เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา เทย์เลอร์ สวิฟต์ ป๊อปสตาร์สาวจากเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา ปล่อยสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 7 ชื่อ Lover ที่ออกกับต้นสังกัดใหม่ Republic Records ค่ายเพลงลูกของ Universal Music Group (UMG) ออกมาให้แฟนเพลงทั่วโลกได้ชื่นชมรับฟังกัน แต่ดูเหมือนสิ่งที่แฟนคลับ เทย์เลอร์ ให้ความสนใจมากกว่าคือบทสัมภาษณ์กับทาง CBS ว่าเธอวางแผนจะนำผลงานเพลงอัลบั้มเก่าๆ มาบันทึกเสียงใหม่ เพื่อทวงคืนลิขสิทธิ์เพลงที่ควรเป็นของเธอกลับมา
ใครที่ติดตามดราม่าเรื่องลิขสิทธิ์เพลงของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ กับค่ายเพลงเก่า Big Machine Records ค่ายที่มอบโอกาสและผลักดันให้เธอเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลก เมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา น่าจะจดจำกันได้ดีว่านี่คือสิ่งที่ทำให้ เทย์เลอร์ เจ็บปวดไม่น้อยจนถึงกับต้องระบายความอึดอัดออกมาทางโซเชียลมีเดีย หลังรับทราบว่าเพลงจาก 6 อัลบั้มแรกที่เธอเขียนและแต่งออกมาจากหัวใจ ตกไปอยู่กับคนที่เธอไม่ชอบและคอยกลั่นแกล้งเธอมาตลอด แต่สำหรับใครที่ไม่ได้ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก เดี๋ยวขอเล่าย้อนกลับไปสักนิดเพื่อความเข้าใจตรงกัน
เทย์เลอร์ สวิฟต์ กับการเซ็นสัญญาธุรกิจในวันที่ไร้เดียงสา
ปี 2004 เทย์เลอร์ เริ่มต้นชีวิตศิลปินอาชีพด้วยการเซ็นสัญญาร่วมสังกัด Big Machine Records ค่ายเพลงดังในแวดวงเพลงคันทรี่ โดยมี สกอตต์ บอร์เชตตา ผู้บริหารค่ายเพลงเป็นคนร่างสัญญา โดยรายละเอียดเขียนว่า บอร์เชตตา และทีมงานจะช่วยกันผลักดัน เผยแพร่ งานเพลงของเธอให้ไปสู่ผู้ฟังในวงกว้างอย่างเต็มที่ แต่แลกกับการที่เธอต้องมอบเพลงที่เธอแต่งและร้องทั้งหมดให้เป็นลิขสิทธิ์ของค่ายเพลง ซึ่งแน่นอนว่าศิลปินตัวเล็กๆ อย่างเธอก็ต้องยอมรับสัญญานี้เพื่อ Debut สู่วงการดนตรีอย่างเต็มตัว
คงไม่ต้องเล่ากันต่อว่าหลัง เทย์เลอร์ สะบัดน้ำหมึกลงในกระดาษสัญญา ชีวิตก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเมื่อเธอยกสถานะตนเองเป็นศิลปินชั้นแนวหน้าของโลก จาก 6 อัลบั้มเพลงที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงอันมาจากความสามารถของเธอ ผสมกับการโปรโมทอย่างเต็มกำลังจากค่ายเพลง ไล่ตั้งแต่ Taylor Swift (2006), Fearless (2008), Speak Now (2010), Red (2012), 1989 (2014), Reputation (2017) มีเพลงฮิตติดชาร์ตเป็นภูเขาเลากา พ่วงด้วยทัวร์คอนเสิร์ตทั่วโลกที่ฟันเงินมหาศาล โดยเฉพาะทัวร์อัลบั้ม Reputation ทำเงินตลอดการทัวร์ไปได้ถึง 345 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10,565 ล้านบาท) ยิ้มแก้มปริทั้งตัวศิลปินและค่ายเพลง
จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในปี 2019 เมื่อ เทย์เลอร์ ในวัย 29 ปี ตัดสินใจย้ายออกจาก Big Machine Records หลังหมดสัญญา มาอยู่บ้านหลังใหม่ Republic Records ภายใต้การดูแลของ UMG กระนั้นเองลิขสิทธิ์เพลงทั้ง 6 อัลบั้มนั้นไม่ได้ย้ายตามเธอมาด้วยเพราะเธอมอบเพลงทั้งหมดให้กับ Big Machine ไปแล้วตั้งแต่วันแรกที่เธอเซ็นสัญญา ไม่ใช่ของเธอ ซึ่งดูเหมือนเธอจะพยายามลืมความเจ็บปวดนั้นและหันมามุ่งสมาธิอยู่ที่การปล่อยอัลบั้มใหม่ แต่กลายเป็นว่า Big Machine ขายลิขสิทธิ์เพลงของ เทย์เลอร์ ทั้งหมดในมูลค่ากว่า 300 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9,190 ล้านบาท) ให้แก่ สกูเตอร์ บรอน (Scooter Braun) ผู้จัดการของ จัสติน บีเบอร์ และคนสนิทของ คานเย่ เวสต์ สองศิลปินระดับโลก ซึ่งทั้ง 3 คนนี้เป็นคนที่เคยกลั่นแกล้งเธอออกสื่ออยู่บ่อยครั้ง
แน่นอนว่าการปล่อยให้เพลงทั้งหมดตกไปอยู่ในมือของคนที่เธอไม่ชอบและคนที่โจมตีเธอออกสื่ออยู่ตลอด ย่อมสร้างความเจ็บปวดทางใจอย่างยิ่ง เทย์เลอร์ จึงพยายามติดต่อเพื่อขอซื้อเพลงทั้ง 6 อัลบั้มกลับมาเป็นของตัวเอง แต่ถูกอีกฝ่ายบอกปัดมาตลอด พ่วงด้วยสัญญาที่ไม่เป็นธรรมนักหากเธอยินยอมเซ็นเพื่อทวงผลงานกลับมา สุดท้ายเมื่อทำอะไรไม่ได้แล้วเธอจึงระบายความในใจทั้งหมดผ่านทาง Tumblr จนกลายเป็นข่าวใหญ่โตและทำให้แฟนเพลงทั้งที่ติดตามอย่างใกล้ชิดหรือตามอยู่ห่างๆ เห็นอกเห็นใจเธอไม่น้อย
การเอาคืนของแม่อสรพิษ
ก่อนที่ เทย์เลอร์ สวิฟต์ จะปล่อยอัลบั้มชุดที่ 7 เธอให้สัมภาษณ์กับสื่ออย่าง CBS ว่ากำลังวางแผนนำเพลงจากอัลบั้มเก่าตั้งแต่ชุด Taylor Swift, Fearless, Speak Now, Red และ 1989 มาบันทึกเสียงใหม่เพื่อทำให้ตัวเองได้กลายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงที่เธอเขียนขึ้นทั้งหมดอีกครั้ง หลังได้รับคำแนะนำจากบุคคลในวงการเพลงที่เธอรู้จักมากมายรวมถึง เคลลี คลาร์กสัน นักร้องสาวคนดังที่ออกมาสนับสนุนให้เธอใช้วิธีนี้ ซึ่งแน่นอนว่าการเอาเพลงเก่ามาบันทึกเสียงใหม่นั้นอาจเป็นงานที่เหนื่อยหนักทีเดียวแต่เธอก็มองว่ามันเป็นเรื่องที่คุ้มค่ากับการที่เธอจะได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงที่เขียนเอาไว้ทั้งหมด และรับเงินจากผลงานอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเองแบบไม่ต้องแบ่งให้คนที่เธอไม่ชอบหน้า
มาถึงจุดนี้หลายท่านอาจมีข้อสงสัยว่า เทย์เลอร์ สามารถเอาเพลงเก่ามาบันทึกเสียงใหม่ (Re-Record) ได้ด้วยหรือ แล้วจะโดนค่าย Big Machine ฟ้องกลับหรือไม่ – ณ จุดนี้บอกอย่างชัดเจนว่า เทย์เลอร์ มีสิทธิเต็มที่เพราะอดีตที่ผ่านมาก็มีศิลปินหลายรายที่มีปัญหางัดข้อกับค่ายเพลงในเรื่องลิขสิทธิ์เพลง และการบันทึกเสียงใหม่ก็เป็นหนึ่งในทางออกที่ศิลปินส่วนใหญ่ใช้แก้เผ็ดค่ายที่เอาเปรียบพวกเขา
ชี้แจงให้คุณผู้อ่านรับทราบสักนิด สำหรับลิขสิทธิ์เพลงในวงการดนตรีเมืองนอกนั้นแบ่งเป็นสองส่วนคือ 1. ‘Publishing Rights’ อันหมายถึงสิทธิในการดัดแปลง หรือนำเพลงไปแสดงสดตามเวทีต่างๆ ซึ่งจุดนี้ เทย์เลอร์ มอบหมายให้ Sony/ATV เป็นผู้ดูแล สมมติว่าหากมีศิลปินคนไหนอยากเอาเพลง Blank Space ไปเล่น Cover ในคอนเสิร์ต ก็ต้องมาขอกับทาง Sony/ATV เพื่อสิทธิ์ในการนำไปใช้อย่างถูกต้องบนเวทีคอนเสิร์ต ไม่ต้องไปขอกับ Big Machine และ เทย์เลอร์ ก็ยังร้องเพลงของตัวเองในคอนเสิร์ตต่างๆ ได้ตามปกติ ไม่ต้องจ่ายลิขสิทธิ์ให้ Big Machine
ส่วนที่ 2. คือ ‘Master Rights’ อันหมายถึงการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานบันทึกเสียงที่เป็นตัวต้นฉบับ Master ที่เราได้ยินกันตามสื่อต่างๆ ในที่นี่คือ Big Machine ค่ายเพลงเดิมของ เทย์เลอร์ ถือสิทธิเพลงต้นฉบับทั้ง 6 ชุดของ เทย์เลอร์ ก่อนขายให้ สกูเตอร์ บรอน ซึ่งทาง บรอน สามารถเอาเพลงต้นฉบับนี้ไปทำอะไรก็ได้ถ้าหากมีลูกค้ามาขอเพลงไปใช้ประกอบภาพยนตร์, โฆษณา โดยที่ เทย์เลอร์ ไม่มีสิทธิ์หวงห้าม (แต่ก็ได้ส่วนแบ่งการซื้อ-ขายตามที่ตกลงกันในสัญญา) – ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ เทย์เลอร์ ไม่พอใจและอยากได้เพลงคืน แต่เมื่อซื้อกลับมาไม่ได้ เธอก็เลือกอัดใหม่แทน
บันทึกเสียงใหม่ แล้วได้อะไร?
การที่ เทย์เลอร์ สวิฟต์ เลือกที่จะเอาเพลงทั้งหมดมาบันทึกเสียงใหม่ (และอาจเปลี่ยนชื่อใหม่ด้วย อาทิ Blank Space V.2019, Bad Blood V.2020, Fearless V.2020) แน่นอนว่าเป็นงานที่หนักหนาพอตัวทั้งการลงแรงอัดร้องใหม่ทั้งหมดซึ่งน่าจะกินเวลานานพอสมควร รวมถึงการพยายามคิดไอเดียการบันทึกเสียงให้แตกต่างจากงานต้นฉบับ แต่หากทุกอย่างสำเร็จเสร็จสิ้น ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นคุ้มค่ายิ่งเพราะเธอจะได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงที่เธอแต่งอย่างเต็มตัว มิหนำยังนำออกมาขายใหม่รับทรัพย์เข้ากระเป๋าอีกรอบต่างหาก (ซึ่งก็เป็นภาระของแฟนคลับเดนตายที่ต้องไปซื้อหาเข้า Collection ให้ครบ ฮาๆ)
เมื่อลิขสิทธิ์เพลงกลับมาเป็นของตัวเอง คราวนี้ เทย์เลอร์ จะเป็นผู้ถือครองสิทธิ์อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ ใครจะเอาเพลงเธอไปใช้งานประกอบสื่อโน่นนี่นั่น, เอาไปเล่นคอนเสิร์ต ฯลฯ ทุกสิ่งจะอยู่ในสายตาเธอทั้งหมด โดยอาจมอบหมายให้บริษัทที่มีความชำนาญเรื่องการจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงเป็นผู้ดูแลจัดการ และเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับแฟนคลับ เมื่อรู้ว่าศิลปินที่พวกเขารักถูกเอาเปรียบ หาก เทย์เลอร์ อัดเพลงใหม่เป็นเวอร์ชั่นปี 2019, 2020, 2021 แฟนคลับก็ย่อมพร้อมใจที่จะอุดหนุนหรือฟังงานที่อัดใหม่เพื่อช่วยเหลือศิลปิน โดยที่ สกูเตอร์ บรอน เจ้าของลิขสิทธิ์เพลงต้นฉบับคงได้แต่มองตาปริบๆ
กรณีที่ศิลปินเอาเพลงมาบันทึกเสียงใหม่เพื่อเอาคืนค่ายเพลงหรือนายทุนที่เอาเปรียบพวกเขา มีเกิดขึ้นมานานแล้ว ยกตัวอย่างในวงการเพลงร็อกก็ต้อง Def Leppard โคตรวงเฮฟวี่ฮาร์ดร็อกระดับตำนานจากอังกฤษ ก่อนหน้านี้พวกเขามีปัญหากับ Universal Music เรื่องส่วนแบ่งจากยอดขายเพลงรูปแบบดิจิทัลที่ได้รับอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้เหล่าพญาเสือแก้เผ็ดด้วยการเอาเพลงเก่าๆ มาบันทึกเสียงใหม่หมดและปล่อยลงสู่ร้านค้าออนไลน์กับสตรีมมิ่ง โดยได้รับส่วนแบ่งจากร้านค้าและแอปพลิเคชั่นฟังเพลงต่างๆ เข้ากระเป๋าตัวเองแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ตามที่ตกลงกันสองฝ่าย
บทเรียนเรื่องลิขสิทธิ์ที่ศิลปินทั่วโลกต้องรู้
ในยุคสมัยที่วงการดนตรีโลกยังไม่มีการขายเพลงแบบดิจิทัล หรือฟังฟรีตามสตรีมมิ่งเหมือนในปัจจุบัน ยุคอดีตนั้น ศิลปินหลายรายมักฝากอนาคตตัวเองไว้กับค่ายเพลง หน้าที่หลักของศิลปินคือการแต่งเพลง บันทึกเสียง และเมื่อเสร็จสิ้นเป็นตัว master ที่สมบูรณ์แบบแล้วก็จะมอบหมายให้ค่ายเพลงที่พวกเขาตกลงปลงใจเซ็นสัญญาเข้ามาอยู่ด้วย เป็นผู้ดูแลเรื่องการจัดจำหน่าย กระจายผลงานในรูปแบบแผ่นซิงเกิลและ CD อัลบั้มเต็มไปสู่ร้านค้า หากค่ายเพลงที่คุณอยู่มี power ที่ดี มีอิทธิพลยิ่งใหญ่ระดับประเทศ ค่ายเพลงก็จะช่วยส่งเสริมผลักดันให้เพลงของคุณไปสู่หูผู้ฟังได้มากที่สุด โดยที่ศิลปินไม่ต้องเหนื่อยเอาแผ่นไปฝากขายตามร้านหรือคลื่นวิทยุให้เมื่อยตุ้ม
แน่นอนว่าการที่ค่ายเพลงจะลงทุนเหน็ดเหนื่อยเพื่อโปรโมทผลงานของศิลปิน ค่ายเพลงก็ต้องร่างสัญญาที่จะทำให้พวกเขาได้รับผลประโยชน์ตอบแทนกลับมาด้วย มากน้อยแตกต่างกันไป แม้ค่ายเพลงบางแห่งอาจร่างสัญญาที่ทำให้ศิลปินรู้สึกเสียเปรียบในหลายจุด (โดยเฉพาะเรื่องลิขสิทธิ์เพลงอย่างที่ เทย์เลอร์ สวิฟต์ เผชิญอยู่) แต่ ณ เวลานั้นทางเลือกในการยกสถานะตัวเองจากมือสมัครเล่นสู่มืออาชีพ มีชื่อเสียงเงินทองนั้นมีไม่มาก ศิลปินหลายรายก็ต้องยอมรับสัญญาเอาเปรียบเหล่านั้นเพื่อแลกกับการออกเดินทางไปสู่ฝันให้สำเร็จ
แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ศิลปินทั่วโลกสามารถผลิตงานเพลงและจัดจำหน่ายด้วยตัวเองกันหมดแล้ว แถมยังถือสิทธิครองผลงานไว้กับตัวได้อีกต่างหาก บทบาทของค่ายเพลงในปัจจุบันก็เริ่มลดน้อยถอยลงไป เว้นเสียแต่ว่าคุณอยากเป็นมืออาชีพแบบเต็มตัว มีคนดูแลเรื่องการจัดการต่างๆ ให้ แล้วตัวเองก็หันไปมุ่งสมาธิทำเพลงกับสร้างสรรค์โชว์ในคอนเสิร์ตอย่างเดียว ซึ่งเอาจริงแล้วการเข้าไปอยู่ค่ายเพลงก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายเลวร้ายอะไร เพียงแต่ต้องตกลงเรื่องผลประโยชน์กันดีๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องมาเจ็บช้ำน้ำใจกันในภายหลัง เมื่อถึงวันที่คุณกลายร่างจากวัยรุ่นธรรมดามาเป็นศิลปินทรงคุณค่าที่ใครๆ ก็ต้องการตัวในอนาคต
Tags: สหรัฐอเมริกา, เพลง, Taylor Swift, เทยเลอร์ สวิฟต์, ลิขสิทธิ์