยมใช้ในงานแต่งงานมาเป็นเสียงดนตรีหลักของเพลง แบบเดียวกับที่เราพบในเพลงอย่าง Daylight ที่เปรียบคนรักเป็นเหมือนแสงสว่างหลังจากที่เธอใช้ชีวิตท่ามกลางความมืดมาเนิ่นนาน, Paper Rings ทำนองเพลงที่ชวนเราหวนกลับไปยังเพลงป๊อปยุค 2000s กับท่อน “I like shiny things, but I’d marry you with paper rings” และแทร็ก London Boy ที่เล่าว่าเธอรักเจ้าหนุ่มชาวลอนดอนรายนี้มากแค่ไหน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นที่รู้กันดีว่า เธอคบหากับ โจ อัลวิน (The Favourite, Mary Queen of Scots) นักแสดงหนุ่มชาวอังกฤษมาร่วมสามปีแล้ว และเขาคือตัวละครหลักในเพลงรักหลายๆ เพลงของเธอทั้งในอัลบั้มก่อนหน้าและอัลบั้มนี้

สวิฟต์ไม่เพียงแต่เล่าถึงชีวิตในแง่มุมของความรักเท่านั้น เพราะอีกประเด็นหนึ่งที่กลายมาเป็นตัวละครหลักในหลายๆ เพลงของเธอคือชีวิตท่ามกลางแสงสีและชื่อเสียง ที่ทำให้เธอแทบจะใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปไม่ได้ มีหลายเพลงและหลายท่อนทีเดียวที่ชี้ให้เห็นว่าเธอมีอาการวิตกกังวลเมื่อเจอกับผู้คนมากๆ และไม่รู้ว่าต้องรับมือกับความสัมพันธ์อย่างไร ทั้งจาก I’m so sick of running as fast as I can ที่ว่าด้วยการต้องอยู่ท่ามกลางชื่อเสียงและความฉาบฉวยของอุตสาหกรรมดนตรีอเมริกาหรือท่อน I’m so terrified of if you ever walk away ความเปราะบางและไม่มั่นใจในความสัมพันธ์ ตลอดจนเรื่องราวที่อยู่นอกเหนือไปจากความรักและการงานอย่าง Soon You’ll Get Better ที่เธอร่วมร้องเพลงกับวง Dixie Chicks เล่าถึงความรู้สึกแสนสั่นคลอนที่สวิฟต์ต้องรับมือเมื่อแม่ของเธอเป็นมะเร็ง (แอนเดรีย สวิฟต์ ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยมาตั้งแต่ราวปี 2014) 

มากไปกว่านั้น เธอยังสะท้อนทัศนะทางการเมืองของเธอผ่านเพลง Miss Americana & The Heartbreak Prince ที่ดูราวกับจะพาคนดูหวนกลับไปเจอกับสวิฟต์ในวัย 16 ปีที่ห้อมล้อมด้วยบรรยากาศแบบ ‘อเมริกัน’ เต็มตัวอย่างงานพรอม, โถงทางเดินในโรงเรียน และเสียงเชียร์ลีดเดอร์อันกราดเกรี้ยว บอกเล่าถึงเด็กสาวที่ถูกหล่อหลอมไปด้วยความฝันอันจับต้องไม่ได้และเรื่องเล่าเพ้อพกของสังคม เพื่อจะพบว่าที่แท้จริงแล้ว ความเป็น ‘American glory’ ไม่เคยใยดีและไม่เคยเหลียวแลคนรุ่นใหม่แบบเธอด้วยซ้ำไปจนเธอรู้สึก I’m feeling helpless, the damsels are depressed ตัวสวิฟต์เองให้สัมภาษณ์ว่าสำหรับเธอแล้ว เพลงนี้นั้น “ว่าด้วยความหดหู่สิ้นหวังที่เรามีให้กับการเมืองและความไม่เท่าเทียมต่างๆ ค่ะ ฉันแค่เล่ามันโดยมีฉากหลังเป็นโรงเรียนมัธยมเท่านั้น”

Lover อาจไม่ใช่อัลบั้มที่เต็มไปด้วยความสดใหม่หรือน่าตื่นตาตื่นใจนัก ถึงที่สุดมันยังเต็มไปด้วยเสียงดนตรีแบบซินธ์-ป๊อปและกีตาร์อะคูสติกจากสวิฟต์ที่เราคุ้นเคย แต่ถึงอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันยังคงเป็นอัลบั้มเพลงป๊อปที่โดดเด่นและน่าจับตาอย่างยิ่ง และยังคงเป็นบทพิสูจน์ศักยภาพของเธอในฐานะคนทำเพลงและการเขียนเนื้อร้องที่ละเมียดราวกับบทกวี 

ด้วยทั้งหมดนี้ คงไม่เกินเลยนักหากเราจะกล่าวว่า ท่ามกลางการแข่งขันของคนดนตรีในอุตสาหกรรมเพลงป๊อป ชื่อของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ดูจะยังตระหง่านอยู่บนบัลลังก์ต่อไปอีกนานเท่านาน

Tags: