ร้านขนมแห่งความลับ ผลงานของซากากิ สึคาสะ ที่หลายเสียงเห็นพ้องต้องกันว่าหลังจากอ่านแล้วใครไม่อยากกินวากาชิหรือหาขนมหวานมาใส่ปากจะต้องมีจิตใจที่มั่นคงมากๆ เพราะในขณะที่เราอ่านไปโดยไม่เห็นหน้าค่าตาของขนม แต่ก็ยังสัมผัสได้ถึงรถชาติบางอย่างตรงปลายลิ้น ไม่ว่าจะความหวานของถั่วกวน ความสดชื่นของส้มยูซุ รสชาติเปรี้ยวๆ ของบ๊วย หรือแม้แต่ความหวานหอมของน้ำผึ้ง และต่อให้การเอ่ยชื่อขนมจะดูเป็นอุปสรรคจากความไม่รู้จัก นักเขียนเองก็เอาอยู่หมัดด้วยการบรรยายที่ให้ทั้งรูป รส กลิ่น และความรู้สึกที่มีต่อขนมนั้นๆ
เนื่องจากคำโปรยปกของหนังสือกล่าวว่าเป็น ‘นิยายสืบสวนที่ไม่มีเลือดสักหยด’ จึงมีบ้างที่หลายคนคาดหวังว่าจะได้เจอกับปมปริศนาสุดเดือด แต่ถ้าจะให้นิยามแบบเจาะจงลงไปอีกนิด นิยายเรื่องนี้น่าจะจัดอยู่ใน Cozy Mystery ที่มีการสืบสวนแบบเบาๆ คล้ายกับ คาเฟ่ลูส เมนูที่รักจากการเดินทาง มากกว่า
ถ้าพร้อมแล้ว ก่อนจะไปสัมผัสกับความหิว ปริศนา และความอบอุ่น เรามาทำความรู้จักกับ ‘อันจัง’ และเพื่อนร่วมงานของร้านขนมแห่งนี้กันก่อนเลย
การตามหาตัวเองของเด็กสาววัยสิบแปดปี ก่อนเข้าสู่โลกของวากาชิเต็มตัว
อุเมโมโตะ เคียวโกะ หรือ ‘อันจัง’ เป็นเด็กสาววัยสิบแปดปี ไม่ได้มีพรสวรรค์โดดเด่น รูปร่างค่อนข้างเจ้าเนื้อ แต่ไม่ถึงกับต้องซื้อเสื้อผ้าร้านไซส์แอล เธอเรียนจบชั้นมัธยมปลายแล้วตัดสินใจไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัยเพราะไม่มีความสนใจด้านไหนเป็นพิเศษ บวกกับที่บ้านก็ไม่ได้คาดคั้นให้เธอต้องเข้าเรียน ดังนั้นอันจังจึงเลือกหางานเป็นพนักงานประจำดู แล้วหลังจากนั้นค่อยมาคิดทบทวนถึงสิ่งที่ตัวเองสนใจอีกที (ถ้าหากว่าเธอหาเจอ)
ด้วยความบังเอิญและความชอบกินทำให้เธอมาเจอกับร้านมิตสึยะ ร้านขนมวากาชิที่ตั้งอยู่ในชั้นใต้ดินของห้างสรรพสินค้าโตเกียว ชั้นใต้ดินเป็นชั้นที่มีร้านอาหารหลากหลายเรียงรายเต็มไปหมด ที่นี่ให้ความรู้สึกคล้ายกับละแวกบ้านของอันจัง เธอเลยปรับตัวเข้ากับบรรยากาศนี้ได้อย่างรวดเร็ว
ร้านมิตสึยะมีพนักงานอีกทั้งหมดสามคน แต่ละคนล้วนมีคาแรกเตอร์ชัดเจน จดจำได้ง่าย ได้แก่ สึบากิ ผู้จัดการร้าน, ซากุระอิ นักศึกษามหาวิทยาลัย และทาจิบานะ หนุ่มที่มุ่งมั่นจะเป็นช่างทำวากาชิ เมื่อพิจารณาตัวละครแต่ละตัว เราจะเห็นว่าทุกคนต่างมีเส้นทางที่เลือกแล้วของตัวเองทั้งสิ้น ต่างกับอันจังที่ตัดสินใจจะไม่เลือก จนเกือบจะเรียกได้ว่าการสมัครงานร้านนี้เป็นการจับพลัดจับผลูล้วนๆ
หากเทียบกับตัวผู้เขียนเองการเลือกที่จะไม่เรียนต่อนั้นทำได้ยาก เพราะไหนจะความต้องการของครอบครัว แรงกดดันทางสังคม และการเรียกร้องให้เราต้องประสบความสำเร็จ แทบไม่มีสิ่งไหนเอื้อต่อการตัดสินใจแบบนั้นเลย เราจึงสามารถมองการตัดสินใจของอันจังได้ด้วยหลายเหตุผล นอกเหนือไปจากสภาพแวดล้อมจากครอบครัวที่เอื้ออำนวย
หนึ่ง ใบปริญญาไม่จำเป็นเสมอไป เนื่องจากบางตำแหน่งงานของบริษัทญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องมีวุฒิปริญญาก็สามารถทำงานได้ สอง เป็นฟรีเตอร์ก็ไม่ได้แย่ เพราะหลายคนชอบรูปแบบการทำงานที่อิสระและบริหารเวลาได้ แล้วยังได้รับประสบการณ์และทักษะเพิ่มเติมสำหรับวางแผนต่อในอนาคต และสาม ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น การพาตัวเองไปพบเจอกับโลกภายนอกจะทำให้เราได้รู้ว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ถนัดสิ่งไหน หรือไม่อยากพบเจอสิ่งใด เพราะบางอย่างก็ไม่สามารถค้นพบได้ในรั้วมหาวิทยาลัย มีแต่ต้องออกไปเผชิญเท่านั้น
ดังนั้น อันจังจึงได้ก้าวขาข้างหนึ่งสู่โลกของวากาชิในฐานะพนักงานที่มีใจรักการกินไม่เป็นสองรองใคร
*หลังจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนังสือ
ความหมาย ปริศนา การเล่นคำ และเสน่ห์ของวากาชิ
เรื่องราวในหนังสือจะแบ่งออกเป็นบท แต่ละบทจะมีปริศนาให้ขบคิดและติดตามไปต่างๆ กัน ซึ่งทุกอย่างจะมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ ‘วากาชิ’ ร้านมิตสึยะมีวากาชิที่หลากหลาย บวกกับอยู่ในสถานที่ที่คนเข้าถึงง่าย เราจึงจะได้เห็นคนแวะเวียนมาซื้อวากาชิกันตลอดเวลา โดยเฉพาะในวันอันสำคัญๆ ซึ่งในการเลือกวากาชิก็ไม่ได้ศักดิ์แต่ว่าจะเลือกอะไรก็ได้เท่านั้น เพราะวากาชิแต่ละอันก็มีชื่อ มีความหมายซ่อนเร้น หรือการตีความเป็นอย่างอื่นได้อีก
อย่างในบทแรก การปรากฏตัวของพนักงานสาวปริศนาเกิดขึ้นในยามบ่ายของวันธรรมดาๆ เธอมาซื้อโจนามะกาชิ (วากาชิสดชนิดหนึ่ง เหมาะสำหรับใช้รับแขกหรือกินในพิธีชงชา) สิบชิ้น โดยไม่ได้เจาะจงหรือให้ข้อมูลอะไรมากนัก แต่ผู้จัดการสึบากิกลับแนะนำสิ่งที่เธอต้องการได้อย่างเข้าเป้าเพียงดูจากการแต่งกายและเวลาที่เธอแวะมา และคำตอบที่ได้ก็ทำเอาสาวเจ้าประทับใจจนเอ่ยปากว่าจะแวะเวียนมาอีก
เธอกลับมาที่ร้านอีกครั้ง แต่คราวนี้เจาะจงสินค้าว่าขอเก้าชิ้นที่เหมือนกันและหนึ่งชิ้นที่ต่างออกไป คนจัดสินค้าให้ก็คืออันจัง แต่เธอไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีแค่ชิ้นเดียวที่ไม่เหมือนชิ้นอื่นๆ เมื่ออันจังมาเล่าให้ผู้จัดการฟังก็เหมือนว่าผู้จัดการจะรู้ความหมายโดยนัยอยู่เบาๆ เนื่องจากช่วงเวลาที่พนักงานสาวมาที่ร้านตรงกับช่วงเดือนมิถุนายนพอดี เดือนนี้เรียกอีกอย่างว่า ‘มินาสึกิ’ คนสมัยก่อนกำหนดวันโคริ โนะ เซคคุ ขึ้นมาเพื่อปัดรังควานให้ครึ่งปีแรก และกินมินาสึกิเพื่อขอพรให้ครึ่งปีหลัง
สิ่งที่พนักงานสาวคนนั้นทำก็คือการช่วยปัดรังควานบางอย่างให้กับบริษัท โดยเลือกบอกใบ้กับเจ้านายตัวเองจากขนมโอโตชิบุมิหนึ่งชิ้น! โอโตชิบุมิมีความหมายทางพจนานุกรมว่า บัตรสนเท่ห์เขียนถึงสิ่งที่ไม่อาจเปิดเผยต่อสาธารณะ
นี่เป็นวิธีการที่ผู้เขียนผูกเรื่องให้เราประหลาดใจได้ตลอดทั้งเล่ม ความสามารถในการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้ามาไว้ด้วยกันนี้ ทำเอานักอ่านอย่างเราตาเป็นประกาย ร้อยเรียงทั้งจากวัฒนธรรม เทศกาล วากาชิ สถานการณ์ทางสังคม และการพ้องคำจากชื่อขนมที่ไม่ต่างอะไรกับรหัสลับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะปรากฏไปอยู่ในทุกบทตอน เรียบง่ายด้วยเรื่องราวในชีวิตประจำวัน แต่ก็มีสิ่งลึกลับให้เราใคร่รู้ไปด้วย
จุดอ่อนบางประการที่อาจเป็นปัญหาสำหรับนักอ่านบางคนก็คือเชิงอรรถประกอบ เพราะมีคำศัพท์เฉพาะค่อนข้างเยอะ รวมถึงการที่ไม่สามารถมองเห็นรูปร่างของขนมได้ แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าผู้เขียนสามารถทดแทนสิ่งนั้นได้ด้วยการบรรยายรสชาติ ทำให้ต่อให้เราไม่รู้ว่าวากาชิลูกกลมๆ นั้นหน้าตาเป็นอย่างไรแน่ แต่ทุกๆ ตัวละครจะทำให้เราเข้าถึงความอร่อยนั้นได้อย่างแน่นอน
“มิซุโยคังนิ่มสุดๆ ในระดับที่พอจะคงรูปไว้ได้ ไหลลื่นละลายกระจายบนลิ้น ช่างต่างกับมิซุโยคังแบบกระป๋องที่เคยกินที่บ้านลิบลับเลย แถมคุสุคิริที่ชิมจานต่อไปยังราดด้วยน้ำเชื่อมรสส้มยูซุอีก แม้จะกลืนลงไปแล้ว แต่กลิ่นรสอันสดชื่นก็ยังคงเหลืออยู่ในปาก”
ปริศนาของวากาชิไม่ได้ดึงดูดแค่เรานักอ่านอย่างเดียว แต่ยังดึงดูดอันจังให้เปิดประตูสู่โลกกว้างของวากาชิเช่นกัน จากเดิมที่เป็นแค่ขนมกินเล่นก็กลายมาเป็นสิ่งที่น่าหลงใหล การตีความและเล่นคำก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และบางครั้งเธอก็ถึงขั้นถือหางวากาชิอย่างออกนอกหน้า อันจังเลยอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่วากาชิไม่มี แต่ขนมตะวันตกมี เพราะเมื่อมองจากภายนอกแล้วขนมตะวันตกนั้นได้รับความนิยมมากกว่าเสมอ ซึ่งคำตอบที่เธอได้รับมีด้วยกันสองอย่าง หนึ่ง เป็นคำตอบเชิงการตลาด และสอง เป็นคำตอบที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ความเป็นมา และการคงอยู่ในทุกๆ จังหวะของชีวิต นั่นเลยยิ่งทำให้เธอสนุกกับสิ่งที่ทำมากยิ่งๆ ขึ้น
“สึกิ (พระจันทร์) นั่นก็เป็นอีกชื่อหนึ่งของโอฮางิเหมือนกัน เพราะไม่ได้ตำจึงกลายเป็นสึกิชิราสุ (ไม่รู้จักตำ) ซึ่งพ้องเสียงกับพระจันทร์จึงกลายเป็น ‘สึกิชิราสุ (ไม่เห็นจันทร์)’ ได้อีกชื่อ และด้วยทิศที่มองไม่เห็นดวงจันทร์ก็เรียกว่า ‘คิตะมาโดะ (หน้าต่างทิศเหนือ)’ ”
เราต่างเป็นดอกไม้ที่ค่อยๆ เบ่งบานตามกาลเวลา
เมื่ออ่านจบแล้ว เราอาจมองว่าอันจังก็ไม่ต่างอะไรจากเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ยังไม่แน่ใจนักว่า จริงๆ แล้วอะไรคือสิ่งที่ต้องการ การเลือกเรียนมหาวิทยาลัยก็เป็นการลงทุนที่สูง ถ้าเลือกไปโดยไม่ไตร่ตรองให้ดีก็คงทำให้ตัวเองกลายเป็นภาระของที่บ้าน หลายครั้งเด็กหลายคนจึงเลือกอะไรที่กลางๆ อาจไม่ใช่สิ่งที่ชอบ แต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกลียด ขอให้เรียนจบไปแล้วมีงานรองรับก็ไม่ได้แย่อะไร ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่แย่
แต่กับอันจัง เธอเลือกที่จะชะลอฝีเท้าของตัวเองลงหน่อย เพื่อมองหาอะไรบางอย่าง และสิ่งนั้นก็เริ่มมาจากจุดเล็กๆ ง่ายๆ อย่างการชอบกิน ซึ่งถ้าวันนั้นเธอเลือกจะสมัครงานอีกร้าน ความชอบของเธอก็อาจแปรผันไปตามสิ่งที่เจอ ซึ่งนับเป็นโชคดีที่เธอได้เข้ามาทำงานที่ร้านมิตสึยะ ได้พบเพื่อนร่วมงานดีๆ ได้อยู่ในบรรยากาศที่สบายใจ ได้เข้าถึงในสิ่งที่ไม่เคยรู้ ได้ตื่นเต้นไปกับสิ่งใหม่ในแต่ละวัน
ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว เราย่อมพบสักสิ่งที่สนใจ ความชอบหรือความรักไม่อาจก่อตัวได้ภายในระยะเวลาอันสั้น เราต้องมองให้เห็นทุกมุมของมันก่อน แล้วค่อยมาถามตัวเองอีกทีว่าพึงพอใจและมีความสุขกับทุกๆ มุมนั้นไหม หากเปรียบว่าเราทุกคนคือดอกไม้ ไม่ว่าอย่างไรวันหนึ่งดอกไม้ก็ต้องบาน ช้าบ้าง เร็วบ้าง งดงามบ้าง บอบช้ำบ้าง แต่เราจะมีวันที่เติบโตและค้นพบสิ่งที่เราต่างตามหาอยู่
Tags: BookReview, Lost in Thought, ร้านขนมแห่งความลับ